13 ม.ค. 2020 เวลา 14:09
การเดินทางของชีวิต
# ทักษะทางการเงินเพื่อเป้าหมายของชีวิต
รายได้ก้อนแรกในชีวิตเราได้รับเมื่อไหร่ ได้รับเท่าไหร่ และเราใช้เงินก่อนนี้ยังไง จำได้หรือเปล่าครับ
รายได้ก้อนแรกของคนส่วนใหญ่แสดงถึงการเริ่มต้นการเดินทางชีวิตด้วยตัวเราเอง วิธีใช้เงินก้อนแรกก็อาจจะแสดงถึงแนวทางใช้เงินของเราในอนาคต
= บางคน แบ่งรายได้ก้อนแรกให้พ่อแม่
= บางคน เลือกที่จะให้รางวัลกับตัวเอง
= บางคน เก็บออมเงินส่วนหนึ่ง
เมื่อเริ่มมีรายได้และต้องดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง ทักษะทางการเงินจะเป็นพื้นฐานที่จำเป็น เพราะความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน คือภูมิคุ้มกันสำคัญและช่วยให้เราสามารถวางแผนและบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้จ่าย การออม การก่อหนี้ และการลงทุน
ทักษะคือความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจที่เกิดจากการเรียนรู้หรือการฝึก การสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ทุกคนจึงสามารถสร้างทักษะต่างๆให้ตัวเองได้
ทักษะทางการเงินของคนไทยในปัจจุบัน
ทักษะทางการเงินของคนไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกันทำวิจัยล่าสุดในปี 2559 พบว่า คนไทยมีทักษะทางการเงินเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 61.0% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกของ OECD เพียงเล็กน้อย ซึ่งเราก็อาจพูดได้ว่าคนไทยมีทักษะทางการเงินใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของทุกประเทศ
แต่ถ้าดูทักษะทางการเงินในแต่ละด้าน พบว่า คนไทยมีทักษะด้านความรู้ทางการเงินที่ต่ำกว่าค่าเฉลียของ OECD ค่อนข้างมาก โดยมีความรู้ทางการเงิน เฉลี่ยเพียง 48.6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ที่ 65.7%
ในขณะที่ทักษะด้านการเงินอีก 2 ด้าน คือ พฤติกรรมทางการเงิน และ ทัศนคติทางการเงิน คนไทยมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่า ค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.0%
ถ้าจะสรุปสั้นๆ ก็คือ คนไทยโดยรวมมีทัศนคติทางการเงินที่สูง แต่ยังมีความรู้ทางการเงินที่น้อย ผลทำให้ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ ในแต่ละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเป้าหมายทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุ
ความรู้ทางการเงินที่คนไทยมีค่าเฉลี่ยที่ดีคือ ความรู้ในการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก แต่กลับมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำมากในเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น เงินเฟ้อ ความเสี่ยงและผลตอบแทน การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และ มูลค่าของเงินตามเวลา
ในส่วนของพฤติกรรมทางการเงิน แม้จะมีค่าเฉลี่ยที่ดี แต่ก็พบปัญหาที่สำคัญคือ พฤติกรรมเรื่องการจัดสรรเงินก่อนใช้ที่มีค่าเฉลี่ย 22.7% ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD เท่ากับ 60.0% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการออมของไทยที่ไม่เพียงพอ
จากจุดอ่อนของทักษะทางการเงินของคนไทย จะเห็นได้ว่า เรามีจุดอ่อนในการออม และการลงทุน ซึ่งเป็น2 หัวใจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งและการบรรลุเป้าหมายทางการเงินของชีวิต
อัตราเงินเฟ้อ กับ อัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยที่เราเห็นเป็นตัวเลข % นั้น ไม่ได้สะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เพราะไม่ได้นำเรื่องค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราเงินเฟ้อมาปรับเพิ่มหรือปรับลด
หากจะพิจารณาผลตอบแทนจากเงินที่ฝากหรือลงทุนจึงควรดูจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อ
ตัวอย่างสมมุติ เช่น ถ้าเราฝากเงินได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2% ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้อคือ 3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็คือ 2% - 3% เท่ากับ -1% ไม่ใช่ 2% อย่างที่เข้าใจ
สถานการณ์ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในอังกฤษ
อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน หากเราไม่พิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เราก็อาจจะเข้าใจว่าเงินและดอกเบี้ยที่ได้รับในธนาคารที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีคือเราจะมีเงินใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต
แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร เราลองนำอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอดีตมาดูกันว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยเป็นอย่างไร
ตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก็มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของเงินฝากบางประเภทติดลบเช่นกัน ในอดีตนั้นอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยให้ผลตอบแทนที่สูง ต่างจากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ได้สร้างผลตอบแทนเหมือนอย่างที่เคยเป็นในอดีต
การฝากเงินธนาคารจึงอาจไม่ใช่รูปแบบการออมและลงทุนที่เหมาะสมเหมือนสมัยรุ่นพ่อแม่อีกต่อไป อย่างน้อยก็ควรจะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อการคงค่าของเงินที่มีอยู่ไว้
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีผลอย่างมากกับเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว แต่สำหรับเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นอาจไม่มีผลกระทบมาก การวางแผนการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงด้วย
ความเสี่ยง และ ผลตอบแทน
"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน"
คำเตือนประโยคนี้เรามักได้ยินในทุกท้ายโฆษณาการลงทุน
คำเตือนนี้ถ้าจะให้ถูกต้องควรจะเป็น "การลงทุนมีความเสี่ยงและมีโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน" น่าจะเหมาะสมกว่า
คำว่าความเสี่ยงในความเข้าใจของคนส่วนมากถูกใช้ไปในทางด้านร้ายเป็นหลัก ต่างกับคำว่า เสี่ยงโชค ที่คนไทยจะมองในแง่บวกทันที คำว่าเสี่ยงจึงแสดงได้ทั้งด้านลบและด้านบวกในเวลาเดียวกัน
"การลงทุนมีความเสี่ยงแต่ ไม่ลงทุนเสี่ยงกว่า"
หลายคนอาจสงสัยว่าไม่ลงทุนหรือไม่เสี่ยงแล้วจะเสี่ยงกว่าได้อย่างไร ถ้าเข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ก็ใช้อธิบายเรื่องนี้ได้เลยครับ การไม่รับความเสี่ยง อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลตอบแทนติดลบได้นั่นเอง
ฉะนั้นการไม่รับความเสี่ยงจึงอาจไม่ใช่การจัดการด้านการเงินที่เหมาะสมเสมอไป และที่สำคัญทำให้การบรรลุเป้าหมายทางการเงินเป็นไปได้ยากขึ้น
เราวัดระดับความทนทานในความเสี่ยงของแต่ละคนได้จาก 2 ปัจจัย คือ
1. ความสามารถในการรับความเสี่ยง (ability to take risk) เช่น พิจารณาจาก อายุ รายได้ เป็นต้น และ
2. ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (willingness to take risk) เช่น พิจารณาจาก ทัศนคติ รสนิยม การตัดสินใจ เป็นต้น
ใครที่เคยทำแบบทดสอบวัดระดับความเสี่ยงกับธนาคาร ก็คงพอจะทราบระดับการทนทานต่อความเสี่ยงของตนเองครับ ธนาคารและสถาบันการเงินจะใช้ระดับการทนทานของเราเพื่อพิจารณาเลือกสินทรัพย์การเงินที่เหมาะสมให้กับเรา
สินทรัพย์ต่างๆ มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน ไม่ว่าแต่ละคนจะมีระดับความทนทานในความเสี่ยงมากหรือน้อย ในการบริหารการลงทุนเพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่ดีจะใช้วิธีการกระจายสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆให้เหมาะสมกับระดับความทนทานในความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
ทักษะทางการเงินคือสิ่งที่ควรต้องสร้างขึ้น เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยไปถึงเป้าหมายทางการเงินทำให้เส้นทางการเดินทางของชีวิตเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา