21 เม.ย. 2020 เวลา 05:00 • การศึกษา
ยาแก้อาการ HOMESICK
เราอย่าดูเบาโรคคิดถึงบ้านว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนเป็นถึงขนาดเรียนต่อไม่ได้ ต้องกลับประเทศเลยก็มี อุตส่าห์ได้ทุนเรียนต่อซึ่งหายาก คิดเป็นเงินไทยรวมเบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายทุกอย่างเดือนหนึ่งร่วมแสนบาท ค่าเล่าเรียนก็ฟรี แถมมีเงินสำรองติดตัวให้(Pocket Money) ถ้าเหลือใช้ก็สามารถเก็บออมได้อีก แต่บางคนไม่ไหว ทิ้งทุกอย่างกลับประเทศเลย
บางคนไม่ถึงขนาดหนีกลับประเทศ แต่ว่าเกิดอาการซึมเศร้าบ้าง ร้องไห้ครํ่าครวญกับคนอื่นบ้าง บางคนเห็นก็นึกว่าเขาเพี้ยน แต่ความจริงเป็นอาการของโรคคิดถึงบ้านนั่นเอง
อาตมภาพมานึกย้อนว่า เอ...แล้วตอนเราไปอยู่ต่างประเทศนั้น มีอาการคิดถึงบ้านบ้างหรือเปล่า พอนึก ๆ ดู อาการคิดถึงวัดก็มีนะ แต่ขนาดป่วยแบบเป็นโรค Homesick นั้นไม่เป็น
ถามว่า แล้วทำไมอาตมภาพถึงไม่เป็นโรค Homesick ล่ะ จริง ๆ แล้วถ้าเทียบกับโยม ถือว่าพระสงฆ์ต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงกว่าโยมมาก เพราะโยมยังไม่มีข้อจำกัดทางด้านพระวินัย
แต่เป็นพระสงฆ์ ทั้งเรื่องจะฉันอย่างไรดี หอพักมีนักศึกษาไทยอยู่ 20- 30 คน ก็ยังขอไหว้วานให้เขาช่วยประเคนภัตตาหารต่าง ๆ ได้ คือจะทำอะไรมันมีข้อจำกัดหมด
ทั้งเรื่องที่พระสงฆ์ครองจีวรเดินไปถึงไหน ๆ คนมองทั้งสองข้างทางเลย ตอนนั้นพระไทยทั้งประเทศญี่ปุ่นมีอยู่รูปเดียวคืออาตมภาพ แล้วไปเรียนคนเดียว โยมอุปัฏฐากก็ไม่มี อุบาสกก็ไม่มี ต้องช่วยเหลือตนเองทุกอย่าง
ทั้งเรื่องภาษาก็ยังสื่อสารไม่รู้เรื่อง ตอนอยู่เมืองไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแค่หลักไวยากรณ์เบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่เคยเข้าโรงเรียนภาษาที่ไหนเลย มามหาวิทยาลัยโตเกียวเจออาจารย์ อาจารย์บอกว่าไปเข้าคอร์สเรียนภาษาก็เสียเวลา ให้เข้าห้องเรียนเลยก็แล้วกัน
ในมหาวิทยาลัย อาตมภาพไปเรียนวิชาปรัชญาอินเดีย นั่งฟังอยู่ 2 ชั่วโมงไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว บริสุทธิ์บริบูรณ์ 0เปอร์เซ็นต์ แต่ในใจนึกอย่างเดียวว่า ต้องทำให้ ได้
อาตมภาพจึงวางแผนโดยเริ่มต้นเอาหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นระดับกลางมาอ่านก่อน แล้วเอาเทปมาฟัง เปิดศัพท์ทุกตัวที่ไม่รู้ จบ หนังสือ Intermediate Japanese ภาษาญี่ปุ่นระดับกลางไป 2 เล่ม เก็บคำศัพท์ ได้ประมาณ 5,000 คำไวยากรณ์ได้ ในระดับหนึ่ง
จากนั้นเริ่มเอาหนังสือปรัชญาอินเดียภาษาญี่ปุ่นมาอ่าน ค่อย ๆแกะทีละตัว ๆ ทุกตัวที่ไม่รู้ก็เปิดพจนานุกรม แล้วท่องจำคำศัพท์ทั้งหมด ได้คำศัพท์อีกราว ๆ 4,000 กว่าคำ รวมแล้วได้คำศัพท์ประมาณ 10,000 คำ
พอจบเริ่มอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ ใจมันมุ่งอยู่ตรงนั้นเลยลืมเรื่องอื่นทั้งหมด แต่ถ้าถามว่าจริง ๆ แล้วเหงาไหม คิดถึงวัดไหม ก็คิดถึงแต่ว่าไม่ปรากฏอาการคิดถึงบ้าน
อาตมภาพคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนก็ตาม หรือคนที่ทำงานในต่างแดนก็ตาม ถ้าใจเรามุ่งมั่นอยู่กับสิ่งที่ทำจริง ๆ มีความตั้งใจในการเรียนจริง ๆ จะเอาชนะโรคคิดถึงบ้านได้เอง
คนเป็นโรคคิดถึงบ้าน (Homesick) จะเกิดความรู้สึกเซ็งอารมณ์อ่อนไหวง่าย พอมีอะไรมากระทบนิดหน่อย บางคนร้องไห้แล้วพาลไม่ไปเรียนก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าเรามุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำมาก ๆมันจะชนะอารมณ์เหงาทุก ๆ อย่าง เพราะใจจดจ่ออยู่กับเป้าหมาย
หากเป็นสามีภรรยา หรือคนรักที่ต้องห่างไกลกัน ความเข้าใจซึ่งกันและกันมีความสำคัญมาก โบราณว่า “อย่าไว้ใจใครแม้แต่ตนเอง”
พอห่างกันแล้วเหงา ก็ต้องหาเพื่อนคุย พอคุยไปคุยมาสบตาชักปิ๊งปั๊งกัน
ขึ้นมาไม่ว่าฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย
สมัยที่มีคนไทยไปทำงานประเทศซาอุดีอาระเบียกันมาก ๆ จะไปทีก็ต้องขายนาเพื่อจ่ายค่านายหน้าให้เขา นึกว่าไม่เป็นไรหรอก
ขายนาไปแล้ว พอไปทำงานได้เงินเดือน ๆ ละตั้งหลายหมื่นบาท ซึ่งในสมัยนั้นเมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำวันหนึ่งไม่ถึง 100 บาท เราจะได้เก็บเงินกลับมาตั้งเนื้อตั้งตัวที่บ้านได้
ไปทำงานคราวหนึ่งกว่าจะได้กลับบ้าน 3 - 5 ปี ยุคนั้นชาวบ้านก็มีคำพูดว่า “ไปขายนา มาเสียเมีย” ภรรยาไปอยู่กับคนอื่นเสียแล้วเพราะความเหงา บางครอบครัวฝ่ายชายก็ไปมีเล็กมีน้อย ทั้งหญิงทั้งชายประมาทไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าถามว่า แล้วจะทำอย่างไรเมื่อต้องไปไกลบ้านนาน ๆ อาตมภาพแนะนำได้ ดังนี้
“รักษาการติดต่ออย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าทำมากจนกระทั่งน่ารำคาญ”
โทรศัพท์หาเขาทั้งเช้า สาย บ่าย คํ่า ขนาดนั้นก็ไม่ไหวมันมากไป ให้ทำแบบพอดี ๆ สม่ำเสมอ
“ชวนกันเข้าวัดสวดมนต์ นั่งสมาธิ นี้ดีที่สุดเลย”
ให้เรามีที่พึ่งทางใจ คือ พระรัตนตรัย มีธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ตั้งแต่ก่อนจะห่างกัน ก็ชวนกันเข้าวัดก่อน ห่างไปแล้วคุยกัน ก็ไม่ใช่คุยกันไร้สาระ ถามไถ่สุขภาพ การงาน การเรียนเสร็จเรียบร้อยก็มาคุยกันเรื่องธรรมะอย่างนี้ล่ะก็ จะยกใจให้สูงขึ้นได้ ไม่ต้องไปหาทางแก้เหงาด้วยการไปคบกับเพื่อนต่างเพศคนอื่น แต่นำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ใจก็ชุ่มอยู่ในบุญ ชุ่มอยู่ในธรรมแทน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา