30 เม.ย. 2020 เวลา 12:59 • ไลฟ์สไตล์
เราทุกคนมักจะคุ้นชินว่า " อ ะ ไ ร ก็ เ ป็ น ข อ ง เ ร า " มนุษย์มักมองทุกสิ่งอย่างว่าเป็น " ข อ ง เ ร า " โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรารัก เช่น พ่อของเรา แม่ของเรา ลูกของเรา เมียของเรา สามีของเรา บ้านของเรา ชื่อเสียงของเรา เงินของเรา อำนาจของเรา ตำแหน่งของเรา สมมตินั่งอยู่ในห้องประชุม ก่อนจะลุกไปห้องน้ำก็กระซิบคนข้าง ๆ ว่า "ดูเก้าอี้ให้พี่ด้วย" มานั่งแค่ครึ่งวัน คิดว่าเป็นเก้าอี้ของตัวเองไปเสียแล้ว
นี่คือโลกทัศน์ของมนุษย์โลก เมื่อไปอยู่ใกล้กับสิ่งใดก็อดคิดไม่ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนาที่สอนเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา สรรพสิ่งคือของใช้ โปรดอย่าเข้าใจว่าเป็นของฉัน
ครั้งหนึ่งมีคนไปทูลถามพระองค์ว่า หากสรุปแก่นพุทธศาสน์ด้วยพุทธวจนสั้น ๆ พระพุทธองค์จะทรงสรุปว่าอย่างไร ผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นคำว่า สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น
คำว่า " ธ ร ร ม ทั้ ง ห ล า ย ทั้ ง ป ว ง " นั้น หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เราอย่าไปยึดติดถือมั่น หลักการข้อนี้เป็นเสมือนแก่นของพระพุทธศาสนา
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนจัดคอร์สวิปัสสนากรรมฐาน มีนักธุรกิจไฮโซคนหนึ่งฝึกปฏิบัติด้วย เธอพูดกับผู้เขียนว่า
"พระอาจารย์ ดิฉันมาอยู่ที่นี่ 4 วัน 5 คืน รู้สึกว่าใจเย็นมากเลย จิตนี่ใสดั่งแก้วผลึก"
ผู้เขียนก็นึกว่ามันจะจริงหรือ
"ดิฉันไม่ยึดติดอะไรแล้ว โลภ โกรธ หลง บางเบาไปเยอะ"
ครั้นพอถึงเวลาปิดคอร์ส ตอนบ่ายสามโมง ขณะที่คนอื่นเริ่มทยอยกลับ เธอกลับเดินเป็นเสือติดจั่น กระทั่งสี่โมงเย็น สามีเธอเดินมาหา เธอยืนเท้าสะเอวตะคอกสามีทันที
"ทำไมเพิ่งมา รู้ใช่ไหมว่าคอร์สวิปัสสนาปิดกี่โมง"
เสียงดังมาถึงหูผู้เขียนเลย นี่แหละคนที่จิตใสดังแก้วผลึกกำลังปฏิบัติต่อสามี
ความปล่อยวาง ความยึดติด ใช่จะทำกันได้ง่าย ๆ แม้ปากจะบอกว่าปล่อยแล้ว วางแล้ว เย็นแล้ว ในคอร์สวิปัสสนาอาจจะทำได้ แต่ในโลกประจำวันเราทำได้จริงแค่ไหน
คนจำนวนมากรู้ทั้งรู้ว่าพุทธธรรมคำสอนเป็นอย่างไร แต่บางทีก็ทำไม่เคยได้ในทางปฏิบัติ นั่นจึงเป็นเหตุให้มนุษย์โลกทำพิธีสมรสกับความทุกข์ แต่ไม่ยอมหย่าขาดจากความทุกข์ แม้จะทะเลาะกันนับครั้งไม่ถ้วน ทุกข์แทบล้มประดาตาย น้ำหูน้ำตาไหล บางคนคิดแม้กระทั่งจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็ยังไม่หมดทุกข์ ที่เรียกว่าสมรสกับความทุกข์ แล้วก็ไม่รู้วิธีที่หย่าขาดจากความทุกข์
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเชิญความทุกข์ออกไปจากชีวิต เราต้องมาทำความเข้าใจ สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ นี้เสียก่อน ผู้เขียนขอเล่าชีวิตจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปพบที่สวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ตอนนั้น เธออายุแค่ 19 ปี เพิ่งเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 คราวนั้นทางคณะจัดให้ไปศึกษาธรรมะกันราว 20 คน ผู้หญิงคนนี้ตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อมาปฏิบัติธรรม โดยมีท่านพุทธทาสเป็นผู้นำทำวัตรสวดมนต์
ระหว่างนั้น เธอเกิดความคิดว่า ทำไมฉันต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ด้วย ทำไมต้องมานั่งสวดมนต์ที่นี่ด้วย พอยุงบินมาเกาะก็ตบผัวะ ท่านพุทธทาสหันมามอง เธอก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ พอทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านพุทธทาสก็เมตตาแสดงธรรมให้ฟัง
"หนูรู้ไหม แก่นพระพุทธศาสนานั้นก็คือ สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ. . ."
ยังไม่ทันฟังธรรมจบ เธอก็นั่งสัปหงกให้ท่านพุทธทาสเห็นอีก พอตกกลางคืนได้เวลาเข้าเรือนนอน เธอก็เอาผ้าห่มของเพื่อนบ้างของตัวเองบ้างมาพันกาย แล้วยึดเรือนนอนที่สวนโมกข์เป็นเวทีเดินแฟชั่นกัน โดยหารู้ไม่ว่าตัวเองมาอยู่กับบุคคลของโลก และธรรมะอันแสนลึกซึ้งขนาดไหน
ก่อนจะกลับ เธอไปลาท่านพุทธทาส ท่านก็ยังบอกว่า
"หลวงพ่อขอให้จำไว้สักประโยคหนึ่ง สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น เอาประโยคเดียวก็พอ แล้วสักวันหนึ่งหนูจะเข้าใจ"
เธอจำประโยคนี้มา แต่ไม่เคยเข้าใจ จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 20 ปี คติธรรมนั้นยังคงก้องอยู่ในโสตประสาทของเธอ อยู่มาวันหนึ่ง เธอจับได้ว่าสามีของเธอนอกใจ กิ๊กของสามีเธอนั้นคือลูกหลานของคนรู้จักกันที่เธอผลักดันให้มาเป็นเลขาฯ ช่วยงานสามีของเธอ ซึ่งกระเตงกันไปไหนต่อไหนมาเกือบทั่วโลก เธอแค้นมาก ถึงขั้นซื้อปืน และไปฝึกยิงปืน กะว่าจะขอยิงนัดเดียวเด็ดตรงขั้วหัวใจ
วันหนึ่ง ระหว่างที่รอให้สามีกลับมา ลูกตื่นขึ้นมาเห็นเธอกำลังร้องไห้อยู่ในมุมมืด จึงถามแม่ว่า
"แม่ร้องไห้ทำไม"
"แม่มีเรื่องกลุ้มใจน่ะลูก" เธอตอบ
ลูกถามอีก "แม่ร้องไห้แบบนี้มานานรึยัง"
เธอบอกว่า "แม่ร้องทุกคืน"
ลูกถามต่ออีกว่า "แม่ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานหรือยัง"
"นานแล้วลูก"
ลูกสาวเคยเรียนพระพุทธศาสนาจึงบอกแม่ไปว่า
"นานขนาดนี้แม่ก็ยังทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ"
"อะไรนะลูก สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ แม่เคยได้ยินประโยคนี้ แปลว่าอะไรลูก" เธอถาม
"ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดติดถือมั่น" ลูกสาวตอบ
เท่านั้นเอง เธอก็นึกถึงเมื่อวันที่ตัวเองนั่งหลับต่อหน้าท่านพุทธทาส
"อ๋อ. . . นี่ไง!! เพชรในหัวคางคกที่ท่านบอกแม่เอาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าวันหนึ่งหนูจะเข้าใจเอง"
นาทีนั้น เธอชาไปทั้งเนื้อทั้งตัว รู้สึกสว่างไสวกับคำว่า สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ และด้วยคำนี้เอง จากความทุกข์ที่แน่นอยู่ในอกกลายเป็นความสบายใจ จนกลับมาทำหน้าที่เจ้านายของลูกน้อง และหน้าที่แม่ของลูกสาวได้อีกครั้ง นี่คือของขวัญที่เธอมอบให้เป็นภูมิคุ้มกันชีวิตแก่คนใกล้ชิดทุกคน
พนักงานถามเธอว่า "พี่คะ สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ ภาษาต่างด้าวนี้มันจะมีประโยชน์ต่อพวกเราอย่างไร"
"น้องจำไว้ให้ดี คำคำนี้มันช่วยชีวิตพี่มาแล้ว ครั้งหนึ่งเกือบเป็นฆาตกร แต่พี่รอดมาได้เพราะคาถานี้แหละ แล้วสักวันหนึ่งน้องจะเข้าใจ"
#ทุกข์ที่ควรหย่าขาด
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" Suffering | ว.วชิรเมธี
โฆษณา