28 ม.ค. 2020 เวลา 08:51 • ท่องเที่ยว
ตอนที่ ๓ ทะเลบัวแดงที่ยิ่งใหญ่ : ชุด “อุดรธานี-หนองคาย”
ตอนที่แล้วได้นำท่านผู้อ่านไปชมบัวแดงที่วังบัวแดง อำเภอปะโค หนองคาย แล้ว ในตอนนี้ขอนำไปชมทะเลบัวแดงที่บึงหนองหาน อำเภอกุมภวาปี อุดรธานี
ได้กล่าวในตอนที่ ๒ ไว้แล้วว่าทะเลบัวแดงเป็นทุ่งดอกไม้ตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในไทย และ ‘ซีเอ็นเอ็น’ ได้เลือกให้เป็นอันดับ ๒ ของทะเลสาบที่แปลกที่สุดในโลก
ทะเลบัวแดงอยู่ในเขตแดน ๔ อำเภอ คืออำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองหาน อำเภอประจักษ์ศิลปาคม และอำเภอกู่แก้ว
ความอุดมสมบูรณ์ของบึงหนองหานนั้น อาจถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจในการศึกษาระบบนิเวศน์วิทยา เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพืชพรรณและสัตว์ เป็นผลิตผลให้ชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวเพื่อนำไปเลี้ยงชีพ
บึงหนองหานมีพื้นที่สุดลูกหูลูกตานับเป็นหมื่นๆ ไร่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่าบึงหนองหาน มีเนื้อที่กว่า ๗๗,๐๐๐ ไร่ หรือ ๑๒๓.๒ ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ยประมาณ ๒ - ๑๐ เมตร
ท่าลงทะเลบัวแดงมีหลายท่าครับ เช่น ท่าบ้านเดียม ท่าบ้านแชแลและท่าบ้านโดนน้ำย้อย ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี นอกจากนั้นยังมีท่าบ้านดอนคง อำเภอประจักษ์ศิลาคม และท่าคอนสาย อำเภอกุแก้ว เป็นต้น ผู้เขียนไปลงทะเลบัวแดงที่ท่าบ้านเดียม อำเภอกุมภวาปี ครับ
ทะเลบัวแดง อุดรธานีต่างกับวังบัวแดง หนองคาย หลายอย่างครับ
ประการแรก ที่วังบัวแดง หนองคาย ใช้เรือพาย จึงพายเข้าไปในดงของบัวแดงได้ ส่วนทะเลบัวแดง อุดรธานี นั้น ใช้เรือหางยาว หางของเรือหางยาวก็ตัดบัวแดงออกเป็นช่องกว้าง
ประการที่สอง ที่วังบัวแดง หนองคาย ลงเรือก็พบกับบัวแดงในทันที แต่ที่ทะเลบัวแดง อุดรธานี ต้องนั่งเรือหางยาวเป็นระยะทางพอสมควรกว่าจะถึงดงบัวแดง ที่จริงก็มีอยู่บ้างประปรายครับ แต่ยังไม่หนาแน่นพอครับ
เมื่อถึงจุดที่มีบัวแดงคับคั่ง เรือหางยาวก็หยุดแล้วก็ให้หัวเรือเข้าไปในดงบัวแดงเท่านั้น เพราะไม่อาจนำเรือทั้งลำเข้าไปได้ มิฉะนั้น หางเรือก็สร้างความเสียหายให้แก่บัว
เรือได้หยุดให้ชมบัวแดง ๓ จุด ครับ ชมภาพในจุดชมที่ ๑ นะครับ
ชมความอุดมสมบูรณ์ของบึงนะครับ มีนกหลายชนิดมาหากิน เช่น นกกระสา นกแซงแซว และนกนางแอ่น เป็นต้น
ก่อนถึงจุดชมบัวแดงที่ ๒ เรือได้ผ่านสนมหรือกองขยะที่มารวมกัน บางจุดมีเยอะมากและคงเป็นเวลานานแล้ว จึงกลายเป็นเกาะ มีต้นไม้ขึ้นอยู่ครับ
จุดชมบัวแดงที่ ๒ ครับ
เห็นมีบัวหลวงด้วยนะครับ คนขับเรือแจ้งว่าบัวหลวงออกดอกในเดือนมีนาคม-เมษายน ส่วนบัวแดงเริ่มออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม คงเปิดโอกาสให้บัวหลวงได้โชว์ดอกบ้างกระมัง เห็นไหมครับว่าธรรมชาติสร้างสรรค๋ได้ดีทีเดียวครับ
ชมบัวแดงบริเวณจุดชมบัวแดงที่ ๓ ครับ
ทราบจากคนขับว่าที่ท่าบ้านเดียม อำเภอกุมภวาปี นี้มีเรือทั้งสิ้น ๑๒๐ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ครับ
อยากให้ชมคลิปก่อนขึ้นฝั่งนะครับ https://www.facebook.com/100017827336090/videos/pcb.581519659118940/581518649119041/?type=3&theater
คนขับเรือใจดีมากนะครับ ยินดีที่จะนำผู้เขียนเดินทางไปชมบัวแดงในจุดต่อๆ ไปเท่าที่ผู้เขียนต้องการ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเพียงพอแล้ว จึงเดินทางกลับแล้วครับ
สำหรับความรู้สึกของผู้เขียนนั้นเห็นว่า ทะเลบัวแดงมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดลูกหูลูกตา แต่ผู้เขียนชื่นชมวังบัวแดงที่หนองคายมากกว่า ทั้งนี้ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ธรรมชาติสร้างแล้วคนต้องช่วยธรรมชาติสร้างด้วย
ที่วังบัวแดง หนองคายนั้น ชาวบ้านได้ช่วยกันดึงแหนและผักตบชะวาออกมาจากบัวแดง ทำให้เห็นความสวยงามของบัวแดงได้อย่างเต็มี่ ส่วนที่ทะเลบัวแดง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติล้วนๆ ดังนั้น จึงเห็นสนมหรือกองขยะทั้งแหนและผักตบชะวาเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้บัวแดงเด่น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความชอบของแต่ละบุคคลนะครับ ผู้เขียนเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้น ชอบอย่างไหน มีโอกาสอย่างไรก็ตามสะดวกครับ
เนื่องจากอาหารเช้าในวันนั้นเป็นอาหารกล่องที่โรงแรมจัดให้ซึ่งมีเพียงแซนวิซกับน้ำเปล่า ดังนั้น ก่อนออกเดินทางออกจากทะเลบัวแดง จึงได้ซื้อแป้งจี่และข้าวเหนียวปิ้ง เพียงสองอย่างทำให้อิ่มตื้อเลยครับ
เดินทางไปแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี ได้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า ๕,๐๐๐ ปี เคยไปที่นี่ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดไว้อย่างสวยงามเท่าสมัยนี้หรอกครับ
ให้ท่านผู้อ่านชมตัวอย่างภายในนิดหน่อยครับ
หลังจากนั้นก็ใช้เวลาช้อปปิ้งหน้าแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงกันนิดหน่อย ได้เสื้อผ้ากันมาคนละเล็กคนละน้อยครับ
เดินทางต่อไปชมอุโบสถดอกบัวกลางน้ำ ซึ่งอยู่ที่วัดสันติวนาราม พุทธอุทยานบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ใกล้กับแหล่งมรดกโลกชุมชนบ้านเชียง
เป็นพระอุโบสถทรงดอกบัวสีขาวหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ตั้งโดดเด่นกลางน้ำมีสะพานทางเดินเชื่อมไปยังพระอุโบสถ ส่วนภายในวิจิตรตระการตาด้วยภาพวาดฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ มีองค์พระประธานสีขาวโดดเด่นอยู่ภายในอุโบสถ
บริเวณโดยรอบอุโบสถเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีผู้ให้อาหารซึ่งแสดงว่ามีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
มีทางเดินที่ร่มรื่นด้วย
ต่อด้วยวัดสระมณีครับ วัดนี้อยู่ที่อำเภอหนองหาน สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘ เดิมวัดนี้มีสระหนึ่งสระหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามีลูกแก้วชนิดหนึ่งลอยขึ้นมาจากสระเปล่งแสงประกายงดงามมากเมื่อชาวบ้านมาตั้งวัดขึ้น ณ ที่บ้านผักตบ จึงใช้ชื่อนี้ว่า “วัดสระมณีโชติ” ต่อมาหลายปีคำว่า โชติ หายไปเหลือแต่คำว่า สระมณี
สร้างอุโบสถอย่างวิจิตรพิศดารมากครับ และขณะนี้ก็กำลังสร้างอยู่เช่นกันครับ
กลับมาถึงกลางเมืองอุดรธานี ไปที่วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ซึ่งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง ในเมือง สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ ๕
วัดโพธิสมภรณ์เป็นวัดสายกัมมัฏฐาน ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานในชั้นที่ ๒ จัดแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องราวปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของพระสงฆ์ในวัดโพธิสมภรณ์ที่มุ่งศึกษากัมมัฏฐาน ปฏิบัติสืบต่อตามครูอาจารย์
ชมลักษณะเด่นวัดโพธิสมภรณ์ของพระบรมธาตุธรรมเจดีย์
แล้วก็เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร จองตั๋วธรรมดา แต่ได้ที่นั่ง Hot seat นึกว่าคงได้ดื่มกาแฟฟรี แต่ไม่ได้หรอกครับ ที่นั่งกว้างหน่อย คงเป็นเพราะซื้อนานและชดเชยตอนขาไป อิอิอิ
ถึงกรุงเทพมหานครเจอมลพิษอีกแล้วครับ อุตส่าห์ไปล้างปอดที่อุดรธานี-หนองคาย รวม ๓ วัน ก่อนเครื่องลงที่ดอนเมือง มองเห็นอากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละอองครับ ก็ต้องทนกันต่อไปจนกว่าทางราชการจะใช้ยาแรงแก้ปัญหานี้ได้เบาบางลงได้
พุธทรัพย์ มณีศรี
อ่านชุด “อุดรธานี-หนองคาย” ตอนก่อนหน้านี้ได้ที่
ตอนที่ ๑ ความสวยงามและอลังการของวัดป่าภูก้อน
ตอนที่ ๒ ชื่นชมและประทับใจวังบัวแดง
โฆษณา