8 พ.ค. 2020 เวลา 22:00 • ท่องเที่ยว
ภูฏาน หลังม่านหิมาลัย
EP.15 เสน่ห์พูนาคา
เวลาเพียงแค่ 25 นาที หลังจากเราออกเดินทางจากวัดคิชูลาคัง ภาพพูนาคาซองอันเลื่องชื่อก็ปรากฏแก่สายตา จุดชมวิวแรกที่เห็นภาพซองถนัดตาเป็นสวนสาธารณะที่อยู่ริมถนนก่อนเข้าเมือง จากมุมนี้เรามองเห็นภาพซองที่ยิ่งใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่อีกฝั่งแม่น้ำโพ (Po shhu) และแม่น้ำโม (Mo shhu) ที่ไหลมาบรรจบกัน เบื้องหน้าซองจึงเป็นภาพแม่น้ำใสสะอาด ส่วนฉากหลังเป็นภูเขาสูงตระหง่าน
พูนาคาซองมองจากสวนสาธารณะที่เป็นจุดชมวิว
แม่น้ำสองสายที่มาบรรจบกัน
สะพานไม้ที่ทอดข้ามแม่น้ำโพกับแม่น้ำโม
ชายภูฎานเมื่อจะเข้าสู่บริเวณวัด (ซอง) ต้องมีผ้าพาดไหล่ด้วย
เยชิจอดรถไว้ที่ลานหน้าสะพานไม้ที่ทอดข้ามแม่น้ำสู่บริเวณพูนาคาซอง เราเดินเข้าไปพร้อมกับชาร์โดว์และชาวบ้านที่มาไหว้พระ สวนกับบางคนที่เดินกลับออกมา
ภาพบันไดสูงชันทางเข้าภายในพูนาคาซองที่เคยเห็นในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมาปรากฏแก่สายตา ความสูงชันและความกว้างของขั้นบันไดที่ดูเล็กกว่าปกติทำให้รู้สึกทึ่งที่สตรีภูฎานซึ่งนิยมสวมรองเท้าส้นสูงก้าวขึ้นลง ถ้าเป็นฉันคงได้คะมำตั้งแต่สองสามขั้นแรก!!!!
ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1676 หรือ พ.ศ. 2219 ตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยท่าน Zhabdrung Ngawang Namgyel เพื่อเป็นเมืองหลวงของภูฎาน
เมื่อพ้นจากบันไดขึ้นไปก็เห็นอาคารภายในซองที่สวยงาม ความยิ่งใหญ่ อลังการที่เห็นยืนยันถึงความสำคัญของพูนาคาซอง ที่นี่มีขนาดกว้าง 180 เมตร ยาว 72 เมตร เราเดินถึงบริเวณหอกลางสูง 6 ชั้นที่ไม่อนุญาตให้ใครเข้าชมจึงได้แต่แหงนมองอยู่ที่ลานด้านหน้าเท่านั้น
อาคารภายในพูนาคาซอง
พูนาคาซองนับเป็นซองแห่งที่ 2 ของภูฏาน ใช้เวลาก่อสร้างนาน 1 ปี เคยถูกไฟไหม้หลายครั้ง ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวในศตวรรษที่ 18 และอุทกภัยครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 มาแล้วด้วย
ปัจจุบันร่างของ Zhabdrung Ngawang Namgyel ถูกเก็บไว้ในซองแห่งนี้ บริเวณอาคารที่เป็นที่เก็บร่างจัดเป็นที่หวงห้าม มีเพียงพระมหากษัตริย์และพระสังฆราชเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าไปยังบริเวณนี้ได้ แม้แต่พระราชินีก็ไม่มีสิทธิ์!!!
ภาพปีนักษัตรแฝงปริศนาธรรม
ซ้าย ปริศนาธรรม ขวา กลอนกลบท ไม่ว่าอ่านจากด้านใดก็ให้ความหมายเหมือนเดิม
พุทธศิลป์วัชรยาน
เราเข้าไปยังห้องโถงที่เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ภายในมีภาพพระพุทธประวัติตามแนวพุทธศิลป์สายวัชรยานอันวิจิตรสวยงามประดับอยู่ตามผนังโดยรอบ
เราก้มกราบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่กลางโถง เบื้องหน้ามีแท่นประทับที่เคยเห็นในพระราชพิธีสำคัญวางอยู่ ฉันเดินวนอยู่รอบ ๆ แท่นประทับ เพียงแค่มีโอกาสได้เข้ามาชมอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ก็เพียงพอแล้ว บางครั้งการบันทึกภาพก็ไม่จำเป็น
เสาทองเหลืองแต่ละต้นในห้องโถงมีลวดลายสลักนูนต่ำเล่าเรื่องราวตามความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวภูฎาน ดูเผิน ๆ เหมือนเสาไม้แต่เมื่อลองสัมผัสดูจึงรู้ว่าทำมาจากวัสดุประเภทอลูมิเนียม
เขตหวงห้าม
ประตูทอง
อีกมุมหนึ่ง
นับตั้งแต่ภูฎานย้ายเมืองหลวงไปตั้งยังเมืองทิมพู พูนาคาซองจึงใช้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชสำหรับฤดูหนาวจนถึงปัจจุบัน
ชาร์โดว์พาเรากลับออกมาจากซองตรงไปยังวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ จุดนี้เป็นจุดชมวิวที่สวยมากอีกจุดหนึ่ง เมื่อมองลงไปจะเห็นตัวพูนาคาซองที่อยู่ต่ำลงไปเล็กน้อย
พูนาคาซองมองจากวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านข้าง
ชาวภูฎานทุกวัยนิยมเข้าวัด
บ่ายจัดเช่นนี้เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวชาวภูฎานมาไหว้พระขอพรกันหลายครอบครัว น่าเสียดายที่ฉันจำชื่อวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่ได้ ชาร์โดว์เล่าให้ฟังว่า เดิมที่นี่เป็นสถานที่พักของช่างที่มาสร้างพูนาคาซอง วันหนึ่งช่างได้ฝันไปว่า
ลามะรูปหนึ่งให้สร้างที่นี่เป็นวัดขึ้น ดังนั้นหลังจากสร้างพูนาคาซองเสร็จช่างจึงได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ ปัจจุบันเชื่อกันว่า ใครได้ไปนมัสการพระขอพรที่นี่ คำขอพรนั้นจะสัมฤทธิผล
ไหว้พระกัน
โชคดีที่เรามาในช่วงที่มีการเปิดวิหารให้กราบพระ ดังนั้นภายในวิหารจึงมีคนค่อนข้างหนาแน่น แต่มีเพียงเราเท่านั้นที่เป็นคนต่างชาติ นอกนั้นเป็นชาว
ภูฎาน เราก้มกราบพระแล้วร่วมทำบุญกับวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยความอิ่มใจอีกครั้ง
ความรู้สึกขณะอยู่ที่นี่ช่างรื่นรมย์ ในความรู่สึกของฉันวิถีชีวิตชาวพูนาคาเรียบง่าย ผู้คนที่เราพบยิ้มแย้มแจ่มใสยิ่งเสียกว่าในเมืองทิมพู
บริเวณด้านนอกพูนาคาซอง
ติดตามตอนต่อไป
EP.16 วีรารีสอร์ท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา