22 ม.ค. 2020 เวลา 22:13 • ปรัชญา
ความสำเร็จ เป้าหมาย และวิธีการ🍃
..
คำว่าหลุดพ้นคือความสำเร็จของชาวพุทธ
เพราะฉะนั้นเป้าหมายคือจะต้องเป็นพระอรหันต์
ถ้าพูดอย่างนี้หลายคนอาจตกใจ เพราะดูไกลเกินตัว แต่ถ้าเทียบเคียงกับทางโลก ก็จะมีคำว่า:ความสำเร็จ คนที่จะสำเร็จคือคนที่มีเป้าหมาย คนที่มีเป้าหมายคือคนที่มีวิธีการ โดยการซอยเป้าหมายให้เป็นระยะสั้น กลาง ระยะยาว ทำตามขั้นตอนวิธีการ จนบรรลุเป้าหมายเล็กๆ กระทั่งบรรลุเป้าหมายใหญ่ หรือที่เรียกว่าความสำเร็จที่ทางโลกกล่าวกัน🍃
คำว่าเป้าหมายมีให้เห็นดาษดื่นมากในทางโลก ในทางธรรมก็เช่นกัน ก็มีความสำเร็จคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ ดังนั้นเป้าหมายคือพระอรหันต์ เราจึงจำเป็นที่จะรู้ถึงรายละเอียดของเป้าหมายคืออะไร ถ้าไม่ชัดเจนที่เป้าหมายความเชื่อก็ไม่มากพอ วิธีการก็จะสเปะสะปะ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
..
ตลอดทางจะมีคำว่ากังวลลังเลใช่ไม่ใช่..ตลอดเส้นทาง
..
ในทางโลกก็เช่นกัน คนไม่รู้เป้าหมายตัวเองมักจะกังวลตลอดทางของการทำ เพราะฉะนั้นต้องตอบให้ได้ว่าเป้าหมายคืออะไร ให้ชัดแจ้งแก่ใจจึงควรทำ ไม่งั้นอย่าทำ..มันจะท้อ ..ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าฉันต้องการอะไรแล้วจึงหาวิธีการและจดจ่อลงมือทำ🍃
ในเรื่องทางโลกมีคนกล่าวอยู่มากเรื่องความสำเร็จเห็นได้จากในBD ที่หลายท่านเขียนเรื่องเหล่านี้:ความสำเร็จ เป้าหมาย วิธีการในเรื่องต่างๆ และกำลังใจสู้ สู้
ส่วนในทางธรรม ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะส่วนนี้จะติดตามและสามารถสร้างต่อในชาตินี้และต่อๆไปไม่สูญหาย ไม่เหมือนทางโลกเมื่อตายก็เอาความสำเร็จติดตัวไปไม่ได้ เงินทอง ความมั่งคั่ง ทรัพย์สมบัติก็ทิ้งให้คนอื่นได้ใช้สอยต่อ🍃
จะดีมั้ย?...ถ้าเราจะสั่งสมอริยทรัพย์อันอิ่มเอมทั้งโลกนี้และโลกหน้า อนาคตเบื้องหน้าจะได้ไม่ต้องปริวิตก กร่นฟ้า ว่าชะตาชีวิตทำไมต้องเป็นกู
ในศาสนาพุทธ พระอรหันต์ (พระ-อะ-ระ-หัน; บาลี: arahant; สันสกฤต: अर्हत् arhat) คือ พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด
..
ว่าด้วยเรื่องสังโยชน์10(กิเลสผูกมัดให้เราเวียนว่ายตายเกิด ผูกมัดไว้กับทุกข์)
ตามที่เพจท่านว.วัชรได้นำข้อความจากพระไตรปิฎกมากล่าวเมื่วันที่9พย.2019 กระผมขออนุญาตนำมาย่อยและอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่าย
..
เมื่อใดที่เราละสังโยชน์10ได้แล้วนั่นคือถึงความเป็นพระอรหันต์(ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป)🍃
สังโยชน์10เป็นแต่เพียงตัวเช็คลิสซ์(check list)ว่าสิ่งใดยังเหลือสิ่งใดยังขาดสิ่งใดที่จะกระทำต่อไป ไม่ใช่ทางปฏิบัติขอรับ เป็นข้อควรรู้เพื่อจะละ🍃
ทางปฏิบัติคือมรรค8ประการ นอกจากเป็นทางแล้วก็เป็นตัวQCไม่ให้ออกนอกเส้นทาง เอาง่ายๆเลยเขียนสังโยชน์10ข้อแปะไว้ข้างฝาไว้เป็นตัวเช็ค จากนั้นมาดูวิธีการโดยหลักคือทาง8ประการ(มรรคมีองค์8 ) การมาซึ่งทาง8ประการก็มีวิธีการอีก ก็คือการทำสมถะและวิปัสสนาเป็นเครื่องมือในการดำเนินซึ่งมรรคาให้ง่ายโดยไม่ต้องคิดเองเออเอง..🍃
(ที่จริงใครสนใจผมอยากให้ไปเรื่องสั้นอิยะกับความหมายที่หายไป ภาค0 กระผมอธิบายและปูพื้นที่เข้าใจง่ายและเหมาะกับคนยุคนี้ที่ไม่ไคร่มีเวลาศึกษาธรรม อ่านสนุกและไม่ง่วงแน่นอน แต่ก็แล้วแต่บุคคลนะขอรับเพราะจริตแต่ละคนไม่เหมือนกัน อ่านแล้วเลือกทางที่เหมาะสมกับตัวเองนะขอรับ)
ที่นี้มาดูสังโยชน์10ที่ท่านว.วัชรลงไว้ในเพจ กระผมขอนำมาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ🍃
..🍃
สังโยชน์10..อ่านช้าๆทำความเข้าใจช้าๆนะขอรับ
1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นกายนี้ใจนี้เป็นเราตัวเรา
2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือมั่วนิ่ม
3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส เช่นการถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงายด้วย
4. กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ
6. รูปราคะ - มีความติดใจในรูปฌาน
7. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย
8. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน
9. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา – มีความไม่รู้จริง🍃
โดยผู้ละสังโยชน์3ข้อแรกเรียกว่าพระโสดาบัน
ผู้ทำให้ข้อที่4,5เบาบาง เรียกว่าพระสกทาคามี
ผู้ละสังโยชน์5ข้อได้เรียกว่าพระอนาคามี
ผู้ละสังโยชน์10ข้อได้เรียกพระอรหันต์
ทีนี้จะเห็นว่าพระอริยะที่ละสังโยชน์3ขึ้นไปจะปิดกั้นนรกแน่นอน เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเป้าหมายย่อยคือ ตั้งเป้าเป็น "พระโสดาบัน"
ขั้นต่อไปก็จะง่ายเพราะวิธีการปฏบัติเหมือนเดิมแต่ความละเอียดเพิ่มมากขึ้น หลายคนข้ามขั้นตอนนี้เพราะอยากบรรลุเร็วไปละกามราคะ ทั้งที่ข้อ1,2,3ยังทำไม่ได้ เห็นรึยังขอรับ ว่าเช็คลิซสำคัญมาก และจะเห็นได้ ว่าฆราวาสที่มีสามี มีลูกมีเมีย ก็เป็นพระโสดาบันได้ ขณะที่ยังจ้ำจี้กันได้อยู่
สมัยพุทธกาล พระองค์เทศน์ส่วนมากก็ชาวบ้านบรรลุธรรมเป็นพระอริยะเป็นส่วนมาก ทั้งที่ยังมีลูกมีผัว เพราะเขาเช็คลิสซ์ว่าทำแค่1-3ปิดกั้นอบายได้แล้ว เขาจึงมุ่งมั่นละ3ข้อให้ได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องออกบวชกันหมด
..
หลายคนเข้าใจผิดมากๆ ว่าอรหันต์เป็นเรื่องของพระ หรือชักชวนคนมาปฏิบัติหรือต้องทิ้งโลกมาปฏิบัติ คนก็ไม่ทำงานทำการกัน หมดโลกพอดี เป็นความเห็นผิดอีกประการ หลายคนก็กลัวเพราะยังไม่อยากทิ้งโลกที่เขาเป็นอยู่ ก็สามารถทำได้ ในเมื่อของมันทำควบคู่กันได้ ค่อยๆทำค่อยๆศึกษาจะเสียเวลาหายใจทิ้งไปทำไม..อันนี้น่าคิด🍃
1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง
2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส เช่นการถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงายด้วย
มันก็เป็นปัญหาว่าเราจะละได้อย่างไร
ท่านก็บอกวิธี มีเครื่องมือให้
ในทางพุทธเรามีการปฏิบัติ2วิธี
สมถะและวิปัสสนา
1สมถะเราใช้ในแง่ของการพักผ่อนของจิต เป็นเครื่องอยู่ ถ้าจะแบ่งก็มีหลายขั้นแล้วแต่จะเรียก ขณิกะ อุปจาระ ณาณ เป็นต้น (คำบาลีเหล่านี้แยกเพื่อให้เข้าใจที่ตรงก้น เวลาพูดคำเหล่านี้จะเข้าใจไปในทางเดียวกัน หากต้องสื่อสารก็เรียนรู้ไว้ แต่ถ้าในขั้นของการปฏิบัติให้ละไว้)
..
การทำสมถะโดยใช้อุบายให้จิตสงบเช่นภาวนาพุธโธ ดูลมหายใจ หรือตั้งจิตไว้ศูนย์กลางกายเหนือสะดือ2นิ้ว สังเกตท้องพองยุบ ตามแต่ถนัดหรือถูกจริตของแต่ละบุคคล เป็นต้น เมื่อจิตสงบก็เห็นอะไรที่ตรงความเป็นจริงได้ง่าย ใช้เป็นฐานในการเจริญปัญญาหรือวิปัสสนาต่อไป
..
ส่วนที่จะใช้เจริญปัญญาได้คือสงบตั้งแต่ระดับขณิกะ(สงบประเดี๋ยวประด๋าว) หรืออุปจาระไม่ลงลึก อันนี้เอาง่ายๆคือทำให้จิตสงบชั่วคราว
โดยใช้อุบายที่บอกข้างต้น เป็นต้น เพื่อปรับให้จิตควรค่าแก่การงาน ไม่ซึมแข็งทื่อหรือขี้เกียจพาลจะหนีจากโลก ปรับจิตเพื่อเตรียมพร้อมใช้ในการวิปัสสนาเจริญปัญญาต่อได้🍃
2.วิปัสสนาใช้ในแง่ของการเจริญปัญญา ให้น้อมทุกอย่างลงสู่ไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) ให้มองทุกอย่างตามเป็นจริง เกิดมาตั้งอยู่ดับไป รายละเอียดดูได้จากโพสต์ที่แล้วเรื่อง อนันตลักขณสูตร เรื่องขันธ์5
..(หากมีโอกาสจะเขียนเทคนิคการทำวิปัสสนาอีกที)
ซึ่งทั้งสองสมถะและวิปัสสนาต้องใช้ทำงานร่วมกันขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ จะเหมาะสำหรับคนเมืองที่ไม่มีเวลา นั่งทำสมาธิกันยาวๆ 🍃
..
ในชีวิตประจำวันแนะนำให้ทำสมถะแค่จิตสงบแต่ระดับขณิกะ สบายๆหลังจากนั้นให้เจริญวิปัสสนา เมื่อเดินปัญญาเหนื่อยก็กลับมาทำสมถะ สลับไปมา เช่น เวลาทำงาน ว่างเล็กน้อยก็มาดูลมหายใจเบาๆ(สมถะ) จากนั้นมาดูกายที่เคลื่อนไหว หรือความคิดที่ผุดมาแล้วดับไป ไม่มีอะไรนิ่ง คงทน บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา(วิปัสสนา) แล้วก็ทำงานต่อ ใช้วิธีลักไก่ทั้งวัน สะสมเป็นความเคยชิน จนมันเป็นอัตโนมัติ
..
จนวันหนึ่งมันแจ้งแก่ใจว่าขันธ์5(ขันธ์5อธิบายในโพสต์ที่แล้วก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน หรือเรียกย่อว่ากายใจ หรือรูปนาม) แปรปรวน คงอยู่ไม่ได้ ไม่มีตัวตนหรือเห็นกฏไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขัง อนัตตา หรือในเพจขบถ~ยาตราในเรื่องอิยะกับความหมายที่หายไป ภาค0 เรื่องขบถยาตรา กระผมใช้คำว่ากฏของจิงเกอเบล🍃
..
เมื่อจิตเรียนรู้จนเข้าใจ ก็จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ก็จะละสังโยชน์ข้อที่1ได้ ความเห็นผิดในกายว่าเป็นของเราก็หมดไป
..
ส่วนข้อที่2🍃ความลังเลสงสัย จะค่อยๆหายไป หรือเบาลง เนื่องจากสังโยชน์เราละได้ถูกต้อง ความเชื่อมั่นใน พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์จะแน่นแฟ้นจากที่เราได้ทำและสัมผัสกับตัวเอง มันจะแจ้งชัดแบบไม่มีข้อกังขา ข้อที่2ก็จะละไปโดยอัตโนมัติ
..
ข้อ3🍃สีลัพพตปรามาส จากข้อ1เมื่อเราเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เราจะขวนขวายในเหตุสันโดษในผล และเห็นความผิดชอบชั่วดี เห็นไตรลักษณ์เราก็มีความเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนใคร เพราะฉะนั้นศีลเราจะสมบูรณ์โดยอัตโนมัติ แค่ศีล5ก็บรรลุธรรมได้
..
เมื่อละสังโยชน์3ข้อได้โสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผลก็เกิดขึ้น ก็เป็นอันปิดอบายทั้งหมดก็เป็นอันจบเป้าหมายระยะสั้น
..
ส่วนที่บอกเรื่องรายละเอียดว่าพระโสดาบันแบ่งเป็น3ประเภทตามกำลังและความเพียร
1.เอกพีชี หรือเกิดอีกชาติเดียว ก็จะเข้าใจและตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด
2.โกลังโกละ หรือเกิดไม่เกิน3ชาติ ก็จะตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด
3.สัตตักขัตตุงปรมะ หรือเกิดไม่เกิน7ชาติ ก็จะตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด🍃
***เพราะฉะนั้นเพียรละสังโยชน์ข้อ1ให้ได้ก่อน ข้อที่เหลือจะตามมาเอง***
ส่วนในรายละเอียดอื่นๆ กระผมเห็นว่าอ่านไว้เป็นความรู้ไปก่อน ถ้าละครบ3ข้ออย่างอื่นก็จะง่าย เพราะต้องทำเหมือนเดิม กระผมใช้คำว่ากฏของการทำซ้ำ แต่มันจะงวดขึ้นเรื่อยๆและละเอียดขึ้นตามสภาวะจิตที่เขาเรียนรู้เท่านั้นเอง ข้ออื่นๆจะค่อยๆเบาบางและตัดเอง
..
กระผมคงต้องแนะนำอีกครั้งลองอ่านที่เพจขบถ~ยาตรา เรื่องอิยะกับความหมายที่หายไป ภาค0 จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น🍃
และถ้าอยากอ่านพระไตรปิฎกให้เข้าใจ แนะนำอ่านช้าๆหรืออ่านในฉบับบย่อมาก่อนและควรมีพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) แต่เหนือสิ่งใดคือลงมือทำทดลองเรียนรู้จึงจะเข้าใจยิ่งขึ้น
สาธยายมาด้วยความเคารพ ผิดพลาดประการใดขออภัยเพราะใช้ผลการปฏิบัติจริงของกระผมมาเทียบเคียง และขอขอบคุณที่ท่านว.วัชร ได้ลงเรื่องนี้จากพระไตรปิฎก
ในคราวต่อไปกระผมจะลงถึงเช็คลิซอีกอย่างคือ
ทางที่เราต้องเดิน เป็นตัวเช็คระหว่างทาง ว่ามาถูกทางหรือไม่ ถ้าเปรียบเทียบกับทางโลกคือต้องมีการQCคุณภาพงาน หรือทบทวนเส้นทางว่ามาถูกทางหรือไม่ นั่นคือมรรค8เป็นทั้งทางปฏิบัติ,เช็คลิซและQC
..🍃
หนังสือมีอยู่แล้ว แต่ขาดผู้อ่าน
ธรรมมีอยู่แล้ว ขาดแต่ผู้ทำธรรม
หนทางมีอยู่แล้ว แต่ขาดผู้ดำเนินซึ่งมรรคา
ด้วยสัจจะแห่งความตั้งมั่นและความปราถนาดีนี้ขอข้าพเจ้าแจ้งพระนิพพานเป็นแดนชัยในอนาคตกาลเบื้องหน้าเทอญ🍃
สวัสดียามเช้าขอรับ😊

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา