7 ก.พ. 2020 เวลา 13:57 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราจะบังคับโรคระบาดให้ดุร้ายน้อยลงได้อย่างไร ?
เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ ตอนที่ 7
หมายเหตุ เรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือเหตุผลของธรรมชาติ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2554 ครับ
1.
ปี ค.ศ.1991
เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้
การระบาดเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเปรู
ภายในเวลาแค่ 2 ปีเชื้อนี้ก็ระบาดลามไปประเทศใกล้เคียงอย่าง เอกวาดอร์ บราซิล และชิลี
ความแปลกของโรคระบาดในครั้งนั้นคือ
ในแต่ละประเทศ โรคมีความรุนแรงต่างกันมาก
โรคอหิวาต์ในประเทศเอกวาดอร์ รุนแรงมากที่สุด ใครเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก แล้วเชื้อยังดื้อยาปฏิชีวนะมากที่สุด้วย
ในขณะที่โรคเมือไปถึงประเทศชิลี กลับมีความรุนแรงไม่มากนัก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าโรคที่ระบาดในเอกวากอร์ และเชื้อก็ไม่ค่อยดื้อยา
คำถามคือ ทำไมเชื้อที่เริ่มระบาดมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน
เมื่อข้ามพรมแดนประเทศไปแล้ว กลับมีนิสัยและการดื้อยาที่ต่างกัน?
อะไรทำให้เชื้อจากที่เดียวกัน ดุร้ายต่างกัน ?
2.
การที่เมื่อเชื้อโรคระบาดไปเรื่อยๆ แล้วมีความดุร้ายต่างไปไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะเมื่อแบคทีเรียแบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 ก็จะต้องมีการ copy พันธุกรรมของตัวเองทุกครั้ง
การ copy แต่ละครั้งมีโอกาสที่จะ copy ผิด ทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือ mutation ไปเป็นเชื้อที่ดุร้ายมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ดื้อยามากขึ้นหรือน้อยลงได้
แต่ความแปลกคือ ความดุร้ายและความดื้อยานี้ มันต่างกันในแต่ละประเทศ เหมือนกับว่า เชื้อมันรู้ว่า ข้ามชายแดนแล้วต้องมีนิสัยต่างไป
เป็นไปได้ไหมว่า แต่ละประเทศมีอะไรบางอย่างที่ต่างกัน แล้วผลักดันให้เชื้อวิวัฒนาการไปในทิศทางที่ต่างกัน บางประเทศทำให้เชื้อดุร้ายและดื้อยามากขึ้น บางประเทศทำให้เชื้อดุร้ายและดื้อยาน้อยลง
ถ้าเราไขความลับนี้ได้ เราก็อาจจะวางกลยุทธ์เพื่อบังคับทิศทางการวิวัฒนาการของเชื้อโรคได้ ?
3.
ในการที่เชื้อโรคจะแพร่จากคนๆ หนึ่ง (หรือสัตว์ตัวหนึ่ง) ไปสู่อีกคนได้
มีวิธีทั้งหมดกว้างๆ 3 ทางด้วยกัน
1)ติดต่อจากการสัมผัสกันโดยตรง เช่น ติดทางน้ำลาย ติดทางเพศสัมพันธ์ หรือ จามใส่หน้ากันตรงๆ
2)มีพาหะนำไป เช่น ยุงนำโรคมาลาเรีย และไข้เลือดออก
3)ติดต่อผ่านสื่อกลางที่ไม่มีชีวิต เช่น อุจจาระปนเปื้อนไปในน้ำ
ในชีวิตจริงแล้ว วิธีทั้ง 3 นี้ไม่ได้แยกขาดจากกัน
เชื้อโรคอาจจะใช้หลายๆทางปนๆกันไป
ถ้าเรามองการติดต่ออีกมุม เราอาจจะมองได้ว่าการติดต่อแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
แบบแรก เชื้อโรคมีพันธมิตรที่ช่วยให้มันแพร่ไปบ้านใหม่ ซึ่งพันธมิตรจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ เช่น ยุง น้ำ
แบบที่สอง ไม่มีพันธมิตร มันต้องไปติดคนอื่นด้วยตัวเอง
ในแง่ความดุร้าย
เชื้อโรคแต่ละชนิดจะดุร้ายต่างกันไป เช่น เชื้อหวัดทั่วๆไปถือว่าไม่ดุร้ายมากเท่าเชื้ออีโบลา เพราะถ้าติดเชื้ออีโบล่าแล้ว โอการตายสูงและตายเร็ว
แต่เชื้อชนิดเดียวกันบางครั้งก็มีความดุร้ายไม่เท่ากัน เช่น การเป็นหวัดแต่ละครั้งเราจะป่วยด้วยความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน
เก็บความคิดไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ
ขอไปคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วเราจะกลับมาตรงนี้ใหม่
4.
คราวนี้ลองมาจินตนาการว่าเราเป็นเชื้อโรคกัน (เป็นเชื้อก่อโรคอะไรก็ได้ครับ หวัด มาลาเรีย หนองไน อหิวาต์ ตามสะดวกเลย)
ไม่ว่าเราจะเลือกเป็นเชื้ออะไรก็ตาม เราจะมีไลฟ์สไตล์ได้ 2 แบบด้วยกัน
ไลฟ์สไตล์แบบแรก คือเราใช้ชีวิตแบบตักตวงประโยชน์จากเจ้าบ้านให้มากที่สุด กินอย่างไม่บันยะบันยัง มีลูกให้เยอะ ปล่อยสารพิษออกมาให้มาก
ไลฟ์สไตล์แบบนี้ถ้ามองในมุมของเจ้าบ้านจะเรียกว่าเชื้อดุร้าย
ไลฟ์สไตล์แบบที่สองคือ กินแต่พอดี มีลูกพอประมาณ สร้างสารพิษแต่น้อย
ไลฟ์สไตล์แบบนี้ในมุมมองของเจ้าบ้านจะเรียกว่าเชื้อไม่ดุร้าย
เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัยและหากินในร่างกายของมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่เราต้องการคือ มีที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน สืบพันธุ์ ส่งต่อลูกหลานไปยังคนอื่น ยิ่งส่งมากยิ่งดี เพราะช่วยการันตีความเสี่ยง เกิดเจ้าบ้านเราไม่ยอมข้ามถนนตรงทางม้าลายแล้วโดนรถชนตาย เผ่าพันธุ์เราก็จะหายไปด้วย
5.
ถ้าเราเป็นเชื้อแบบที่ไม่มีพันธมิตรเลย คือ ต้องรอเจ้าบ้านไปแพร่เชื้อด้วยตัวเอง
กรณีนี้เราจะอยากให้เจ้าบ้านออกจากบ้านไปพบผู้คนเยอะๆ ใกล้ชิดคนจำนวนมากๆ
ถ้าเจ้าบ้านเราป่วยนอนซมอยู่กับบ้านก็จะไม่เป็นการดีกับการขยายพันธุ์ของเรา
ดังนั้นถ้าเราเลือกไลฟ์สไตล์แบบตักตวงผลประโยชน์ให้มากที่สุด มีลูกให้มากที่สุด สร้างพิษให้เยอะที่สุด เจ้าบ้านของเราก็จะนอนซมอยู่กับเตียงไม่สามารถออกไปแพร่เชื้อกระจายลูกหลานให้เราได้
เกิดเจ้าบ้านเราทนไลฟ์สไตล์ของเราไม่ไหวแล้วตายไป ลูกหลานเราก็จะพลอยตายไปด้วย (ยกเว้นเชื้อที่อาศัยอยู่ภายนอกร่างกายคนได้นานๆ ซึ่งพบได้ไม่มาก)
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเกรงใจเจ้าบ้านคือ กินเจ้าบ้านอย่างพอเพียง มีลูกอย่างพอเหมาะ สร้างพิษแต่พอประมาณ
เจ้าบ้านของเราก็จะไม่ป่วยหนัก พอจะออกไปทำงาน ไปจามใส่คนอื่น ไปกินข้าวร่วมกับคนอื่น ไปใช้ห้องน้ำสาธารณะ หรือไปนอนกับคนอื่นได้
ลูกหลานเราก็จะมีโอกาสกระจายติดต่อไปสู่คนอื่นๆ อีกมาก
โดยสรุป จะเห็นว่าเชื้อโรคที่ไม่มีพันธมิตรช่วยแพร่เชื้อทั้งหลาย (ติดต่อไปคนอื่นยาก) เชื้อจะอยู่รอดได้ยาวนาน เชื้อต้องไม่ดุร้ายมากนัก หรือ
ส่งต่อลูกหลานไปมากๆแล้วจึงค่อยดุร้ายในภายหลัง เช่น HIV ที่สามารถติดคนอื่นได้เป็นสิบๆปี ก่อนที่จะเริ่มทำให้เจ้าบ้านป่วยหนัก
6.
ถ้าเราเป็นเชื้อโรคที่มีพันธมิตร เช่น ยุง เห็บ หมัด แม่น้ำ(เช่น เชื้ออหิวาต์)
เช่นเดียวกับกรณีข้างบน เรามีไลฟ์สไตล์ให้เลือกได้ 2 แบบ
หนึ่ง กินเจ้าบ้านไม่บันยะบันยัง หรือ
สอง กินแบบพอเพียง
กรณีนี้เราไม่มีความจำเป็นต้องง้อให้เจ้าบ้านออกจากบ้านเพื่อไปกระจายเชื้อ ขอแค่มีพาหะมารับเราจากเจ้าบ้านได้เป็นพอ
ดังนั้นเชื้อจึงสนใจแค่ ทำยังไงให้พาหะมารับส่งเราได้ง่ายที่สุด เช่น
โรคมาลาเรียที่พึ่งยุง การที่เจ้าบ้านนอนซมอยู่กับบ้านจะเป็นสิ่งที่เราต้องการ เพราะการนอนซมเฉยๆในบ้าน ยุงกัดง่ายกว่าเจ้าบ้านที่ active เดินไปมา
ถ้าเราเป็นเชื้ออหิวาต์เราต้องการให้เจ้าบ่ายถ่ายออกมาเป็นน้ำเยอะๆ อุจจาระที่เหลวเป็นน้ำจะได้ปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำได้ง่ายขึ้น
เราไม่มีความจำเป็นต้องกินเจ้าบ้านแบบเกรงใจ เพราะเรามีพันธมิตร
จริงๆแล้วอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำถ้าเราจะกินแบบไม่บันยะบันยัง เพราะเราต้องแข็งกับจุลินทรีย์อื่นๆ ที่มาอาศัยบ้านเดียวกัน ถ้าเรากินแบบเกรงใจ แต่เชื้ออื่นเกิดกินแบบไม่บันยะบันยัง เราก็จะเสียโอกาส
ถ้ายังนึกไม่ออก ลองนึกภาพว่า ถ้ามนุษย์เรามีดาวให้ย้ายไปอยู่อาศัยได้มากมาย การเดินทางก็สะดวกสบาย เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องรักษ์โลก ใครเผาผลาญทรัพยากรได้มากสุด คนนั้นก็มีแนวโน้มจะได้เปรียบ
เช่นเดียวกัน ถ้าเชื้อมีทางไปมากมาย ก็ไม่มีเหตุผลที่มันต้องถนอมร่างกายมนุษย์ที่เป็นเจ้าบ้านไว้
ทิศทางของการวิวัฒนาการจึงมีแนวโน้มไปในทางที่เชื้อจะดุร้ายเพิ่มขึ้น
หลักการทั้งหมดนี้ เรามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ?
7.
เมื่อเทียบระบบสาธารณสุขมูลฐานระหว่างประเทศชิลีและประเทศเอกวาดอร์ ในช่วงที่โรคอหิวาต์ระบาดนั้น
ประเทศชิลีมีระบบสาธารณสุขมูลฐานดีกว่ามาก ส้วมมิดชิด แหล่งน้ำสะอาดไม่โดนปนเปื้อนจากส้วม
ระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ดี จึงเท่ากับเป็นการทำลายพันธมิตรของเชื้ออหิวาต์
เมื่อเชื้อโรคไม่มีพันธมิตรช่วย ทางเลือกเดียวที่จะกระจายลูกหลานของมันออกไปได้คือการพึ่งเจ้าบ้านออกไปกระจายเชื้อโดยตรง
ทิศทางวิวัฒนาการของเชื้ออหิวาต์ในประเทศชิลีจึงถูกบีบให้ต้องดุร้ายลดลงเรื่อยๆ เชื้อที่ดุร้ายฆ่าเจ้าบ้านอย่างรวดเร็ว ก็จะตายไปพร้อมกับเจ้าบ้านโดยไม่มีโอกาสได้ส่งต่อลูกหลาน หรือส่งต่อพันธุกรรมที่ดุร้ายออกไป
มีแต่เชื้อที่ไม่ดุร้ายมากเท่านั้นที่สามารถส่งต่อลูกหลานต่อไปได้
เชื้อที่สามารถระบาดได้สำเร็จจึงมีแต่เชื้อที่ไม่ดุร้ายมากเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม เชื้ออหิวาต์ที่ดุร้ายในประเทศเอกวาดอร์ ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งเจ้าบ้าน มันจึงดุร้ายได้เท่าที่ต้องการ
และนั่นก็สำไปสู่อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ
8.
เมื่อโรคอหิวาต์ในประเทศเอกวาดอร์ มีความดุร้ายมาก
หมอจึงไม่กล้าที่จะเสี่ยงรักษาด้วยน้ำเกลือแร่เพียงอย่างเดียว แต่นิยมให้ยาปฏิชีวนะร่วมไปด้วย ทำให้ประเทศเอกวาดอร์มีการใช้ยาปฏิชีวะนมากกว่าประเทศทั้งหลายที่โรคระบาดไปถึง
เมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากๆ เชื้อที่แพ้ต่อยาง่ายๆก็ตายไป ไม่มีลูกหลาน
เชื้อที่พอจะดื้อยาจึงได้ประโยชน์ตรงนี้ไปเต็มๆ เพราะคู่แข่งที่เคยแย่งอาหาร แย่งที่อยู่โดนยาปฏิชีวนะตายไปหมดแล้ว เชื้อที่ดื้อยาจึงมีลูกหลานได้มาก
ดังนั้นเชื้อที่ระบาดต่อไปเรื่อยๆจึงมีแต่เชื้อดื้อยา
ทั้งหมดจึงเหมือนว่า เป็นชาวเอกวาดอร์เอง ที่บีบให้แบคทีเรียวิวัฒนาการไปในทางที่ดุร้ายและดื้อยามากขึ้น
เมื่อเรามองเห็นภาพใหญ่เช่นนี้แล้ว คำถามคือ เราจะนำสิ่งที่รู้นี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ?
9.
จากเรื่องราวข้างบนเราจะเห็นว่ากลยุทธ์ที่ประเทศชิลีใช้ในการสู้กับเชื้ออหิวาต์คือโจมตีไปที่พันธมิตรของเชื้ออหิวาต์
การมีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ดีของประเทศชิลีจึงเท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวเชื้ออหิวาต์ออกจากพันธมิตรของมัน
เมื่อไม่มีพันธมิตรแบคทีเรียจึงไม่สามารถวิวัฒนาการเป็นเชื้อที่ดุร้ายและตั้งหน้าตั้งตาฆ่าเราได้อีกต่อไป
ดังนั้นจะเห็นว่า การต่อสู้กับโรคติดเชื้อที่ดีที่สุด (ทั้งที่ยังไม่ระบาดและระบาดแล้ว) คือ สิ่งที่ธรรมดา ถูก ง่าย และเราทุกคนรู้กันอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งพื้นฐานอย่าง การปิดปากเวลาไอหรือจาม การล้างมือและเช็ดมือให้แห้งหลังเข้าห้องน้ำ ก็ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด
10.
และก็นำไปสู่เรื่องราวที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไป นั่นคือ
"กำเนิดของการล้างมือ"
อย่าลืมกดติดตาม จะได้ไม่พลาดที่จะอ่านกันนะครับ
แล้วตอนนี้ผมเปิดอีกเพจไว้ชื่อ "เรื่องเล่าจากร่างกาย" เพื่อลงเฉพาะหัวข้อทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสุขภาพ (จะได้ไม่ต้องมาลงในเพจประวัติศาสตร์) ใครสนใจก็กดติดตามกันไว้ได้เช่นกันครับที่
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อ แนะนำหนังสือ Bestseller ของผมเอง 2 เล่ม เหตุผลของธรรมชาติ และ สงครามที่ไม่มีวันชนะ สามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา