18 เม.ย. 2020 เวลา 02:30 • การศึกษา
Just In Time
พลังขับเคลื่อนทางสังคมที่เข้มแข็ง
คนญี่ปุ่นในปัจจุบันมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ตนเองสูงมากเมื่อได้รับหน้าที่อะไรไป เขาจะทำอย่างสุดกำลัง ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างระบบหลาย ๆ อย่างที่ประเทศอื่นเลียนแบบได้ยาก
ยกตัวอย่าง ระบบการทำงานผลิตของบริษัทโตโยต้า เรียกว่า “Just In Time” คือ ไม่มีของค้างสต๊อก รถยนต์คันหนึ่งมีอะไหล่ชิ้นส่วนอุปกรณ์เป็นหมื่นชิ้น ถ้าเราคุ้นกับการผลิตโดยทั่วไป ก็ต้องเตรียมชิ้นส่วนทั้งหมดไว้ในสต๊อก ถึงเวลาก็นำมาประกอบ แต่นโยบายของบริษัทโตโยต้าไม่ทำอย่างนั้นเพราะสิ้นเปลือง ถ้ามีของค้างสต๊อก แปลว่ามีเงินจม แล้วบางทีของในสต็อกที่กองทิ้งไว้ อาจเสื่อมคุณภาพได้
ระบบ “Just In Time” คืออุปกรณ์ทุกชิ้นจะต้องใช้เมื่อใดกี่ตัว ก็ให้ส่งตอนนั้น ชิ้นส่วนทุกอย่างมาส่งตามเวลาที่กำหนดในจำนวนเท่าที่ต้องใช้ แต่ต้อง “Just In Time” คือ “ต้องตรงเวลา” เพราะสายพานการผลิตทั้งหมดดำเนินไปตามกำหนดเวลา ถ้ามีใครส่งของอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ทันเวลา การผลิตส่วนอื่น ๆ ที่เหลือจะชะงักทั้งหมด
บริษัทโตโยต้ากล้าทำแล้วทำสำเร็จด้วย เพราะบริษัทรายย่อยที่รับงานจากโตโยต้าทุกบริษัทมีความรับผิดชอบหมด ไม่ว่าฝนจะตก รถจะติด ต้องนำส่งให้ทันเวลา ไม่อย่างนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นคู่ค้า โดยไม่มีเหตุผลข้ออ้างแม้ข้อเดียว ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร บริษัทรายย่อยก็ต้องหาวิธีนำอุปกรณ์อะไหล่ทุกชิ้นมาส่งให้ทันกำหนดให้ได้
ผลคือโตโยต้าเป็นบริษัทที่มีระบบการผลิตประสิทธิภาพสูงมาก ชนะบริษัทรถยนต์ทั้งโลก และยังมียอดขายฟื้นตัวหลังจากผ่านเหตุการณ์นํ้าท่วมครั้งใหญ่ “สึนามิ” โดยบริษัทโตโยต้ากลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะประสิทธิภาพการผลิตที่สูงมากของเขา สามารถทำในสิ่งที่บริษัทอื่นทำไม่ได้ เนื่องจากรากฐานวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ว่า “ทุกคนต้องรับผิดชอบ” นั่นเอง
ในยุคปัจจุบันญี่ปุ่นไม่มีการคว้านท้องฆ่าตัวตาย (ฮาราคีรี) เพราะผิดกฎหมาย แต่จิตสำนึกความรับผิดชอบยังคงมีอยู่ นอกจากจิตสำนึกเรื่องความรับผิดชอบและความมีระเบียบวินัยแล้ว ความซื่อสัตย์ของคนญี่ปุ่นก็เป็นที่หนึ่งด้วย
ถ้าเราลืมของแล้วย้อนกลับไป ของนั้นก็ยังวางอยู่ที่เดิม อาจจะด้วยเหตุ 2 อย่าง คือค่าครองชีพและรายได้ของคนญี่ปุ่นค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น การขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับเขาแล้วมันไม่คุ้ม
ยกตัวอย่าง ร่มที่วางไว้มากมายตามสถานีรถไฟ เกิดจากมีคนลืมร่มไว้ ในรถไฟใต้ดิน เมื่อถึงปลายทางคนลงกันหมด เหลือร่มอยู่ เขาจะรวมร่มกองเอาไว้ ในคอก พอเจ้าของมาก็เลือกหยิบเอาของตนเองกลับไป โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนร่มที่เหลือไม่มีเจ้าของมาหยิบไปเพราะค่าร่มอาจจะไม่คุ้มค่าเวลาในการเดินทางมาเอง เขาก็ปล่อยทิ้งไว้มากมายอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีของหายเลย มันก็มีเหมือนกัน ขโมยยังมีอยู่
แต่โดยการเปรียบเทียบแล้ว ประเทศญี่ปุ่นจะมีขโมยน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ มาก จากรากฐานวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่รักศักดิ์ศรี ถ้าตนเองทำไม่ดีแล้วจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งในสมัยก่อนจะโดนขับให้ออกจากหมู่คณะ เกิดความเดือดร้อนลำบาก ในสมัยนี้อาจจะไม่มีการขับอย่างนั้น แต่มีมาตรการการลงโทษทางสังคมแทน
ยกตัวอย่างเรื่องของขยะ เรามักจะเห็นว่า คนญี่ปุ่นจัดการกับขยะได้ดีมาก ๆ ต้องคัดแยกขยะ ขยะชิ้นใหญ่ เช่น ตู้เย็น ทีวีต้องติดต่อเทศบาลมาเก็บไปต่างหาก แต่ขยะทั่วไปอย่างน้อย ๆ ก็ต้องแยกเป็นขยะเผาได้กับขยะเผาไม่ได้ ขยะที่เผาได้ละแวกบ้านนี้ต้องมารวมกันไว้เป็นจุด มีป้ายติดระบุวันและเวลาในการทิ้งขยะ ไม่ใช่ทิ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนบ้านเรา เพราะเป็นถนนทางเดิน ทุกคนจะนำขยะใส่ถุงมัดให้เรียบร้อยแล้วนำมาวางเรียงริมกำแพง ไม่ไปเกะกะทางเดินชาวบ้าน เฉพาะวันเวลาที่กำหนดในแต่ละจุดเท่านั้น
ส่วนขยะบางประเภทที่เผาไม่ได้ต้องติดแสตมป์ด้วย ถ้าไม่ติดแสตมป์เทศบาลจะไม่เก็บไป วางกองไว้อย่างนั้น ไม่นานจะมีชาวบ้านที่ทนไม่ไหวหาแสตมป์มาติดเพื่อให้เทศบาลเก็บไป ไม่อย่างนั้นขยะก็จะรกเกะกะชาวบ้าน
จากนั้นเขาจะเริ่มดูว่า ใครมาแอบทิ้งขยะแล้วไม่ติดแสตมป์ ชำเลืองไปชำเลืองมา ใครทำอย่างนี้บ่อย ๆ เดี๋ยวรู้แน่ ทิ้งผิดเวลาหรือทิ้งโดยไม่รับผิดชอบ คนอื่นเขาไม่ว่าอะไร เขาจะมอง ๆ แล้วคุยกันจนรู้ทั้งย่าน แล้วคนนั้นก็จะอยู่ตรงนั้นไม่ได้ อยู่แล้วไม่เป็นสุขเพราะตกเป็นเป้าสายตาคนอื่น สุดท้ายต้องย้ายบ้านหนีเพราะทำผิดกติกาสังคม เข้ากับคนในสังคมไม่ได้
คนญี่ปุ่นมีวินัยเรื่องความสะอาดพอใช้ได้ทีเดียว แต่พอไปดูบนถนนไฮเวย์ในจุดที่ไม่มีคนเห็น ไม่มีรั้ว ไม่มีกล้องวงจรปิด ขยะเกลื่อนไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน บางคนขับรถผ่านมาก็ไขกระจกลงโยนขยะลงมาปุ๊บเลย เพราะไม่มีใครเห็น ดังนั้น พลังที่เป็นตัวขับเคลื่อนศีลธรรมจริยธรรมของคนหลัก ๆ มี 3 ประการ คือ ศีลธรรมในใจ พลังครอบครัว และพลังทางสังคม
“ศีลธรรมในใจ” คือ ความรักบุญ กลัวบาป ส่วนนี้คนญี่ปุ่นห่างศาสนามามาก พอแพ้สงคราม ต่างชาติบังคับให้ร่างรัฐธรรมนูญแยกศาสนาออกจากรัฐ แล้วเอาวิชาศีลธรรมออกจากโรงเรียน ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องพระพุทธศาสนา ศาสนาชินโต ไม่มีทั้งนั้น คนจึงไม่ค่อยรู้เรื่องศาสนา เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยรู้จักเรื่องบุญบาป พลังตรงนี้จึงอ่อนแอ
แต่พลังที่เข้มแข็งมากคือ “พลังของสังคม” จากรากฐานวัฒนธรรมและการปลูกฝัง “พลังของครอบครัว” บางคนจะไปทำอะไรไม่ดีก็นึกถึงพ่อแม่ กลัวพ่อแม่รู้แล้วจะไม่สบายใจ เสียใจ จึงไม่ทำ ซึ่งคนในแถบเอเชียมีพลังทางครอบครัวที่แข็งแรงกว่าชาวตะวันตก คนตะวันตกพอจบมัธยมปลายเข้ามหาวิทยาลัย ก็ทำงานหาเงินเลี้ยงตนเอง พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงดูแล้ว เพราะฉะนั้น ความผูกพันในครอบครัวจะสู้คนในแถบเอเชียไม่ได้ ผลคือเด็ก ๆ ชาวเอเชียมักจะมีผลการเรียนโดยเฉลี่ยดีกว่าเด็กชาวตะวันตก เนื่องจากไม่ค่อยวอกแวกไปทำเรื่องเสียหายเพราะกลัวพ่อแม่เสียใจ แล้วมีกำลังใจทำความดีตั้งใจเรียน อยากให้พ่อแม่ชื่นใจ คนเอเชียจึงมีพลังครอบครัวแข็งแรงกว่าชาวตะวันตก
ชาวญี่ปุ่นมีพลังครอบครัวที่ดี มีพลังศีลธรรมอ่อนแอ แต่มีพลังสังคมที่เข้มแข็งมาก เมื่อใดต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นเขามักจะทำทุกอย่างเต็มที่
แต่เมื่อใดที่พลังทางสังคมไม่ทำงาน เช่น อยู่คนเดียว เมื่อนั้นเขาอาจจะทำทุกอย่างตามใจตนเอง ถ้าสถานที่ใดไม่ค่อยมีคนญี่ปุ่นอยู่มาก เขาอาจจะเอะอะโวยวายทำอะไรตามใจชอบ แต่ถ้าที่นั่นมีคนญี่ปุ่นเริ่มเข้าไปอยู่มาก ๆ เขาจะเริ่มปฏิบัติตนเรียบร้อย มีความรับผิดชอบมากขึ้นเพราะกลัวว่าคนอื่นจะส่งข่าวลือไปถึงบ้าน แล้วตนเองจะเดือดร้อน เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนของเขาอาศัยพลังจากสังคมสูงมาก
คนไทยสามารถนำสิ่งดี ๆ จากคนญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ทั้งเรื่องวินัย พลังของสังคม พลังของหมู่คณะ มีเพียงเรื่องเดียวที่เขายังอ่อนคือพลังของศีลธรรมภายในใจ แต่คนไทยรักบุญอยู่แล้วจึงมีใจอ่อนโยน
ถ้าเห็นใครลำบาก คนไทยมักจะอยากเข้าไปช่วยเหลือส่วนด้านการให้ความสำคัญกับส่วนรวม ระเบียบวินัยของหมู่คณะ คนไทยยังไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าไรนัก
ดังนั้น เมื่อเรายังบกพร่องเรื่องวินัยของส่วนรวม ก็สามารถแก้ โดยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กในด้านระบบการศึกษา ระบบการเลี้ยงดูในครอบครัว สอนให้เด็ก ๆ มีสำนึกใส่ใจส่วนรวมมากขึ้น เพิ่มวินัยของหมู่คณะให้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันเราก็นำสิ่งดี ๆ ของคนไทยแบ่งปันให้ญี่ปุ่น คือนำคำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องรักบุญกลัวบาป การประพฤติปฏิบัติธรรม ทำความดี ให้คนญี่ปุ่นตระหนักเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องกรรมเพิ่มขึ้น อย่างนี้เท่ากับว่าเอาจุดแข็งของสังคมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งสังคมไทยและสังคมญี่ปุ่นจะสามารถเจริญไปด้วยกันได้อย่างดีเยี่ยม
เจริญพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา