19 ม.ค. 2020 เวลา 01:05 • สุขภาพ
โรคเกาต์ในโลกโบราณ
ทำไมเรารู้สึกแปลบๆบริเวณนิ้วโป้งเท้า รู้สึกมาสัปดาห์กว่าแล้ว
วันเสาร์จัดเต็ม นัดเพื่อนออกมากินข้าว คุยสนุกสนานกับเพื่อนฝูง ปากเคี้ยวหนังไก่ทอดสลับกับเบียร์เบลเยียม ส้อมจิ้มตับหวานชิ้นหนาเข้าปาก
มีความสุขอิ่มแปล้ อาหารเต็มท้อง กลับถึงบ้านก่อนเที่ยงคืนล้มตัวลงนอน หลับฝันดี
วันอาทิตย์ตอนเช้า ลุกขึ้นยืนไม่ได้! หลังตื่นนอน อาการระบมวาบๆแสนสาหัสบริเวณข้อนิ้วโป้งเท้าต่อกับกระดูกเท้า แค่เอาเท้าลงมาต่ำนิดเดียว อาการปวดวาบๆทำให้ถึงกับร้องโอดครวญ
นี่คืออาการของโรคเกาต์
เกาต์คือโรคที่เกิดจากกรดยูริกในเลือดสูงไปสะสมตามข้อ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงแล้วจะเป็นเกาต์ ทางการแพทย์เองยังหาคำตอบไม่ได้ดีนักสำหรับเรื่องนี้
มีหลักฐานว่าเกาต์มีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ 2600 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 5000 ปีก่อน
โรคเกาต์แต่เดิมเรียกว่า 'โรคเดินไม่ได้'
โดยชื่อเล่นของโรคโป้งตีนบวมนี้คือ Podagra มาจากภาษากรีก Pod แปลว่า เท้า และ Agra แปลว่าจับ (ประมาณจับสัตว์ ล่าสัตว์) รวมๆคือโรคจับเท้า อย่าสับสนกับจับเลี้ยงนะครับ
บิดาแห่งการแพทย์ฮิปโปเครตีส เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล ได้อธิบายถึงโรคเกาต์เอาไว้
ฮิปโปเครติส เป็นผู้ที่เปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วยที่แต่ก่อนเชื่อกันว่าโรคต่างๆเกิดจากเทพเจ้า เป็นการสังเกตสิ่งแวดล้อม พฤติกรรม และการเป็นอยู่ของผู้ป่วย จึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่
เขาได้พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินแบบไม่บันยะบันยังกับโรคเกาต์ จนโรคจับเท้านี้ได้ชื่อว่า 'โรคของพระราชา' โดยตรงกันข้ามกับโรคข้อ Rheumatism ซึ่งได้ชื่อว่า 'โรคของคนจน'
เขายังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโรคเกาต์ 5 ข้อ ได้แก่
"ขันทีไม่เป็นเกาต์ แลไม่หัวล้าน
หญิงไม่เป็นเกาต์ จนกว่าคราวระดูหาย
เด็กๆไม่เป็นเกาต์ ก่อนถึงคราวได้ร่วมเพศสุขสม
เมื่อเพลาเกาต์บรรจบ อักเสบพบเพียง 40 วัน
ฤดูเกาต์พึงมีแต่ใบไม้ผลิแลใบไม้ร่วง"
600 ปีต่อมา กาเลน อีกหนึ่งแพทย์ชาวกรีกที่มีคุณูปการต่อการแพทย์ตะวันตก ทั้งความรู้ด้านกายวิภาค และการผ่าตัด ได้อธิบายก้อน Tophi ที่ขึ้นตามที่ต่างๆตามตัว
เขาได้พบความสัมพันธ์ระหว่างความขี้เหล้าและการกินกับเกาต์ และยังพบการสืบทอดทางกรรมพันธุ์ของสมาชิกวุฒิสภาโรมันเซเนกา นักเขียน นักปรัชญาคนสำคัญ ที่เป็นโรคเกาต์เหมือนคนในครอบครัว
แล้วใครเป็นคนเรียกโรคนี้ว่าเกาต์ Gout
Dominican monk Randolphus of Bocking ช่วงปี ค.ศ.1200 ใช้คำว่า Gutta ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า 'พร่อง' โดยอธิบายด้วยหลักธาตุทั้งสี่บกพร่องตามแบบฉบับของฮิปโปเครติส ธาตุไหลเวียนไม่ดีทำให้ข้อเกิดการอักเสบ
Ref
Nuki, G., & Simkin, P. A. (2006). A concise history of gout and hyperuricemia and their treatment. Arthritis Research & Therapy, 8(1), S1.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา