25 พ.ย. 2019 เวลา 11:28 • ธุรกิจ
เจาะลึกโครงสร้างการส่งออกของประเทศไทยรายอุตสาหกรรม ตอนที่ 2
.
หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจโครงสร้างการส่งออกของไทยในหมวดสินค้าเกษตรกรรมกันไปแล้ว
วันนี้เรามาดูฝั่งของ "สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร"
กันบ้างครับว่า กลุ่มนี้มีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
.
โครงสร้างการส่งออกหลัก
.
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ถ้าให้นิยามง่ายๆ
ก็คือการเอา สินค้าเกษตร มาแปรรูป ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อฝั่งประมง จับหรือเพาะเลี้ยง ปู , หอยลาย , ปลาทูน่ามาได้ กลุ่มผู้ประกอบการฝั่ง อุตสาหกรรมการเกษตร
ก็จะไปรับซื้อวัตถุดิบตั้งต้นเหล่านั้น มาทำเป็น เนื้อกรรเชียงปูอัดกระป๋อง, หอยลายผัดฉ่า หรือปลาทูน่ากระป๋อง
ฝั่งกสิกรรม เมื่อไปรับข้าวจากชาวนาที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นมาแล้ว ก็นำข้าวเหล่านั้นไปทำเป็น แป้ง,ขนม,บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
หลายๆกิจการ จำต้องมีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นตัวตั้งต้นของผลิคภัณฑ์อย่างเข้มงวด จึงมีพื้นที่การเกษตรเป็นของตัวเองด้วย
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 7.21%
ในปี 61 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 584,834 ล้านบาท
ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่องจากปี 60 1.31%
* สัดส่วนที่ใช้จะเป็นของ ปี 61 เพราะของ ปี 62 แต่ละส่วนจะมีการปรับขึ้นลงเล็กน้อยครับ
.
โครงสร้างหลักของกลุ่มนี้จะเป็นดังรูปข้างล่างนี้
โครงสร้างการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร
.
เราลองมาดูกลุ่มที่น่าสนใจกันครับว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรกันบ้าง
1.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป(สัดส่วน 1.54% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 124,927 ล้านบาท
ในปี 61 การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องหดตัวลง -1.49%(เทียบปี 60)
ปี 62 เมื่อนำการส่งออกช่วง 10 เดือนแรก(ม.ค.- ต.ค.)ปี 61 เทียบกับ 10 เดือนแรกปี 62 แล้ว ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องที่ -3.82%
โดยในกลุ่มนี้แบ่งย่อยออกเป็นสองส่วนคือ
https://th.raduga-deti.info/3706-stew-and-canned-fish-how-to-choose-quality.html
1.1 อาหารทะเลกระป๋อง(สัดส่วน 1.16% จาก 1.54% ในสินค้าหมวดอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป)
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 93,709 ล้านบาท
ในปี 61 การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องขยายตัว 4.36%(เทียบปี 60)
ปี 62 เมื่อนำการส่งออกช่วง 10 เดือนแรก(ม.ค.- ต.ค.)ปี 61 เทียบกับ 10 เดือนแรกปี 62 แล้ว ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องที่ -1.51%
ทูน่ากระป๋อง ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 2,950 ล้านบาท
เนื่องจากฐานการส่งออกที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการที่มีการหดตัวเพียงแค่ -1.51% ปีก่อนหน้า ในช่วงระยะ 10 เดือนแรก ยอดลดลงประมาณ 1,153 ล้านบาท ผมมองว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ครับ
คำถามคือแล้วปัญหาของกลุ่มนี้มันเกิดจากอะไร?
มันเกิดจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มที่ 2 ครับ
https://www.smartsme.co.th/content/81440
1.2 อาหารทะเลแปรรูป(สัดส่วน 0.39% จาก 1.54% ในสินค้าหมวดอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป)
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 31,218 ล้านบาท
ซึ่งหดตัวลงจากปีก่อนหน้า -15.70%
ยอดในระยะ 10 เดือนแรกเทียบกับปีก่อนหน้าแล้วก็ยัง ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ยอดปีนี้เพิ่งจะทำได้ที่ 23,062 ล้านเองครับ
โดยสินค้าในกลุ่มนี้ยอดส่งออกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญคือ
กุ้งแปรรูป ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 2,500 ล้านบาท
แต่ส่วนของปลาทูน่าแปรรูปยอดเพิ่มขึ้น ราวๆ 133 ล้านบาท
ดังนั้นในส่วนของ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งที่ทำให้การเติบโตของกลุ่มนี้ไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาอยู่ที่ กลุ่ม "ทูน่ากระป๋อง และ กุ้งแปรรูป" ที่ยอดส่งออกลดลงครับ
* มียอดของ ปูกระป๋อง และ ปูแปรรูป "ลดลง" ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ที่ราวๆ 100-150 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยเฉพาะตัวบางประการ
2.น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล(สัดส่วน 1.22% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
https://www.siamchemi.com/น้ำตาล
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 98,570 ล้านบาท
ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(ปี 60) 5.03%
แต่เมื่อมาดูในระยะ 10 เดือนแรกปี 62 เทียบกับปีก่อนหน้าแล้วกลับ ลดลงอย่างมีนัยยะ ยอดปีนี้ทำได้ที่ 78,786 ล้านบาท
โดยการลดลงของการส่งออกในระยะ 10 เดือนมาจากน้ำตาลทรายขาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลดลงถึง 9,371 ล้านบาท
เมื่อลองสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไมการส่งออกน้ำตาลลดลงเยอะขนาดนี้ จึงไปพบต้นตอว่า เราโดนต่างประเทศลด order ลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่แต่ละประเทศในกลุ่มผู้ค้าน้ำตาล ออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศตัวเองได้เปรียบทางการค้า
.
ช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลก็เลยก็ซัดกันนัวครับ
จุดนี้จึงถือว่าถือเป็นปัจจัยเฉพาะตัวของกลุ่มน้ำตาล
3.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป(สัดส่วน 0.68% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
https://www.smeleader.com/ผักและผลไม้แปรรูป-start-up-business
.
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 54,941 ล้านบาท
ซึ่งเติบโตลดลงจากปีก่อนหน้า(ปี 60) -16.61% นับว่าอาการค่อนข้างหนักพอสมควร
และในปี 62 นี้ระยะ 10 เดือนแรกเมื่อเทียบกันแล้วก็ยังหดตัวอีก -8.44%
ยอดขายเพิ่งจะอยู่ที่ราวๆ 46,233 ล้านบาท สองเดือนหลังของปีคงหวังมากไม่ได้ มีโอกาสที่ทั้งปีจะติดลบถึง -10% ขึ้นไป
เมื่อลองดูแยกเป็นกลุ่มย่อย ประกอบด้วย
ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ และ ผลไม้แปรรูป ก็พบว่าการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้าทั้ง 3 กลุ่ม
ในรายสินค้าย่อยก็ยอดลดลงทุกตัว มีเพียงแค่
ผลไม้รวมกระป๋องส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านจากฐานที่ต่ำ และ
น้ำผลไม้ผสม ที่มียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 854 ล้านบาท
ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมแล้วกลุ่มนี้จึงถือว่าอยู่ในช่วงขาลงครับ(ส่งออกติดลบต่อเนื่อง)
4.ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ(สัดส่วน 0.80% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
https://brandinside.asia/nissin-all-in-noodles
.
สินค้าหลักในกลุ่มนี้มี 2 ตัวคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหาร กับ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เช่นพวก วาฟเฟิล บิสกิต
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการการเติบโตดีมากครับ อยากให้ทุกท่านมั่นใจว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือความดีงามของมนุษย์ชาติ(เพื่อนแท้ยามหิว ตอนนี้คนเขียนก็เริ่มหิวแล้วล่ะครับ)
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 65,199 ล้านบาท
ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(ปี 60) 0.27% แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ
ในระยะ 10 เดือนแรกของปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 8.72 % เพิ่มขึ้นถึง 4,680 ล้านบาท
ดังนั้นท่านใดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้คงจะสบายใจได้ว่า มีอนาคตที่สดใสรออยู่
5.อาหารสัตว์เลี้ยง(สัดส่วน 0.64% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
https://www.dogilike.com/content/caring/1896
สินค้าหลักในกลุ่มนี้มี 2 ตัวคือ อาหารสุนัขและแมว กับ อาหารสัตว์อื่นๆ
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการการเติบโตดีเช่นกันครับ
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 52,096 ล้านบาท
ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(ปี 60) 8.56%
และปี 62 อาหารสุนัขและแมว ก็ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่ามีศักยภาพที่ดีครับ
*เอาจริงๆผมก็เพิ่งจะมาทราบตอนดูข้อมูลเหมือนกันครับว่าตลาดส่งออกด้านนี้ของไทยมีความน่าสนใจมาก
6.เครื่องดื่ม(สัดส่วน 0.75% จาก 7.21% ในสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร)
https://www.ofezsoft.com/อาหารกระป๋อง
เป็นกลุ่มใหญ่ที่ยืนได้ดีเช่นเคยครับสำหรับสายเครื่องดื่มนี้
เม็ดเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มนี้ปี 61 อยู่ที่ประมาณ 60,841 ล้านบาท
ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(ปี 60) 10.08%
ในระยะ 10 เดือนแรกของปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 4.53 % ยอดรวมปีนี้อยู่ที่ 53,034 ล้านบาท
ดังนั้นกลุ่มนี้ยังมีอนาคตที่ดีรออยู่ สบายใจได้ครับ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นตัวแทนเด่นๆในกลุ่มสินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร
ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆที่เหลือก็จะอยู่ในสภาพทรงตัวถึงลบเล็กน้อย(ยกเว้น นม ครับ กลุ่มนมยังมีการเติบโตที่ดี)
เราจะเห็นได้ว่าในภาพรวมของทั้งกลุ่มอยู่ในลักษณะที่มีปัจจัยเฉพาะตัวค่อนข้างสูง เพราะในส่วนที่มีสัดส่วนการส่งออกที่สูง
ล้วนต้องพึ่งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นมาจากสายเกษตรกรรม ที่มีภาพรวมไม่ค่อยดีจากข้อมูลในบทความก่อนหน้านี้
ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมแล้ว
ในปี 62 "สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร" เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือว่า หดตัวลงเล็กน้อย ในระยะ 10 เดือน -1.77% จึงถือว่าประคองตัวอยู่ได้
เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ล้วนมีการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าเข้าไป(value added)
จึงไม่ได้ผลกระทบที่หนักเท่ากลุ่มเกษตรกรรม
ผมให้ข้อสังเกตุเพิ่มเติมครับว่า จากบทความก่อน และ บทความนี้
มีจุดร่วมที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ
*ธุรกิจที่มีการขยายตัวในระดับที่สูงหรืออย่างน้อยก็ประคองตัวได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะดูไม่ค่อยสดใสนัก ทั้งหมดล้วนอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจที่เป็นรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย
การเป็นรายใหญ่ทำให้มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือ
- เทคโนโลยีและนวัตกรรม องค์ความรู้โดยรวมของเขาเหล่านั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก
- เมื่อผลิตในปริมาณมากทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ
-ศักยภาพในการค้นหาตลาด
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างข้อได้เปรียบของเจ้าของธุรกิจรายใหญ่
ในขณะเดียวกัน
*ธุรกิจที่มีการขยายตัวในระดับที่ต่ำ จนถึงติบลบ
ล้วนเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรกรทั้งหลาย ข้าว มันสำปะหลัง ยาง หรือแม้กระทั่งในกลุ่มประมง(หลายๆท่านในกลุ่มนี้ถอดใจไปเยอะมากครับ)
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าข้อเสียเปรียบที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ
"การเข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ"
สาเหตุที่ผมไม่ได้ได้มองว่าองค์ความรู้โดยรวมเป็นปัญหาหลัก เพราะสมัยนี้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม หรือด้านอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ นำเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์และพัฒนาให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี
แต่ การเริ่มต้นจาก จาก 0 ไม่เหมือนการเริ่มต้นจาก 100
ไม่ว่าเศรษฐกิจช่วงใด การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรรายย่อย เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงต้องค่อยๆสะสมเงินทุนและขยายงานไปทีละส่วน
กว่าจะเก็บหอมรอมริบเพื่อมาต่อยอดได้ต้องก็ใช้เวลา ดังนั้นเราจะไม่ค่อยเห็นว่ามีเกษตรกรกลุ่มใด "ยกระดับผลผลิตขึ้นมาพร้อมๆกัน" ทั้ง sector
.
หลายๆครั้งเราจึงเห็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็น "กลุ่มใหญ่" เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่างเพื่อพวกเขา
(ผมยังไม่เคยเห็นกลุ่มผู้ส่งออกแมงกระพรุนออกมารวมกลุ่มกันจนเป็นข่าวสักที กลุ่มนี้มีศักยภาพดีครับ ปีนี้โตขึ้นเยอะมาก ระยะ 10 เดือนโต 51%)
จึงเป็นปัญหาที่ชวนขบคิดกันต่อไป เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
(หากท่านใดมีความคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมแชร์มุมมองกันได้นะครับ)
ขอบคุณทุกท่านที่คอยติดตามและสนับสนุนหมูน้อยเสมอมา
ฝากกด like และ share ด้วยนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ
รักเสมอ
หมูน้อย
*กำลังใจที่ทุกท่านให้มา ทำให้ผมมีความสุขมากครับ อยากขอบคุณทุกๆท่านจากใจ
พรุ่งนี้ขอพักบทความที่เป็นตัวเลขสักวันครับ รู้สึกว่าขอบตาเริ่มดำเล็กน้อย
จะโพสบทความสบายๆ ที่เป็นความรู้น่าสนใจคั่นสักหน่อย
ช่วงเวลาเดิมครับ ประมาณ 19:30 - 20:00
reference
โฆษณา