29 ม.ค. 2020 เวลา 12:59 • การศึกษา
“เรื่องสำคัญที่บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมต้องรู้!?”
ปัจจุบันคนเริ่มมีลูกกันน้อยลงซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น สภาวะเศรษฐกิจ หรือสภาพสังคม แต่สำหรับบางครอบครัวที่มีความพร้อมแต่ไม่สามารถมีลูกได้นั้น การรับบุตรบุญธรรมก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดเงื่อนไขของการรับบุตรบุญธรรมเอาไว้ โดยคนที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้นั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าคนที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ...หากนาย ก. ซึ่งมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ต้องการรับเด็กซักคนเป็นบุตรบุญธรรม เด็กคนนั้นก็ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี นาย ก. จึงจะมีสิทธิรับเป็นบุตรบุญธรรมได้
และถ้าผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่ คู่สมรสไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เช่น เป็นคนวิกลจริต หรือไปจากที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ก็ต้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตแทน
การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งสามารถจดได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ และจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์) หรือบิดา มารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม (กรณีอายุต่ำกว่า 15 ปี)
นี่เป็นรายละเอียดคร่าว ๆ ของการรับบุตรบุญธรรม ส่วนเรื่องที่ผมตั้งใจจะนำเสนอในบทความนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม (เรื่องเงินทองต้องใส่ใจ)
เรื่องของเรื่องก็คือ กฎหมายได้กำหนดให้คนที่เป็นบุตรบุญธรรมนั้น มีฐานะอย่างเดียวกับลูกแท้ ๆ ของผู้รับบุตรบุญธรรม
ดังนั้น เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมถึงแก่ความตาย บุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนดั่งลูกแท้ ๆ คนหนึ่ง
นอกจากนั้น บุตรบุญธรรมยังคงมีสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ตนได้กำเนิดมา เช่น มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อแม่ที่แท้จริง หรือมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ให้กำเนิด
ในทางกลับกัน การรับบุตรบุญธรรมนั้น
ไม่ได้ทำให้ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาท
โดยธรรมแต่อย่างใด...😂
พูดง่าย ๆ ก็คือ หากบุตรบุญธรรมทำงานมีฐานะหรือมีทรัพย์สินขึ้นมา และเกิดเสียชีวิตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเลย
1
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ได้เปิดช่องว่างเอาไว้ หากบุตรบุญธรรมต้องการให้พ่อหรือแม่บุญธรรมของตนได้รับมรดก ก็สามารถทำพินัยกรรมยกหรือแบ่งทรัพย์สินให้แก่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้ครับ 😁
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา