6 ม.ค. 2020 เวลา 13:29 • สุขภาพ
กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน
วลีเด็ดยอดฮิตที่คาดว่าใครหลายคนต่างเคยได้ยิน ผมเองก็เคยได้ยินครับ ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของวลีคำพูดนี้นะครับ หรืออาจจะเป็นสำนวน สุภาษิต คำพังเพย หรืออะไรก็ตามแต่ วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องนี้กันครับ
กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน พวกเราเข้าใจประโยคนี้ว่าอย่างไรกันบ้างครับ
กินเพื่ออยู่ ? การกินแบบไหนล่ะ ที่เรียกว่ากินเพื่ออยู่ หรือถ้าเรากินแบบนี้ ไม่ใช่กินเพื่ออยู่แล้วนะ จะเรียกว่า "อยู่เพื่อกิน" คำตอบคงมีมากมายหลากหลายเป็นแน่แท้ และคิดว่าคงไม่มีคำตอบไหนถูกหรือผิด
ผมจึงขอเสนอหลักการ “กินเพื่ออยู่” อยากให้ลองพิจารณา และนำไปปรับใช้ดูครับ
หลักการนั้นมีอยู่ว่า เราต้องบริโภคอาหารให้พอดี พอดีอย่างไร คือให้มีท้องอันพร่องอยู่เล็กน้อย พูดง่าย ๆ คือ อย่ากินจนอิ่ม ให้กินจนรู้สึกว่าอีกสัก 2-3 คำ เราจะอิ่มแล้ว เมื่อรู้สึกอย่างนี้ 2-3 คำ นั้นเราจะไม่กินแล้วครับ
มีเรื่องเล่าเป็นอุปมาที่พระพุทธเจ้าใช้สอนเกี่ยวกับการกิน พวกเราลองอ่านแล้วจินตนาการตามดูนะครับ ผมเชื่อว่าเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า "กินเพื่ออยู่" มากยิ่งขึ้นครับ
เรื่องมีอยู่ว่า ภรรยาและสามี 2 คน กำลังเดินทาง เขาทั้งสองได้เตรียมสะเบียงสำหรับเดินทางไว้เล็กน้อย นอกจากนี้เขาทั้งสองมีบุตรน้อย ๆ น่ารัก 1 คน เดินทางไปด้วย ซึ่งทางที่จะไปนั้นเป็นทางกันดาร แห้งแล้ง หาอาหารลำบาก
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
ขณะที่พวกเขากำลังเดินทางอยู่นั้น สะเบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไป แต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่ ทำอย่างไรล่ะ ทางกันดารยังเหลืออีกไกลเลย
พวกเราคิดว่าสองภรรยาสามีนั้นจะคิดอย่างไร ? ณ สถานการณ์เช่นนี้ 🤔
พวกเขาคิดดังนี้ครับ ในเมื่อสะเบียงที่เราเตรียมมานั้นหมดแล้ว แต่ทางกันดารนี้ยังเหลืออยู่ และเรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ ดังนั้น เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียว ผู้น่ารักของเรา จากนั้นทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง
เมื่อเราได้เนื้อบุตรเป็นอาหารประทังชีวิต เราจะสามารถข้ามพ้นทางกันดารนี้ไปได้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราสามคนได้ตายกันหมดแน่
ว่าแล้ว ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อย ๆ คนเดียวผู้น่ารักแล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
เขาทั้งสองนั้นขณะที่รับประทานเนื้อบุตรอยู่ ก็ร้องไห้ รำพึงรำพรรณว่า ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสียแล้ว ลูกชายน้อย ๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสียแล้ว 😰😰
พระพุทธเจ้าก็จะถามภิกษุว่า พวกเธอคิดว่าพวกเขาบริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารนั้นเพื่ออะไร เพื่อความอร่อย เพื่อความมัวเมา เพื่อความคึกคะนอง หรือเพื่อสนองความอยากหรือ ?
พวกเราคิดว่าอย่างไรกันครับ ?
คำตอบคือ ไม่ใช่ ถูกต้องครับ พวกเขาคิดแค่ว่าเราบริโภคเนื้อบุตรนี้ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อพวกเขาจะได้เดินทางผ่านทางกันดารนี้ไปได้แค่นั้นครับ
คิดดูสิครับขณะกินลูกตัวเองยังร้องไห้ รำพึงรำพรรณถามหาลูกชายน้อย ๆ อยู่เลย ว่าไปไหนเสียแล้ว
ผมว่าอุปมา "เนื้อบุตร" นี้เห็นภาพชัดมากนะครับ ว่าเรากินไปเพื่ออะไร
ก่อนกินอาหาร ท้องร้อง เรามีความทุกข์ เพราะความหิว เราจึงกินอาหารเพื่อดับความทุกข์ดังกล่าว ดังนั้น จงกินแต่พอดีแล้วมีท้องอันพร่องอยู่เล็กน้อย
เพราะถ้าหากเรากินมากเกินไป เราจะได้ความทุกข์อื่นมาแทน นั่นคือ การอิ่มจนอึดอัดเกินไป แน่นท้อง ดูไม่ค่อยสุขสบายเท่าไหร่นัก บางคนเป็นหนักถึงขั้นมาโรงพยาบาล ผมว่าอาการแบบนี้ทุกคนน่าจะเคยเป็น
1
แล้วเราจะกินเพื่อดับทุกข์หรือเราจะกินเพื่อสร้างทุกข์ ลองนำไปพิจารณาดูครับ
ผมหวังว่าบทความนี้ น่าจะทำให้เราเห็นภาพ "กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน" มากยิ่งขึ้นนะครับ
ขอบคุณครับ 🙇‍♂️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา