7 มิ.ย. 2020 เวลา 11:36 • ประวัติศาสตร์
2 มัจฉาน่าพิศวง
2 Astonishing Fish!
สำรับอาหารของชาวสยามแต่โบราณนั้น ก็เป็นอะไรที่เรียบง่ายเหมือนกับที่คุณแม่คุณยายของเราชอบทานกันนั้นแหละนะเจ้าค่ะ อย่างตัวอย่างอาหารสามัญที่ชาวสยามนิยมทานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นั้นก็คือข้าวสุก ปลา และน้ำพริก
เพราะชาวสยามนั้นใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ และในแม่น้ำของสยามนั้นก็ล้วนอุดมไปด้วยปลาที่ชุมมาก มีหลากหลายชนิดหลากหลายสายพันธุ์ซึ่งนับว่าแปลกกว่าที่อื่น ถึงขนาดกับที่ว่าเมื่อพวกแขกบรเทศที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม เห็นปลาในสยามนั้นชุกและมีหลากพันธุ์ที่แปลกไปจากบ้านเมืองของเขาทำให้พวกฝารั่งมังฆ้องถึงกับต้องตกตกตะลึงพรึงเพริดกันไปตามๆกันเลยทีเดียว
การถนอมอาหารของชาวสยาม ประเภทปลา
ชาวสยามเมื่อจับปลาในฤดูกาลมาได้ หากอยากทานปลาที่ผิดฤดูกาลในวันข้างหน้า ชาวสยามก็มักจะนำมาแปรรูปด้วยกรรมวิธี ทำให้แห้งหรือทำให้เน่าเสียเป็นส่วนใหญ่เจ้าค่ะ เพราะแน่นอนว่าของที่แปรรูปแล้วย่อมอยู่ได้นานกว่าของที่สดนั้นเอง ซึ่งกรรมวิธีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการถนอมอาหารขั้นพื้นฐานง่ายๆ ที่หลายประเทศก็นิยมทำกันอย่างมากเจ้าค่ะ
จดหมายเหตุของลาร์ ลู แบร์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
จากบันทึกจดหมายเหตุของลาร์ ลู แบร์ ได้กล่าวถึงปลาที่น่าพิศวง 2 ชนิด ที่เห็นจะแปลกและชาวสยามนั้นชอบนำมาทำให้เน่าแล้วใช้ทานกัน เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า
“ในจำพวกปลาน้ำจืดนั้น ชาวสยามมีปลาเล็กๆอยู่ 2 ชนิดซึ่งสมควรที่จะกล่าวในที่นี้ เรียกว่าปลาอุบ และปลากระดิ่ การที่จะสบัดข้าพเจ้าให้พ้นสงกาทั้งปวงนั้น มีบางคนยืนยันต่อข้าพเจ้าว่า เมื่อชาวสยามจับปลาเหล่านั้นใส่เกลือหมักไว้ ตามวิธีชาวสยามเคยทำกันมาแล้ว ถ้ารวมหมักไว้ในตุ่มในหวดที่ทำด้วยดินเผา ซึ่งไม่ช้าปลาก็เน่าเพราะเกลือในสยาม เมื่อปลานั้นเน่าละลายเละแล้วน้ำปลาเน่าฤาปลาร้านั้นนูนฟอดขึ้นแล้วยุบลง …”
จากจดหมายเหตุดังกล่าวทำให้เราได้มองเห็นภาพของปลาร้า หรือ น้ำปลาของสยามที่มีมาเนินนานแล้วในอดีตได้อย่างชัดเจนกันแล้วนะเจ้าค่ะ และรู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันนี้ 1 ในปลาน่าพิศวงนี้เรายังนิยมนำมาทำปลาร้ากันอยู่ ซึ่งก็คือ ปลากระดี่ นั้นเองเจ้าค่ะซึ่งขอบอกเลยว่า ปลาร้าปลากระดี่เนี่ยมันอร่อยสุดๆไปเลยละจริงๆนะเจ้าค่ะ
ทีนี้ฉันก็จะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าปลาน่าพิศวง 2 ตัวนี้กัน ปลาที่ถึงกับขนาดทำให้ฝารั่งพิศวง แลได้ไปถึงเมืองฝรั่งเศสกันเลยทีเดียว … ว่าแล้วก็จับแห ชะมวก หรืออะไรก็ตามที่ถนัดแล้วออกไปจับปลาสยามที่น่าพิศวง 2 ตัวนี้กันเลยจ้า
ปลาอุบ หรือปลาย่าดุก
1. ปลาอุบ หรือปลาย่าดุก
ปลาอุบเป็นปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดได้ มีรูปร่างหัวโต ปากกว้าง ตาโต ครีบอกเป็นวงกลมและแผ่กางได้ ครีบหลังและครีบท้องยาวไปจรดหาง ครีบหางมีรูปทรงเป็นวงกลม ลำตัวอ่อนนุ่ม ไม่มีเกล็ด พื้นสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลมีแถบดำเป็นลายเลอะพาดตลอดทั้งตัว ซึ่งปลาอุบนี้สามารถโตได้เต็มที่ราว 30 เซนติเมตร เลยทีเดียว
นอกจากนี้ปลาอุบนั้นมีพฤติกรรมมักกบดานอยู่นิ่ง ๆ ตามพื้นน้ำเพื่อดักรอเหยื่อ โดยสีของลำตัวนั้นจะกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม สามารถกินปลาที่ใหญ่กว่าตัวได้ และเมื่อปลาอุบถูกจับขึ้นมาพ้นน้ำเมื่อไร มันก็จะส่งเสียงร้องว่า "อุบ อุบ อุบ อุบ" และนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อปลาอุบนั้นเองเจ้าค่ะ
ปัจจุบันปลาอุบนี้ มักนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าที่จะนำมากินเหมือนกับอย่างในอดีตละน๊าาาเจ้าค่ะ แต่บอกเลยมันเนื้อมันเนี่ยอร่อยจริงๆ อิอิ
ปลากระดี่
2. ปลากระดี่
เจ้าปลากระดี่เนี่ย มันจะมีลักษณะค่อนข้างแบนข้างคล้ายใบไม้ หัวมีขนาดเล็ก ปลายปากค่อนข้างแหลม มีครีบอกคู่แรกเป็นเส้นยาวใหญ่เห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่า "ตะเกียบ" เป็นอวัยวะช่วยในการสัมผัส ครีบท้องและครีบก้นต่อยาวเป็นแถวเดียวกัน โดยที่ไม่มีเส้นข้างลำตัว ปลายครีบหางไม่เว้ามากนัก
ปลากระดี่มักมีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ จึงสามารถดำรงชีพอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น ๆ แต่ทว่าปลากระดี่ อวัยวะในส่วนนี้มักมีประสิทธิภาพไม่สู้ปลาชนิดอื่นนัก จึงทำให้เรามักจะเห็นปลากระดี่ในบางครั้งนั้น ลอยตัวขึ้นมาฮุบเอาอากาศบนผิวน้ำเสมอ ๆ ในส่วนของอุปนิสัยนั้น จะก้าวร้าวพอสมควร แต่ก็ยังไม่เท่ากับปลาในสกุลอื่นนะเจ้าค่ะ
ปลากระดี่นับเป็นปลาอีกจำพวกหนึ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนสยามมาอย่างยาวนานมากๆ จนเกิดมีสุภาษิตที่ว่า "กระดี่ได้น้ำ" อันหมายถึง คนที่มีพฤติกรรมระริกระรี้กระหยิ่มดีใจจนเกินเหตุเกินงาม นั้นเองละเจ้าคร่าาาาา … ไหนมีใครในบล็อกดิสนี้เคยมีกริยากระดี่ได้น้ำบ้างนะ 555+
อ้างอิง
- “ลาลูแบร์ เปนจดหมายเหตุ พงศาวดารสยาม ครั้งกรุงศรี เล่ม2”, จำหน่ายที่ปรีดาลัย,น.119-120
- “Amphidromous story สุดยอดนักล่า ปลาสองน้ำ”. คอลัมน์ Wild Ambition โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์, กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3, น.110-129
- "สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ พ.ศ. 2547,น. 205
และนี้ก็คือ 2 ปลาพิศวงและอร่อยสุดที่นำมาฝากเพื่อนๆในวันนี้เจ้าค่ะ แน่นอนว่าปลานั้นอยู่ในน้ำ มันจะชุกหรือจะหายสาบสูญไปก็ขึ้นอยู่กับน้ำมือของมนุษย์ชาวสยามอย่างพวกเราทุกคนนะเจ้าค่ะ ถ้ายังอยากมีปลาหลากหลายสายพันธุ์แหวกว่ายอยู่ในน้ำและมีไว้ให้เราได้ทานกัน ไม่ใช่เพียงให้มันอยู่ในหนังสือสัตว์สูญพันธุ์ละก็ ช่วยกันคนละไม้คนละมือดูแลแม่น้ำลำคลองของเราให้สะอาดและมีคุณภาพน้ำที่ดีอยู่เสมอกันนะเจ้าค่ะ
ชาวสยามชอบทานปลา …
งั้นจงอย่าทำให้ปลาต้องเกลียดเรานะเจ้าค่ะ
Le Siam
“สยาม… ที่คุณต้องรู้”
เขียนและเรียบเรียงโดย : Le Siam

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา