17 พ.ค. 2020 เวลา 04:00 • การศึกษา
* ทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา
ถ้าพูดถึงทวีปแอฟริกา หลายคนอาจจะนึกถึงภาพไลออนคิง มีความเป็นซาฟารี ทุ่งหญ้ากว้างๆ ช้าง ม้าลาย เสือ สิงโต แต่ถ้าจะให้มีความจำเพาะมากยิ่งขึ้น ระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในแอฟริกานี้ ถูกเรียกว่าภูมิประเทศแบบ 'ทุ่งหญ้าสะวันนา'
American Museum of Natural History (amnh.org)
แค่มองจากภาพก็อาจจะรู้สึกได้ถึงความแห้งแล้งเพราะเป็นทุ่งหญ้าในเขตร้อน แต่แท้จริงแล้วระบบนิเวศของทุ่งหญ้าสะวันนามีความซับซ้อนกว่านั้น
ทุกคนคงทราบดีว่าสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศมีความสัมพันธ์กัน ที่ไหนชุ่มชื้น ฝนตกชุกก็จะมีความเป็นป่า ยิ่งชื้นมากก็จะกลายเป็นป่าดงดิบ แต่ถ้าบริเวณไหนแห้งแล้งมากก็จะกลายเป็นทะเลทราย ดังนั้นความพิเศษของสะวันนา คือ การอยู่กึ่งกลางระหว่างป่ากับทะเลทราย
จะเห็นได้ว่าพืชพันธุ์ภายในสะวันนาไม่ได้มีเฉพาะหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังพบต้นไม้ใหญ้เติบโตปะปนอยู่กับทุ่งหญ้า ซึ่งมีการกระจายตัวอยู่ระหว่าง 11-80 เปอร์เซนต์ บางบริเวณพบน้อย บางบริเวณพบมาก
โดยปกติบริเวณที่ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นจะไม่มีหญ้าเติบโต และบริเวณที่มีแต่หญ้าขึ้นก็จะพบต้นไม้ใหญ่น้อยมาก ดังนั้นทั้งต้นไม้และหญ้าในสะวันนาต่างก็แข่งขันกันเติบโตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลสำคัญให้สะวันนามีภูมิประเทศแบบที่เห็น
Africa's Savanna Ecosystems [Dr. Robert Pringle, Princeton University]
รากของต้นไม้ใหญ่ชอนไชไปในดินได้ลึกกว่าและดูดน้ำได้เยอะกว่า รวมถึงเรือนยอดกว้างขวางยังบดบังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพื้นด้านล่างทำให้หญ้าไม่เติบโต แต่ต้นหญ้าก็เอาคืนด้วยการยึดครองพื้นที่หน้าดินไว้อย่างหนาแน่น ทำให้ต้นไม้ขนาดเล็กที่เพิ่งออกมาจากเมล็ดเติบโตได้ยาก
💧’น้ำ’ คือ ปัจจัยสำคัญอย่างแรกในระบบนิเวศนี้ ทุกๆปีปริมาณน้ำฝนของสะวันนามีปริมาณมากพอที่จะทำให้ต้นไม้ใหญ่เติบโตได้ แต่จากการศึกษากลับพบว่าขนาดของต้นไม้ในสะวันนาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนเหมือนอย่างต้นไม้ในป่าที่จะมีขนาดใหญ่ถ้าได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
1
🔥 ‘ไฟป่า’ เป็นอีกปัจจัยที่ต้นหญ้าใช้ต่อสู้กับต้นไม้ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างพืชพันธุ์ทั้งสอง เพราะเมื่อถึงฤดูที่มีความแห้งแล้ง หญ้าแห้งบนพื้นดินจะติดไฟง่าย ทำให้เกิดไฟป่าประจำปี ซึ่งส่งผลเสียหายต่อเมล็ดพืชที่ตกอยู่ตามหน้าดินและกล้าอ่อนต้นเล็กๆ เพราะหลังจากไฟป่า หญ้าจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้เร็วกว่า
นอกจากน้ำและไฟ ยังมี ‘แร่ธาตุในดิน’ เป็นปัจจัยที่สามที่ส่งผลต่อการเติบโตของพืชพันธุ์ต่างๆในระบบนิเวศแบบสะวันนา ทั้งสามปัจจัยเรียกว่า ‘Abiotic factors’ หรือปัจจัยที่ไม่มีชีวิต ยังมี ‘Biotic factors’ หรือปัจจัยจากสิ่งมีชีวิตต่างๆในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องอีก
ถึงแม้จะมีงานวิจัยบางงานบอกว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อระบบนิเวศของสะวันนาคือปัจจัยแบบไม่มีชีวิต อันได้แก่น้ำ ไฟ และแร่ธาตุ แต่จากการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ American Museum of Natural History พบว่าในช่วงปี 1970-1990 ในแอฟริกามีเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ ส่งผลให้ประชากรสัตว์ใหญ่กินพืชในสะวันนาหายไปเยอะมาก และเมื่อดูปริมาณของพืชพันธุ์ในช่วง 1977-2012 กลับพบว่ามีต้นไม้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นถึง 30%
เห็นได้ชัดว่าปัจจัยจากสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศหนึ่งๆก็มีความสำคัญในการสร้างลักษณะพิเศษของระบบนิเวศนั้นๆขึ้นมา เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เมื่อโซ่หายไปชิ้นหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่ทั้งหมดเช่นกัน
1
เนื่องจากที่กรีนเคยบอกไปใน podcast คราวโน้นว่าช่วงนี้กำลังเรียนคอร์สออนไลน์ในเว็บ Coursera อยู่ แต่ตอนนี้ไม่ได้เรียนแค่ฟิสิกส์วิชาเดียว เพราะคิดว่านอกจากวิชาที่ไม่ถนัด ควรเรียนวิชาอื่นที่อยู่ในความสนใจไปด้วย (ส่วนฟิสิกส์ กำลังเรียนของ week ที่ 3 อยู่ค่ะ ที่ผ่านมาและต่อจากนี้เริ่มยุ่งแล้ว เลยต้องค่อยเป็นค่อยไป 😂😂) กรีนก็เลยลงวิชา Ecology: ecocystem dynamics and conservation ของ American Museum of Natural History ไปด้วย
เพราะฉะนั้นเนื้อหาวันนี้เป็นหนึ่งในเลคเชอร์ที่กรีนเข้าเรียนมานะคะ เนื่องจากคอร์สนี้จะใช้โมเดลของ Gorongosa National Park ในแอฟริกาเป็นหลักในการสอน กรีนเลยได้เรียนเรื่องทุ่งหญ้าสะวันนาค่ะ เป็นการสรุปเลคเชอร์และเขียนบทความไปในตัว เพราะยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี 😂😂
ทำไมต้องให้ความสนใจทุ่งหญ้าสะวันนา?
เพราะระบบนิเวศนี้มีความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่สูงมาก เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังสุดท้าย จึงควรที่จะศึกษาทำความเข้าใจเพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ต่อไป
References >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา