2 ก.ค. 2020 เวลา 12:59 • ปรัชญา
ท่านพุทธทาสเพียรเหลือเกินที่จะสอนให้เราไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งที่เราถือครอง แม้แต่ความดีที่ทำไปแล้วก็อย่าไปยึดติดถือมั่น กระทั่งอย่าให้ใครรู้ว่าเราได้ทำความดี เพราะหากเราไปยึดติดถือมั่น หนักเข้าเราอาจจะไม่แน่ใจว่าเรากำลังทำความดีหรือความดีมันกำลังทำเรากันแน่
ครั้งหนึ่งมีคณะญาติโยมมาทอดกฐินที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย หลวงพ่อก็เตรียมพระสิงห์หนึ่งเชียงแสนไว้ 9 องค์ แต่บุคคลระดับวีไอพี (VIP) มาเกิน 9 คน พอถวายพระกฐินพระราชทานเสร็จ หลวงพ่อก็แจกพระสิงห์หนึ่งเชียงแสนนี้โดยขานชื่อออกไป ทันทีที่ขานชื่อครบ ก็มีคุณนายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ใน 9 รายชื่อที่หลวงพ่อขาน เดินมานั่งต่อหน้าหลวงพ่อ ตอนนั้นผู้เขียนเป็นสามเณรทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ของหลวงพ่อ
"หลวงพ่อคะ นี่นามบัตรดิฉันค่ะ ช่วยส่งพระสิงห์ไปให้ตามที่อยู่นี้นะคะ อาทิตย์หนึ่งได้ไหม ถ้าไม่ได้อย่างไรดิฉันจะให้เลขาฯ โทรมาตาม หลวงพ่อรู้จักดิฉันใช่ไหมคะ"
ผู้เขียนได้ยินเช่นนั้นรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะนี่คือการกรรโชกทางจิตวิญญาณ เป็นการเอาความดีหรือถูกความดีกระทำ ทำความดีแล้วหยิ่งอหังการพองขน ยกหูชูหางขึ้นมาว่าตัวเป็นเจ้าของความดี ทำความดีแล้วยึดถือว่า
"หลวงพ่อ กฐินกองนี้ดิฉันเป็นคนพามาทอด ทอดแล้วดิฉันไม่ได้พระสิงห์ คิดดูนะหลวงพ่อ"
ไม่รู้ว่ากลับไปจะได้บุญหรือได้บาป
หลายปีก่อน ผู้เขียนเดินทางไปทำบุญถวายพระพุทธรูปประมาณ 20 องค์ที่ต่างประเทศกับโยมคณะหนึ่ง โดยญาติโยมกลุ่มนี้ระบุชื่อติดฐานพระพุทธรูปทุกองค์ ยกกันไปถวาย พอทำพิธีเสร็จก็มีญาติโยมอีกคณะหนึ่งตรงมาบริเวณที่ทำพิธีถวายพระ เมื่อเจอผู้เขียนก็กรูกันเข้ามากราบแล้วถามว่า "พระอาจารย์มาทำอะไรเจ้าคะ"
"อ๋อ อาตมามาถวายพระพุทธรูปกับญาติโยม" ผู้เขียนตอบ
"แล้วองค์พระอยู่ไหนเจ้าคะ"
"อยู่โน้น ใต้ต้นโพธิ์ โยมไปกราบสิ" ผู้เขียนบอก
โยมก็แห่กันไปเป็นพรวน พอไปถึงญาติโยมก็นั่งเรียงแถวแล้วกราบ แต่โยมคนที่มาทักผู้เขียนนั้นนั่งลงแต่ไม่กราบ ด้วยความสงสัยเลยถามว่า
"โยม เมื่อกี้อาตมาเห็นโยมคนอื่น ๆ เขากราบกันหมด แล้วทำไมโยมไม่กราบ"
"คือดิฉันสังเกตเห็นว่า เจ้าภาพที่มีชื่อใต้ฐานพระมีชื่อของคนคนหนึ่ง ซึ่งดิฉันไม่ชอบหน้า ดังนั้น จะให้ดิฉันกราบพระของมัน ดิฉันทำไม่ได้ค่ะ" โยมตอบ
นี่แหละเจ้าความยึดติดถือมั่นนี้คอยขวางกั้นการทำความดี มันลงลึกในทางจิตวิญญาณของเรา มันแนบเนียนประณีตแยบยล หากเรารู้ไม่เท่าทัน ไม่สามารถก้าวข้ามความยึดติดถือมั่นไปได้ แม้กำลังจะทำความดีอยู่ แต่หากเผลอไปยึดเอาความดีมาเป็นของเราหรือยึดว่าเราดีกว่าเหนือกว่า เราก็ถูกความดีกระทำในที่สุด
การทำความดีแท้จริง คือ การปลดปล่อยการยึดติดถือมั่นในตัวตนหรือแม้กระทั่งปล่อยคุณงามความดีที่ตนกระทำ ดังนั้น ทำความดีแล้วอย่าไปยึดติดถือมั่น ทำดีแล้วปล่อย จิตจะพลอยเป็นอิสระ
#ทำความดีหรือความดีทำ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "กลั่นทุกข์ให้เป็นสุข" Suffering | ว.วชิรเมธี
โฆษณา