Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
19 เม.ย. 2020 เวลา 02:30 • การศึกษา
Homesick
คิดถึงบ้าน...
บ้านเป็นแหล่งที่พักกายและใจ เมื่อจำต้องไกลบ้านไปนาน ๆ แล้วเกิดความคิดถึงบ้าน เราจะแก้ไขอย่างไร คนที่ต้องอยู่ห่างไกลกันนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก สามี หรือภรรยา ไม่ว่าด้วยเรื่องหน้าที่การงาน หรือการศึกษาเล่าเรียน เราจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์เหล่านั้นยังคงเหมือนตอนที่อยู่ใกล้กัน
สิ่งสำคัญคือความระลึกนึกถึงกันและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ปัจจุบันเครื่องมือสื่อสารทั้งโซเชียลมีเดีย หรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถพูดคุยได้ยินเสียงกัน หรือสไกป์เห็นภาพคู่สนทนา ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก ถือว่าสะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก
เพราะฉะนั้น ถึงแม้อยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ แค่ไม่ได้เจอกันตรงหน้าเท่านั้น แต่เห็นอีกฝ่ายผ่านจอภาพได้ ก็ขอให้รักษาการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ที่ใด โดยเฉพาะสามีภรรยา ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี รักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของอีกฝ่ายที่มีต่อเราให้ดี แล้วทำตัวเราให้เหมาะสมถูกต้องด้วย อย่าเกิดอาการเหงาจนคิดว่าอยู่ไกลกัน จึงหาเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจคนใหม่มาเป็นอะไหล่เสริม ถ้าอย่างนั้นล่ะก็ยุ่งแน่นอน
พอเราเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ เช่น เดินทางจากประเทศไทยไปต่างประเทศ อารมณ์ความรู้สึกของเราก็จะหลุดจากเรื่องราวในประเทศไทยไปมากเหมือนกัน เพราะสิ่งแวดล้อมที่เราประสบพบเจอต่างไปจากเดิมนั่นเอง
“โรค Homesick” คือ “โรคคิดถึงบ้าน” พอเราไปอยู่ในสถานที่ใหม่นาน ๆ มักจะเกิดอาการอย่างนี้เสมอ สมัยที่อาตมภาพไปเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น ก็ได้เห็นอาการจากเพื่อนนักศึกษาชาติต่าง ๆ มากมาย ตอนไปอยู่ใหม่ ๆ จะตื่นตาตื่นใจ รู้สึกเหมือนคนไปเที่ยวต่างประเทศ ได้เห็นบ้านเมืองใหม่ ๆ กับผู้คนใหม่ ๆ ที่มีผิวพรรณหน้าตาต่างเชื้อชาติกับตนเอง ได้เห็นสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ก็รู้สึกว่าตื่นตาตื่นใจ น่าสนใจ
แต่พอผ่านไป 1-2 เดือน ความแปลกใหม่เริ่มเจือจางลง แล้วสิ่งที่จะตามมาคือความเหงาและความไม่คุ้นเคย เพราะไปต่างแดนนั้นมีความแตกต่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ด้านภาษาที่แตกต่างกัน อยู่บ้านเรา เสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น หนังสือต่าง ๆ เราดูและฟังรู้เรื่อง แต่พอไปต่างแดน ถ้าภาษาเรายังไม่ดีพอ พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง บางทีไปอยู่เป็นปียังสื่อสารกันได้ ไม่ดีเลย ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการเรียนรู้
ผ่านไป 2-3 ปี แม้ภาษาใช้งานได้ดีขึ้น แต่ยังไม่เหมือนเจ้าของภาษาอยู่ดี การสื่อสารยังมีข้อจำกัด ไม่ต้องพูดถึง 2-3 เดือนแรก ถ้าเพิ่งเริ่มเรียนแล้วล่ะก็ ยังสื่อสารกันไม่ค่อยได้แน่นอน
ปัญหาถัดมาคือ เรื่องของดิน ฟ้า อากาศ เมืองไทยเป็นเขตร้อน พอต้องไปอยู่ต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาประเทศทางแถบยุโรปซึ่งเป็นเขตหนาว เพราะฉะนั้น อากาศไม่เหมือนบ้านเรา หน้าหนาวก็หนาวจับใจ
อาหารก็ไม่เหมือนกันอีก อยู่บ้านเรารับประทานอาหารต้องรสชาติเผ็ด ๆ แซ่บ ๆ หน่อย แล้วของกินมีตลอดทั้งวัน เพราะเมืองไทยถือว่าเป็นประเทศที่หาอาหารการกินง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นรถเข็น ร้านอาหาร ไปจนถึงระดับภัตตาคารทั้งเช้า สาย บ่าย คํ่า ของกินมีตลอด 24 ชั่วโมง
พอไปอยู่เมืองนอกไม่ใช่อย่างนั้น รสชาติอาหารก็ไม่เหมือนกัน แล้วเวลาจะเลือกอาหารก็ไม่เหมือนกันอีก
ในประเทศญี่ปุ่นก่อน 11 โมงเช้า ไปหาอาหารรับประทานที่ไหนแทบไม่ได้เลย เขาจะแขวนป้ายเปิดร้านเวลา 11.00 น. พอบ่าย 2 ร้านปิดอีกแล้ว แต่ในประเทศไทยร้านอาหารเปิดกันทั้งวันโต้รุ่งเลยทีเดียว
ทางด้านวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกันอีก การแสดงกิริยามารยาทในวาระโอกาสต่าง ๆ ของเขา เราไม่คุ้นเคย พอเราสะสมความรู้สึกไม่คุ้นเคยมากเข้า จึงมีความรู้สึกว่าเรากับสังคมรอบข้างเหมือนเป็นคนละส่วนกัน
พอคนเราเหงาก็ต้องการมีเพื่อน เพื่อนที่ดีที่สุดก็คือบ้านเรา สถานที่ไหน ๆ ก็ไม่เหมือนบ้านเราเอง เราจึงคิดถึงเมืองไทย คิดถึงบ้าน คิดถึงหมู่ญาติ และเพื่อนฝูงอันเป็นที่รัก อาการคิดถึงบ้าน(Homesick) นี้จึงเกิดขึ้นมา
พบกันในบทหน้า
เจริญพร
บันทึก
25
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามหลวงพี่ไป go inter in Japan
25
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย