20 เม.ย. 2020 เวลา 15:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ลักษณะปลามังกร
เอกลักษณ์ตามสายพันธุ์ #1
1
สกุล : ทวีปเอเซีย = มีทั้งหมด 1 ชนิด
สกุล : ทวีปออสเตรเลีย = มีทั้งหมด 2 ชนิด
สกุล : ทวีปอัฟริกา = มีทั้งหมด 1 ชนิด
สกุล : ทวีปอเมริกาใต้ = มีทั้งหมด 3 ชนิด
ทวีปเอเซีย - Asian Arowana
1. Malayan Bonytongue (ทองมาเลเซีย)
เรียกสั้น ๆ ว่า "ทองมาเลย์" ปลามังกรสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรานี่ เอง แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น "ทอง" แต่จริง ๆ แล้ว Base สีมีหลายสีไม่ว่าจะเป็น สีทอง สีเขียว สีน้ำเงิน และ สีม่วง ซึ่งแต่ละสีความสวยงามและราคาก็แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น...
+ หากพื้นเกล็ดเป็น "สีทอง" ก็จะเป็นทองแวววาวเงางาม และสุกสว่าง อร่ามตา
+ หากพื้นเกล็ดเป็น "สีม่วงน้ำเงิน" ดูแล้วจะเหมือนกับตัวปลาใส่เสื้อเกราะ มีมิติของสีมากขึ้นเพราะเนื้อในเกล็ดจะเป็นสีน้ำเงิน แต่มีการตัดขอบสีทองเป็นวงเกล็ดตลอดทั้งตัว
ถามว่าแบบไหนสวยกว่ากัน? ตอบไม่ได้ครับ เพราะของแบบนี้แล้วแต่คนชอบครับ แต่ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม สำหรับสายพันธุ์ทองมาเลเซียแล้ว เมื่อปลาโตขนาดได้ที่โดยมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เกล็ดจะขึ้นมาถึงด้านหลัง(เกล็ดแถวที่ 6) หรือที่เรียกว่า "Cross Back" แต่ทว่าการข้ามหลัง ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามหลังหมดจดทุกตัว บางตัวก็แค่เกือบข้าม บางตัวก็ข้ามแต่ยังไม่หมดจด จะหาเนียนหมดจดทั้งหลังจริง ๆ มีไม่มากนัก
สำหรับเรื่อง Base สีของตัวปลา :
+ หากเป็นสีทองแบบ "Full Gold" ก็จะเป็นทองทั้งตัว ทั้งหัว แก้ม ครีบและหาง ซึ่งตลอดตัวจะเป็นโทนสีเดียวกัน(เหมือนทองคำแทงว่ายน้ำได้)
+ หากเป็นสีทองแบบ "Gold Base" ก็จะเป็นสีทองเหมือนกันแต่จะไม่หมดจดทั้งตัว สีเกล็ดด้านในยังมีอมดำ ที่หัวก็เช่นกัน ส่วนใบหางแม้จะมีละอองทองขึ้นมาเต็มแผ่นแต่ก็ยังเห็นเป็นสีส้มเข้มหรือเลือดหมู
+ หากเป็นสีน้ำเงินแบบ "Blue Base" สีเกล็ดจะเป็นสีม่วงและยิ่งเมื่อเวลาต้องแสงไฟก็จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เครื่องครีบของ Blue Base จะเป็นสีเลือดหมูเข้มจัด และสีของตาเป็นสีแดง
2
ทองมาเลย์ในวัยเล็กดูยากมากว่าโตขึ้นมาแล้วจะเป็นสีไหน? แม้แต่ปลาคอกเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี Base สีเดียวกัน บางตัวเป็น Gold Base บางตัวเป็น Blue Base ยิ่งปัจจุบันมีการแบ่งชั้นของเกรด และชื่อสายพันธุ์ย่อยมากขึ้น ดังนั้นนอกจากจะดูสียากแล้ว ยังดูแวว(จะไปได้ไกลแค่ไหน) ยากอีกด้วย
ปลามังกรสายพันธุ์นี้เป็นปลาที่มีราคาแพงและเปราะบางมาก เวลาเลี้ยงดูก็ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษหน่อย เพราะทั้งครีบและเกล็ดไม่ค่อยแข็งแรง แตกหักง่ายและการรักษาตัวก็ค่อนข้างใช้เวลานานทั้งในปลาเล็กและปลาใหญ่ ฉะนั้นในการเลี้ยงดูโดยเฉพาะการโยกย้ายปลา หากไม่รู้วิธีที่ถูกต้องก็ควรให้ผู้ที่มีความรู้มีความชำนาญมาช่วยดีกว่านะครับ เพราะถ้าปลาบาดเจ็บเสียหายแล้วจะไม่คุ้มกัน
ลักษณะโดยทั่วไปของสายพันธุ์ทองมาเลย์ :
"เครื่องครีบ" จะเล็กไม่ใหญ่เหมือนสายพันธุ์อื่น ลักษณะหัวและหน้าจะทู่สั้น แต่สีสันความแวววาวมาเป็นที่หนึ่ง ที่เกล็ดจะละเอียดมีขนาดเล็ก ใต้ครีบหลังจะมีการเปิดเป็นสีทองเต็มเกล็ดด้วยในขณะที่ทองอินโดจะไม่มี หรือ ถ้ามีก็แค่เพียงปะปลายไม่ชัดเจน ทองมาเลย์โดยทั่วไปจะมีตำหนิหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นกันมากนั่นก็คืออาการ "ตาตก" ในขณะที่สายพันธุ์อื่นเป็นกันน้อยกว่า
2. Super Red Arowana (มังกรแดง)
ปลามังกรแดงมีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียครับโดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ "Blood Red(แดงเลือด) และ Chili Red(แดงพริก)"
+ สีสันของ Blood Red เมื่อโตเต็มที่จะเข้มมาก วงเกล็ดหนา(เรียกว่า Thick Frame) การเรียงตัวของสีอาจไม่เป็นระเบียบแต่ก็แดงเข้ม แก้มแดง ปากแดง ครีบเครื่องทุกส่วนจะแดงเข้มดูน่าเกรงขาม
+ สีสันของ Chili Red จะแดงแบบแดงเลือดนกคือแดงสว่าง ต้องตา ดูสง่างาม เมื่อโตเต็มที่วงเกล็ดโดยมากจะ ขอบเกล็ดบาง(Thin Frame) การตัดขอบก็จะเป็นระเบียบแดงเนียนไปทั้งตัว ตั้งแต่หัวจรดปลายหาง
1
ความแตกต่าง :
+ ลักษณะหัว คือ ส่วนใหญ่ของ Blood Red จะต่างกับ Chili Red ตรงที่ของ Blood จะเป็นทรง Sparta(หัวออกแหลมเป็นทรงสามเหลี่ยม) แต่ของ Chili จะเป็นทรง Spoon Head(หัวช้อน) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่นักเลี้ยงชาวจีน เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นตัวตักตวง เงินทองให้กับเจ้าของผู้เลี้ยง
+ ลักษณะหาง คือ Blood Red ส่วนใหญ่หางจะเป็นทรงพัดซึ่งมีลักษณะกลมและกว้าง แต่ Chili Red หางจะเป็นทรงเพชร(Diamond Shape) ซึ่งจะเรียวยาว ดูสง่างามกว่า
1
โดยปกติปลา Chili Red จะมีราคาสูงกว่า Blood Red ในปลาวัยเล็กเป็นการยากมากที่จะแยกว่าตัวไหนเป็น Blood และตัวไหนเป็น Chili แม้แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการมานานก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ แม้แต่ในใบเซอร์รับรองสายพันธุ์จากฟาร์มก็ยังไม่กล้าระบุชี้ชัด ยิ่งปัจจุบันไม่มีปลาสายแท้ของทั้งสองนี้แล้ว แม้แต่ในประเทศแม่แบบอย่างอินโดนีเซียเองก็ตาม
1
ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อปลาสายใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะฟาร์มมากกว่าครับ สำหรับปลาแดงหากไม่ศึกษาให้ดีพอ มีกำลังทรัพย์แต่ไม่มีความรู้ก็อาจถูกหลอกเอาปลาแดงเกรดรองมาขายก็เป็นได้ หรือแม้แต่ได้ปลาดีมาแต่เลี้ยงไม่เป็นทำให้ปลาสีซีดไม่สวยก็เสียปลาเปล่าได้เช่นกัน
ปลาทองมาเลย์มีตำหนิส่วนใหญ่คือ "ตาตก" ปลาแดงก็มีเช่นกันนั่นก็คือ "ปากยื่น(ปากล่างเกยปากบน)" โดยจะเห็นชัดในปลาที่มีขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ แต่ก็มีไม่น้อยครับที่ยื่นกันตั้งแต่เล็กกันเลย
3. Red Tail Golden Arowana (ทองอินโด)
ทองอินโดหรือ RTG เป็นปลาระดับกลางซึ่งถ้าพูดถึงความสวยงามแล้วล่ะก็ สวยไม่แพ้ใครเลยทีเดียว ปลาที่โตแล้วเกล็ดจะเป็นสีทองเข้มแต่จะไม่แวววาว เงางาม สุกใสเหมือนทองมาเลย์ และจะขึ้นถึงเพียงเกล็ดแถวที่ 4 เท่านั้น แต่ก็อาจมีเปิดมาถึงแถวที่ 5 ไม่ว่าจะประปรายหรือเต็มแถว ดังนั้นข้อแตกต่างระหว่างปลาทองอินโดกับทองมาเลย์จึงอยู่ตรงที่
+ สีเกล็ด
+ Base สี
+ ความมันเงาแวววาว
+ ข้ามหลังหรือไม่ข้ามหลัง
ในปลาเล็กทั้ง 2 สายพันธุ์นี้สำหรับมือใหม่อาจจะค่อนข้างดูออกยากและมีความเป็นไปได้สำหรับการสลับหลอกขายกัน
+ ครีบก้น / ครีบอกและชายน้ำของทองอินโดจะเป็นสีส้มอมแดง
+ หาง จะแดงแค่ค่อนใบ ปลายหางด้านบนและครีบหลังจะออกน้ำตาลไหม้
+ เกล็ดแถวที่ 5 จนถึงหลังจะมีน้ำตาลดำ เกล็ดละเอียดมีขนาดเล็ก
+ ใต้ครีบหลังจะไม่มีการเปิดสีของเกล็ด
"ทองอินโดเป็นมังกรสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในสายเอเซี่ยน" โดยโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 30 นิ้ว แต่โดยเฉลี่ยแล้วหากเลี้ยงในตู้ปลาจะโตได้ราวประมาณ 24 นิ้ว
4. Green Arowana (อโรวาน่าเขียว)
อโรวาน่าเขียว หรือ "ปลาตะพัด" ของไทยเรานี่เอง ปลาอโรวาน่าเขียวมีอยู่หลายที่ทั้งในประเทศไทย / มาเลย์เซีย / พม่า / เวียดนาม / ลาวและกัมพูชา (ประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้นเลยนะครับ) ปลาสายพันธุ์นี้โตขึ้นจะเป็นสีเขียวนวลและมีประกายทองทั้งตัว ใบหางจะเป็นสีเขียวเข้มแต่ไม่เต็มใบ เพราะที่บริเวณปลายหางเป็นรอย "ขลิบขาว" ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้
ราคาในท้องตลาดสำหรับปลาเล็กก็ไม่แพง เพราะฉะนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นทดลองเลี้ยง ปลามังกรเขียวมี 2 แบบคือ "เขียวมีเซอร์ กับ เขียวไม่มีเซอร์"
+ เขียวมีเซอร์ คือ ใบเซอร์ก็มาจากประเทศที่มีการเพาะพันธุ์ได้จริง อย่างเช่นประเทศมาเลเซีย หรืออาจจะมาเป็นตัวแทนบริษัทเทรดดิ้งต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อแสดงเครื่องหมายการค้าของตัวเอง
+ เขียวไม่มีเซอร์ คือ คนขายมักจะพูดว่าเป็นปลาป่าหรือปลาจับนั่นเอง
จริงแล้วถ้าดูปลาเป็นหรือพอมีประสบการณ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงใบเซอร์ก็ได้ เพราะคุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย แต่ราคาที่สนนกันตอนต้น "เขียวมีเซอร์มีราคาสูงกว่าตัวที่ไม่มีเซอร์เกือบเท่าตัวเลยล่ะครับ"
บางคนอาจมีการสับสันระหว่าง "มังกรเขียว" กับ "ทองอ่อน" ว่าเหมือนกันหรือไม่ ในปลาวัยเล็กทั้ง 2 นี้ดูออกค่อนข้างยากเช่นกัน
+ มังกรเขียว ในวัยเล็กจะมีความเงางาม ขาวและแสงสว่าง
1
+ ทองอ่อน ในวัยเด็กจะไม่เงาแต่จะขาวหรือไม่ก็เป็นสีเหลืองอ่อนทั้งตัว
แต่จริงแล้วเคยมีผู้รู้กระซิบบอกว่าทั้ง 2 อย่างนี่แท้จริงแล้วมันก็พันธุ์เดียวกันเพียงแต่เขียวมากหรือเขียวน้อย "ถ้าออกเข้มหน่อยก็มังกรเขียว / ถ้าออกทองเงาหน่อยก็ทองอ่อน" แต่ราคาต่างกันประมาณ 1 เท่าตัวเลยครับ อย่างที่บอกไปนะครับมังกรเขียวสวย ๆ หรือ เขียวแท้ที่เพาะกันในฟาร์มโดยปกติจะมีใบเซอร์รับรองสายพันธุ์ให้กับผู้ซื้อและจะขายขึ้นตู้ ส่วนถ้าเป็นทองอ่อนหรือเขียวไม่มีเซอร์ก็จะเป็นปลาถุงขายธรรมดาทั่วไป
1
ทวีปออสเตรเลีย - Australian Arowana
1. Australian Pearl Arowana
ปลาตัวนี้เป็นปลาที่ค่อนข้างหายาก และมีราคาสูงกว่าออสเตรเลียจุด ค่อนข้างมาก
2. Australian Spot Arowana
ปลามังกรออสเตรเลียจุด เรียกว่า "ออสเตรเลีย" ลักษณะโดยทั่วไปของสายพันธุ์นี้ก็คือ
+ หัวจะเป็นทรงปลาทูทู่สั้น
+ ตัวจะออกยาวไม่หนา
+ หนวดสั้นมากและงองุ้ม
+ หาง / ครีบและเกล็ดจะเล็กกว่าของสาย Asian
+ แถวเกล็ดออสเตรเลียจะมี 8 แถว (ปลา Asian Arowana แถวเกล็ดจะมี 6 แถว)
+ มีจุดสีส้มขึ้นตามลำตัว / หางและครีบ เรียกว่า "Orange Spot" (จะเด่นชัดมากเมื่อปลาโตขึ้น)
2
จุดด้อยของปลาสายพันธุ์นี้คือ "เกล็ดจะเล็กและหนวดก็ยังงุ้มเข้าหาปากไม่ยื่นออกเรียวยาวเหมือนกับสายพันธุ์อื่นจึงดูไม่สง่างาม" ปลาออสเตรเลียในขนาด 6 นิ้ว-12 นิ้ว สีตัวจะเป็นสีทองอร่ามสวยมาก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มจางลงและเมื่อปลาใหญ่เต็มที่แล้วความเงางามจะหายไป มังกรออสเตรเลียก็เป็นอีกสายพันธุ์นะครับที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเลี้ยงปลามังกร
ทวีปอัฟริกา - African Arowana
1. African Arowana
1
ในประเทศไทยมีขายปลามังกรสายพันธุ์นี้น้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมเลี้ยง เหตุผลนั่นไม่ได้เพราะหายากนะครับแต่เพราะปลาพันธุ์นี้มีความสวยงามที่ไม่ค่อยโดดเด่นนัก
+ สีสันไม่เด่นชัด
+ พื้นเกล็ดเป็นสีเทา
+ หัวทู่
+ ไม่มีหนวด
+ เกล็ดเล็ก
+ ครีบทุกครีบสั้นหมดดูไม่สง่างาม
ปัจจุบันหาซื้อได้ที่ร้านขายปลาแปลกทั่วไป เสนอราคาไม่แพงนัก สามารถซื้อหามาเลี้ยงได้โดยไม่ลำบากมากครับ
ทวีปอเมริกาใต้ - South America Arowana
1. Silver Arowana (อโรวาน่าเงิน)
ปลามังกรเงินมีถิ่นกำเนิดบริเวณเขต "ลุ่มน้ำอเมซอนในอเมริกาใต้"
+ ปลาในวัยเล็กจะเป็นสีเงินอมชมพู
+ ครีบหาง / ครีบก้นปลายขอบมีสีชมพู
+ หนวดยาวสวยเด่น
+ ชายน้ำหรือที่เรียกกันว่า "ครีบก้น" ยาวมาก
+ สีเกล็ดจะเป็นสีเงินเงางามแต่ขอบครีบที่เป็นสีชมพูจะจางหายไป (เมื่อปลาโตขึ้นจนได้ขนาด)
ปลามังกรเงินมีความยาวสูงสุดในหมู่ปลามังกรสวยงามที่นิยมเลี้ยงทั่วไป (ไม่รวมอะราไพม่า) เพราะเมื่อโตเต็มที่จะยาวได้ถึง 1 เมตร 20 เซนติเมตรเลยทีเดียว แม้ตัวจะใหญ่ได้ถึงขนาดนี้แต่เจ้านี่ก็อ่อนแอมากเลี้ยงกับใครก็มักจะเป็นผู้ถูกทำร้ายไปซะหมด(สู้เขาไม่ค่อยได้) ในมังกรเงินขนาดใหญ่ผู้เลี้ยงมักจะเจอปัญหาเรื่อง "ตาตก" รุนแรงและปากงุ้มน่าเกลียด
2
ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเพราะลีลาในการกินอันรุนแรงตามนิสัยของมัน แต่ด้วยส่วนกรามที่บอบบางไม่ค่อยแข็งแรงนักแล้ว เมื่อกลับไปกินอาหารอย่างดุเดือดจึงมีโอกาสให้กรามหักและปากงุ้มเสียเอกลักษณ์ได้
ปลามังกรเงินหรืออโรวาน่าเงินยังคงครองความเป็นหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ครับด้วยราคาที่ถูกมาก (ถูกที่สุดในตระกูลปลามังกรทั้งหมด) เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเชื่องน่ารัก แล้วใครล่ะที่จะปฏิเสธลง
2. Black Arowana (อโรวาน่าดำ)
ในวัยเล็กมีลักษณะคล้ายมังกรเงินแต่ว่าเป็นสีดำ ปลามังกรดำเลี้ยงยากกว่ามังกรเงินมาก ตายง่าย กินยาก อ่อนแอไม่ค่อยแข็งแรง แม้ปลาวัยเล็กตัวจะเป็นสีดำแต่พอโตขึ้นสีจะค่อย ๆ ถอดออกเป็นคล้ำดูคล้ายกับมังกรเงิน ปลามังกรดำโตเต็มที่ความยาวประมาณ 20 นิ้ว และกว้างไม่เกิน 5 นิ้ว ซึ่งถือว่าเล็กมากหากเทียบกับพันธุ์อื่น
มังกรดำเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง เพราะราคาไม่แพงมาก แต่ว่าอาจจะหาซื้อยากหน่อยเพราะมีขายกันตามฤดูกาลเท่านั้น
3. Arapaima Gigas (อะราไพม่า)
อะราไพม่าหรือที่เรียกว่า "ปลาช่อนอเมซอน" ลักษณะของปลาชนิดนี้คือ เล็ก ตัวจะเป็นสีเขียวและหางสีดำ แต่พอโตขึ้นตัวจะมีสีเขียวเข้มเป็นมรกตแต่ไม่เงางามและส่วนหางจะมีปื้นแดง ส้มเป็นลายคาดเรียกว่า "กุหลาบไฟ" อะราไพม่าเป็นปลาเกล็ดเล็กที่สุดในตระกูลปลามังกร แถมยังไม่มีหนวดดูแล้วเป็นปลาอโรวาน่าที่หน้าตาไม่เหมือนเพื่อนพ้องเอาเสียเลย ตัวก็ใหญ่โตมโหฬารโดยโตเต็มที่ได้ถึง 3 เมตร
1
ปลาอะราไพม่าโดยปกติจะเลี้ยงลงบ่อ น้อยคนนักจะเลี้ยงในตู้ เนื่องจากว่าเป็นปลาที่โตเร็วมากในระยะเวลา 1 ปี ปลามังกรทั่วไปขนาด 6 นิ้วจะโตได้ราว 12-15 นิ้ว ในขณะที่อะราไพม่าจะโตได้ถึง 30-45 นิ้ว และเป็นปลาที่แข็งแรงมากจึงยากต่อการเคลื่อนที่ย้ายเข้าย้ายออกบ่อย ๆ
นอกจากนี้การว่ายน้ำของอะราไพม่ายังว่ายอย่างช้า ๆ และไม่เป็นทิศเป็นทางเหมือนปลามังกรทั่วไปที่ว่ายกลับไปกลับมาเป็น "หยินหยาง" มีทิศมีทางดูสง่างามกว่า แต่สำหรับคนที่มีสถานที่และชอบความยิ่งใหญ่ อะราไพมายังเป็นปลายักษ์ในอันดับต้น ๆ ที่คนเหล่านั้นนิยมซื้อหานำมาเลี้ยงกัน
แหล่งอ้างอิง : www.aro4u.com
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา