7 มิ.ย. 2020 เวลา 09:10 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดประชาธิปไตย ตอนที่ 3/3
Cleisthenes บิดาของประชาธิปไตยเอเธนส์
1.
เรื่องราวในตอนนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจาก ที่ tyrant ฮิปเปียส (Hippias) ลูกชายคนโตของ tyrant ไพซิสทราตัส (Pisistratus) ถูกขับไล่ออกจากเอเธนส์ ด้วยการร่วมมือกันของคนจากตระกูลเก่าแก่ของเอเธนส์ที่ชื่อ อัลค์มีนิดี้ (Alcmaeonidae) กับสปาร์ตา
แล้วแพทเทิร์นเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อใดที่ tyrant หรือเผด็จการถูกโค่นลงได้ ก็มักจะเกิดสูญญากาศทางอำนาจขึ้น จากนั้นกลุ่มคนที่เคยช่วยเหลือกันโค่นล้มเผด็จการก็แตกแยกเป็นก๊กเหล่า แล้วก็หันมาต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง
ในช่วงเวลานั้น คนที่มีอำนาจมากทีสุดมีอยู่ 2 คน
คนแรกมาจากตระกูล อัลค์มีนิดี้ (Alcmaeonidae) เป็นลูกชายคนเล็กของ เมกาคลีส (Megacles คนที่แย่งอำนาจกับไฟซิสตราทัสแล้วแพ้โดนขับไล่ออกไปจากเอเธนส์) ชื่อของเขาคือ ไคลส์ธีนีส (Cleisthenes)
Cleisthenes
อีกคนเป็นชนชั้น aristocrat ที่ค่อนข้างฝักใฝ่สปาร์ตา มีชื่อว่า ไอซากอรัส (Isagoras)
สุดท้ายเป็น ไอซากอรัส ที่ได้ขึ้นมานั่งตำแหน่งอาร์คอน ผ่านการสนับสนุนของสปาร์ตาและขับไล่ ไคลส์ธีนิสออกไปจากเอเธนส์
เมื่อไอซากอรัสขึ้นมามีอำนาจ ก็ขับไล่คนที่ดูจะเป็นฝ่ายตรงข้ามออกไปอีกจำนวนมาก และเมื่อหมดวาระหนึ่งปีของตำแหน่งอาร์คอน เขาก็ไม่ต้องการจะลงจากตำแหน่ง จึงไปตกลงกับสปาร์ตาเพื่อให้สนับสนุนในการที่เขาจะเป็น tyrant ต่อ
กษัตริย์ของสปาร์ตาเห็นประโยชน์ที่จะได้ จึงตัดสินใจส่งทหารเข้ามาช่วยสนับสนุน
แต่ผลไม่เป็นดังที่คาด
ประชาชนชาวเอเธนส์ไม่ต้องการให้พวก aristocrat ทำตามอำเภอใจแล้วตีมึนขึ้นมาปกครองดื้อๆอีกต่อไป
2
ชาวเอเธนส์จึงรวมตัวกันออกมาขับไล่ ไอซากอรัสและกษัตริย์ของสปาร์ตา จนต้องหนีขึ้นไปและโดนปิดล้อมอยู่บน อะโครโพลิส ถึงสองวัน
จุดนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยากชี้ให้เห็นครับ
เมื่อเทียบกับประมาณ 60 ปีก่อนหน้า ซึ่งไพซิสทราตัสก้าวขึ้นมาเป็น tyrant จะเห็นประชาชนเอเธนส์มีส่วนร่วมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปมาก คือจากเดิมที่แทบจะไม่สนใจเพราะยังไงก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆทางการเมือง
ในเวลาแค่ 1-2 ชั่วอายุคน ชาวเอเธนส์รุ่นใหม่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองถึงขนาดกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิ์และสิ่งที่ตัวเองต้องการกันมากขึ้น กล้าที่จะรวมตัวกันและลุกขึ้นมาต่อต้านผู้นำเผด็จการ
3
ซึ่งปัจจุบันเราเชื่อว่า สำนึกทางการเมืองของประชาชนที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปของโซลอน
ดังนั้น แม้ว่าการปฏิรูปของโซลอนเหมือนจะล้มเหลวในระยะสั้น
แต่ปัจจุบันเรามองว่าระยะยาวแล้วการปฏิรูปของเขาวางรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยเอาไว้
2.
หลังจากที่ ไอซากอรัส ถูกขับไล่ออกไปจากเอเธนส์
ประชาชนชาวเอเธนส์ก็เรียกตัว ไคลส์ธีนีสกลับมา เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาของเอเธนส์ที่กำลังยุ่งเหยิง
การได้มาซึ่งอำนาจของ ไคลส์ธีนีส ในครั้งนี้ ดูเผินๆจะคล้ายกับโซลอน
ทำให้เหมือนว่าการเมืองของเอเธนส์วนกลับมายังจุดเดิม
แต่จริงๆแล้ว มันมีจุดสำคัญที่ทำให้การมาของไคลส์ธีนีสต่างไปจากการมาของโซลอนมากๆจุดหนึ่งครับ นั่นคือ
อำนาจของโซลอนได้รับมาจากชนชั้น aristocrat
แต่อำนาจของ ไคลสตินีส ได้รับมาจากประชาชนของเอเธนส์
และไคลส์ธีนีส ก็ไม่ได้ถูกเรียกมาเพราะว่าเขาเป็น aristocrat หรือเพราะเขามาจากตระกูลไฮโซ
แต่เป็นเพราะ “นโยบาย” ของเขา
อย่างที่เล่าไปในช่วงต้นว่า เรารู้เกี่ยวกับเขาไม่มากนัก
เราจึงไม่รู้ว่าความตั้งใจในการปฏิรูปของเขาคืออะไร
แต่เราพอจะเดาได้ว่าเมื่อเขาเดินทางกลับมาที่เอเธนส์ เขาต้องเจอกับงานที่ยาก
คำถามคือ เขาจะทำอะไรกับอำนาจที่ได้มานี้ ?
เขาจะปฏิรูปการปกครองยังไงดี?
ไคลส์ธีนีส เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เข้าใจว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว
เขามองออกว่าเมื่อประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่รวมตัวกันได้
อำนาจต่อรองต่างๆก็ย้ายมาอยู่ที่ประชาชน
เขารู้ดีว่าจะให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือ aristocrat อย่างเดิมไม่ได้แน่ๆ
ครั้นจะตั้งตัวเองเป็น tyrant เหมือนที่ชอบทำกันในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้
เพราะเห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ประชาชนกล้าที่จะเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้
แล้วยังชื่นชม คนที่สังหาร tyrant ถึงขนาดสร้างอนุสาวรีย์ตั้งไว้กลางตลาด
มีความเป็นไปได้ว่า ไคลสตินีส เองก็แค่อยากแย่งชิงอำนาจ
และเขารู้ว่า จะได้มาซึ่งอำนาจ เขาต้องเลือกยืนฝั่งประชาชน
ดังนั้นไคลส์ธีนีสจึงสัญญามาตลอดว่า ถ้ามีโอกาสเขาจะปฎิรูประบบการปกครองและให้อำนาจกับประชาชนมากขึ้น แล้วนั่นก็เป็นเหตุให้ประชาชนให้อำนาจกับเขา
แต่โจทย์ที่ยากคือ การปกครองที่อำนาจอยู่ในมือประชาชนมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
ไม่มีใครเคยเห็นการปกครองแบบนั้นมาก่อน
ไคลส์ธีนีสจึงต้อง สร้างระบอบการปกครองขึ้นมาใหม่
การปกครองที่เหมาะกับบรรยากาศการเมืองแบบใหม่
3.
ไคลส์ธีนีสรู้ว่า ปมของความวุ่นวายต่างๆมันเกิดมาจากขั้วอำนาจต่างๆของเหล่า aristocrat ที่พยายามแก่งแย่งกันขึ้นมามีอำนาจ
และแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลออกจากเมืองเอเธนส์ออกไปก็จะมีตระกูล aristocrat ที่เหมือนเป็นผู้มีอิทธิพลบริเวณนั้น
ดังนั้น ความภักดี ความรู้สึกว่าเป็นเอเธนส์ของชาวบ้านที่ห่างไกลเหล่านี้จึงมีน้อย
คนเหล่านี้จะมีความภักดีหรือความรู้สึกว่าเป็นคนของตระกูลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมากกว่า
ประชาชนเหล่านี้จึงเหมือนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตระกูล asristocrat ต่างๆที่นำประชาชนมาใช้ต่อรองหรือต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ
ดังนั้นสิ่งแรกที่เขาต้องทำคือ ทำลายอำนาจท้องถิ่นตามที่ต่างๆลง
แล้วทำให้ประชาชนแต่ละท้องที่รู้สึกถึงความเป็นชาวเอเธนส์
ทำให้ประชาชนย้ายความจงรักภักดีที่มีต่อ 'ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น' มาที่ ‘รัฐ'
และมองผลประโยชน์ของรัฐ เป็นอันดับแรก
จำได้ไหมครับ ในตอนที่แล้วผมเคยเล่าว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียก Attica (ของเอเธนส์) จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหรือ 3 พวก ตามภูมิศาสตร์ คือ
กลุ่มที่อยู่ในที่ราบสูงใกล้เมืองเอเธนส์ กลุ่มนี้เป็นคนรวย เป็นเจ้าของที่ดินที่อุดมสมบูรณ์
กลุ่มที่สอง เป็นคนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเล คนกลุ่มนี้ไม่รวยแต่ก็ไม่จน มีเงินมากพอจะเข้าร่วมเป็นทหาร hoplite
กลุ่มที่สาม เป็นพวกที่เรียกว่า อยู่ไกลจากเนินเขาออกไป คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีฐานะยากจน อาศัยห่างไกลจากตัวเมืองเอเธนส์
และด้วยภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน ทำให้คนสามกลุ่มนี้ มีความต้องการนโยบายของรัฐที่ต่างกันไป และหลายครั้งสิ่งที่แต่ละกลุ่มต้องการก็ขัดกัน คือกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ อีกกลุ่มเสียผลประโยชน์
สิ่งที่ไคลส์ธีนีสทำ คือ เขาทำลายความรู้สึกของการเป็น 3 ก๊กหรือ 3 กลุ่มแบบเดิมลง แล้วจัดแบ่งการปกครองประชาชนออกใหม่
วิธีการแบ่งแบบใหม่ของไคลส์ธีนีสที่กำลังจะเล่ามันค่อนข้างซับซ้อนนิดนึงนะครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้วรู้สึกว่าเยอะไป ก็อ่านข้ามๆไปได้ เพราะผมจะสรุปหลักการให้ฟังอีกทีนึง
แรกสุด เขาแบ่งคนที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆออกเป็นหน่วยย่อยเล็กๆที่เรียกว่า ดีม (deme) รวมทั้งหมดประมาณ 140 demes จะนึกถึงหมู่บ้านเล็กๆที่กระจายตามชนบทก็ได้ครับ
จากนั้นหลายๆ demes ก็รวมเป็น ทรีตีส์ (Tritys) ซึ่งมีทั้งหมด 30 Trityes อาจจะเทียบกับระดับอำเภอหรือจังหวัด
จะเห็นว่าการแบ่งสองระดับนี้จะแบ่งตาม ภูมิศาสตร์ คือ ตามที่อยู่อาศัยของคนจริงๆ
ตรงนี้สำหรับเราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่ามันสำคัญยังไงเพราะเราชินๆกับระบบแบบนี้อยู่แล้ว
แต่สำหรับชาวเอเธนส์เมื่อ 2500 ปีที่แล้ว มันมีผลต่อความเป็นตัวตนของพวกเขามาก
3
จากเดิมที่อาศัยอยู่ตามเนินเขาสักแห่งแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของใคร ภักดีกับตระกูลไหน
ก็เปลี่ยนมารู้สึกว่าฉันเป็นคนของ deme ไหน
แล้วไม่ใช่แค่นั้น แต่ไคลส์ธีนิส ยังให้ประชาชนในแต่ละ deme ใส่ชื่อ deme เข้าไปในชื่อตัวเองเลยเช่น
เดิมอาจจะเรียกตัวเองว่า "ฉันคือสมชายลูกของสมบูรณ์" ก็เปลี่ยนเป็น "ฉันสมชาย แห่งบ้านสองแควลูกของสมบูรณ์”
แล้วเราก็รู้ว่าวิธีการนี้ได้ผล เพราะหลายร้อยปีให้หลัง เราก็ยังเห็นชาวเอเธนส์ที่แม้จะย้ายไปถิ่นอื่น ก็ยังภูมิใจและใช้ชื่อ deme ดั้งเดิมในชื่อของตัวเองอยู่
จากระดับของ Trityes เป็นต้นไป เราจะได้เห็นความครีเอทีฟของไคลส์ตินีสกันแล้วครับ
จากทรีตีส์ 30 แห่ง ก็จะรวมเป็น ไทรบส์ (Tribes) ทั้งหมด 10 tribes (Tribes ซึ่งปัจจุบันแปลว่าเผ่า แต่ในที่นี้จะมีความหมายต่างไปเลยขอใชัทับศัพท์ไปเลยนะครับ)
ซึ่งคิดเลขง่ายๆก็จะได้ว่าใน 1 Tribes จะประกอบด้วย 3 Trityes
จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ
การรวมเป็น Tribes จะไม่เอาคนที่อยู่พื้นที่เดียวกันมารวมกัน
แต่ 3 ทรีตีส์ ที่จะประกอบเป็น Tribes นั้น
หนึ่งทรีตีส์ จะมาจากคนที่อาศัยบนที่ราบ
หนึ่งทรีตีส์จะมาจากคนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล
อีกหนึ่งทรีตีส์มาจากคนที่อาศัยไกลจากเนินเขาไป
หรือพูดง่ายๆว่าใน 1 Tribes จะประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายทั้ง ชนชั้น ความร่ำรวย ถิ่นที่อยู่อาศัย อาชีพ และความต้องการ
จากนั้นก็สร้างความกลมเกลียวภายใน Tribes โดยให้คนใน Tribes ทำงานต่างๆร่วมกัน เช่น
เมื่อเกิดสงคราม คนใน Tribes ก็จะรบร่วมกันเป็นกองร้อย ดังนั้น ในยามสงบเมื่อฝึกรบก็จะต้องเดินทางมาฝึกรบร่วมกัน พูดคุยกัน
เมื่อเกิดสงครามกัน ก็จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ตามรูปแบบการรบแบบ hoplite ที่ชีวิตของแต่ละคนจะได้รับการปกป้องจากคนที่อยู่ข้างๆ (ตรงนี้อยากแนะนำให้ดูคลิปสงครามกรีก-เปอร์เซีย ที่ผมอธิบายเกี่ยวกับการรบแบบ hoplite ไว้ด้วยครับ)
นอกจากนี้ภายใน Tribes ก็จะมีการเลือกผู้นำรบของ Tribes หรือแม่ทัพขึ้นมา 1 คน เรียกว่า สแตรตากอส (Strategos ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า strategy ที่แปลว่ากลยุทธ์)
เวลามีสงครามแต่ละครั้งเอเธนส์ก็จะมี 10 Strategoi หรือ 10 แม่ทัพจากแต่ละ Tribes ที่ช่วยกันวางแผนการรบ
ในแง่นี้จะเห็นว่า ที่มาของแม่ทัพทั้ง 10 คน ก็มาจากการคัดเลือกของประชาชนในแต่ละ tribes
1
ในแง่การปกครอง
แต่ละ tribes ก็จะจับฉลากเพื่อส่งตัวแทน 50 คนที่เรียกว่า ไปนั่งในสภา ที่เรียกว่า บูเล่ (Boule)
50 คนจาก 10 Tribes ก็รวมเป็น 500 คน
500 คนนี้ก็จะต้องมาประชุมและทำงานทุกวัน เพื่อที่จะดูแลจัดการกิจการต่างๆของเอเธนส์
นอกเหนือจากนั้น ถ้ามีปัญหาอะไรสำคัญๆที่ต้องตัดสินใจ
บูเล่ ก็จะสรุปเรื่องนั้นๆเพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมของประชาชนที่เรียกว่า ecclesia
ประเด็นต่างๆของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น การเก็บภาษี การออกกฎต่างๆ การสร้างถนน รวมไปถึงการจะทำสงครามกับรัฐอื่นหรือไม่นั้น
ประชาชนทั้งหมดจะเป็นคนออกเสียงร่วมกันว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
สำหรับท่านใดที่อ่านข้ามๆมา ถึงตรงนี้ผมจะสรุปย่อๆให้ฟังแล้วครับ
โดยสรุปทั้งหมดจะเห็นว่า สิ่งที่ไคลส์ธีนีสทำจะเหมือน การจัดแข่งกีฬาสีในหลายๆโรงเรียน
จากเดิมที่ความรู้สึกเป็นพวกจะแบ่งตามห้องเรียนเช่น เด็กป.1ก ป.1ข ป.1ค ป.2ก ป.2ข ป.2ค แล้วผู้มีอิทธิพลคือหัวหน้าห้องของแต่ละห้อง
การจัดสรรใหม่ตามสีจะทำให้เด็กในแต่ละห้อง แต่ละชั้นปี กระจายไปอยู่ตามสีต่างๆ 10 สี
ดังนั้นภายในห้องเรียนหนึ่งเด็กก็จะกระจายไปอยู่ตามสีต่างๆ
เกิดว่าห้องไหนหัวหน้าห้องพยายามจะกดขี่ข่มเหง เช่น หัวหน้าห้อง ป.1ก พยายามบังคับให้เด็กในห้องยกพวกไปตีกับ ป1.ข
เด็กป.1ก ซึ่งไม่อยากไปทะเลาะเพราะมีเพื่อนสีเดียวกันอยู่ใน ป.1ข ก็สามารถไปขอความความช่วยเหลือ เด็กจากสีเดียวกันจากห้อง ป.2ข และป.2ค ได้
นอกจากนั้นการต้องไปทำงานกับคนในสีเดียวกัน ก็จะทำให้ได้ไปพบ ไปพูดคุยและทำความเข้าใจของคนกลุ่มอื่นที่ต่างไปจากตัวเอง ทั้งในแง่ อาชีพ ความรวย ความสนใจ
ความรู้สึกของการเป็นชาวเอเธนส์ร่วมกันจึงแข็งแรงขึ้น
ความต้องการจะทำสิ่งต่างๆเพื่อความก้าวหน้าของเอเธนส์จึงเกิดขึ้น
ความสัมพันธ์หรือจงรักภักดีต่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นถูกสลายไปหมด
การเลือกคนขึ้นมาเป็นแม่ทัพ หรือเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการรัฐ ก็มาจากสมาชิกในแต่ละสี
ทำให้อำนาจการปกครองมีการหมุนเวียนกระจายไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง
อีกหนึ่งการปฏิรูปสำคัญที่เชื่อว่าน่าจะเริ่มต้นขึ้นโดยไคลส์ธีนีส
และเป็นการปฏิรูปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมี tyrant ขึ้นในอนาคตคือ การริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า Ostracism
หรือการโหวตขับไล่คนๆหนึ่งออกไปจากเอเธนส์นานเป็นเวลา 10 ปี
โดยในแต่ละปีประชาชนในเอเธนส์จะโหวตกันว่าปีนี้จะขับไล่ใครไหม
ถ้าโหวตว่าจะมีการขับไล่ ก็จะมีการลิสต์รายชื่อคนที่สมควรโดนขับไล่ขึ้นมา
จากนั้นก็ให้ชาวเอเธนส์มาโหวตว่าต้องการขับไล่คนไหน
โดยการเขียนชื่อคนนั้นลงไปแผ่นกระเบื้องจากหม้อดินเผาที่แตกที่เรียกว่า ออสตราก้า (Ostraka สมัยนั้นเป็นขยะที่เกลื่อนเมืองน่าจะเทียบเท่าขยะพลาสติกของทุกวันนี้)
แล้วนำไปหย่อนลงคะแนน
ใครที่โดนโหวตก็จะต้องเก็บข้าวของแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น 10 ปี โดยที่สมบัติ บ้านจะไม่ถูกยึด ครอบครัวยังอยู่ได้ตามปกติ
การโหวตนี้จะเป็นกลไกสำหรับการตัดไฟแต่ต้นลม
เมื่อพบว่าใครที่เริ่มจะสะสมอำนาจมากๆ และเสี่ยงที่จะกลายเป็น tyrant
ก็จะถูกชาวเอเธนส์โหวตขับไล่ออกไป 10 ปี
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ต่อมาถูกโหวตออกไปคือ เธอมิสโตคลีส (Themestocles) วีรบุรุษสงคราม ที่นำทัพกรีกรบกับเปอร์เซีย (ที่ผมเล่าไว้ในคลิปสงครามกรีก-เปอร์เซีย)
หลังสงครามเขาโอหังมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวเอเธนส์หมั่นไส้เลยโหวตให้ออกไปเสียสิบปี
4.
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไม แต่หลังจากปฏิรูปเสร็จ ชื่อของไคลส์ธีนีสก็หายไปจากประวัติศาสตร์ของเอเธนส์
เขาแทบจะไม่ถูกพูดถึงอีก เราไม่รู้ว่าเขาเสียชีวิต ก้าวลงจากอำนาจ หรือหมดบทบาทสำคัญ
ชาวเอเธนส์เหมือจะไม่ให้ความสำคัญกับเขามากนัก ไม่มีการเขียนถึง ไม่มีการสร้างอนุสาวรีย์ระลึกถึง
2
อย่างไรก็ตาม เพราะการปฏิรูปของเขาที่มีการให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างจริงจังและค่อนข้างทั่วถึงเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันนี้เมื่อเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์
เราจึงนิยมยกย่องให้ ไคลส์ธีนีส เป็นบิดาของ การปกครองแบบประชาธิปไตย
5.
แต่ประชาธิปไตยของเอเธนส์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ยังมีวิวัฒนาการไปอีกอย่างต่อเนื่อง
แล้วด้วยธรรมชาติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้ให้คนจำนวนมากออกความเห็น โต้เถียงโต้แย้งกัน สนับสนุนให้ต่อสู้ทางความคิด ทำให้สังคมและการเมืองของเอเธนส์เหมือนจะเต็มไปด้วยความวุ่นวายตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสังคมทหารของสปาร์ตาที่ดูสงบและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมาก
แต่ในระยะยาวหลักหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี สังคมที่เปิดให้คนโต้เถียงกัน ขัดแย้งกัน วิพากย์วิจารณ์กัน มีแนวโน้มจะก้าวหน้าได้มากกว่า เพราะความคิดใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆมีโอกาสได้ถูกนำมาทดลอง ถูกคัดเลือกและเติบโต
3
การปกครองแบบประชาธิปไตยของเอเธนส์จึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ในเวลาต่อมาเอเธนส์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นผู้นำด้านศิลปะ วัฒนธรรม และวิทยาการด้านต่างๆ และทิ้งมรดกเหล่านี้ให้กับโลกมาจนถึงทุกวันนี้มากมาย
ตรงข้ามกับสปาร์ตาซึ่งนอกจากตำนานของกองทัพที่เกรียงไกรแล้ว สปาร์ตาแทบไม่ได้ทิ้งอะไรไว้เป็นมรดกกับชนรุ่นหลังเลย
การปกครองแบบประชาธิปไตยยังเป็นส่วนสำคัญที่ต่อมาเอเธนส์ขยายอำนาจจนกลายเป็นจักรวรรดิ์ที่บังคับให้นครรัฐอื่นๆเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และทำโทษหรือกดขี่นครรัฐอื่นๆที่พยายามต่อต้าน
และการปกครองระบอบประชาธิปไตยของเอเธนส์ก็อาจจะเรียกได้ว่ามีส่วนทำให้เอเธนส์ล่มสลายลงเช่นกัน ....
ก็ขอจบซีรีส์กำเนิดประชาธิปไตย ไว้เพียงเท่านี้นะครับ
สำหรับเรื่องราวการที่นครรัฐเล็กๆอย่างเอเธนส์ก้าวขึ้นมาจักรวรรดิ์ได้อย่างไร และ (นักการเมือง)ในระบอบประชาธิปไตย จะนำไปสู่การล่มสลายของเอเธนส์ได้อย่างไรนั้น วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังต่อ เมื่อเล่าถึงสงคราม Peloponneses หรือ สงครามใหญ่ที่เอเธนส์รบกับสปาร์ตา ครับ
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ปิดท้ายด้วยโฆษณา
ต้องการซื้อหนังสือที่ผมเขียน ก็ลองเข้าไปเลือกดูได้ตามลิงก์นี้ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกรีกที่ดูได้จากที่นี่ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา