31 ม.ค. 2020 เวลา 09:54 • ความคิดเห็น
อะไรที่น่ากลัวกว่า "โคโรนาไวรัส"
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ มีข่าวด่วนพบผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มอีก 5 ราย รวมเป็น 19 ราย และพบการติดต่อระหว่างคนสู่คนเป็นรายแรกแล้ว
ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังจะทะลุหนึ่งหมื่นคนไปแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็เกิน 200 รายไปแล้ว
โชคยังดีว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังอยู่ในประเทศจีน ยังไม่พบกรณีผู้เสียชีวิตในต่างประเทศ
สำหรับในเมืองไทยเมื่อเช้ายอดยังนิ่งๆอยู่ที่ 14 ราย ตามแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ (31มกราคม 2563)
ตอนเย็นเมื่อสักครู่ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกห้าราย ล่าสุดของไทยเป็น 19 ราย พบเพิ่มอีก 5 ราย เป็นชาวจีน 4 ราย เป็นแท๊กซี่คนไทยอีก 1 ราย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ติดต่อจากคนสู่คนค่ะ
ความจริงแล้ว เมืองไทยนี่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูงมาก แหล่งความรู้เรื่องไวรัสก็ไม่น้อยหน้าใคร
เรื่องจะปิดข่าวโคโรนาไวรัส ไม่มีแน่ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกจับตามองอยู่ ยิ่งวันนี้ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก" เพื่อการช่วยเหลือ ดูแล และประสานงานประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
พูดง่ายๆคือ การประกาศยอมรับว่า โคโรน่าไวรัส เป็นโรคระบาดนั่นเอง ฟังดูเหมือนจะน่ากลัว แต่ในความจริงการที่องค์การอนามัยโลกลงมาแบบเต็มตัวนี้ ถือเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะในเคสของประเทศที่ไม่ค่อยมีความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือ ด้านบุคคลากร รวมถึงช่วยในเรื่องงบประมาณ (ตรงนี้ดีมากๆ) 👍
หลายวันเท่าที่ติดตามข่าวมา พบปัญหาในเรื่องข่าวสารหลายๆอย่าง ซึ่งน่ากลัวพอๆหรือมากกว่าไวรัสซะอีก
1. ความล่าช้าของข่าวสาร
ความล่าช้าของข่าวสารเป็นเรื่องที่น่ากลัว ตรงนี้ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของโรคระบาด การรวมรวบข้อมูลข่าวที่ชัดเจนให้ประชาชน ต้องรวดเร็ว การแถลงข่าวก็ขอแต่เนื้อๆไม่เอาน้ำ ฝากทางรัฐบาลพิจารณาด้วยนะคะ
ซึ่งตรงนี้ล่าสุดก็ทราบว่ารัฐบาลกำลังจะทำการแถลงข่าวความคืบหน้าวันละสองรอบ ถือเป็นเรื่องที่ดี
2. Fake News
ตรงนี้เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก การนำเสนอข่าว ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักข่าวหลักๆ อย่างบ้านเรา ยังเชื่อว่า ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และอื่นๆ ยังพึ่งพาได้ รวมถึงข่าวจากหน่วยงานของรัฐ
อย่าทำตัวเป็นผู้สื่อข่าวเสียเอง
เพราะการเล่นข่าวแบบนี้ทำให้เกิดความแตกตื่น ตื่นกลัว ซึ่งเมื่อเผยแพร่ไปในโซเชี่ยลแล้วมันมหาศาลมาก
อันนี้จะลองยกตัวอย่างจากทวิตเตอร์ของเพจให้ดูนะคะ โพสต์นี้มียอดรีทวิตเพียง 9,000 ครั้ง แต่มีจำนวนครั้งในการเห็นถึง 460,000 ครั้ง
ซึ่งโพสต์ในลักษณะของ Fake News ไม่ว่าจะในเฟซหรือทวิตเตอร์ จะมีการเข้าถึงมากกว่านี้ คิดดูว่าน่าตกใจขนาดไหน
ซึ่งล่าสุด ทางกระทรวงฯ เขาเอาจริงเรื่องนี้ มีการจับกุมในข้อหานำเข้าข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จสู่ระบบ บอกเลยว่าโทษแรงมาก
3. ข่าวที่มาเร็วเกินไป
จากการติดตามข่าว หลายสำนักข่าวในต่างประเทศ มีวิธีรวบรวมข้อมูลที่แตกต่างกัน สถิติจำนวนผู้ติดเชื้อก็แตกต่างคลาดเคลื่อนกัน
การรวบรวมจำนวนผู้ติดเชื้อที่ถูกต้อง จะต้องมาจาก รายงานของกระทรวงสาธารณสุขประเทศนั้นๆเป็นหลัก
ประเภท "คาดว่า" หรือ "น่าจะ" เอามารวมเป็นสถิติไม่ได้
ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยนี่ ในความเป็นจริง จะแยกตามการคัดกรอง เช่น ผู้ต้องสงสัย ผู้มีอาการสัมพันธ์กับโรค เคสเฝ้าระวัง หลายประเทศมีผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้รับการยืนยันกันเยอะค่ะ ซึ่งเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่พบเชื้อ ก็มีการยกเลิกเคสไปเยอะ
หลังจากทาง WHO ยกระดับโคโรนาไวรัส ขึ้นแล้ว ความชัดเจนเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ คงมีมากขึ้น
4. การเชื่อมโยง
มักเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว แล้วนำไปผสมปนเปไปกับข่าวสาร ที่มีโพสต์ให้พบเห็นกันบ่อยๆ เช่น
- รัฐบาลปิดกั้นข่าวสาร
อันนี้แรงมาก!!
หรือแสดงความรู้สึกด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย อันนี้ก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสม
การแสดงความเห็นต่างๆควรสร้างสรร สุภาพ และให้เกียรติคนทำงาน อาจไม่ทันใจไปบ้าง ก็ใจร่มๆนะคะ ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่อยู่ค่ะ
5. ภาพหรือคลิปต่างประเทศ
ในภาพหรือคลิปจากต่างประเทศ มักมีที่มาไม่ชัดเจน การเอามานำเสนอโดยไม่รอบคอบ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และเข้าข่าย Fake News ได้ แหล่งข่าวไม่ชัด อย่าโพสต์ อย่าแชร์ เด็ดขาด
เขียนไปเขียนมา นี่รู้สึกว่าจะยาวเหมือนกัน
ก็ขอฝากความเห็นไว้เท่านี้นะคะ
มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร แสดงความเห็นกันได้นะคะ
ขอบคุณค่ะ
สาระอัปเดต
31.01.2563
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
หากผิดพลาดหรือกระทบกระเทือนผู้ใดหรือประการใด ต้องขออภัยมา ณ.ที่นี้ด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา