29 พ.ย. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า (Bermuda Triangle) สามเหลี่ยมมรณะ” ตอนที่ 2
ปริศนาที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ
สามปีหลังจากการหายสาปสูญของเรือไซคลอปส์ ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) ก็ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นในสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าอีกครั้ง
เรือขนาดใหญ่ชื่อ “Carroll A. Deering” ถูกพบว่าติดอยู่ในสันทราย นอกฝั่งนอร์ทแคโรไลน่า
Carroll A. Deering
เมื่อทำการสำรวจตัวเรือ ไม่พบว่ามีคนอยู่บนเรือ แต่ในเตายังคงมีอาหารและร่องรอยการทำอาหาร
แต่สิ่งของของกัปตันเรือและลูกเรือล้วนแต่สูญหาย ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ ต่างหายไปหมด และบนเรือก็พบแมวสองตัววิ่งเล่นไปมา
ทุกคนต่างงุนงงและคาดเดากันไปต่างๆ นาๆ เป็นไปได้ว่ากัปตันและลูกเรืออาจจะเจอกับพายุ จึงสละเรือและหนีออกไปทางเรือชูชีพ
แต่ก็มีคำถามตามมา หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ พวกเขาจะขนย้ายข้าวของเยอะแยะลงเรือเล็กได้อย่างไร? ข้าวของนั้นมีเป็นจำนวนมาก เอาลงเรือเล็กให้หมดไม่ได้แน่
Carroll A. Deering
ทุกคนต่างงุนงงและหาคำตอบไม่ได้ มีการคาดเดากันไปหลายทาง บ้างก็ว่าลูกเรืออาจจะหักหลังกัปตันและชิงเรือ จากนั้นก็แล่นเรือไปที่อื่น
บ้างก็ว่าเรืออาจจะถูกปล้นโดยโจรสลัด
ต่อมา เดือนมิถุนายน ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ได้รายงานว่ามีการพบข้อความใส่อยู่ในขวดบนชายฝั่งนอร์ทแคโลไรน่า
เมื่ออ่านข้อความในขวด พบว่าข้อความนั้นถูกเขียนขึ้นโดยหนึ่งในลูกเรือของ Carroll A. Deering โดยมีเนื้อความว่า Carroll A. Deering ได้ถูกยึด
เรื่องเลยเถิดไปถึงขนาดที่ว่าภรรยาของกัปตันเรือ Carroll A. Deering จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือมาตรวจสอบ ก่อนที่ต่อมาในภายหลัง ได้มีคนออกมายอมรับว่าทั้งหมดเป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น
ต่อมา กรมตำรวจสหรัฐอเมริกาก็ได้สันนิษฐานว่าบางทีเรื่องนี้อาจจะเป็นฝีมือของรัสเซีย
ในเวลานั้น มีข่าวลือว่ารัสเซียกำลังวางแผนร้ายบางอย่างในสหรัฐ บางทีพวกเขาอาจจะส่งคนมาปลอมเป็นลูกเรือ เมื่อออกทะเล พวกเขาก็ยึดเรือและล่องเรือไปยังท่าเรือรัสเซีย แต่เกิดพายุซะก่อน พวกเขาจึงต้องสละเรือ
แต่ต่อมาไม่นาน ผู้คนก็เริ่มตั้งข้อสันนิษฐานใหม่
นั่นคือ Carroll A. Deering อาจจะเป็นหนึ่งในเรือที่เป็นเหยื่อของสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า
ต่อมา รายชื่อเรือที่หายไปในสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) นักเขียนชื่อ “จอร์จ เอ็กซ์ แซนด์ (George X. Sand)” ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการสูญหายทั้งหมดในมหาสมุทรแอทแลนติกลงนิตยสาร Fate ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับเรื่องผี และเรื่องลึกลับต่างๆ
บทความของแซนด์นั้นได้อธิบายถึงบริเวณน่านน้ำรูปสามเหลี่ยม ที่ซึ่งเรือและเครื่องบินได้หายสาปสูญ
ภาพประกอบบทความของแซนด์
แต่แซนด์ไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า ชื่อนี้ถูกตั้งขึ้นโดยนักเขียนชาวอเมริกันชื่อ “วินเซนต์ แกดดิส (Vincent Gaddis)”
แกดดิสเขียนบทความเรื่องของสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าลงในนิตยสาร Argosy ในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) และทำให้ชื่อ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า (Bermuda Triangle)” ถูกเรียกอย่างแพร่หลาย
วินเซนต์ แกดดิส (Vincent Gaddis)
หลายคนไม่เชื่อเรื่องสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าและคิดว่าเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ พวกเขาให้เหตุผลว่ามหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่ หลายจุดก็เกิดคลื่นลมแปรปรวน ซึ่งทำให้เรืออับปางได้
แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าความสูญหายในสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าไม่ได้มีเพียงแค่เรือ แต่ยังมีเครื่องบินอีกด้วย จะอธิบายยังไง?
เรามาดูเรื่องของเครื่องบินที่สูญหายบ้างดีกว่าครับ
วันหนึ่งในค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) วันนั้นอากาศแจ่มใส แดดจ้า ได้มีเครื่องบินจำนวนห้าลำออกจากฐานที่ฟอร์ตลอเดอร์เดล รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา
เครื่องบินทั้งห้าลำนั้นเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐ แต่พวกเขาไม่ได้ไปทิ้งระเบิดที่ไหน นี่เป็นเพียงการฝึกซ้อมบินเท่านั้น
นี่คือ “ฝูงบิน 19 (Flight 19)”
ฝูงบิน 19 (Flight 19)
ตามแผนการ นักบินต้องบินไปทางทิศตะวันออก ข้ามมหาสมุทร จากนั้นก็มุ่งหน้าขึ้นเหนือก่อนจะบินกลับมายังฐาน
ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง
แต่นักบินบนเครื่องลำหนึ่งได้หลงทาง และเข็มทิศทั้งสองเครื่องบนเครื่องบินของเขาก็เกิดขัดข้อง
นักบินพยายามจะติดต่อกับภาคพื้นดินเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่วิทยุก็เกิดขัดข้องอีก
ก่อนที่การฝึกจะจบ เครื่องบินทั้งห้าลำก็ได้หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
ฝูงบิน 19 (Flight 19)
ไม่รอช้า กองทัพรีบส่งเครื่องบินออกค้นหา ปรากฎว่าเครื่องบินที่ส่งไปค้นหาก็ได้หายไปด้วย เท่ากับตอนนี้มีเครื่องบินหายไปหกลำแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความพิศวงงุนงงให้กับทุกคน เครื่องบินหกลำ คนอีก 27 คนหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีแม้แต่การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ถึงแม้บางเครื่องวิทยุจะใช้การไม่ได้ แต่เครื่องอื่นๆ วิทยุก็น่าจะยังใช้การได้ดีอยู่ อีกทั้งเครื่องบินทุกลำก็มีแพชูชีพ หากเครื่องบินเกิดขัดข้อง จำเป็นต้องลงจอดในทะเล ก็น่าจะมีเครื่องบินรอดมาบ้างซักลำ น่าจะมีนักบินที่รอดบ้าง แต่นี่หายไปหมดเลย
กองทัพเรือสหรัฐได้ส่งเรือออกค้นหาในทะเล แต่ก็ไม่พบร่องรอยอะไรเลย ไม่เจอแม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องบิน
ภายหลังจากเหตุการณ์ฝูงบิน 19 ก็ได้มีเหตุการณ์เครื่องบินหายสาปสูญเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) เครื่องบินโดยสารชื่อ “สตาร์ ไทเกอร์ (Star Tiger)” ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 31 คน ได้มุ่งออกจากลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีจุดหมายอยู่ที่เบอร์มิวด้า
เครื่องบินที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสตาร์ ไทเกอร์
วันเกิดเหตุนั้นทัศนวิสัยดี อากาศแจ่มใส นักบินเองก็ได้ทำการแจ้งภาคพื้นดินทางวิทยุว่าเครื่องบินจะถึงจุดหมายตามเวลาที่กำหนด
แต่ภายหลังจากที่นักบินทำการติดต่อภาคพื้นดินทางวิทยุ สตาร์ ไทเกอร์ก็ได้หายสาปสูญ
กองทัพอากาศสหรัฐได้ส่งทีมค้นหาในทันที โดยทีมค้นหานั้นได้ทำการสำรวจมหาสมุทรรอบๆ เป็นเวลาถึงห้าวัน แต่ไม่พบร่องรอยหรือชิ้นส่วนของเครื่องบินเลย
ทางสหราชอาณาจักรเองก็ได้เข้ามาทำการสืบสวนด้วยเช่นกัน เนื่องจากสตาร์ ไทเกอร์เป็นเครื่องบินสัญชาติอังกฤษ และเบอร์มิวด้าเองก็เป็นหนึ่งในดินแดนของอังกฤษ
แต่สหราชอาณาจักรก็ไม่พบเบาะแสอะไรที่จะตอบได้ว่าสตาร์ ไทเกอร์หายไปไหน
ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสตาร์ ไทเกอร์ เครื่องบินลำนี้มีเครื่องยนต์สี่ตัว เป็นไปไม่ได้ที่เครื่องยนต์จะดับพร้อมกันทั้งสี่เครื่อง
แต่สตาร์ ไทเกอร์ยังไม่ใช่ปริศนาสุดท้ายของสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า
คราวหน้า ผมจะมาเล่าต่อว่าเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง และเราจะลองมาคุยกันถึงเรื่องสมมติฐานต่างๆ ที่มีการตั้งขึ้นว่ามีอะไรบ้าง
ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา