20 พ.ค. 2020 เวลา 22:10 • สุขภาพ
กระดูกสะโพกหัก รักษาด้วยการผ่าตัด VS ไม่ผ่าตัด
อย่างไหนดีกว่ากัน?
หลายๆท่านน่าจะมีประสบการณ์ที่พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องสูงอายุเกิดกระดูกสะโพกหัก แล้วมีความสับสนทั้งคำแนะนำที่เคยได้ยินมา และแนวทางการรักษานะครับว่าจะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือไม่ผ่าตัด
กระดูกสะโพกหัก นับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่ตามมาหลังจากการเกิดโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
โรคกระดูกพรุนจะทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง โครงสร้างภายในกระดูกเสื่อมสลาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมากขึ้นได้ทั้งที่ตำแหน่งของกระดูกสันหลังซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลังโก่ง หลังค่อม ปวดหลัง
เปรียบเทียบความหนาแน่นกระดูกปกติ และกระดูกพรุน
ถ้าผู้ป่วยเกิดการล้มเอาสะโพกกระแทกพื้นก็จะทำให้เกิดกระดูกสะโพกหักตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกระดูกหักคือการหกล้ม พบอุบัติการณ์นี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการป้องกันการเกิดกระดูกหักคือการระวังไม่ให้เกิดการหกล้ม
1
การเกิดกระดูกที่หักง่ายเหล่านี้มีผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆตามมาเป็นอย่างมาก  นับว่าเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งกระดูกหักบริเวณสะโพกในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุที่สำคัญของการรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และ
พบว่าอัตราการตายของโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับเรื่องของกระดูกหักที่บริเวณสะโพกซึ่งอุบัติการณ์การตายจะสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากเกิดกระดูกหัก
อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มอายุเท่ากัน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ ที่ตามมาหลังจากการเกิดกระดูกสะโพกหัก เช่น โรคปอดบวม โรคแผลกดทับ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดเนื่องจากการที่ผู้ป่วยต้องนอนนาน และไม่สามารถขยับร่างกายได้เนื่องจากความเจ็บปวด
แนวทางการรักษา
กระดูกสะโพกหักในปัจจุบันที่ดีและเหมาะสมที่สุดคือการรักษาด้วยการผ่าตัด ขอเน้นย้ำนะครับ รักษาด้วยการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่าไม่ผ่าตัด โดยลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่ที่ผ่าตัดรักษามากกว่ากลุ่มที่ไม่ผ่าตัดรักษา
การรักษาด้วยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกสะโพกหัก
จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาพบว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด นอนดึงให้กระดูกติด จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่รักษาด้วยการผ่าตัดมากถึง 2 – 3 เท่า
ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักอันเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุนด้วยการผ่าตัดจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยสามารถลุกเดิน เคลื่อนไหวได้ไวขึ้น มีการเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าคนไข้อายุมากแล้ว ถ้าผ่าตัดก็เสี่ยง และกลัว จึงเลือกที่จะรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด
ถามว่าการผ่าตัดเสี่ยงมั้ย. คำตอบคือเสี่ยงครับ แต่เสี่ยงในช่วงที่ผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ ลดภาวะแทรกซ้อนในเรื่องของแผลกดทับ ภาวะการติดเชื้อในปอดและระบบทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
1
มีหลายๆงานวิจัย และแนวทางการรักษาโรคข้อสะโพกหักในปัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากกว่า และขึ้นกับความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย
สรุปคือผ่าตัดรักษานะครับ
การผ่าตัดส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพกบางครั้งก็ใช้วิธีการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยแผ่นเหล็ก บางครั้งก็ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
1
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ก่อนผ่าตัดแพทย์จะต้องทำการประเมินสภาวะต่างๆของร่างกายอย่างละเอียดทั้งในส่วนของกระดูกสะโพกที่หัก สภาพทั่วไปของร่างกาย การทำงานของหัวใจ ปอด การตรวจเลือดเพื่อดูภาวะการทำงานของตับ ไต และเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสภาพร่างกายของผู้ป่วยพร้อมที่จะรับการผ่าตัดได้ และให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยมากที่สุดจากการผ่าตัด
นอกจากนี้แพทย์จะอธิบายให้ญาติพี่น้องและผู้ป่วยเพื่อความเข้าใจในเรื่องของกระดูกสะโพกหัก วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ประโยชน์จากการรักษา รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด เช่น การเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นที่ปอด การสูญเสียเลือด การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด โปรแกรมการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกาย ผลลัพธ์ระยะยาว การพยากรณ์โรค ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดคือควรทำหลังจากที่ได้ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องทดลองอย่างละเอียดเรียบร้อยแล้วจึงทำการผ่าตัดรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วย
หลังจากที่รักษากระดูกสะโพกหักแล้วยังมีความจำเป็นต้องรับการรักษาเรื่องกระดูกพรุนต่อเพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหักเพิ่ม เช่น การหักของกระดูกสะโพกหักอีกข้างหนึ่ง  การเกิดกระดูกสันหลังหักยุบ  และการหักของกระดูกในตำแหน่งอื่นๆ  ผู้ป่วยเหล่านี้มีความจำเป็นต้องรับการรักษาโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีก เช่น ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน พบว่าถ้าไม่ได้ให้การรักษาที่เหมาะสมจะพบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกระดูกหักเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 20
การรักษาโรคกระดูกพรุนประกอบด้วย
1
การปรับปรุงการใช้ชีวิตประจำวัน (lifestyle modifications)
• ผู้ป่วยทุกคนควรออกกำลังกายที่ให้ร่างกายมีการรับน้ำหนักต่อกระดูก เช่นการเดิน การวิ่ง ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
• ผู้ป่วยทุกรายที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวควรต้องส่งต่อให้นักกายภาพบำบัดเพื่อทำการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย
• ผู้ป่วยทุกคนควรได้ รับคำแนะนำในการป้องกันการหกล้ม ซึ่งได้แก่ การปรับแสงไฟฟ้าให้สว่างเพียงพอภายในที่พักอาศัย จัดวางสิ่งของภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การใช้เครื่องพยุงช่วยเดิน หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นผิวไม่เรียบ ถ้ามีปัญหาทางสายตาควรได้รับการแก้ไขเช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน
สารอาหารสำหรับกระดูก
• ผู้ป่วยควรได้รับ แคลเซียมและวิตามินที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรได้รับปริมาณของแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม ทางอาหารและแคลเซียมเสริมชนิดเม็ด ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายต้องการวันละ 800 IU
การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุน
1
ในปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนมี 2 กลุ่ม คือ
1. ยาที่กระตุ้นการสร้างมวลกระดูกขึ้นมาใหม่ซึ่งใช้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวันวันละ 1 ครั้งต่อเนื่องกันนาน 2 ปี เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนชนิดรุนแรงร่วมกับการเกิดกระดูกหักหลายตำแหน่ง
2. ยายับยั้งการทำลายกระดูกซึ่งมี 2 รูปแบบทั้งชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง
ความสำเร็จของการรักษาโรคกระดูกพรุนขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร แคลเซียม วิตามินดี และการใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ รวมทั้งป้องกันไม่ให้หกล้ม หรือในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนไม่ควรก้มเก็บของเพราะจะเพิ่มโอกาสการยุบตัวของกระดูกสันหลังด้วย
“อย่าปล่อยให้คนที่ท่านรักเจ็บอีกต่อไป”
1
“กระดูกสะโพกหักรักษาได้ ไม่ทรมาน “
References
Long-Term Mortality After Osteoporotic Hip Fracture in Chiang Mai, Thailand
TanawatVaseenonSirichaiLuevitoonvechkijPrasitWongtriratanachaiSattayaRojanasthien
Department of Orthopaedics, Faculty of Medicine, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand
Nonoperative Geriatric Hip Fracture Treatment Is Associated With Increased Mortality: A Matched Cohort Study
Jesse D Chlebeck 1, Christopher E Birch 2, Michael Blankstein 3, Thomas Kristiansen 3, Craig S Bartlett 3, Patrick C Schottel
ถ้ามีปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อถามมาได้นะครับ
 
Line OA https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @doctorkeng
 
Facebook ปวดหลังรักษาได้ ไม่ผ่าตัด - Home

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา