6 มิ.ย. 2020 เวลา 15:12 • ประวัติศาสตร์
การเรียกผู้หญิงในกาพย์กลอนสมัยอยุธยา
Women in Poems in the Ayudhya Period
เป็นที่แน่นอนเจ้าค่ะว่า ชายชาวอยุธยาผู้ใดที่แต่งกาพย์กลอนเกี้ยวสาวเก่ง เห็นจะเป็นที่หมายปองของหญิงทั่วไปในเขตพระมหานครแลชาวผู้ดีตามเขตหัวเมือง ซึ่งวัฒนธรรมไทยสมัยก่อนมีความเคร่งครัดในการพบปะไปมาหาสู่ระหว่างชายหนุ่มและ หญิงสาวอย่างมาก โอกาสที่จะพบกันมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นงานบุญประเพณีเพียงเท่านั้น แต่ถึงจะได้พบกันก็มักจะต้องอยู่ในสายตาของผู้หลักผู้ใหญ่เสมอ
ด้วยเหตุนี้เองหนุ่ม ๆ ชาวสยามจึงนิยมส่งความในใจเขียนเป็นกลอนเพลงยาวไปมอบให้กับหญิงสาวที่รัก และด้วยค่านิยมที่หญิงสาวมักจะยกย่องคนที่เป็นผู้รู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ลายมือสวย แต่งกลอนเป็น สำนวนโวหารคมคาย โน้มน้าวใจให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มได้แม้อ่านเพียงวรรคแรก ดังนั้นแล้วชายใดแต่งเพลงยาวได้ไพเราะก็มักจะได้หญิงสาวที่ตนหมายปองไปครอบครองได้โดยง่ายนั้นเอง
โดยในบทเพลงยาวมักจะมีการใช้คำศัพท์สรรสร้างเป็นคำเพราะๆ สื่อความหมายที่เทิดทูนและรักอย่างสุดหัวใจ ซึ่งการใช้คำศัพท์เหล่านี้เองเป็นที่มาของชื่อจริงของผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่นิยมนำหลายคำเหล่านี้มาใช้ตั้งชื่อกันกัน
แล้วคุณผู้ชายทั้งหลายในยุคปัจจุบันนี้ทราบกันหรือไม่เล่าว่า
มีคำใหนเพราะๆบ้างที่มันมีความหมายสื่อถึงหญิงสาวที่รักยิ่ง ……
ภาพชายหนุ่มและหญิงสาวจากสมุดไทยสมัยอยุธยา
ถ้าพร้อมแล้วหากระจกแล้วมุดเข้าไปในอดีต ทวิพทวิใจ ไปเรียนรู้คำศัพท์เรียกผู้หญิงในกาพย์กลอนสมัยอยุธยาพร้อมๆกันเลยน๊าาาเจ้าค่ะ
คำที่ 1 นงลักษณ์
นงรักษณ์ หมายถึง นางผู้มีลักษณะดี นางผู้มีขวัญดี เกิดจากการประสมคำ “นง” กับคำว่า “ลักษณ์” หรือ ลักษณะ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว คำๆนี้ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังตัวอย่างโครงทวาทมาสต่อไปนี้
โอ้ปรานีนาถเนื้อ นงลักษณ์
นั่งฤานอนเยียวกลาง สวาดิช้า
เสด็จจรจำรายศักดิ์ โสภิต
รอยรูปน้ำไล้หน้า อาบองค์ฯ
คำที่ 2 เสาวภาคย์
เกิดจากคำประสมคำ “เสาว” หมายถึง ดี งาม และคำว่า “ภาคย์” จึงรวามความหมายได้ถถึง ผู้หญิงที่มีรูปงาม ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนต้น ดังบทลิลิตพระลอความตอนหนึ่งว่า
หนกลังเสาวภาคย์ล้วน ความรัก
ยาหยูกเขาขลังนัก ผ่ายหน้า
จักคืนพระลอลักษณ์ ฤาใคร่ คืนเลย
ตัดฝ่ายคืนเจ้าหล้า แต่ตั้ง จักไป
คำที่ 3 กัลยา
หมายถึง นางงาม ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย ดังบทเสือโคคำฉันท์ ความตอนหนึ่งว่า
ว่าเรียมแสนสนิท ดังดวงชีวิตร จึ่งแล้วอรรถา
นุสนธกำบัง แต่เยยาวยุพา ดั่งฤากัลยา แสดงพฤฒิทาษี
มันแจ้งจึ่งผลาญ ชีพพี่ให้ลาญ ม้วยกนธอินทรีย์
หากพระเชษฐา มาโปรดปรานี จึ่งได้ชีวี ชีวาคม์คืนพลัน
คำที่ 4 สร้อยโสภา
เกิดจากการประสมคำ “สร้อย” หมายถึง ผู้หญิง นาง และ “โสภา” หมายถึง งาม เช่นสาวโสภา จึงรวมความได้ถึงผู้หญิงที่มีรูปงาม มีปรากฎใช้ในอยุธยาตอนปลาย ดังกาพย์หอโคลองนิราศธารโศก ว่า
เดือนเชฐเจ็ดค่ำแล้ว อกอา
เรียมเร่งไกลกัลยา ขาดพร้อง
รูปน้อยสร้อยโสภา วรภาคย์
ใจพี่วุ่นขุ่นข้อง ขัดแค้นอารมณ์
คำที่ 5 ศรีสวัสดิ์
เกิดจากการสมาสคำ “ศรี” และคำว่า “สวัสดิ์” ซึ่งหมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง เมื่อพิจารณาจากความหมายดังกล่างจะเห็นว่าความหมายยกย่องเช่นเดียวกับคำว่า “ศรี” ดังนั้นคำว่า “ศรีสวัสดิ์” จึงรวมความถึง หญิงผู้มีรูปงามดังเทพ ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังในกาพย์หอโครงนิราศธารโศก ว่า
ปีกุญครุ่นอ้างว้าง เรียมไกลข้างห่างเทพี
ศรีสวัสดิ์ไปจงดี อย่ามีไข้ให้สำราญ
คำที่ 6 ศรีเสาวนาฎ
เกิดจากการประสมคำ “ศรี” และคำ “เสาว” หมายถึง ดี งาม และคำว่า “นาฎ” ที่หมายถึง นางฟ้อนรำ ใช้ประกอบคำอื่นจะให้ความหมายถึง หญิงสาวสวย จึงรวมความได้ว่า หญิงผู้มีรูปงามดังเทพธิดา ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังในโคลงทวาทศมาส ว่า
อกชลคลาแคล้วแผ่น ปรัถพี
หญ้าเน่านองตรอมตาย ต่ำเตี้ย
คือเรียมจำงายศรี เสาวนาฎ
อกแนบเขนยขนนเหงี้ย เงียบศัลย์
คำที่ 7 สุรางค์
มาจากคำเต็มว่า “สุรางคณา” หมายถึงนางสวรรค์ ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังโคลงทวาทศมาส ความตอนหนึ่งว่า
นารินทรนาริศเร้น รักโฉม อยู่ฤา
จากอกองค์เรียมรัน เร่งร้อง
หาหายบ่เหนโคน สมรมิ่ง กูเลย
เร้นสุรางค์ไว้ห้อง แห่งองค์
คำที่ 8 สร้อยฟ้า
เกิดจากการประสมคำ “สร้อย” หมายถึง ผู้หญิง นาง และคำว่า “ฟ้า” หมายถึง ส่วนเบื้องบนที่มองเห็นครอบแผ่นดินอยู่ เช่น ดาวเต็มฟ้า อากาศ เช่น ฟ้าครึ้ม ยิงปืนขึ้นฟ้า สวรรค์ เช่น นางฟ้า ฟ้าดินเป็นพยาน เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “ฟ้า” จะเห็นว่าหมายถึงวรรค์ด้วย ดังนั้นคำว่า “สร้อยฟ้า” จึงหมายถึง หญิงผู้มีรูปงามดังนางสวรรค์ ปรากฎใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังโครงนิราศหริภุญชัย ว่า
ทวารทองเขิมเขื่่อนขั้ง ศึกแสลง
รุตราชรังสีแปง หม่ายหม้า
จึนถึงพี่ยังแยง หาแม่ นาแม่
บจวบโฉมสร้อยฟ้า ไต่เต้าตามเรียบ
คำที่ 9 เนมลมาศ
เกิดจากการผสมคำ “เนมล” ซึ่งกลายเสียงมาจากคำว่า นฤมล ซึ่งหมายถึง ไม่มีมลทิน นาง และคำว่า “มาศ” จึงรวามความหมายถึงหญิงผู้มีค่าดั่งทอง ปรากฎการใช้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังโครงทวาทศมาศ ความตอนหนึ่งว่า
ธรณีธรณิศแก้ว การเต
เห็นประเหลเรียมแล บ่ม้วย
โอ้เหมือนบ่เห็นเน มลมาศ กูเออย
เรียมเร่งเร่าร้อนด้วย โศกแสน
และนอกเหนือจากตัวอย่างที่นำมาให้ได้ศึกษากันข้างต้นยังมีอีกมากมายหลายคำเช่น พิมพระมาศ แว่นแก้วนิดา ขวัญเนตร นุช เยาวยอด ยุพเยาว์ บังอร อ่อน บุษป์บัวมาศ โกมล โกมุท บงกช สุดาพินท์ มาลุดี ดวงดอกไม้ กานดาวลีปุษป์ ดวงพิบุษบา ดวงมาลย์ แน่งมาลย์ มิ่งมาลา วลิภาค จอมใจ เจ้ายาใจ สายใจ จอมสวาท เจ้าสร้อยสวาท จอมนาง ชู้ พระเพื่อน วัลพา อรไท พธู อ่อนไท้ เนื้อเกลี้ยง จันทน์ ฯลฯ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าแต่โบราณนั้นคำเรียกแต่ละคำล้วนมีความหมายและเทิดทูลหญิงสาวอันเป็นที่รักยิ่ง ทุกคำเกิดจากความนึกคิดเปรียบเปรยกับความงดงามรอบตัวเมื่อนำมาแต่งเป็นกาพย์กลอนส่งเพลงยาวให้กับหญิงผู้ใดแล้ว ก็ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า หญิงผู้นั้นที่ได้รับการยกย่องย่องและเห็นถึงคุณค่าและความงามของเขา ยอมตอบสมัครรักสมานกับชายผู้แต่งกลอนเพลงยาวนั้นให้อย่างแน่แท้ เลยเชียว
เพื่อร่วมสืบสานการแต่งกาพย์กลอน และอนุรักษ์คำศัพท์โบราณของการเรียกหญิงสาวที่งดงามและมีคุณค่า แอดขอเชิญชวนทุกคนแต่งบทกลอนสักบทและส่งเล่นๆกันได้ที่คอมเมนต์นะเจ้าค่ะ
Le Siam
“สยาม .. ที่คุณต้องรู้”
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam
อ้างอิงข้อมูลจาก :
ปริศนา พิมดี, "คำเรียกผู้หญิงในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา" ,น.14-216

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา