14 เม.ย. 2020 เวลา 01:15 • สุขภาพ
ดราม่า ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อจำเป็นจริงหรือ?
เมื่อวานนี้สมาคมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำทีมโดย นายสุเทพ รักษาพล ดร.คมแสน พิลาสมบัติ และ นายประวิทย์ จารุรัชกุล ได้ออกมาโต้แถลงการณ์ของสมาคมโรคติดเชื้ออย่างเผ็ดร้อน ในกรณีที่พวกหมอไิอดีทฤษฎีจ๋าไปออกแถลงการณ์ว่าพ่นน้ำยาใส่คน ใส่สิ่งของ อาคารบ้านเรือน นั้นไร้ประโยชน์สิ้นดี ทั้งสิ้นเปลือง เป็นอันตรายต่อคน และยังอาจทำให้เชื้อฟุ้งกระจายอีกต่างหาก
สมาคมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างมาก เต้นแทนผู้ว่าราชการจังหวัดว่าท่านนั้นตั้งใจจริง พวกเอ็งยังคิดวัคซีนไม่ได้ ประเทศอื่นก็พ่นกันเป็นปกติ ออกข้อความทฤษฎีจ๋ามานี่ไม่คำนึงถึงจิตใจคนปฏิบัติงานบ้างเลยหรือไง และก็เน้นผู้ว่าราชการจังหวัดไปอีกสองที
มาดูฝ่ายสมาคมโรคติดเชื้อที่แถลงมาก่อน สมาคมโรคติดเชื้อเนี่ยประกอบไปด้วยพวกหมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อหรือเรียกกันในวงว่าหมอไอดี มีคณะกรรมการเป็นสิบๆคนเป็นหมอทั้งนั้น ปกติหมอไอดีเนี่ยต้องจบหมอก่อนหกปี ต่ออายุรกรรมสามปี และเฉพาะทางไอดีอีกสองปี ในหัวมีแต่เรื่องเชื้อโรคเต็มไปหมด ทั้งการรักษา ป้องกัน โรคอุบัติใหม่ โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เชื้อดื้อยา
พวกเขาออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทื่ผ่านมาเป็นแถลงของสมาคม ไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ ข้อความนั้นเน้นตัวหนาอยู่สามประโยคว่า ไม่ควรฉีดพ่นที่คนอย่างเด็ดขาด ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆบนถนน ที่สาธารณะ หรือในอาคาร และการกระทำเหล่านี้มันช่างสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์
แล้วที่สมาคมภาคอีสานบอกว่าทีอื่นก็ทำ ใช่เลย เรามักจะเห็นผ่านสื่ออยู่ตลอดที่มีคนใส่ชุดอวกาศถือเครื่องพ่นยาเดินหน้ากระดานเรียงหนึ่งพ่นละอองฆ่าเชื้อตามถนนในเกาหลีใต้ คนพวกนี้คือทหาร และเอารถหุ้มเกราะมาขับพ่นน้ำยาบนถนนอีก เกาหลีใต้ยังทำและก็ควบคุมโรคได้ดี ไทยก็ทำตามไง บิ๊กแดงยังมาพ่นตามราวบันไดบีทีเอสและตู้เอทีเอ็มฉลองวันเกิดเลย ผิดตรงไหนหมอไอดี
พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์
เกาหลีใต้ทำ คนก็เห็นถึงความจริงจังของทหารและรัฐบาล ประชาชนก็สบายใจว่า เอาอยู่! ประชาชนสบายใจก็ไม่เครียดและสุขภาพจิตดี กินได้ อ้วนท้วมสมบูรณ์ไง
พ่นยาที่เกาหลีใต้
พวกไอดี คุณมีหลักฐานทางวิชาการจริงๆใช่ไหมว่าเชื้อจะฟุ้งตามที่คุณคิด และวิธีนี้มันไม่ช่วยฆ่าเชื้อตามที่ต่างๆจริงๆ ดูขนาด WHO ยังกลับลำเรื่องหน้ากากอนามัยเลย
ตอนแรกเอานักวิชาการดูดีมีดีกรีสูงออกมาบอกว่าหยุดใส่หน้ากากได้แล้ว ให้คนป่วยใส่ก็พอ พวกคุณแค่ล้างมือไม่ต้องใส่หน้ากาก มาวันนี้ WHO บอกว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นบอกว่าใส่หน้ากากก็ไม่ได้ไม่ดีแฮะ
WHO ในอดีต
ในปัจจุบัน
การออกมาตรการหลายแหล่ในช่วงสถานการณ์ระบาดที่ต้องแข่งกับเวลา การทำไปก่อนที่จะมีหลักฐานสนับสนุนอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น พอมีหลักฐานเราค่อยปรับปรุงมาตรการของเราหรือเสริมมาตรกา่รใหม่ก็ยังไม่สาย ตอนนี้เราขอแค่ Common sense และความคิดว่าน่าจะดีแหละไปก่อนไหม
มองอีกมุมการออกมาตรการหวังดีกลับร้ายนั้นเจอได้บ่อยกว่าที่เราคิด มาตรการที่ใช้ความรู้สึกว่าดีแต่กลับทำให้สถานการณ์ไม่เพียงไม่ดีขึ้นแต่แย่กว่าเดิมนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวจะเล่าเรื่อง การระเบิดวาฬ และเด็กนอนหงายตายลูกเดียวให้ฟัง
ที่รัฐโอเรกอน อเมริกา ปี 1970 มีซากวาฬตัวหนึ่งเกยตื้นตายที่ชายฝั่ง วาฬยาว 14 เมตร ก้าวแรกไม่เป็นไร... เวลาผ่านไปวาฬเริ่มขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นสะอิดสะเอียนไปทั่วหาด ชาวเมืองต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อกำจัดซากวาฬเหล่านี้ พวกเขาคุยกันแล้วได้ข้อสรุปสามทาง ทางแรกปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าสลายไปเอง สองตัดเป็นชิ้นๆแล้วฝังกลบ สามเอาระเบิดไดนาไมต์มาจุดให้วาฬเป็นเศษเล็กๆแล้วให้นกมากิน และแน่นอนตามชื่อเรื่อง ชาวเมืองเลือกข้อสาม
วาฬตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด
พวกเขาใช้ไดนาไมต์ราวครึ่งตัน ทหารผ่านศึกผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดออกมาเตือนว่าใช้แค่ 20 แท่งก็พอพ่อหนุ่ม วิศวกรที่ได้รับมอบหมายให้จุดระเบิดไม่ฟังและจุด ตู้ม! กลายเป็นโกโก้ครันช์ ซากวาฬเน่าชิ้นเล็กชิ้นน้อย ลอยไปทั่วบริเวณ รถยนต์หลายคันโดนซากวาฬทับจนหลังคายุบ กลิ่นเหม็นเน่ากระจายไปทั่ว นกที่หวังพึ่งไว้ไม่รู้หายไปไหนหมด สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็มาทำความสะอาดหาดแล้วฝังกลบอยู่ดี
ปิดไม่มิด
พอได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ครั้งต่อๆมาพวกเขาเลือกใช้วิธีเผาซากแล้วฝังซะ
เรื่องที่สอง เด็กนอนหงายตายลูกเดียว
มีเด็กทารกในสวีเดนนอนไหลตายจาก 30 คนต่อปีในทศวรรษ 70s พุ่งสูงห้าเท่าเป็นกว่า 150 คน ในช่วงทศวรรษ 80s ถึง 90s โดยมีที่มาจากหมอทำ!
อันนี้กลับกัน จากเรื่องที่แล้วที่ไม่ฟังผู้เชี่ยวชาญ คิดเองเออเองแล้วซวย แต่กรณีนี้ฟังผู้เชี่ยวชาญแล้วซวยแทน ซากวาฬแค่กลิ่นเหม็นเน่า แต่เรื่องนี้ถึงแก่ชีวิตจริงๆ
เหตุการณ์ทารกไหลตายเพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เกิดแค่เฉพาะสวีเดน แต่เกิดทั้งในสแกนดิเนเวีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกา เกิดขึ้นพร้อมๆกันในซีกโลกตะวันตก
พุ่งสูงช่วงทศวรรษ 90s (1980-1989)
ความเชื่อนี้มาจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารที่บาดเจ็บในสงครามตอนเคลื่อนย้ายหรือรักษามักเสียชีวิตด้วยการสำลักในท่านอนหงาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการหมดสติหรือควบคุมการกลืนไม่ได้ การจับนอนตะแคงหรือนอนคว่ำนั้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ความเชื่อนี้แพร่หลายในอเมริกาช่วงปี 60s ในกองกำลังของสวีเดนก็เช่นกัน หลังได้เข้าร่วมรบสงครามก็ได้สังเกตุเห็นปรากฎการณ์นี้
สงครามโลกครั้งที่สอง
ความเชื่อที่เริ่มแพร่หลายได้แตะความสนใจของแพทย์ พวกหมอๆได้ทำงานวิจัยเพื่อหาท่านอนของทารกที่ดีที่สุดและพบว่าการนอนคว่ำช่วยลดอาการกรดไหลย้อนในเด็กทารก ลดโรคหลังคด ส่งเสริมการพัฒนา และลดการร้องโคลิกอีกด้วย หนังสือเลี้ยงลูกโดยใช้ Common sense (สามัญสำนึก) ก็เริ่มเผยแพร่ความเชื่อการให้เด็กนอนคว่ำ และหนังสือเลี้ยงเด็กต่างๆก็แนะนำให้เด็กน้อยนอนคว่ำ จนกลายเป็นการปฏิบัติปกติของคนยุคนั้น บ้านเราก็มีความเชื่อนี้นะบอกให้นอนคว่ำเด็กจะได้หัวทุย
ไม่นอนท่านี้ แม้จะเชื่อว่าหัวเด็กจะทุยก็ตาม
ในปี 1987 หมอสวีเดนคนหนึ่งก็บอกว่ารู้แล้วล่ะทำไมเด็กตายเยอะ ก็พวกลื้อจับเด็กนอนคว่ำยังไงล่ะ ก่อนที่หมอจะกลับลำให้จับเด็กนอนหงาย 50%ของทารกสวีเดนนอนคว่ำหน้า หลังที่หมอกลับลำเหลือเพียง 19% ที่ยังให้ทารกนอนคว่ำหน้าอยู่ และอัตราการไหลตายจากการขาดอากาศหายใจนั้นลดลงถึง 40%
นอนอย่างนี้ หัวทุยไม่ทุยไม่เกี่ยวกับท่านอน เฟ้ย
ความเชื่อโดยใช้แค่สามัญสำนึก (common sense) ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญนั้นต้องระมัดระวังเสมอ การที่จะออกมาตรการใดๆออกมา ต้องพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนให้มากที่สุด จะอ้างว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องรีบทำไม่ได้ หรือถ้าไม่มีหลักฐานใดๆ ผู้ที่สั่งการต้องติดตามผลกระทบอย่างรอบด้านและใกล้ชิด ถ้ามีอะไรผิดปกติต้องรีบหยุดและปรับปรุงมาตรการของตน
สุดท้ายความเชื่อและมาตรการที่ได้ทำไปแล้ว ต้องนำมาสรุปเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำสอง
ทำความสะอาดฆ่าเชื้อจริงๆต้องทำอย่างไร
มาดูในมุมวิชาการตามหลักฐานที่พอมีอยู่กันบ้าง ไม่ฉีดพ่นที่คนแล้วควรทำอย่างไร เรื่องนี้ง่ายสุดใส่หน้ากาก และล้างมือถูสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลยังไงล่ะ สำหรับคนติดเชื้อจะไปพ่นข้างนอก เชื้อมันอยู่ในคอ พ่นให้ตายหรือจะกลั้วคอยังไงเชื้อก็ไม่ตาย มันอยู่ในเซลล์ผนังทางเดินหายใจไปแล้ว และสำหรับคนที่ปนเปื้อน เชื้อมันอยู่ได้ทุกที่ก็จริง ทั้งใบหน้า ไหล่ ขา ตูด แขน แต่ที่พบเยอะสุดคือที่มือ เพราะมือเราเอาไปจับทุกสิ่งอย่าง แล้วเอามาป้ายหน้าป้ายตา เกาตูด เพราะฉะนั้นล้างมือให้บ่อยๆ พอแล้ว อีกอย่างสารเคมีที่นำมาพ่นมันอันตรายไหมไม่มีใครรู้ มีสารเป็นสิบๆชนิด
การทำความสะอาดบริเวณที่เคยพบผู้ป่วย ต้องใส่ชุดให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องทำแบบบิ๊กแดงก็ได้ ใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ ใช้แอลกอฮอล์ชุบผ้าเช็ดบริเวณที่มีความเสี่ยง เช่น ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู ส่วนตามพื้นใช้ไม้ม็อบชุบน้ำยาที่ใช้ฆ่าเชื้อ เช่น ไฮโปคลอไรต์เจือจาง และอื่นๆ ถู โดยถ้าเลี่ยงได้ให้ปิดห้องไว้ก่อนสามวันหลังที่คนไข้อยู่เพื่อให้เชื้อหายตายไปบางส่วนเสียก่อน
การทิ้งขยะก็เช่นกัน ถ้าเก็บไว้ได้ ก็ให้เก็บไว้ก่อนสามวัน ค่อยนำไปทิ้ง ถ้าเก็บไม่ได้ต้องใช้ถุงแดงบอกให้รู้ว่ามีติดเชื้อนะ แล้วหาทางทิ้งอย่างเหมาะสม ไม่ให้คนอื่น เช่น เจ้าหน้าที่เก็บขยะ เสี่ยงจากการกระทำของเรา
ส่วนห้องเราถ้ากลัวเชื้ออยู่ในอากาศ ให้เปิดหน้าต่าง ให้แสงแดดเข้า แปปเดียวเชื้อก็หายตายหมดแล้ว
ความเชื่อและมาตรการแบบนี้จะออกหัวหรือออกก้อยไม่มีใครรู้ ตามหลักฐานที่มีก็เชื่อหมอไอดีเค้าแหละ แต่ขนาด WHO ออกกลับลำเรื่องหน้ากากอนามัย อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ อาจมีผลดีคุ้มค่าทางจิตวิทยาก็ได้ใครจะไปรู้ หรืออาจจะทำให้ฟุ้งกระจายมีคนติดเชื้อจากการฉีดพ่นก็สุดแท้แต่จะคาดเดา
ดราม่านี้จะจบลงอย่างไร ถ้าถกเถียงนั่งคุยกันอย่างผู้ดีและใช้เหตุผล เรื่องราวก็คงจบลงด้วยดี แต่ถ้าใช้อารมณ์เดือดเลือดขึ้นหน้า แม้ไม่ได้ยินเสียงด่าแต่กลับสะท้อนผ่านเอกสารทางการว่าต้องการประณามคำแถลงการณ์แบบนี้ โซเชียลคงไม่อยู่เฉย คงเกิด #ทีมทฤษฎี กับ #ทีมคนปฏิบัติงาน เป็นแน่ คงผิดใจนายกนิดหน่อยที่จะ #ทีมไทยแลนด์ ลูกเดียว
มองโลกในแง่ดีคือทุกคนต่างหวังดี ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง ถอยคนละก้าวและคุยกันดีๆ เรื่องนี้ไม่ยากเลยที่จะทำความเข้าใจกัน ในวิทยาศาสตร์ไม่มีถูกมีผิด นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ยอมรับความจริงก็มีเยอะตามสัญชาติญาณของมนุษย์ที่ไม่ยอมรับผิด แต่คนจริงที่รู้ว่าตนไม่ถูกก็ออกมายืนยันว่าอันนี้ผิด เลิกทำ เดี๋ยวจะไปทำอย่างอื่น จบ ก็เท่านั้นเอง
โฆษณา