28 พ.ย. 2019 เวลา 12:53 • การศึกษา
“ลูกจ้างมาทำงานสาย นายจ้างจะหักค่าจ้างได้มั้ย?”
ในเรื่องเวลาการเข้าทำงานนั้น เป็นกฎกติกาที่นายจ้างได้กำหนดไว้ให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามเพื่อเป็นการรักษาระเบียบวินัย และรักษาผลประโยชน์ที่นายจ้างควรจะได้รับจากการจ้างงาน
pixabay
ซึ่งเรื่องนี้ นายจ้างบางรายอาจกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันและเป็นการลงโทษลูกจ้างที่มาทำงานสายไว้ เช่น กำหนดว่าหากเข้างานสายจะถูกหักค่าจ้างนาทีละ 5 บาท หรือเดือนหนึ่งถ้ามาสายเกิน 5 ครั้งจะถูกหักเงินเดือน 1,000 บาท...
แต่รู้หรือไม่ว่ากฎหมายแรงงานนั้น
“ห้ามนายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้าง"
(รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด)
เว้นแต่จะเป็นการหักเพื่อ
1) ชำระภาษี หรือเงินอื่นตามกฎหมาย
1
2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
2
3) ชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
4) เป็นเงินประกัน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง กรณีลูกจ้างจงใจทำให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแก่นายจ้าง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม
และที่สำคัญการหักค่าจ้างที่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จะต้องทำเป็นหนังสือหรือมีข้อตกลงกันไว้อย่างชัดเจนก่อนจึงจะสามารถหักได้
สรุปก็คือ การหักเงินค่าจ้างนั้น นายจ้างจะหักได้เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 ข้อนี้เท่านั้น นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างที่มาทำงานสายด้วยการหักค่าจ้างไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายทั้งจำคุกและปรับเงิน
แต่เดี๋ยวก่อน...ลูกจ้างทั้งหลายอย่าเพิ่งชะล่าใจไป อย่าคิดว่านายจ้างจะไม่สามารถทำอะไรได้นะครับ เพราะการมาสายถือว่าเป็นการผิดระเบียบที่นายจ้างกำหนดไว้อย่างหนึ่ง
ถึงแม้นายจ้างจะไม่สามารถหักค่าจ้างได้ แต่ก็อาจลงโทษโดยวิธีอื่นได้ เช่น การประเมินผลขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือการเลื่อนตำแหน่ง
มีอีกวิธีหนึ่งที่นายจ้างอาจนำมาใช้ก็คือ การ No work No pay (ไม่ทำงาน ไม่จ่ายค่าจ้าง)
สาเหตุที่วิธีนี้สามารถนำมาใช้ได้ก็เพราะสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างก็มีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้างตามที่ตกลงไว้เช่นเดียวกัน
เมื่อลูกจ้างทำงานไม่ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามระยะเวลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน
โดยการคำนวณสะสมระยะเวลาที่ลูกจ้างมาทำงานสายในแต่ละเดือนว่าในเดือนนั้นลูกจ้างมาสายกี่นาที หรือกี่ชั่วโมงเพื่อมาคำนวณเวลาที่หายไปของลูกจ้างต่ออัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมง (จ่ายตามความเป็นจริง)
รู้อย่างนี้แล้ว เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย นายจ้างก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ส่วนลูกจ้างก็ต้องปรับปรุงตัวโดยการเข้างานตามเวลาที่ตกลงกันไว้นะครับ
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา