28 เม.ย. 2020 เวลา 10:06 • กีฬา
Shadow Play ปรัชญาฟุตบอลสายดุดัน
1
ในช่วงก่อนทศวรรษ1990 นั้นได้ถือกำเนิดปรัชญาฟุตบอลต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองปรัชญาที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างมากในยุโรปอย่างปรัชญาฟุตบอลสายเกมรับ Catenaccio และปรัชญาฟุตบอลสายเกมรุก Total Football ซึ่งทั้งสองปรัชญานั้นมีสไตล์การเล่นที่ต่างกันสุดขั้ว ทำให้โลกฟุตบอลในตอนนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วอำนาจต่อสู้แย่งชิงความยิ่งใหญ่กันในยุโรปจนในที่สุดเป็นปรัชญาฟุตบอลสายเกมรุก Total Football ที่มีสไตล์การเล่นที่สวยงามราวกับศิลปะ สามารถขึ้นเป็นที่สุดได้สำเร็จและครองยุโรปอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 มาจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1980 แต่สุดท้ายก็ต้องล้มลงจากบัลลังก์เมื่อการมาถึงของศัตรูตัวฉกาจที่เปรียบดั่งภัยร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามาซึ่งนั่นก็คือปรัชญาใหม่สายดุดัน Shadow Play ของบุรุษที่มีชื่อว่า อาร์ริโก้ ซาคคี่
ในช่วงทศวรรษ 1970 เส้นทางอาชีพกุนซือของอาร์ริโก้ ซาคคี่ กุนซือชาวอิตาลีก็ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งในช่วงแรกนั้นด้วยอิทธิพลของปรัชญา Catenaccio ของเอเลนิโอ เอร์เรราตั้งแต่ยุครุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ1960 จึงทำให้ฟุตบอลในอิตาลีในตอนนั้นให้ความสำคัญกับเกมรับเป็นอันดับแรก ทุกทีมจะต้องเล่นเกมรับรูปแบบ Man Marking และมี Libero ห้อยอยู่หลังแผงกองหลัง บวกกับผู้เล่นเพลย์เมกเกอร์เบอร์10 ที่มีเทคนิคพรสวรรค์ชั้นเลิศและมีการสร้างสรรค์เกมที่ยอดเยี่ยมซึ่งเปรียบดั่งหัวใจสำคัญของทีมๆนั้น ซึ่งมันขัดใจของซาคคี่อย่างมากเนื่องจากซาคคี่นั้นเชื่อในปรัชญา Total Football ของไรนุส มิเชลส์ ซะมากกว่าซึ่งเป็นปรัชญาที่สามารถโค่นล้มปรัชญา Catenaccio ลงจากบัลลังก์ได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ซาคคี่นั้นหลงใหลในตัวปรัชญาของTotal Football ก็คือทีมเวิร์คในการเพรซซิ่งกดดันแย่งบอลกันเป็นทีมตั้งแต่ในแดนของคู่ต่อสู้และพอได้บอลกลับมาก็ช่วยกันต่อบอลสร้างสรรค์เกมเข้าไปทำประตูอย่างสวยงาม ซึ่งมันสวนทางกับปรัชญาบ้านเกิดของเขาที่พึ่งพาเพลย์เมกเกอร์ในการทำเกมเพียงคนเดียวส่วนที่เหลือก็เน้นในการเล่นเกมรับเป็นหลัก
อาร์ริโก้ ซาคคี่ ช่วงเริ่มต้นอาชีพการเป็นกุนซือ
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งตรงกับช่วงที่ Total Football นั้นกำลังอ่อนแอลง และแล้วเหตุการณ์สำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งก็ได้เริ่มต้นขึ้น ในขณะนั้น อาร์ริโก้ ซาคคี่ คนเดิมซึ่งในเวลานั้นได้เป็นกุนซือของเอซี มิลาน ยอดทีมจากอิตาลี เขาได้คิดค้นปรัชญาใหม่จนสำเร็จ ซึ่งตัวปรัชญานั้นเกิดจากการนำหลายต่อหลายแทคติกมาผสมผสานหล่อหลอมจนออกมาเป็นปรัชญาใหม่สายดุดัน Shadow Play ในที่สุด
โดยส่วนผสมแรก ซาคคี่ได้นำการเล่นเกมรับแบบเพรซซิ่งสูงของTotal Football มาพัฒนาเพิ่มเติมรายละเอียดลงไปจนออกมาเป็นการเพรซซิ่งสูงที่สมบูรณ์และดียิ่งกว่าของต้นตำรับเสียอีกโดยการลดระยะห่างระหว่างกองหน้ากับกองหลังให้สั้นลงไม่เกิน 25 เมตรระหว่างการเพรซซิ่งและให้ผู้เล่นยืนกันให้ชิดกันเป็นทรงแคบเพื่อเกาะกลุ่มกันเพรซซิ่งไปตามโซนที่บอลอยู่อีกทั้งยังเพื่อปิดช่องส่งบอลของอีกฝ่ายให้จ่ายบอลได้ยากอีกด้วย
การลดระยะห่างระหว่างกองหน้ากับกองหลังให้สั้นลงไม่เกิน 25 เมตร
ผู้เล่นยืนกันให้ชิดกันเป็นทรงแคบเพื่อเกาะกลุ่มกันเพรซซิ่งไปตามโซนที่บอลอยู่
และต่อมาส่วนผสมที่สอง ซาคคี่ได้นำแผนการเล่นไร้ปีก 4-4-2(Diamond) ที่ถูกคิดค้นและนำมาใช้จนประสบความสำเร็จโดยอัลฟ์ แรมซีย์ กุนซือทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 มาปรับเปลี่ยนเล็กน้อยกลายเป็น 4-4-2 (Flat) แบบเรียงแถวหน้ากระดานที่มีปีกด้วย ซึ่งหลังจากนั้นซาคคี่ก็ได้กลายเป็นปรมาจารย์แห่งแผนการเล่น 4-4-2 ที่สามารถใช้แผนการเล่นนี้ถึงขีดสุดได้สำเร็จ
(สามารถติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับจุดกำเนิดของแผนการเล่น 4-4-2 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9bb5f06794280cb29f3306/# )
แผนการเล่น 4-4-2 ของอาร์ริโก้ ซาคคี่
และส่วนผสมสุดท้าย ซาคคี่ได้นำการเล่นเกมรับรูปแบบ Zonal Marking ซึ่งเป็นการเล่นเกมรับแบบยืนคุมพื้นที่ ที่ถูกคิดค้นโดยนิลส์ ลือด์โฮล์ม กุนซือชาวสวีเดน มาพัฒนาจนกลายปรมาจารณ์ในที่สุดและได้นำมาใช้กับสไตล์การเล่นของตน
(สังเกตที่ฝั่งของตัวสีแดง)
แต่อย่างไรก็ตามก็มีกลเม็ดที่เป็นต้นตำรับที่ซาคคี่คิดค้นขึ้นเองเหมือนกันนั่นก็คือ การเล่นกับดักล้ำหน้า(Offside trap) ซึ่งเป็นการนำแผงหลังมายืนเรียงแถวกันดันไลน์ขึ้นสูงเพื่อรอจังหวะในการดักกองหน้าให้ล้ำหน้าและการต่อบอลสั้นเข้าไปทำประตูด้วยความรวดเร็วเป็นเส้นตรง (Vertical Passing) ซึ่งต่างจากTotal Football ที่จะค่อยๆต่อบอลสั้นไปทั่วสนามก่อนจะหาโอกาสทำประตูอย่างสวยงาม
Offside trap
Vertical Passing
ตย. Hummelsจ่ายให้Gotze>>Gotzeจ่ายต่อให้Benderเป็นแนวดิ่งแบบเส้นตรง (เส้นปะคือการจ่ายบอล)
ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดเป็นสไตล์การเล่นที่เน้นสมดุลโดยอาศัยทีมเวิร์คและความสามัคคีให้ผู้เล่นทุกคนช่วยกันเล่นทั้งการทำเกมบุกอันรวดเร็วที่เต็มไปด้วยความดุดันและการเพรซซิ่งไล่บอลอย่างหนักหน่วงที่ไม่รู้จักหยุดหย่อนในเกมรับ จึงทำให้ผู้เล่นที่เหมาะกับสไตล์นี้จะต้องเป็นผู้เล่นที่มีความสามารถในเชิงสมดุลที่มีคุณสมบัติในการเล่นทั้งรุกและรับได้ดี อีกทั้งยังต้องมีความอึดที่มากพอจะวิ่งไล่บอลทั้งเกมได้อีกด้วย ซึ่งสองปัจจัยนี้ทำให้ผู้เล่นจอมเทคนิคพรสวรรค์สูงที่เล่นเกมรับไม่เก่งนั้นไม่เหมาะกับสไตล์การเล่นนี้เลย ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าปรัชญานี้เป็นปรัชญาที่เน้นสมดุลของเกมมากกว่า 2 ปรัชญาที่เคยครองความยิ่งใหญ่ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาเน้นเกมรับจัดอย่าง Catenaccio และปรัชญาเน้นเกมรุกจัดอย่าง Total Football
หลังจากนั้นซาคคี่ได้นำปรัชญาใหม่ป้ายแดงของเขาพาทีมเอซี มิลานที่นำทัพโดยมาร์โก้ ฟาน บาสเท่น, รุด กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด, ฟรังโก้ บาเรซี่, เปาโล มัลดินี่ และ คาร์โล อันเชล็อตติ คว้าแชมป์ยุโรปติดต่อกัน 2 สมัยในฤดูกาล1988–89 และ 1989–90 ซึ่งถือเป็นการขึ้นไปเทียบเคียงปรัชญาที่ครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปมาอย่างยาวนานอย่าง Total Football ที่ในเวลานั้นได้อ่อนแอลงไปมากจากยุคทองของพวกเขาและได้ปฏิวัติฟุตบอลอิตาลีที่ให้ความสำคัญกับเกมรับมากจนเกินไปให้หันมาใช้ปรัชญานี้แทน
ขุนพลเอซี มิลานของอาร์ริโก้ ซาคคี่
และต่อมาซาคคี่ได้อำลาทีมไปคุมทีมชาติอิตาลีในปี 1991 และได้นำทีมไปลุยศึกฟุตบอลโลก 1994 ซึ่งเขาก็ได้ทำให้โลกนี้ได้ประจักษ์รับรู้ถึงปรัชญาสไตล์ฟุตบอลของเขา แต่ถึงแม้จะจบได้เพียงรองแชมป์โดยพ่ายต่อทีมชาติบราซิลด้วยการดวลจุดโทษไปก็ตาม
อาร์ริโก้ ซาคคี่ สมัยคุมทีมชาติอิตาลี
กลับมาที่ทางด้านเอซี มิลาน หลังจากการจากไปของซาคคี่จึงทำให้สไตล์การเล่น Shadow Play ที่เอซี มิลานถึงกลับต้องหยุดชะงักลงและเป็นฟาบิโอ คาเปลโล่เข้ามาคุมแทน คาเปลโล่ได้เลือกที่จะสานมรดกของซาคคี่แค่เพียงแผนการเล่น 4-4-2 เท่านั้นและเลือกที่จะใช้สไตล์การเล่นที่เน้นสมดุลและยืดหยุ่นที่ไม่ได้มีการเพรซซิ่งที่ดุดันเหมือนกับปรัชญาของซาคคี่ ดังนั้นจึงทำให้ปรัชญาของซาคคี่ที่เอซีมิลานถึงกับจุดจบไปในที่สุด และในขณะเดียวกัน Total Football เองก็ยังไม่อาจมีกุนซือคนไหนสามารถพากลับมาครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปได้ จึงทำให้ยุโรปเข้าสู่ยุคที่ไร้ซึ่งปรัชญาฟุตบอลใดๆที่สามารถครองบัลลังก์ได้ยาวนานเหมือนแต่ก่อน
อย่างไรก็ตามถึงแม้ Shadow Play จะไม่สามารถครองความยิ่งใหญ่ได้ยาวนานเหมือนสองปรัชญาก่อนแต่ปรัชญานี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อโลกฟุตบอล ณ ขณะนั้นอย่างมากอีกทั้งยังส่งผลพวงมาสู่ปัจจุบันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมรับรูปแบบใหม่อย่าง Zonal Marking ,แผนการเล่น 4-4-2 (Flat) ที่ต่อมาได้กลายเป็นแผนยอดนิยมในยุคสมัยใหม่ไปในที่สุดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 ซึ่งถึงแม้บางทีมจะใช้แผนการเล่น 4-4-2 ในรูปแบบอื่นที่ต่างจากซาคคี่ก็ตาม
และสุดท้ายซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบมากที่สุดนั่นก็คือการทำให้โลกฟุตบอลหันมานิยมใช้สไตล์การเล่นที่เน้นสมดุลมากขึ้น(Balanced tactic) ซึ่งซาคคี่นั้นแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าการรักษาสมดุลของเกมโดยการให้ความสำคัญกับทั้งเกมรุกและเกมรับนั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บผลการแข่งขันอีกทั้งยังขจัดจุดอ่อนออกไปได้ดียิ่งกว่าปรัชญาที่เน้นไปทางใดทางหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตามทีมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ปรัชญา Shadow Play ของซาคคี่ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของพละกำลังมากจนเกินไปแต่กลับใช้วิธีอื่นโดยการผสมผสานระหว่างการนำผู้เล่นแนวรุกจอมเทคนิคพรสวรรค์สูงสักสามถึงสี่คนที่มีการสร้างสรรค์เกมที่ดีมารับผิดชอบในการทำเกมรุกร่วมกันและการใช้ผู้เล่นแนวรับที่เชี่ยวชาญในการเล่นเกมรับเฉพาะทางมารับผิดชอบในการเล่นเกมรับ ซึ่งถือเป็นการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ในการทำเกมรุกกับความเหนียวแน่นเป็นระบบในเกมรับอย่างลงตัว
แต่ทว่าแทคติกนี้ก็จำเป็นจะต้องมีผู้เล่นที่มีความสามารถเชิงสมดุลที่สามารถเล่นได้ดีทั้งรุกและรับถึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงอาธิเช่น ฟูลแบ๊คที่นอกจากจะเล่นเกมรับเก่งแล้วยังมีความสามารถในเกมรุกที่เหมือนกับปีกแท้ๆอย่างโรแบร์โต้ คาร์รอส และ คาฟู และกองกลางพลังไดนาโม(Box to Box)ที่เหมือนเป็นทั้งกองกลางตัวรุกและกองกลางตัวรับในคนๆเดียวที่จะคอยวิ่งไปทั่วสนามเพื่อสนับสนุนผู้เล่นแนวรุกและแนวรับอย่าง สตีเว่น เจอร์ราร์ด, พอล สโคลส์ และ แฟรงค์ แลมพาร์ด
สองบทบาทนี้จะช่วยให้แทคติกนี้ยากที่จะมีแทคติกหรือปรัชญาไหนล้มได้ แต่อย่างไรก็ตาม Balanced tactic ก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นปรัชญาใดๆทั้งสิ้นเนื่องจากการที่ไม่มีรูปแบบตายตัวที่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับปรัชญาที่มีสไตล์ชัดเจนอย่าง Catenaccio, Total Football และ Shadow Play
จากเรื่องราวข้างต้นอาจทำให้ดูเหมือนว่าปรัชญา Shadow Play ได้จบสิ้นลงแล้วและทีมส่วนใหญ่ก็หันมาเล่นฟุตบอลสไตล์เน้นสมดุล(Balanced tactic)กันซะมากกว่าจนกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ทว่าในเวลาต่อมาก็ยังมีกุนซือผู้หนึ่งที่ถึงแม้เขาจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับซาคคี่โดยตรงแต่อย่างใด แต่เขานั้นได้มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะสานปรัชญาของซาคคี่ต่อไปให้จงได้ ซึ่งเขาคนนั้นก็คือ เจอร์เก้น คล็อปป์ ยอดกุนซือชาวเยอรมันนั่นเอง แต่ที่จริงแล้วคนที่คล็อปป์เกี่ยวข้องด้วยนั้นคือ โวล์ฟแกง แฟรงค์ ซึ่งเป็นกุนซือของคล็อปป์ในสมัยเป็นผู้เล่นและเป็นผู้ที่หลงใหลในปรัชญาของซาคคี่เป็นอย่างมากและได้ถ่ายทอดมันไปสู่คล็อปป์
โวล์ฟแกง แฟรงค์ ผู้เชื่อมั่นในปรัชญา Shadow Play
เจอร์เก้น คล็อปป์ สมัยเป็นผู้เล่น
ในปี2001 หลังจากที่คล็อปป์แขวนสตั๊ดและกลายมาเป็นกุนซือของไมนซ์ สโมสรเล็กๆจากเยอรมันที่เขาเคยเป็นผู้เล่นมาก่อน ต่อมาคล็อปป์ใช้เวลาเก็บประสบการณ์อยู่หลายปีจนสามารถพาไมนซ์เลื่อนชั้นมาอยู่ลีกสูงสุดของเยอรมันได้สำเร็จและพาไมนซ์อยู่รอดได้ต่อเนื่องทั้งๆที่มีงบประมานที่แสนจะน้อยนิด
จนไปเข้าตาของทางโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ต้องการตัวคล็อปป์มาคุมทีมอย่างยิ่ง หลังจากนั้นคล็อปป์ได้ย้ายไปคุมทีมดอร์ทมุนด์ในที่สุดในฤดูกาล2008-09 ซึ่งดอร์ทมุนด์นั้นเป็นสโมสรที่มีงบประมาณและผู้เล่นที่เพียบพร้อมกว่าทางไมนซ์เป็นอย่างมากแต่อย่างไรก็ตามก็มิอาจเทียบเคียงบาเยิร์น มิวนิคได้ ซึ่งทำให้คล็อปป์ได้ค่อยๆโชว์ศักยภาพออกมาเรื่อยๆ
จนกระทั่งคล็อปป์สามารถพาดอร์ทมุนด์ที่นำทัพโดยมาริโอ้ เกิทเซ่, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ,มัตส์ ฮุมเมลส์ และ มาร์โค รอยส์ ตบบาเยิร์นมิวนิคที่เปรียบดั่งราชันแห่งเยอรมันลงได้ โดยคว้าแชมป์ลีกเยอรมันไปได้ 2 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 2010–11 และ 2011–12 อีกทั้งยังสามารถพาทีมทะลุเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศในบอลถ้วยใหญ่ของยุโรปได้อีกด้วยในฤดูกาล 2012–13 โดยพ่ายต่อบาเยิร์น มิวนิคคู่ปรับร่วมลีกไป 2-1
ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากปรัชญา Shadow Play ของซาคคี่ที่คล็อปป์นำมาใช้ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกแทนว่า Counter Pressing (Gegenpressing ในภาษาเยอรมัน) โดยคล็อปป์ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาปรัชญานี้ขึ้นไปอีกขั้น
โดยอย่างแรกนั่นคือการเปลี่ยนจากแผนการเล่น 4-4-2 เป็น 4-2-3-1 แทนเพื่อให้เกิดความเหนียวแน่นในแดนกลางมากขึ้นเพื่อรับมือกับแผนการเล่นยอดนิยมอย่าง 4-3-3 ในปัจจุบัน
(สามารถติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับจุดกำเนิดของแผนการเล่น 4-2-3-1 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9bb5f06794280cb29f3306/# )
แผนการเล่น 4-2-3-1 ของเจอร์เก้น คล็อปป์
และอย่างที่สองนั่นคือการเปลี่ยนจากการเพรซซิ่งดั้งเดิมที่เน้นการยืนชิดกันเป็นทรงแคบเพื่อเกาะกลุ่มกันเพรซซิ่งไปตามโซนที่บอลอยู่ไปเป็นการให้ผู้เล่นสามถึงสี่คนที่อยู่ใกล้ผู้เล่นของอีกฝ่ายที่มีบอลเข้าไปลุมล้อมรอบเพรซซิ่งกดดันผู้เล่นคนนั้นอย่างหนักหน่วงแทน
นอกจากนี้บาเยิร์น มิวนิคชุดคว้าแชมป์ยุโรปในฤดูกาล2012-13 เองก็ได้ใช้ปรัชญาของคล็อปป์ด้วยเช่นเดียวกัน ต่อมาดอร์ทมุนด์ของคล็อปป์ก็ต้องถึงคราวแตกพ่ายไปในที่สุดเมื่อดอร์ทมุนต์ได้ทยอยเสียผู้เล่นตัวหลักไปให้ราชันอย่างบาเยิร์นทีละคนๆ จึงทำให้คล็อปป์ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่จนทีมตกไปอยู่ท้ายตารางในโซนตกชั้น ดังนั้นเขาจึงจำต้องอำลาทีมไปในที่สุดในระหว่างฤดูกาล 2014-15
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของคล็อปป์
หลังจากนั้นไม่นานคล็อปป์ก็ได้เซ็นสัญญาเข้ามาคุมสโมสรใหญ่ทีมแรกในอาชีพของเขาในช่วงกลางฤดูกาล2015-16 แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาต้องพบนั้นไม่ต่างอะไรจากสโมสรเก่าของเขาที่ดอร์ทมุนด์มากนักเพราะลิเวอร์พูลในตอนนั้นกลายเป็นทีมยักษ์หลับที่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตที่งบประมาณก็ไม่ได้มีมากเหมือนทีมใหญ่ในลีกเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วนี่ถือเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองของเขาอีกครั้ง
ในระหว่างคุมทีมลิเวอร์พูลนั้นคล็อปป์ได้พกพาปรัชญาที่เคยใช้ประสบความสำเร็จที่ดอร์ทมุนด์มาใช้ที่นี่ด้วยเช่นกันแต่มันกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดด้วยขุมกำลังของลิเวอร์พูลในตอนนั้นไม่อาจดึงศักยภาพของปรัชญาของเขาออกมาได้ ซึ่งทำให้คล็อปป์ต้องใช้เวลาอยู่หลายฤดูกาลในการเสริมทัพพัฒนาทีมให้เข้ากับปรัชญาของเขาและในระหว่างนั้นเองในที่สุดเขาก็สามารถสร้างทีมขึ้นมาอยู่ในระดับต่อสู้ลุ้นแชมป์หลายต่อหลายรายการได้สำเร็จแถมยังพัฒนาปรัชญาของเขาขึ้นอีกระดับอีกด้วย
โดยในเรื่องแรกคล็อปป์ได้เปลี่ยนจากแผนการเล่นเดิม 4-2-3-1 ไปเป็น 4-3-3 แบบไร้กองหน้าแท้ๆโดยใช้โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่รับบทบาทเป็นกองหน้าตัวหลอก(False 9)แทน แต่ False 9 ของคล็อปป์คราวนี้ไม่ได้เหมือนFalse 9 แบบดั้งเดิมแต่ได้เพิ่มบทบาทในการเล่นเกมรับเข้ามาด้วยจึงทำให้ False 9 ฉบับคล็อปป์กลายเป็นFalse 9 เวอร์ชั่นพิเศษที่นอกจากจะคอยสร้างสรรค์เกมให้ปีกกึ่งกองหน้าในการทำประตูแล้วยังมีความขยันไล่บอลในเกมรับได้ดีอีกด้วย
(สามารถติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับจุดกำเนิดของ False 9 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5e9bb5f06794280cb29f3306/# )
แผนการเล่น 4-3-3 ของเจอร์เก้น คล็อปป์
การยืนตำแหน่งของ False 9
โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ False 9 ฉบับครบเครื่องของลิเวอร์พูล
และเรื่องที่สองเมื่อนำ False 9 ที่ครบเครื่องทั้งรุกและรับมาผสานงานเพรซซิ่งร่วมกับสองปีกกึ่งกองหน้าที่มีความเร็วจัดอย่างโมฮาเหม็ด ซาล่าห์และซาดิโอ มาเน่ จึงส่งผลให้เกมเพรซซิ่งของลิเวอร์พูลนั้นน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก
มาเน่, ฟีร์มีโน่ และ ซาล่าห์
การไล่เพรซซิ่งของสามผสานแนวรุก
และเรื่องสุดท้ายซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในระบบของคล็อปป์เลยนั่นก็คือการเน้นให้ฟูลแบ๊คสองข้างเติมขึ้นสูงกว่าปกติเพื่อโจมตีในพื้นที่Wing Space จนเหมือนเป็นกองหน้า 5 คนเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนในกรอบเขตโทษเพื่อใช้ในการเจาะทีมที่ชอบอุดด้วยแผน Park the Bus
ภาพ 2D จากวิดิโอของ Nouman (Youtube)
ภาพ Real จากวิดิโอของ Nouman (Youtube)
รูปแบบ Gegenpressing ที่ถูกพัฒนาขึ้นอีกระดับ
ซึ่งมันส่งผลให้ลิเวอร์พูลของคล็อปป์แข็งแกร่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนเขาสามารถพาทีมเข้าชิงในบอลถ้วยหลายต่อหลายรายการได้สำเร็จถึงแม้จะพลาดท่าไปทุกครั้งก็ตาม จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดูถูกมากมาย แต่คล็อปป์ก็ไม่เคยคิดท้อแท้ยังคงตั้งใจทำงานต่อไป
จนในที่สุดเขาก็สามารถพาลิเวอร์พูลกลับมาเป็นยักษ์ที่ตื่นจากการหลับใหลให้ยิ่งใหญ่ได้อีกครั้งด้วยปรัชญาสายดุดัน Counter Pressing ของเขา ที่นำทีมโดย โมฮาเหม็ด ซาล่าห์, โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่, ซาดิโอ มาเน่, เวอร์จิล ฟาน ไดจค์ และ อลีสซง เบ็คเกอร์ ในการคว้าแชมป์ยุโรปสมัยแรกในเส้นทางอาชีพของเขาได้สำเร็จในฤดูกาล 2018-19 และ ณ ปัจจุบันในฤดูกาล2019-20 เขาก็กำลังจะพาลิเวอร์พูลกลับมาเป็นแชมป์ลีกอังกฤษที่รอคอยมานานกว่า 30 ปีด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมที่ทิ้งห่างอันดับสองอย่างแมน ซิตี้ของเป๊ป กวาร์ดิโอล่าถึง 25 คะแนน
การตื่นขึ้นจากการหลับใหลอันยาวนานของลิเวอร์พูล
เจอร์เก้น คล็อปป์ ชายผู้พาลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ด้วยอิทธิพลจากความสำเร็จของคล็อปป์ในปัจจุบันนั้นส่งผลให้หลายต่อหลายทีมหันมาเล่นสไตล์นี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าทุกความสำเร็จเหล่านี้ล้วนจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มี อาร์ริโก้ ซาคคี่ ปรมาจารย์ผู้คิดค้นปรัชญาสายดุดัน Shadow Play ที่ได้สร้างสไตล์การเล่นที่แสนสนุกสุดตื่นเต้นและเร้าใจ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่วางรากฐานให้เกมลูกหนังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อีกด้วย และถึงแม้ว่าซาคคี่จะไม่อาจนำปรัชญาของเขาครองยุโรปได้เลยก็ตามแต่ไม่แน่สักวันชายที่ชื่อว่า เจอร์เก้น คล็อปป์ อาจจะนำพาปรัชญาของเขาครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปจนสำเร็จก็เป็นได้
อาร์ริโก้ ซาคคี่ ปรมาจารย์ผู้คิดค้นปรัชญาสายดุดัน Shadow Play
เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือหัวใจนักสู้ชายผู้พาปรัชญานี้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง
สามารถอ่านเรื่องราวย้อนหลังเกี่ยวกับสองปรัชญาที่ครองยุโรปก่อนการมาถึงของปรัชญา Shadow Play ได้ที่
และรูปภาพโดย
โฆษณา