1 มิ.ย. 2020 เวลา 13:53 • ประวัติศาสตร์
“ความขัดแย้งของราชวงศ์วินเซอร์” สู่เส้นทางและโชคชะตาแห่งบัลลังก์อังกฤษ
ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1952
เพลง “God Save the Queen” ได้ดังกึกก้องไปทั่วมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ของอังกฤษ
เสียงเพลงได้กระหึ่มอย่างไพเราะ ขนลุก และยิ่งใหญ่
ท่ามกลางเสียงเพลงอันกังวานนั้น คือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่สวมมหามงกุฎแล้วยืนตระหง่านอยู่กลางวิหาร...
เธอคือคนที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ของประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างอังกฤษ
เธอคือคนที่กำลังจะกลายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วินเซอร์ และควีนองค์ที่ 6 แห่งบัลลังก์อังกฤษ
และเธอคือคนที่จะถูกเรียกขานว่า “ควีนอลิซาเบธที่ 2”
ทุกท่านครับ นี่คือฉากหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
และ ณ ที่นี้ ผมจะนำพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น...
เรื่องราวของราชวงศ์วินเซอร์...
เรื่องราวของสายเลือด...
เรื่องราวของการเมือง...
ข่าวลือ...
ข่าวอื้อฉาว...
การแบ่งแยก...
การไม่ยอมรับ...
ความขัดแย้ง...
และโชคชะตาที่เปิดเส้นทางให้เจ้าหญิงองค์หนึ่ง ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ของอังกฤษ
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
เริ่มแรกผมจะขอเล่าถึงเรื่องของราชวงศ์วินเซอร์ก่อนนะครับ
โดยราชวงศ์วินเซอร์เนี่ย ไม่ใช่ราชวงศ์ที่เก่าแก่ยาวนานของอังกฤษเลย แต่เป็นราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ครับ ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ.1917 (100กว่าปี)
1
เหตุผลที่ต้องตั้งราชวงศ์วินเซอร์ขึ้นมานั้น ก็เพราะว่า ราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์วินเซอร์ คือราชวงศ์ฮาโนเวอร์ครับ โดยฮาโนเวอร์เป็นชื่อรัฐหนึ่งในเยอรมนี สรุปแล้วราชวงศ์ฮาโนเวอร์ เป็นราชวงศ์อังกฤษที่ผู้ปกครองมีสายเลือดเยอรมันเข้มข้นเลยล่ะครับ!
1
ดังนั้น เมื่อสิ้นสมัยของควีนวิกตอเรียและกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7(โอรสควีนวิกตอเรีย)แล้ว กษัตริย์จอร์ชที่ 5 (โอรสของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7) จึงคิดว่า “บัลลังก์ก็เป็นบัลลังก์ของอังกฤษ แต่กลับอยู่ภายใต้ราชวงศ์ที่ชื่อเยอรมัน ดูไร้ศักดิ์ศรีแปลกๆ”
1
บวกกับสถานการณ์การเมืองในตอนนั้นที่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเยอรมนีเป็นผู้ก่อสงครามและเป็นศัตรูของอังกฤษ ดังนั้น กษัตริย์จอร์ชที่ 5 จึงตั้งชื่อราชวงศ์แบบอังกฤษ คือ ราชวงศ์วินเซอร์นั่นเองครับ
นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนพระนามของเจ้าอังกฤษที่มีชื่อเยอรมันให้กลายเป็นชื่ออังกฤษทั้งหมด เรียกได้ว่า ตัดขาดความเกี่ยวข้องจากเยอรมันอย่างสิ้นเชิงครับ (แต่ก็ยังคงมีสายเลือดเยอรมันอยู่นะ...)
ราชวงศ์วินเซอร์ในสมัยแรก
สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ดำเนินไประหว่าง ค.ศ.1914-1918 ซึ่งหากดูดีๆแล้วเหมือนเป็นตลกร้ายครับ เพราะสงครามครั้งนี้เหมือน “เหล่าพี่น้องสายเลือดเดียวกัน” สู้รบกันเอง เพราะไกเซอร์วิลเฮร์มที่ 2 แห่งเยอรมัน เป็นโอรสของควีนวิกตอเรีย ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและจอร์ชที่ 5 แห่งอังกฤษก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และยังเป็นหลานของควีนวิกตอเรียอีกด้วย ดังนั้นเชื้อพระวงศ์ของประเทศที่ห้ำหั่นกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างเป็นเชื้อสายของควีนวิกตอเรียกันทั้งนั้น...
กลับมาที่เรื่องราชวงศ์วินเซอร์ครับ กษัตริย์จอร์ชที่ 5 มีคู่ครองคือควีนแมรี่ โดยทั้งสองมีโอรสและธิดาด้วยกันทั้งหมด 6 พระองค์ครับ โดยคนที่ผมจะพูดถึงและเป็นตัวละครเด่นของเรื่องราวมี 2 พระองค์ครับ คือ เจ้าชายเดวิด และเจ้าชายเบอร์ที
1
โดยเจ้าชายทั้งสองพระองค์นั้น เรียกได้ว่า มีคาแรกเตอร์ที่ตรงข้ามกันอย่างสุดๆ เจ้าชายเดวิดที่เป็นพี่นั้นมีความมั่นใจในตนเองสูง ชอบการเข้าสังคม บุคลิกภาพดี เอาง่ายๆคือสมาร์ททุกกระเบียดนิ้ว และขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าชายเพลย์บอยเลยทีเดียวครับ แตกต่างจากเจ้าชายเบอร์ทีคนน้องที่เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าสบตาคน ไม่มั่นใจในตัวเอง ขาโก่ง กลัวความสูง และที่สำคัญ คือ ติดอ่างอย่างรุนแรง!
ภาพจาก World History Online (เจ้าชายเบอร์ทีและเจ้าชายเดวิด)
เจ้าชายเดวิดได้รับความสนใจจากคนทั่วไปสูงมาก เนื่องจากเป็นคนง่ายๆสบายๆ เฟรนลี่ แถมยังทรงเสน่ห์ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหญิงหลายคนตั้งแต่เริ่มเป็นหนุ่ม ถึงขนาดบางครั้งมีพร้อมๆกันจนต้องสับรางอย่างระมัดระวังเลยทีเดียวล่ะครับ...
แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าชายเดวิดก็ถือว่า มีการเตรียมความพร้อมได้ดีพอสมควรเลยล่ะครับในการที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคต โดยจบจากโรงเรียนทหารเรือและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทั้งยังมีการประพาสไปในหลายๆประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าชายเดวิดถึงขนาดเลือดร้อนอยากไปออกรบด้วยตัวเองเชียวล่ะครับ แต่ถูกทัดทานจากราชสำนักและรัฐบาล ถึงกับมีการตัดพ้ออย่างรุนแรงว่า “อะไรวะ เป็นรัชทายาท ทำไมจะรบเพื่อชาติไม่ได้ ถึงเราจะตายในสงคราม เราก็ยังมีน้องชายอีกตั้ง 4 คน พวกนั้นไม่มีใครที่จะเป็นกษัตริย์ได้เลยหรือยังไง!!”
หลังสงคราม เจ้าชายเดวิดก็ใช้ชีวิตแบบเพลย์บอยของตัวเองต่อไป และพฤติกรรมของเจ้าชายเดวิดได้สร้างความหนักใจให้กับกษัตริย์จอร์ชที่ 5 พอสมควร จากการเป็นเจ้าชายเพลย์บอยเจ้าสำราญ จนถึงขั้นมีการแช่งว่า “เดวิดมันไม่เอาไหน คอยดูไว้เถอะ พอเดวิดขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่ถึงปี มันก็จะไปไม่รอด เราขอให้เบอร์ทีหรือลิลิเบธได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนเดวิดด้วยเถอะ!”
ใครจะไปคิดล่ะครับว่า คำแช่งของกษัตริย์จอร์ชที่ 5 ซึ่งอาจพูดด้วยอารมณ์โกรธชั่ววูบหรืออะไรก็แล้วแต่ ดันกลายเป็นความจริงขึ้นมาในอนาคต!!...
อันเนื่องมาจากในช่วงชีวิตของเจ้าชายเพลย์บอยนี้ ได้ผ่านสตรีมามากหน้าหลายตา แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดที่จะกุมหัวใจของเจ้าชายผู้เพอร์เฟค มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งองค์นี้ได้เลย
1
จนกระทั่งมีหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้ามาในชีวิตของเจ้าชายเดวิด ผู้หญิงคนนี้เคยแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้งครับ และผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่า วอลลิส ซิมป์สัน
วอลลิสคนนี้แหละครับที่จะเป็นคนที่กุมหัวใจของเจ้าชายเดวิดไว้อย่างอยู่หมัดพร้อมทั้งเป็นผู้ที่จะสร้างความขัดแย้งให้ราชวงศ์วินเซอร์และสั่นสะเทือนบัลลังก์อังกฤษ...
ภาพจาก The Glam Pad (วอลลิส ซิมป์สัน)
วอลลิส ซิมป์สัน (นามสกุลเดิม วอร์ฟิลด์) ถึงแม้จะมีสถานะเป็นสามัญชน แต่ก็มีเลือดผู้ดีอยู่ไม่น้อย โดยบรรพบุรุษเป็นถึงผู้ดีอังกฤษที่เดินทางไปบุกเบิกพื้นที่ในอเมริกา ฐานะของตระกูลถือว่ามั่งคั่งไม่ใช่น้อยเลยล่ะครับ แถมวอลลิส ยังถูกเลี้ยงมาแบบผู้ดีอังกฤษ (ทั้งๆที่เป็นอเมริกัน) มีการวางตัวที่เนี้ยบ การแต่งตัวเรียกได้ว่า เป็นผู้นำเทรนด์ในสมัยนั้นเลยทีเดียว ใครพบใครเจอผู้หญิงคนนี้ จะรู้ได้เลยว่า “ไม่ธรรมดาแน่นอน”
1
วอลลิสแต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 20 ปี กับเรือโทเอิร์ล วินฟิลด์ สเปนเซอร์ และก็ต้องเลิกรากันไปในที่สุด เมื่อสามีคนนี้ติดเหล้า แถมยังชอบทุบตีวอลลิสอย่างรุนแรง
หลังจากหย่าขาด วอลลิสก็มีความสัมพันธ์กับชายอีกหลายคน จนกระทั่งได้พบกับสามี-ภรรยาคู่หนึ่งครับ คือ นายและนางเออร์เนส ซิมป์สัน
โดยเออร์เนสผู้เป็นสามี ให้ความสนใจวอลลิสอย่างมาก อีกทั้งวอลลิสก็สนใจเออร์เนสเช่นกัน! จนในที่สุดเออร์เนสก็จัดการหย่ากับภรรยา แล้วมาแต่งงานกับวอลลิส หลังจากนั้นทั้งสองคนได้พากันย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่ที่อังกฤษ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นในการพบกันของเจ้าชายเดวิดและวอลลิส ซิมป์สันครับ...
1
ภาพจาก The Mirror (วอลลิส ซิมป์สัน กับ เจ้าชายเดวิด)
ผู้ที่ทำให้ทั้งคู่ได้พบกัน คือ เต็ลมา เฟอร์เนส ซึ่งเป็นสาวในสต็อกของเจ้าชายเดวิดคนหนึ่งครับ โดยเต็ลมาคนนี้เนี่ยรู้จักกับวอลลิส จึงได้เชิญทั้งสองคนให้มารู้จักกันในโอกาสดินเนอร์ที่บ้านของเต็ลมาครับ
ในช่วงเวลาที่เจ้าชายเดวิดได้มีโอกาสพูดคุยกับวอลลิส ทำให้เจ้าชายรู้สึกแปลกๆ จนตกหลุมรักในความฉลาดล้ำ ขี้เล่น อ่อนโยน และวอลลิสนั้นไม่มีความประหม่าเลยเมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าชาย นับตั้งแต่วันนั้นแหละครับที่ทั้งสองได้สานสัมพันธ์กันต่อ จนวอลลิสกลายมาเป็นพระสหายสตรีอันดับ 1 ของเจ้าชาย
1
ภายในเวลาไม่กี่เดือน ไม่มีใครบนเกาะอังกฤษที่ไม่รู้จักวอลลิส ซิมป์สัน พระสหายอันดับ 1 ของเจ้าชายแห่งเวลส์...
กษัตริย์จอร์ชที่ 5 ยิ่งกังวลเรื่องเจ้าชายเดวิดหนักขึ้นไปอีก เพราะเมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายกับวอลลิสเริ่มที่จะลึกซึ้งเกินคำว่าสหายมากขึ้น ถึงขนาดมีข่าวว่าเธอกำลังจะหย่ากับสามี เพื่ออภิเษกสมรสกับเจ้าชายรัชทายาทแล้วกลายเป็นควีนคู่บัลลังก์ของอังกฤษในอนาคต
ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปเร็วกว่าที่คาดคิดแม้ว่าในสมัยนั้นไม่มีเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ สร้างความขัดแย้งภายในราชวงศ์และความรู้สึกของประชาชนอังกฤษ
2
ถึงขนาดมีประชาชนหลายกลุ่มได้ออกมาโห่ไล่วอลลิส ในสถานที่ต่างๆ ว่า “อย่าแย่งเจ้าชายของพวกเราไป!”
และแล้ว หลังจากกษัตริย์จอร์ชที่ 5 ครองราชย์ได้ 25 ปี ก็ประชวรด้วยโรคปอดเนื่องจากสูบบุพระโอสถมวนเป็นจำนวนมากมาตลอดชีวิต อาการจึงทรุดหนักเกินเยียวยาและสวรรคตในที่สุด เมื่อ ค.ศ.1936
ภาพจาก Daily Express (การประท้วงต่อต้านวอลลิส ซิมป์สัน)
หลังกษัตริย์จอร์ชที่ 5 สวรรคต เจ้าชายเดวิดก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 (ต่อจากนี้ผมจะขอเรียกว่ากษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 นะครับ) สถานการณ์ของโลกในตอนนั้นถือได้ว่าตึงเครียดในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ การแผ่ขยายอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในยุโรป หรือการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นในเอเชีย ซึ่งรัฐบาลและคนบนเกาะอังกฤษไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เท่ากับเรื่องที่ว่า “วอลลิส ซิมป์สันจะอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แล้วขึ้นเป็นควีนองค์ใหม่ของอังกฤษหรือป่าว?”
Topic อันนี้นี่แหละครับทำให้เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายนึงคือพวกอนุรักษ์นิยม ที่หยิ่งในศักดิ์ศรี และบัลลังก์ของตนต้องยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ ไม่มีทางซะหรอกที่จะเอาหญิงที่หย่ามาแล้วถึง 2 ครั้ง แถมยังเป็นหญิงสามัญชนต่างชาติ มาแปดเปื้อนบัลลังก์และเป็นควีนของพวกเขา...
ส่วนอีกฝ่ายก็บอกให้อังกฤษทิ้งความคิดคร่ำครึแบบโบราณไปได้แล้ว นี่มันสมัยไหนแล้ว จะมาแบ่งแยกชนชั้นอยู่ทำไม มิสซิสวอลลิสก็เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันเหมือนพวกเรา ถึงจะหย่ามาแล้ว 2 ครั้ง แต่การที่จะขึ้นเป็นควีนมันผิดตรงไหน หากทั้งสองคนรักกันจริงๆ?
2
เรื่องราวนี้สร้างความหนักอกหนักใจให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 อย่างมาก ทั้งยังสร้างรอยร้าว รอยบาดหมางกับเจ้าอังกฤษองค์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่พากันต่อต้านวอลลิส ซิมป์สัน
และแล้ว วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1936 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดก็ตัดสินใจสละราชสมบัติหลังจากครองราชย์ได้ไม่ถึงปี โดยให้เหตุผลว่า “เราไม่สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆในฐานะกษัตริย์ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากปราศจากหญิงที่เรารัก”
ข่าวนี้ได้สร้างความตกใจ เศร้าโศก เสียดาย และอาลัย ต่อประชาชนบนเกาะอังกฤษอย่างที่พวกเขาไม่อยากจะเชื่อว่า “เรื่องจะลงเอยแบบนี้”
ภาพจาก Britannica (กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 ประกาศสละราชสมบัติ)
จากกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 ได้เปลี่ยนสถานะเป็นดยุคแห่งวินเซอร์ (วอลลิสกลายเป็นดัชเชสแห่งวินเซอร์)
จากการสละราชย์นี่แหละครับ ที่ทำให้ดยุคแห่งวินเซอร์ ถูกวิจารณ์จากประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งยังแตกหักกับราชวงศ์วินเซอร์ แต่ก็ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสละราชย์สมบัติครั้งนี้ ว่าดยุคแห่งวินเซอร์เต็มใจจริงๆหรือป่าว?
1
ซึ่งกลายเป็นว่ามีข้อคิดที่เป็นเบื้องลึกเบื้องหลังในการสละราชย์ครั้งนี้ครับ คือ ดยุคแห่งวินเซอร์ (กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8) ถูกรัฐบาลกดดันบีบบังคับให้สละราชย์ครับ!! เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ตัวของดยุคแห่งวินเซอร์และวอลลิส ซิมป์สันเนี่ย มีใจเอนเอียงเห็นด้วยกับนาซี และนิยมอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ครับ!!
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้ จะส่งผลเสียต่อนโยบายของรัฐบาลอังกฤษแน่นอน หากกษัตริย์และควีนเอนเอียงไปทางนาซี รัฐบาลจึงได้กดดันให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 สละราชสมบัตินั่นเองครับ...
อีกทั้งทางราชวงศ์ได้กีดกันสามี ภรรยาคู่นี้ไม่ให้มากร้ำกรายลอยนวลในหมู่ราชวงศ์ แล้วเนรเทศให้ทั้งสองคนกลายเป็น คนพลัดถิ่น ล่องลอยเดินทางไปอย่างไม่มีหลักแหล่งจนตาย (แต่แม้จะถูกเนรเทศ ก็ยังมีทรัพย์สมบัติพอให้อยู่สบายไปทั้งชีวิตนั่นแหละครับ) พร้อมกับถูกตัดขาดในลำดับสายการสืบราชสันตติวงศ์ของบัลลังก์อังกฤษในที่สุด
ทำให้เจ้าชายเบอร์ที ที่เป็นคนน้องนี่แหละครับ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์จอร์ชที่ 6 และกษัตริย์จอร์ชที่ 6 มีธิดา 2 องค์ คือ อลิซาเบธและมากาเร็ต...
1
ใช่แล้วครับ อลิซาเบธที่พูดถึง คือ ควีนอลิซาเบธที่ 2 ในอนาคตนั่นเอง...
ภาพจาก All That’s Interesting (วอลลิส ซิมป์สัน กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์)
เจ้าชายเบอร์ที ที่ผมได้เล่าไปแล้วว่า เป็นคนที่ติดอ่างอย่างรุนแรง และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกทั้งชีวิตเลยล่ะครับ ทั้งยังมีนิสัยขี้อายเรียบร้อย ไม่ได้เป็นเพลย์บอยมากหญิงแบบพี่ชาย แต่ถึงอย่างนั้นเ เจ้าชายเบอร์ทีก็ได้พบรักกับหญิงชนชั้นสูงคนหนึ่งครับ คือ เลดี้อลิซาเบธ โบวส์-ไลออน แล้วตกลงปลงใจอภิเษกสมรสกันในที่สุด และมีธิดาร่วมกัน 2 องค์ คือ เจ้าหญิงอลิซาเบธและเจ้าหญิงมากาเร็ต
หลังจากนั้นไม่นานเจ้าชายเบอร์ทีก็ได้ขึ้นครองราชย์แทนพี่ชายที่สละราชย์ไป กลายเป็นกษัตริย์จอร์ชที่ 6 สายสืบสันตติวงศ์จึงตกมาสู่เจ้าหญิงอลิซาเบธในที่สุด
2
เจ้าหญิงอลิซาเบธนั้นโกรธเคือง ดยุคแห่งวินเซอร์อย่างมากที่ทำให้บิดาของตนเองต้องเป็นกษัตริย์ ทำให้ชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นที่เคยมีได้หมดลงไป เนื่องจากภาระงานของกษัตริย์และควีน อีกทั้งตัวเองยังต้องมารับภาระในการเป็นรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษ...
แต่ถึงแบบนั้น เจ้าหญิงอลิซาเบธก็ได้รับการเตรียมพร้อมและเตรียมตัวที่ดีมาก ถูกเลี้ยงดูสั่งสอนมาอย่างดี ทั้งยังมีแววฉลาดมาตั้งแต่เด็กๆ ถึงขนาดวินสตัน เชอร์ชิล ได้พูดว่า “เจ้าหญิงมีบุคลิกดีมาก มีบรรยากาศของการเป็นเด็กช่างคิดและดูมีอำนาจ”
1
วิชาที่เจ้าหญิงอลิซาเบธเห็นความสำคัญและเรียนรู้อย่างตกผลึก คือ วิชาทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญของอังกฤษ และวิชาประวัติศาสตร์ แต่ช่วงที่เป็นวัยเรียนรู้ของเจ้าหญิงนั้น ตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเจ้าหญิงต้องแยกกันอยู่กับบิดา มารดา เนื่องจากกษัตริย์และควีนต้องไปอยู่ที่ลอนดอนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทหาร
ผู้ที่ไม่พอใจและฉุนเฉียวกับสถานการณ์ตอนนั้นที่สุดไม่ใช่เจ้าหญิงอลิซาเบธ แต่เป็นเจ้าหญิงมากาเร็ตผู้เป็นน้องสาว ที่ถึงขนาดพูดว่า “ไอ้ฮิตเลอร์นี่มันเป็นใครกัน ถึงขนาดมาพรากความอบอุ่นของพ่อแม่จากเรา!”
ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ผ่านพ้นไป เจ้าหญิงอลิซาเบธก็ได้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ จนในที่สุดก็ถึงวัยที่ต้องหาคนที่จะมาเป็นคู่ครองของเจ้าหญิง คราวนี้แหละครับ เรื่องราวดราม่าเข้มข้นของราชวงศ์วินเซอร์ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง...
ภาพจาก Jetss (เจ้าหญิงอลิซาเบธ)
ข่าวซุบซิบ ได้เกิดขึ้นไปทั่วเกาะอังกฤษอีกครั้งว่า “หนุ่มคนไหนกัน ที่จะถูกเลือกให้เป็นพระสวามีของเจ้าหญิงที่จะเป็นควีนอังกฤษในอนาคต” ซึ่งก็มีข่าวลือไปต่างๆนานาครับว่า เป็นคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง คนโน้นบ้าง โดยหารู้ไม่ว่า หัวใจของเจ้าหญิงนั้นถูกจับจองโดยคนที่ไม่มีใครคาดคิดซะแล้ว...
3
โดยเรื่องเกิดขึ้นเมื่อตอนเจ้าหญิงอยู่ในวัย 13 พรรษาครับ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น กษัตริย์จอร์ชที่ 6 ควีนและเจ้าหญิง 2 องค์ พร้อมกับลอร์ดหลุย เมาท์แบ็ตตัน ได้ขึ้นเรือไปเยือนโรงเรียนนายเรือหลวงที่ดาร์ธมัต
บนเรือลำนั้นแหละครับที่เจ้าหญิงอลิซาเบธได้พบกับนักเรียนนายเรือคนหนึ่งในวัย 18 ปี เรียกได้ว่าเป็นนายเรือที่หล่อเหลาที่สุดในเรือเลยล่ะครับ โดยนายเรือคนนั้นได้ร่วมโต๊ะเสวยกับเจ้านายทั้ง 4 พระองค์ เพราะมีศักดิ์เป็นหลานของลอร์ดหลุย
ในตอนนั้น เจ้าหญิงอลิซาเบธก็ได้รู้ชื่อของนายเรือคนนั้นครับ คือ เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซ
ตั้งแต่วันที่เจ้าหญิงอลิซาเบธได้พบกับเจ้าชายฟิลิปบนเรือ ทั้งสองคนก็ไม่เคยลืมเลือนกันเลยล่ะครับ แล้วเมื่อวันเวลาล่วงเลยไปหลังสงคราม บุคคลที่ทำให้คนทั้งสองต้องมาพบกันอีก คือ ลอร์ดหลุย เมาท์แบตตัน โดยตัวของท่านลอร์ดคิดว่า “ไม่มีใครที่เหมาะกับเจ้าหญิงอลิซาเบธมากไปกว่าเจ้าชายฟิลิปแล้วล่ะ” ดังนั้น จึงพยายามทำตัวเป็นพ่อสื่อ คอยยิงศรคิวปิดนำทางให้คนทั้งสองอยู่เสมอเลยล่ะครับ
1
แต่ทว่า ความคิดของคนหลายๆกลุ่มนั้น คิดว่าทั้งสองคนไม่เหมาะสมกันอย่างยิ่ง เพราะเจ้าหญิงอลิซาเบธเป็นถึงรัชทายาท มีตัวเลือกอีกมากมายที่ดีกว่าเจ้าชายฟิลิป ที่เป็นแค่เจ้าชายปลายแถว แล้วก็มีเรื่องซุบซิบนินทาไปทั่วเกาะอังกฤษอีกเช่นเคย...
แต่ลอร์ดหลุยพ่อสื่อก็ไม่ยอมลดละความพยายามครับ โดยเปลี่ยนสถานะเจ้า ชายฟิลิป จากเจ้าชายแห่งกรีซ มาเป็น เจ้าชายแห่งเมาท์แบตตัน เพื่อยกสถานะ แล้วแปลงสัญชาติจากกรีกมาเป็นอังกฤษ
5
แต่ถึงแม้จะถูกดันขนาดไหน เจ้าชายฟิลิปก็ระมัดระวังตัวพอดู ไม่ให้ตกเป็นขี้ปากชาวบ้านมากเกินไป แต่ก็พยายามสานสัมพันธ์กับเจ้าหญิงไปอย่างเงียบๆ
1
จนในที่สุดเจ้าชายฟิลิปก็ได้ถูกยอมรับจากเหล่าราชวงศ์และประชาชนอังกฤษครับ และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงใน ค.ศ.1947
มีเกร็ดเกี่ยวกับวันอภิเษกสมรสมาเล่านิดนึงครับว่า ก่อนวันสมรสนั้นได้มีของขวัญหลายพันชิ้นส่งมาแสดงความยินดี แต่มีของขวัญชิ้นหนึ่งครับที่ราชวงศ์อังกฤษต่างพากันนินทา ดูถูกและเจ็บใจ นั่นคือของขวัญจากมหาตมะคานธีแห่งอินเดีย โดยของขวัญชิ้นนั้นคือ ผ้าป่านบางเบาสีขาว เหมือนผ้าที่คานธีใช้นุ่งตลอดนั่นแหละครับ...
ภาพจาก EWN (เจ้าหญิงอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิป)
หลังพิธีเสกสมรส คู่บ่าวสาวได้ไปอยู่ด้วยกันที่พระราชวังบักกิงแฮม แล้วทั้งคู่ก็มีโอรสและธิดาอย่างละ 1 พระองค์ คือเจ้าชายชาร์ล และเจ้าหญิงแอนน์ ชีวิตครอบครัวของทั้งคู่ถือได้ว่าอบอุ่นและมีความสุขทีเดียวครับ
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อกษัตริย์จอร์ชที่ 6 เสด็จสวรรคต
ขณะนั้นเจ้าหญิงอลิซาเบธมีพระชนมายุ 25 พรรษา เป็นช่วงเวลาที่ภาระอันหนักอึ้ง จะตกมาอยู่บนบ่าของหญิงสาวผู้ที่จะเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษองค์ต่อไป...
พิธีบรมราชาถิเษกได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1952 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
“เจ้าหญิงอลิซาเบธ” ได้สวมมหามงกุฎ กลายเป็น “ควีนอลิซาเบธที่ 2”
การขึ้นสู่บัลลังก์นี้ทำให้ชีวิตของควีนเปลี่ยนไปอย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น...
การขัดแย้งกับผู้เป็นแม่ เนื่องจากความริษยาหรืออะไรก็แล้วแต่ ในการขึ้นสู่บัลลังก์ของควีน...
การไม่ลงรอยกันกับเจ้าชายฟิลิป เนื่องจากเจ้าชายรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า และถูกกีดกันเรื่องงานของบ้านเมือง...
การปกครองในฐานะกษัตริย์อังกฤษ...
เหล่านี้เป็นภาระที่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ต้องแบกรับ
แต่มีคำสอนหนึ่งที่ควีนจดจำได้เสมอ คือคำสอนของพระพันปีแมรี ที่ได้บอกกับควีนตอนขึ้นครองราชย์ คือคำสอนที่ว่า “การเป็นกษัตริย์ในระบอบที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างอังกฤษ สิ่งสำคัญ คือ do nothing”
และควีนก็ do nothing มาโดยตลอด คือเป็นเพียงผู้ติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง แต่ไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องของการเมืองภายใน เป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ของอังกฤษกับบุคคลสำคัญทั่วโลกเพียงเท่านั้น...
นับว่าเป็นโชคชะตาอย่างแท้จริงครับสำหรับเส้นทางสู่บัลลังก์ของควีนอลิซาเลธที่ 2
1
ที่เกิดจากความขัดแย้งภายในของราชวงศ์วินเซอร์
และนี่คือเรื่องราว (เกือบ) ทั้งหมดเกี่ยวกับราชวงศ์วินเซอร์ เส้นทางและโชคชะตาแห่งบัลลังก์อังกฤษ...
ภาพจาก BT.com (พิธีบรมราชาภิเษกควีนอบิซาเบธที่ 2)
อ้างอิง
King Greg, The Duchess of Windsor (London : Aurum Press, 2003).
Longford Elizabeth, The Royal House of Windsor (London : Sphere Books Limited).
1
Mortimer, Penelope, Queen Elizabeth : A life of the Queen Mother (Hert fordshire : Cumberland House. 1989).

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา