31 พ.ค. 2020 เวลา 14:22 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดประชาธิปไตย ตอนที่ 2
ทรราชย์ไพซิสทราตัสและยุคทองของเอเธนส์
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ต่อจากตอนที่แล้วกันเลยนะครับ
1.
หลังจากที่โซลอนลงจากตำแหน่งได้ประมาณ 4 ปี
ทุกอย่างที่เขาปฏิรูปไว้ก็พังลงมาหมด
แม้ว่าแผนของโซลอนบนกระดาษจะดูดี
แต่ปัญหาของแผนโซลอนคือ การนำไปปฏิบัติใช้จริง
อย่างแรกสุดเลย ปัญหาเร่งด่วนคือความยากจน
แต่การไม่ยอมจัดสรรที่ดินใหม่อย่างที่คนจนต้องการ แต่ให้เปลียนมาปลูกต้นมะกอก เป็นแผนที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆก็ 6 ปี กว่าต้นมะกอกจะเติบโตพอจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้
นอกเหนือไปจากนั้นคือ ต่อให้คนจนยอมทำตามแผน แต่ก็ต้องไปกู้เงินมาลงทุน
เดิมสามารถที่จะเอาตัวเอง เอาลูกเมียไปค้ำประกันได้ว่าถ้าไม่มีเงินคืนก็จะขายให้เป็นทาส
แต่เมื่อมีกฎห้ามการขายตัวเองหรือคนในครอบครัวเป็นทาส คนจนก็ไม่มีอะไรไปค้ำประกันในการกู้เงิน
เมื่อเข้าไม่ถึงเงินทุน ก็ทำอะไรไม่ได้ ยากจนกันต่อไป
1
ในแง่ของการพยายามเป็นศูนย์กลางการค้าขายนั้น
เริ่มต้นได้ค่อนข้างดี ผู้คนมาค้าขายที่เอเธนส์กันมากขึ้น
แต่มีปัญหาว่า คนที่เข้าถึงตลาดที่โตขึ้นนั้นมีแต่คนรวย
คนที่ฐานะปานกลางบางคนเห็นของแปลกๆใหม่ๆ ก็ใช้จ่ายเกินตัวจนยากจนลงก็มีมากมาย
นโยบายนี้จึงมีแต่คนรวยในเอเธนส์และนครรัฐอื่นที่ได้ประโยชน์
คนจนเข้าไม่ถึงอยู่ดี
1
ในแง่การเมืองก็ยิ่งวุ่นเข้าไปอีก
เพราะเดิมคนที่มีสิทธิ์แย่งตำแหน่งกันมีอยู่ 60 ครอบครัว
แต่หลังปฏิรูป มีคนที่สามารถเข้ามาแย่งตำแหน่งมากขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะตำแหน่งผู้นำสูงสุดที่เรียกว่า อาร์คอน (archon)
ในตอนที่แล้วผมลืมเล่าไว้ ขอแทรกตรงนี้สั้นๆให้ฟังนะครับ
คร่าวๆ คือตำแหน่ง อาร์คอนจะมีแยกกัน 3 ตำแหน่ง คือ บาซิเลียส อาร์คอน (Basileus) จะดูแลเกี่ยวกับด้านเทพเจ้า พิธีกรรม จะเรียกว่าเป็นผู้นำสูงสุดด้านศาสนาก็ได้
ตำแหน่งที่ 2 คือ โพลีมาร์คอส (Polemarchos) จะดูแลด้านสงคราม การรบ
ตำแหน่งที่ 3 คือ อีโพนีมัส (Eponymous archon) จะดูแลด้านการจัดการ การปกครองของเมือง เหมือนเป็น CEO ของเมือง
1
ตำแหน่งที่คนมักจะแย่งกันเป็นมากที่สุดคือ อีโพนีมัส อาร์คอน
แล้วแย่งกัน กั๊กกัน ขัดขากัน จนสุดท้ายเกิดภาะว grid lock
คือหาคนมารับตำแหน่ง Eponymous archon ไม่ได้
สุดท้ายจึงเข้าสู่ยุคสมัยที่ไม่มี archon หรือ an archon อยู่ระยะหนึ่ง (an เป็น prefix ที่แปลว่า “ไม่” ที่มาของคำว่า anarchy ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า อนาธิปไตย)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกอย่างเหมือนจะล้มเหลว
แต่แผนที่วางไว้ดี ก็เหมือนการก้าวเท้าแรกไปยังทิศทางที่ถูกต้อง
ขอแค่มีใครมาสานต่อเท่านั้น
2. ยุค anarchy
หลังระบบที่โซลอนวางไว้พังลงไป เอเธนส์ก็เข้าสู่ยุคสมัยที่ทุกอย่างสับสนไปหมด
เกิดเป็นก๊กเหล่าขึ้น จาก 2 ก๊กต่อมาก็กลายเป็น 3 ก๊ก ตามพื้นที่อาศัยอยู่
ได้แก่
ก๊กแรกที่อยู่บนที่ราบสูงใกล้เมืองเอเธนส์ กลุ่มนี้เป็นคนรวย เป็นเจ้าของที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพวก aristocrat เก่า กลุ่มนี้มีผู้นำชื่อ ไลเคอร์กัส (Lycurgus)
ก๊กที่สอง เป็นคนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเล คนกลุ่มนี้ไม่รวยแต่ก็ไม่จน คือมีเงินมากพอที่จะซื้อโล่ ซื้อเกราะ ซื้อหอกดาบ คนกลุ่มนี้จึงมีอาวุธสามารถเข้าร่วมกับกองทัพ ฮอปไลท์ (Hoplite) ของเอเธนส์ได้ (ตรงนี้ขอแทรกแนะนำให้ดูคลิปวีดีโอที่ผมทำเรื่อง Greco-Persian war เสริมไปด้วยนะครับ จะเข้าใจเกี่ยวกับ hoplite มากขึ้น และเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกันด้วย สามารถดูใน youtube หรือ Blockdit ก็ได้)
ทหาร hoplite ในรูปเป็นของสปาร์ตา
ผู้นำของกลุ่มนี้คือ เมกะคลีส (Megacles ในตอนนี้ผมจะยังไม่ได้เล่าเกี่ยวกับเขามากนักเพราะมันเป็นรายละเอียดเสริม แต่ผมจะเล่าให้ฟังตอนทำ podcast นะครับ เอาเป็นว่า คนๆนี้มาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงชื่อ อัลค์มินิดี้ หรือ Almeonidae ซึ่งตระกูลนี้มีคนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องที่เราจะคุยกันหลายคน )
ก๊กที่สาม เป็นพวกที่เรียกว่า อยู่ไกลจากเนินเขาออกไป คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีฐานะยากจน อาศัยห่างไกลจากตัวเมืองเอเธนส์ออกไปไกล เวลามีการตกลงอะไรกันในเมือง พวกนี้จะไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ค่อยได้มีสิทธิ์มีเสียงเพราะไม่สามารถเดินทางเข้าเมืองไปออกเสียง คนกลุ่มนี้มีผู้นำชื่อ ไพซิสทราทัส (Pisistratus หรือ Peisistratos)
Peisistratos
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าทำไม
ก๊กเหล่าจึงแบ่งตามถิ่นที่อยู่อาศัย
คำอธิบายไม่ซับซ้อนครับ ตรงไปตรงมา
เพราะคนที่อาศัยอยู่แต่ละแห่งมีอาชีพต่างกันไป มีฐานะต่างกันไป
คนที่อยู่บนที่ราบสูง เป็นเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย คนที่อยู่ริมทะเลก็ทำการประมง คนที่อยู่ห่างไกลก็เป็นชาวชนบทที่ยากจน
1
ดังนั้น คนแต่กลุ่มก็จึงมีความต้องการจากรัฐที่ต่างกันไป ต้องการนโยบายของรัฐที่ต่างกันไป
จึงมีคนที่ต้องการขึ้นเป็น tyrant ฉวยโอกาสตรงนี้ไปหาพลังสนับสนุนจากคนแต่ละกลุ่ม
ไลเคอร์กัส ครองใจคนที่ราบสูง เมกะคลีสครองใจคนริมทะเล ส่วนไพซิสตราตัสครองใจชาวชนบทที่ยากใจ
และเป็นไพซิสตราตัส ที่สุดท้ายจะปราบผู้นำอีก 2 ก๊กลงได้และขึ้นเป็น tyrant คนใหม่ของเอเธนส์
สำหรับเรื่องราวว่า ไพซิสตราตัส ปราบ 2 ก๊กแล้วขึ้นเป็น tyrant ได้ยังไง ผมขอเก็บไว้เล่าใน podcast นะครับ เพราะเนื้อหามันออกนอกเส้นเรื่องหลักไปนิดนึง
3.
Pisistratus คนนี้เป็น วีรบุรุษสงครามคนสำคัญของเอเธนส์ก่อนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง
เขาพยายามที่จะขึ้นเป็น tyrant อยู่ถึงสามรอบ โดนขับออกจากเอเธนส์ไป 2 รอบ ใช้เวลารวมกันสิบกว่าปี
แต่ในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นมาเป็น tyrant ของเอเธนส์อย่างที่ต้องการ
ไพซิสทราทัส เป็นคนที่เข้าใจพลังของมวลชนอย่างแท้จริง
เขารู้ว่าเขาจะคงอำนาจไว้ได้ เขาต้องดูแลความต้องการของประชาชน
ในแง่ของการบริหาร เขาพยายามคงสิ่งต่างๆที่โซลอนเคยปฏิรูปไว้
ที่เสริมเพิ่มเติมเข้ามาคือ นโยบายแนวประชานิยมต่างๆมากมาย
ตลอดช่วงเวลาที่ ไพซิสทราทัส ดำรงตำแหน่ง tyrant ของเอเธนส์นั้น
เขาสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิหารที่สวยงาม
มีการจัดระเบียบตลาดให้มีระเบียบและชาวบ้านได้ประโยชน์เต็มที่
และที่สำคัญมากอีกอย่างคือ ท่อส่งน้ำ
สำหรับคนยุคเราอาจจะนึกไม่ออกว่า ท่อส่งน้ำสำคัญยังไง
แต่ในยุคเอเธนส์โบราณ แหล่งน้ำจืดต้องมาจากแหล่งน้ำในดิน
แต่ที่ดินซึ่งมีบ่อน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นของชนชั้น aristocrat เก่า ทำให้คนอื่นเข้าไปใช้ไม่ได้
ดังนั้นท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำมาใช้ประชาชนใช้กลางเมือง จึงเป็นการสร้างความสะดวกสบายอย่างมากให้กับประชาชน
1
สิ่งที่สำคัญมากๆอีกอย่างที่ไพซิสทราทัสสร้างไว้ให้กับชาวเอเธนส์คือ
การริเริ่มให้มีเทศกาลบูชาเทพเจ้าสองเทศกาลใหญ่
หนึ่งคือ เทศกาล ไดโอไนเซีย (Dionysia) เพื่อบูชาเทพเจ้า ไดโอไนซุส (Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าของชาวไร่ชาวนา เป็นเทพเจ้าขององุ่น(ที่ใช้ทำไวน์) และเทพแห่งการละคร
ไดโอไนซุส เทพเจ้าแห่งองุ่น และการละคร
ในงานนี้จะมีการแข่งขันการแสดงละครที่เรียกว่า tragedy และ comedy ซึ่งเป็นรากที่มาของศิลปะการละครและเทคนิคการเล่าเรื่องสไตล์ตะวันตก ที่มีอิทธิพลมาจนถึงละครเวที ภาพยนตร์และซีรีส์ฝรั่งทุกวันนี้
เทศกาล Dionysia
เทศการที่สองคือ งานพานาธีเนีย (Panathenaea มาจาก Pan Athena) ที่บูชาเทพี Athena ซึ่งเทศกาลนี้แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคนริเริ่มแต่เขาก็ทำให้มันเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ทำให้เทศกาลนี้แต่เดิมจะเฉลิมฉลองกันเฉพาะชาวเอเธนส์ ก็กลายเป็นเทศกาลใหญ่ที่ชาวกรีกจากนครรัฐต่างๆเดินทางมาร่วมแข่งขัน
หลายคนอาจจะสงสัยว่าการจัดเทศกาลใหญ่ๆแบบนี้ขึ้นมาดีกับเอเธนส์ยังไง
คำตอบก็คือ เทศกาลเหล่านี้มันก็เหมือนเป็น soft power แบบนึง คล้ายๆ ฮอลิวู้ด ซีรีส์เกาหลีหรือ Kpop ที่ทำให้วัฒนธรรมต่างๆของเอเธนส์ ได้รับความนิยมและรู้จักไปทั่ว
ไพซิสตราทัส ยังจัดให้มีสิ่งที่เรียกว่า rural magistrate คือ ให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินทางตะเวนออกไปในชนบทที่ห่างไกล
เพื่อให้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆที่รัฐให้ได้ เช่น การแก่งแย่งที่ดินระหว่าง aristocrat กับชาวบ้าน ที่เดิมชาวบ้านไม่มีอำนาจไปต่อรองอะไร
ครั้นจะเดินทางเข้าเอเธนส์ไปฟ้องก็ไกล ทำไม่เป็น ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐออกไปให้ความช่วยเหลือ ชาวชนบทที่ห่างไกลจึงรู้สึกว่ามีกฎหมายที่ให้สิทธิ์และปกป้องพวกเขาอยู่
จะเห็นว่าสิ่งต่างๆที่เขาทำนั้นชาวบ้านสามารถเห็นได้ จับต้องได้ และรู้สึกได้ว่าชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
แต่ไพซิสตราตัสก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นแต่ผลาญเงินเท่านั้น แต่เขายังหาเงินเป็นด้วย
ในแง่ของปัญหาเศรษฐกิจ
ไพซิสทราตัส ยังยึดตามแผนการของโซลอนไว้เช่นเดิม คือ การปลูกต้นมะกอก
แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ การช่วยเหลือให้เงินทุน ให้เครื่องมือ และช่วยเหลือการเงินไปเรื่อยๆจนกว่ามะกอกที่ปลูกจะออกผล
แล้วผลที่โซลอนคาดไว้ก็เกิดขึ้นจริงๆ
น้ำมันมะกอก หรือ olive oil กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่มีชื่อเสียงของเอเธนส์มาจนทุกปัจจุบันนี้
และเมื่อมีการส่งน้ำมันมะกอกเยอะ ความต้องการเครื่องปั้นดินเผาก็มากขึ้นอย่างที่โซลอนคิดไว้
การแข่งขันกันทำหม้อบรรจุน้ำมันมะกอกที่ดีและสวยงาม โดยช่างฝีมือที่ดึงตัวมาจากที่ต่างๆ
ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
2
จากภาพเขียนแบบเดิมที่เรียกว่า black figure ตามแบบของเมืองโครินท์ (Corinth) คือ ภาพเขียนเป็นสีดำ บนพื้นหม้อสีแดง
เอเธนส์ก็พัฒนาศิลปะแบบของตัวเองที่เรียกว่า red figure ขึ้นมาก คือ ภาพเขียนเป็นสีแดงบนพื้นดำ
ไม่ได้หมายความว่าเอเธนส์ สลับสีดำแดง แล้วเรียกตัวเองว่า นวัตกรรมใหม่นะครับ
แต่เทคนิคในการเผาหม้อและเขียนภาพแบบใหม่ จะให้ภาพที่เส้นละเอียดกว่า สมจริงกว่า และเรื่องราวที่วาดก็ต่างไปจากเดิม (ดูภาพประกอบแล้วกันครับ ชัดกว่าบรรยาย)
แต่เดิมหม้อดินเผาต่างๆจะวาดเรื่องราวจากตำนานเทพเจ้าทั้งหลาย เช่น สงครามเมืองทรอย
แต่หม้อดินเผาใหม่ของเอเธนส์จะวาดภาพชีวิตประจำวันของคนทั่วไป หรือภาพของคนกำลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีทั้งระหว่างชายและหญิงหรือชายและชาย
ด้วยเหตุนี้หม้อของดินเผาของเอเธนส์จึงเป็นของส่งออกที่ต้องการไปทั่วกรีก
ไม่ใช่แค่ในแง่ของการเป็นภาชนะใส่น้ำมันมะกอก แต่ในแง่ของการเป็นผลงานศิลปะราคาแพงที่ซื้อไปตั้งโชว์ในบ้าน
และไม่เพียงแต่ในหมู่นครรัฐกรีกเท่านั้น หม้อ red figure ของเอเธนส์ยังส่งออกไปไกลถึงคาบสมุทรอิตาลี
แล้วที่น่าสนใจคือ เมื่อมีผลิตภัณฑ์เด่นขึ้นมาสองอย่างคือ น้ำมันมะกอกและหม้อดินเผา
การรับรู้ว่า ผลิตภัณฑ์จากเอเธนส์ เป็นของมีคุณภาพ ก็กระฉอกไปยังสินค้าอื่นๆด้วย
อะไรก็ตามที่ผลิตในเอเธนส์จะถูกคนนครรัฐอื่นๆรับรู้ว่า นี่คือของคุณภาพสูง ของหรูหรา
นี่คือสินค้า made in Athens !
2
ช่วงเวลาที่ไพซิสทราทัสปกครองเอเธนส์อยู่เป็นเวลา 30 กว่าปีนั้น
เอเธนส์ถือได้ว่าอยู่ในยุคทอง หรือ age of chronos อย่างแท้จริง
1
แต่อย่านึกภาพว่า ไพซิสทราตัส จะเป็นผู้นำใสๆ แนวพระเอกนะครับ
เพราะสุดท้ายไพซิสทราตัสก็คือ เผด็จการ คนนึง
เขาใช้กำลังทหารกำจัดศตรูทางการเมือง
เขาขับไล่คนที่ไม่เห็นด้วยออกจากเอเธนส์
ตำแหน่งบริหารสำคัญๆของเอเธนส์เขาก็เอาญาติพี่น้อง คนสนิทมานั่งยึดตำแหน่งไว้
เพียงแต่วิธีการของเขาจะมีความละมุนนิดนึงคือ เขาจะใช้ประชานิยมนำ
ทำให้คนไม่รู้สึกว่าการที่ญาติพี่น้องหรือคนสนิทของเขาเข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญๆ จะมีผลเสียอะไร
1
แล้วนี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ tyrant/เผด็จการ ทั้งหลาย
เมื่อคนกินดี อยู่ดี มีน้ำสะอาดใช้ อากาศดี สังคมมีความสงบสุข
คนทั่วไปก็ไม่สนใจหรอกครับว่า ระบอบการปกครองจะเป็นยังไง
1
ไพซิสทราตัส สามรถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับรัฐ ทำให้ชาวเอเธนส์ภูมิใจในศิลปะวัฒนธรรมของตัวเอง และมีการบังคับใช้กฎหมาย (ที่ปกป้องคนจนหรือชาวบ้านจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ) อย่างจริงจัง เขาจึงสามารถที่จะปกครองเอเธนส์นานต่อเนื่อง 30 กว่าปี
1
แต่ในที่สุด การปกครองในแบบ tyrant ก็แสดงจุดอ่อนออกมาให้เห็น
เพราะต่อให้ tyrant คนนั้นจะเก่งยังไง สร้างความเจริญให้กับชาติบ้านเมืองยังไง
แต่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งก็มีอายุขัยสั้นมากเมื่อเทียบกับอายุของประเทศ
1
เมื่อไพซิสทราตัสเสียชีวิตลง เขาก็ส่งต่ออำนาจให้กับลูกชายทั้งสองคน ที่ชื่อว่า ฮิปเปียส (Hippias) และ ฮิปาร์คัส (Hipparchus)
การที่พ่อเก่งหรือดี ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าลูกจะเก่งและดีเหมือนพ่อเสมอไป
ทุกอย่างที่รุ่นพ่อใช้เวลาสร้างสมมา สามารถที่จะถูกทำลายลงได้ในเวลาสั้นๆ
1
ยุคทองของเอเธนส์ก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
กว่าประชาธิปไตยจะมาถึง
สงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ต่างชาติจะเข้ามาก้าวก่ายการเมือง เผด็จการจะถูกขับไล่
4.
ในช่วงต้นของการปกครองภายใต้ tyrant ฮิปเปียสและฮิปปาร์คัส เป็นไปค่อนข้างดี
สิ่งที่พวกเขาทำคือการสานงานที่รุ่นพ่อทำต่อไว้
แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น
เรื่องราวส่วนนี้ มีรายละเอียดที่เราไม่แน่ใจนัก
เพราะแหล่งที่มาของเหตุการณ์ในตอนนี้หลักๆมาจากคนสามคน คือ
นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณที่ชื่อ ตูซิดิดีส (Thucydides) เฮโรโดทัส (Herodotus) และอริสโตเติล
แล้วคนทั้งสามเล่าถึงเหตุการณ์ต่างกันไปเล็กน้อย
แต่ผมคงจะไม่สนใจความต่างเล็กน้อยนี้นะครับ ขอเล่าเหมารวมๆกันไปเลย
เอเธนส์ในเวลานั้นมีผู้ชายหน้าตาดีคนหนึ่งชื่อว่า ฮาร์โมเดียส (Harmodius) ซึ่งมีคนรักอยู่แล้ว
แต่ ฮิปปาร์คัส หนึ่งใน tyrant ซึ่งมีชื่อเสียงในแง่ของความเจ้าชู้อยู่แล้ว เกิดไปถูกใจ เลยพยายามไปจีบ
(ไม่ได้แปลว่า ฮิปปาร์คัส จะเป็นเกย์นะครับ แต่น่าจะเหมือนกรีกทั่วไปยุคนั้น ที่ความสัมพันธ์กับเพศไหนค่อนข้างเปิดกว้าง)
แต่ฮาร์โมเดียสไม่เล่นด้วย เพราะมีคนรักอยู่แล้วชื่อ อริสโตไกตัน (Aristogeiton)
ฮิปปาร์คัส จึงหาเรื่องกลั่นแกล้ง ด้วยการไปหาเรื่องน้องสาวของ ฮาร์โมเดียส
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า เอเธนส์มีเทศกาลบูชาเทพี Athena ที่ยิ่งใหญ่เทศกาลหนึ่งจัดขึ้นทุก 4 ปีที่มีชื่อเรียกว่า Panathenaic
เทศกาลนี้เป็นการแข่งขันใหญ่คล้ายๆการแข่งโอลิมปิกส์ ที่มีชาวกรีกเดินทางมาร่วมงานมากมาย
ในพิธีเปิดงาน จะมีการเดินขบวนแห่จากตลาดที่ชาวกรีกเรียกว่า agora ไปยังวิหาร Acropolis ที่อยู่บนเนินเขา
ที่ด้านหน้าของขบวนแห่จะมีผู้หญิงพรหมจรรย์คนหนึ่งเดินถือตะกร้าผลไม้เป็นคนนำขบวน
ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สาวๆในเอเธนส์หมายปองกันอย่างมาก (อารมณ์คงคล้ายๆถือป้ายกีฬาสี หรือดรัมเมเยอร์)
ชาวเอเธนส์เองก็จะสนใจและลุ้นกันด้วยว่าใครจะได้รับตำแหน่งนี้
พูดง่ายๆคือ เป็นตำแหน่งที่คนให้ความสนใจกันทั่วบ้านทั่วเมือง
หลังจากที่ tyrant ฮิปปาร์คัส โดน ฮาร์โมเดียสปฏิเสธความสัมพันธ์
เขาจึงแก้แค้นด้วยการไปเชิญชวน น้องสาวของฮาร์โมเดียสให้รับตำแหน่งนี้
เมื่อน้องสาวฮาร์โมเดียส โด่งดังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปขึ้นมาแล้ว
ฮิปปาร์คัสก็สั่งปลด น้องสาวของฮาร์โมเดียสออก โดยให้เหตุผลว่า
น้องสาวของฮาร์โมเดียส ไม่ใช่หญิงพรหมจรรย์
เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายให้กับวงศ์ตระกูลของฮาร์โมเดียสอย่างมาก
ซึ่งกรีกโบราณนั้น เรื่องเกียติของวงศ์ตระกูล เป็นเรื่องใหญ่มากๆ (เหมือนวัฒนธรรมจีนโบราณ)
ถึงขนาดว่า ฮาร์โมเดียส ต้องแก้แค้น ..... ด้วยเลือด
5.
เหตุการณ์การสังหาร ฮิปปาร์คัส มีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน
ตูซิดิดีส (Thucydides) และอริสโตเติล เล่าถึงเหตุจูงใจและจำนวนคนสมรู้ร่วมคิดไว้ต่างกัน
แต่คร่าวๆคือ
ฮิปปาร์คัสจะอยู่กับขบวนแห่ ซึ่งเริ่มต้นเดินจากตลาด
ส่วนฮิปเปียส จะรออยู่บน Acropolis
แผนสังหารคือ รอให้ทั้งคู่อยู่ที่เดียวกันก่อน แล้วค่อยสังหาร tyrant ทั้งสองพร้อมๆกัน
แต่มีเหตุผิดพลาด ทำให้ ฮาร์โมเดียส และ อริสโตไกตัน คิดว่าโดนหักหลัง
จึงเปลี่ยนแผน และรีบไปสังหาร ฮิปปาร์คัส ที่ตลาด
แต่ทันทีที่สังหารฮิปปาร์คัสได้ บอดี้การ์ดของฮิปปาร์คัส ก็ตรงเข้าต่อสู้ทันที
ทำให้ฮาร์โมเดียสถูกสังหารไปที่ตรงนั้นทันที
ส่วน อริสโตไกตัน ก็ถูกจับไปคุมขังและทรมาน เพราะเชื่อว่ามีคนสมรู้ร่วมคิดคนอื่นในแผนการด้วย
แต่โดนทรมานยังไง อริสโตไกตัน ก็ไม่เปิดเผยชื่อของคนอื่น
สุดท้าย อริสโตไกตัน ก็ต่อรองว่าถ้าต้องการจะให้เปิดเผยชื่อคนอื่น จะบอกก็ได้
แต่จะบอกให้ tyrant ฮิปเปียสฟังคนเดียวเท่านั้น
ฮิปเปียสจึงยอมเดินทางมาพบกับ อริสโตไกตัน ในคุก
อริสโตไกตัน ขอให้ฮิปเปียสจับมือสัญญาว่า ถ้าเขายอมบอกชื่อคนสมรู้ร่วมคิดแล้วเขาจะได้รับการคุ้มครอง
ฮิปเปียสก็ตกลง และยอมจับมือด้วย
ขณะที่จับมืออยู่นั้น อริสโตไกตัน ก็หัวเราะ เยาะเย้ยทันที
แล้วถาม ฮิปเปียส รู้สึกยังไงบ้างที่ได้จับมือที่สังหารน้องชายของตัวเองไป
พอฮิปเปียส รู้ว่าโดนหลอกให้จับมือเพื่อเยาะเย้ย จึงโกรธและสังหารอริสโตไกตันในทันที
และเหตุการณ์ในปี 514 BC นั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
เพราะก่อนหน้านั้น การปกครองของ ฮิปเปียส จะคล้ายกับตอนรุ่นพ่อปกครอง
คือ ไม่เข้มงวดและโหดร้ายมากนัก
แต่หลังจากเหตุการณ์นั้น ฮิปเปียสก็เปลี่ยนไป เขาเริ่มดุร้ายมากขึ้น
เมื่อรู้สึกไม่ไว้ใจใครก็จับคุมขังและทรมานในทันที
มีการออกกฎต่างๆ ที่จำกัดอิสรภาพของประชาชนอย่างมาก
จนประชาชนชาวเอเธนส์ไม่มีความสุขกับการปกครองของฮิปเปียส
ส่วนทาง ฮาร์โมเดียสและอริสโตไกตัน
ผู้ซึ่งวางแผนฆ่า tyrant เพราะความหึงหวงและแก้แค้นเรื่องส่วนตัว
ในเวลาต่อมา เมื่อชาวเอเธนส์ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว
พวกเขาก็มองย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ในครั้งนี้ แล้ว
เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยให้ ฮาร์โมเดียสและอริสโตไกตัน
เป็นวีรบุรุษผู้สังหาร ทรราชย์ หรือ tyrant slayer
เรื่องราวของเขาทั้งสองถูกนำไปแต่งเป็นเพลง เขียนเป็นวรรณกรรม
และมีการสร้างรูปปั้นของเขาทั้งสอง
เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรบุรุษที่เสียสละชีวิตตัวเองที่สังหารทรราชย์และเปิดทางให้ประชาธิปไตยได้เบ่งบานในเวลาต่อมา
6
6.
จำ เมกะคลีส (Megacles) ได้ไหมครับ
เมกะคลีส ที่เป็นผู้นำ ก๊กหนึ่งในสามก๊ก
เมกะคลีส ที่มาจากตระกูลเก่าแก่ที่ชื่อ อัลค์มินิดี้ (Alcmaeonidae)
หลังจากที่ ไพซิสตราทัส ปราบสองก๊กลงและขึ้นเป็น tyrant ได้
ตระกูล อัลค์มินิดี้ (Alcmaeonidae) ก็ถูกเนรเทศออกไปจากเอเธนส์
แต่ตระกูลเก่าแก่นี้ก็ยังมีบารมีมากอยู่
และเมื่อเห็นกระแสความนิยมในตัว tyrant ฮิปเปียส เปลี่ยนไป
จึงเห็นเป็นโอกาสดี
ทางตระกูล อัลค์มินิดี้ (Alcmaeonidae) จึงติดต่อไปที่นครรัฐสปาร์ตา
เพื่อขอความร่วมมือเพื่อช่วยยึดอำนาจจากฮิปเปียส ซึ่งสปาร์ตาก็ยินดีช่วย
สปาร์ตาใช้ความพยายามอยู่สองครั้ง จึงสำเร็จในการบุกเข้ามาในเอเธนส์
ทำให้ฮิปเปียสต้องหนีขึ้นไปจนมุมอยู่บน Acropolis
หลังจากโดนปิดล้อมอยู่หลายวัน ฮิปเปียส ก็ยอมแพ้และสัญญาว่าจะออกจากเอเธนส์ไปภายใน 5 วัน
ฮิปเปียสคนนี้ ในอนาคตจะกลับมาที่เอเธนส์อีกครั้งครับ
เขาคือคนที่ไปช่วยกองทัพเปอร์เซียนำทัพมาลงที่ทุ่งมาราธอน ซึ่งผมเล่าไว้ในคลิปวีดีโอ สงครามกรีก-เปอร์เซีย
แต่ตอนนี้ เรื่องราวของเขาที่เอเธนส์จบลงไปแล้ว
เขาถูกเนรเทศออกไปจากเอเธนส์
ส่วนชาวเอเธนส์ก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า
ต่อให้คนที่ดูเหมือนจะเป็นคนดี อย่างฮิปเปียสในช่วงแรกนั้น
เมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จและอยู่ในอำนาจไปนานระยะหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดการเหลิงในอำนาจ
และทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อประชาชนและรัฐได้
การปกครองที่ให้รัฐและประชาชนอยู่ในมือของคนๆเดียว อันตรายเกินไป
3
7.
หลังจากที่ฮิปเปียสถูกโค่นลงและถูกขับออกไปจากเอเธนส์
ก็เกิดสูญญากาศทางอำนาจขึ้นมาอีกครั้ง แล้วแพทเทิรน์เดิมๆที่เห็นซ้ำๆก็ตามมา
เมื่อศตรูร่วมหมดไป ก็แตกเป็นก๊กเหล่าต่างๆแล้วแย่งชิงอำนาจกัน
ช่วงเวลานั้นคนที่มีอำนาจมากที่สุดมีอยู่ 2 คน
หนึ่ง คือ ไคลส์ธีนิส (Cleisthenes) จากตระกูล อัลค์มีนิดี้ (Alcmaeonidae) และ
สอง อิซาโกรัส (Isagoras)
แต่สุดท้าย อิซาโกรัส ก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำหรือ อีโพนิมัส อาร์คอน (eponymous archon) คนใหม่ โดยการสนับสนุนของสปาร์ตา
อาจจะเพราะ ไคลส์ธีนิส มาจากตระกูลเก่าแก่ที่มีบารมีของเอเธนส์
ถ้าเขาขึ้นมามีอำนาจ ก็อาจจะทำให้เอเธนส์เป็นปึกแผ่นขึ้น สปาร์ตาจึงไม่ต้องการเช่นนั้น
แต่วันหนึ่ง ไคลส์ธินีส ก็จะได้ขึ้นเป็นผู้นำของเอเธนส์
1
และเป็นเขาคนนี้ครับ ที่ทุกวันนี้เรายกย่องให้เขาเป็น บิดาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1
ส่วนเรื่องราวว่าเขาจะขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร
และเขาทำอะไรที่ทำให้เขาได้รับการยกย่อง
เราจะมาคุยกันในตอนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วครับ
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ปิดท้ายด้วยโฆษณา
ต้องการซื้อหนังสือแนววิทยาศาสตร์การแพทย์สำหรับคนทั่วไป สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา