10 มี.ค. 2020 เวลา 06:20 • ความคิดเห็น
Think ? บทความชวนให้คิด : ความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันโค่นล้มอเมริกาของชาติมหาอำนาจในโลก
ประเด็นนี้ World Maker คิดอยู่นานว่าจะเขียนดีไหม ชั่งใจมาหลายวัน แต่เรื่องราวเหล่านี้มันวนเวียนอยู่ในใจ และน่าขนลุกจนในวันนี้อดใจไม่ไหวแล้วครับ เลยอยากมานำเสนอให้ได้อ่านกัน และอยากให้ผู้อ่านทุกคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้กันด้วยครับ
1
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
ข้อควรใช้วิจารณญาณ : บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์เชิงลึก ที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นไปได้ แต่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงในสื่อกระแสหลัก
ก่อนอื่นขอท้าวความจากโพสท์เก่า ๆ ที่ World Maker เคยแซม ๆ เรื่องนี้ไว้
ข้อความตามรูปข้างล่างนี้เขียนไว้เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 ในบทความ "เจาะลึกทองคำ EP5 : เราอยู่บนความเสี่ยงของวิกฤตเงินดอลลาร์" มีรายละเอียดดังนี้ครับ
(ใครที่อยากอ่านบทความนี้สามารถติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e446448ab42f20c931501a1)
จากรูปข้างบน World Maker อยากให้ผู้อ่านลองทำความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน (เพิ่มตัวแสดงไปอีก 1 ก็คือซาอุฯ) โดยคิดตามประเด็นที่ผมจะนำเสนอต่อจากนี้
1. จะเห็นได้ว่าสงครามน้ำมันนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติตะวันออกกลางและรัสเซียเท่าไรนัก แต่ในทางกลับกันรัสเซียและกลุ่มชาติตะวันออกกลางจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาลจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอเมริกา
2. ทำไมเหตุการณ์ทุกอย่างถึงประจวบเหมาะเจาะกันซะเหลือเกิน เป๊ะไปทุกอย่าง ทั้งจังหวะ วิธีการ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ อำนาจ ผลประโยชน์ และประเด็นสุดท้ายคือ "ความแค้นของนานาประเทศที่มีต่อสหรัฐฯ"
- ว่าด้วยจังหวะ : การตัดสินใจครั้งใหญ่เช่นนี้โดยทันที จริง ๆ แล้วอาจเป็นสิ่งที่ผ่านการคัดกรองมาตั้งนานอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ได้ เพียงแต่เขาไม่ได้มานั่งบอกเราเพราะมันเป็นเรื่องของความมั่นคงระดับโลก (มักจะมีความลับอยู่แล้วในเรื่องแบบนี้) ในขณะที่สถานการณ์ช่างเป็นโอกาสทองที่จะโจมตีอเมริกาซะเหลือเกิน
- ว่าด้วยวิธีการ : ทำไมอยู่ ๆ ถึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความต้องการเดิมอย่างสุดขั้ว และดูเหมือนจะเป็นการ "ฆ่าตัวตาย" ซึ่งจริง ๆ แล้วคงต้องบอกว่าผลกระทบนั้นโดนกันทุกคน แต่หากจะพูดถึงในมุมของสงครามแล้วล่ะก็ ผู้ชนะไม่ใช่ใครที่ไม่เสียเลือด แต่ผู้ชนะคือ "ใครที่เสียเลือดน้อยกว่า" ดังนั้นแล้ว ไม่มีทางเลยที่คนระดับผู้นำประเทศมหาอำนาจจะไม่รู้ว่ากำลังสร้างบาดแผลให้ตัวเอง นอกเสียจากว่าเขาตั้งใจที่จะทำสงครามแล้วนั่นเอง
- ว่าด้วยวัตถุประสงค์ : ทำไมเมื่อเรามองจากมุมมองทั่วไป เช่น รัสเซียกำลังทำสงครามกับซาอุฯ มันดูไม่ Make Sense เอาซะเลย เพราะปฎิกริยาของทั้ง 2 ประเทศนี้ดูจะไม่เดือดร้อนและแตกหักกันในเรื่องนี้เลย แต่เหมือนกำลังบีบบังคับใครสักคนที่พวกเขาไม่ได้กล่าวถึงอยู่มากกว่า
แต่เมื่อเรามองในมุมที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยพูดถึง เช่นอย่างที่ World Maker นำเสนอว่า สงครามนี้คือการร่วมมือกันของนานาชาติเพื่อโค่นล้มอเมริกา เรื่องนี้กลับดู Make Sense ขึ้นมามากกว่าเรื่องราวในมิติที่ออกมาให้เห็นกันในสื่อกระแสหลัก
- ว่าด้วยกลยุทธ์ : การลดราคาและเพิ่มกำลังการผลิต กลยุทธ์ที่เปรียบเสมือนการนั่งรถไฟลงเหว โดยมีอเมริกาอยู่ในโบกี้แรก รัสเซีย ซาอุฯ และชาติอื่น ๆ นั่งอยู่ในโบกี้ต่อ ๆ ไป
สิ่งที่พอจะเห็นภาพได้หากการวิเคราะห์นี้ถูกต้อง คือการกระโดดลงจากรถไฟของชาติอื่น ๆ หลังจากที่โบกี้แรกได้ตกเหวไปแล้ว (ลองนึกภาพตามจะทำให้สามารถอธิบายและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในความเป็นจริงได้ดีทีเดียว) หากจะพูดกันง่าย ๆ ก็คือ ต่อให้กลยุทธ์นี้ล้มสหรัฐฯ ได้ แต่ชาติอื่น ๆ จะต้องเจ็บหนักและใช้เวลาฟื้นตัวอยู่นานทีเดียว (เพราะเจ็บตัวกันทั้งหมด)
- ว่าด้วยอำนาจและผลประโยชน์และความแค้นที่มีต่ออเมริกา : 2 ชาติที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดก็คือ จีนและอินเดีย โดยจีนนั้นแน่นอนว่าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ผลประโยชน์ครั้งนี้มหาศาลและเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะอย่างมากสำหรับจีน ที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก Coronavirus ซึ่งลองคิดต่อไปว่าหากจีนได้รับน้ำมันราคาถูกเช่นนี้ แล้วลดการส่งออกให้กับสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพา Supply จากจีนค่อนข้างมากอยู่แล้ว เป็นจะเช่นไร
มีข่าวที่น่าตกใจจาก Bloomberg ว่ามาตรการเยียวยาที่ทำเนียบขาวกำลังจะออกมาเยียวยาบริษัทน้ำมันคือ "การใส่เงินเข้าไปเสริมสภาพคล่อง ให้เครดิตภาษี ลดภาษีจ่ายเงินเดือน ลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับน้ำมันที่ส่งให้จีน"
ความคิดเห็นส่วนตัวของผม : ห๊ะ ? อะไรนะ "จะเพิ่มเงินอัดฉีด และให้เครดิตเงินกู้ กับกลุ่มบริษัทที่กำลังถือหนี้กว่า 6 ล้านล้านบาทเนี่ยนะ ! โอ้ว อะไรครับเนี่ย !! นี่มันจะเหยียบคันเร่งลงเหวกันไปไหน หรือสหรัฐไม่เหลือวิธีการอื่นใดอีกแล้ว ? (ใครมีมองมุมที่ต่างไป หากนึกออกช่วยบอกหน่อยว่าการทำแบบนี้มันได้อะไร)
สิ่งที่จีนจะตอบกลับสหรัฐฯ คืออะไร ? ลองคิดดูง่าย ๆ ว่าจีนจะซื้อน้ำมันจากอเมริกาที่หักเหลี่ยมโหดเค้ามาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง หรือจะซื้อน้ำมันราคาถูกมาก ๆ จากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางกันถึงขั้นสงคราม หรือจะหักมุมไปอีกคือ จีนไม่นำเข้าเลย ? (แต่เป็นไปได้ยากหน่อย)
ตอนนี้ Mohammad Bin Salman (MBS) ตัดสินใจขายน้ำมันให้จีน ด้วยการลดราคาลง 6-8 $/บาเรลล์สำหรับออร์เดอร์ในเดือนเมษายน ซึ่งหมายความว่ามันถูกมาก ๆ และไม่มีอะไรดีเท่านี้ในเวลานี้อีกแล้ว
วิเคราะห์ในประเด็นนี้ก็คือ MBS ต้องเอาตัวรอด ซึ่งมันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องรัฐประหารเมื่อไม่กี่วันมานี้ในซาอุฯ ซึ่งมีการจับกุมเชื้อพระวงศ์ถึง 3 คนด้วยกัน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อมีคนหนุนเจ้าชายซาอุองค์อื่นให้ขึ้นมามีอำนาจแทน
การอยู่รอดของ MBS ต่อไปคือต้องมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียและจีน รวมท้ังต้องหาทางเจรจาสงบศึกกับอิหร่าน ไม่งั้นซาอุฯ ก็จะตกเป็นเป้าของการยิงถล่มด้วยขีปนาวุธเข้าประเทศอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น อเมริกาเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะปกป้องชาติอาหรับชาติใดอีกต่อไป (ลงล็อคเป๊ะไหมล่ะครับลองคิดดู)
นอกจากนั้นถ้าเกิดความสัมพันธ์ของจีนและตะวันออกกลางเหนียวแน่นขึ้น เกิดการซื้อขายน้ำมันโดยยอมรับเงินหยวนมากขึ้น แล้วดอลลาร์ที่ไม่มีอะไรค้ำราคาอยู่เลยตอนนี้...(ตรงนี้ฝากไว้คิดต่อนะครับ)
และอีกสิ่งที่มันประจวบเหมาะกันซะเหลือเกินก็คือ ขณะนี้ศักยภาพของกำลังอำนาจทางทหารของสหรัฐในตะวันออกกลางก็กำลังอ่อนแอลง เนื่องจากรัสเซียและจีนได้เข้ามาสร้างอิทธิพลการเมืองไว้ ประกอบกับอิหร่านที่ทรงอิทธิพลในตะวันออกกลางอยู่แล้ว ซึ่งเจาะให้ลึกไปกว่านั้นเราจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีปัญหารุนแรงต่อกันเท่ากับอเมริกา
ที่สำคัญคือฐานทัพของอเมริกาในตะวันออกกลางตกเป็นเป้าของการโจมตีของกลุ่มชีอะห์อยู่ตลอด ในรูปแบบของสงครามกองโจร (หมายถึงการซุ่มโจมตี ลอบสังหาร และปฎิบัติการลับ) ทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด
ฝ่ายเสนาธิการทางทหารของสหรัฐฯ เองก็ยอมรับว่า อเมริกาไม่อยู่ในฐานะที่จะทำสงครามกับอิหร่าน เพราะระบบโลจิสติกส์ทางทหารไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนทัพ การโยกย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือเสบียงต่างๆ
แต่ในทางตรงกันข้ามแสนยานุภาพทางทหารของรัสเซีย จีน และอิหร่าน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง ๆ มานี้
มาถึงอินเดียกันบ้าง ซึ่งหลัง ๆ เป็นที่รู้กันว่า "ไฟแรง" มาก และล่าสุดก็มีการขุดพบแหล่งแร่ทองคำขนาดมหึมา ที่มีการประเมินเบื้องต้นว่าจะขุดแร่ทองคำได้ถึง 3,000 ตันเลยทีเดียว สิ่งนี้อาจกระตุ้นให้อินเดียน้ำเข้าน้ำมันมากขึ้น เพราะล่าสุดทางการอินเดียเองก็ประกาศว่าจะเร่งตรวจสอบและขุดเหมืองให้เร็วที่สุด
อินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันประมาณ 80% ของความต้องการทั้งหมดภายในประเทศ นั่นทำให้อินเดียได้ประโยชน์มหาศาลจากการตัดราคาครั้งนี้
โดยในช่วงระหว่างปี 2000 - 2017 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนนักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ขนาด GDP ของอินเดียจะเท่ากับ 1,458 ล้านล้านบาท ขึ้นมาเป็นลำดับ 2 ของโลกต่อจากจีน และแซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่จะมีขนาด GDP ที่ 977 ล้านล้านบาท (คือพูดง่าย ๆ ว่าก่อนหน้านี้มีคนเค้าทำนายกันไว้แล้วว่าอมเริกาจะตกกระป๋องแน่ ๆ)
ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของอินเดียและสหรัฐฯ เรียกได้ว่าพึ่งพาซึ่งกันและกัน จนกระทั่งมาถึงใน 2560 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับอินเดียประมาณ 850,000 ล้านบาท และกล่าวหาอินเดียว่าใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เคยให้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) แก่อินเดีย แต่ทรัมป์ได้ตัดสิทธิพิเศษการค้าลง หลังจากนโยบายทางการค้าของเขาคือการลดการขาดดุลทางการค้าจากประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย ซึ่งอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มที่สหรัฐขาดดุลด้วย
อินเดียตอบโต้โดยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาทันที 28 รายการ สินค้าที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วยแอปเปิล วอลนัท อัลมอนด์ และอื่น ๆ โดยภาษีดังกล่าวอาจเพิ่มสูงถึง 70% และเริ่มมีผลบังคับใช้ทันที หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าแก่อินเดียมูลค่ากว่า 5,600 ล้านดอลลาร์
สรุปง่าย ๆ ว่า ทุกประเทศที่กล่าวมาล้วนมีความหลังฝังใจกับอเมริกาในระดับที่รุนแรงด้วยกันทั้งนั้น (ทำเขาไว้เยอะ)
ดังนั้นแล้ว...เมื่อรัสเซียเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในตะวันออกกลาง จึงต้องการควบคุมและกำหนดราคาน้ำมันแทนอเมริกา (คู่นี้เค้าแค้นกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว) โดยมีจีนคอยหนุน ซึ่งจีนเองก็คงแค้นเพราะอเมริกาทำไว้เยอะเหลือเกิน
โดยพวกเขาและชาติตะวันออกกลาง รู้ดีว่าน้ำมันเป็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจอเมริกา (มีแต่หนี้ หนี้ และหนี้) เมื่อ MBS ที่เคย(เกือบจะ)เป็นพันธมิตรกับย้ายข้าง และอเมริกาก็คุมตะวันออกกลางไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันได้อีกต่อไป
เมื่อสหรัฐฯ คุมราคาน้ำมันไม่ได้อีกต่อไป ก็เท่ากับว่า The Game Is Over Now ซึ่งแนวคิดนี้ถูกพิสูจน์โดยการที่ทรัมป์กำลังออกมาตรการต่าง ๆ นา ๆ เพื่อมาอุ้มบริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ขอยืนยันว่าวลีที่ Make Sense ที่สุดสำหรับผมในตอนนี้ก็คือ The Game Is Over Now
ทั้งหมดนี้เองก็เป็นประเด็นที่ World Maker คิดว่าน่าสนใจและควรตั้งคำถาม...แล้วคุณผู้อ่านมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ ?
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา