20 พ.ย. 2019 เวลา 12:22 • การศึกษา
“ลูกจ้างประเภทไหนที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา?”
ต่อเนื่องจากบทความที่แล้วในซีรีส์กฎหมายแรงงาน ซึ่งผมได้เขียนถึงวิธีการคำนวณค่าล่วงเวลาเอาไว้
โดยสรุปคร่าว ๆ ว่า นายจ้างจะต้องคำนวณและจ่ายค่าล่วงเวลาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะจ่ายน้อยกว่าไม่ได้
แต่ถ้าจ่ายมากกว่าสามารถทำได้
pixabay
และจากที่ผมได้เกริ่นไว้ท้ายบทความก่อนว่ามีลูกจ้างบางประเภทที่กฎหมายกำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง
ซึ่งจะมีลูกจ้างประเภทใดบ้างนั้น เราไปดูกันเลยครับ
กฎหมายแรงงานได้กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอำนาจและหน้าที่ หรือที่ทำงานดังต่อไปนี้ "ไม่มีสิทธิ"ได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด
1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้าง สำหรับการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง (ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป)
2) งานเร่ขายหรือชักชวนให้ซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง
เช่น งานประเภทเซลล์แมน เนื่องจากได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการขายแล้ว
pixabay
3) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ
4) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
5) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
6) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ
7) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
8) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอัน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ทำงานปกติของลูกจ้าง
9) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
โดยลูกจ้างซึ่งทำงานและมีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1 – 9 จะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่ นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง
แต่ลูกจ้างตามข้อ 3 – 9 มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ (ได้ค่าจ้างเท่าชั่วโมงทำงานปกติตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ)
pixabay
กลับมาที่ลูกจ้างตามข้อที่ 1
(ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้าง สำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง)
ลูกจ้างประเภทนี้จะต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจจ้าง ให้บำเหน็จ (เช่น ขึ้นค่าจ้าง พิจารณาเงินโบนัส) หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้างได้
ถ้าลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจเด็ดขาดตามที่ได้กล่าวไว้ ก็ถือว่าเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่นายจ้างตกลงจะจ่ายให้
pixabay
กรณีกลับกัน แม้ลูกจ้างจะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดในองค์กร แต่ถ้าไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจจ้าง การให้บำเหน็จ และการเลิกจ้าง... (เช่น มีอำนาจเสนอเรื่องแต่ไม่ใช่คนตัดสินใจ)
ลูกจ้างคนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างตามข้อ 1 หากทำงานล่วงเวลา นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างคนดังกล่าว
ดังนั้น การที่จะดูเพียงชื่อตำแหน่งแล้วมาตัดสินว่าลูกจ้างมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็คงจะไม่ถูกต้องเท่าใดนัก
ซึ่งที่ถูกต้องควรจะพิจารณาถึงอำนาจของลูกจ้างว่ามีอำนาจตัดสินใจแทนนายจ้างได้แค่ไหน เพียงใด
การที่บางองค์กรมีระเบียบว่า ลูกจ้างตั้งแต่ระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด...
โดยไม่ได้คำนึงว่าลูกจ้างคนนั้นมีอำนาจเด็ดขาดตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้หรือไม่
"จึงไม่ถูกต้องครับ"
pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา