🌄 ส่วนควบ.. 🎯
..ภาคเริ่มต้น..
📚 ภาษาในทางกฎหมาย บางที่เราก็เคยได้ยินหรือบางที่ไม่เคยได้ยิน
แต่ก็ไม่รู้ความหมายของมัน ทำให้เวลาอ่านแล้ว สับสน หรือเกิดอาการ
ง สองตัว ( งง ครับ ) อ่านกฎหมายแล้วง่วง มันก็จริง ๆ แหละครับ
ผมเคยนะครับ ตอนเรียนกฏหมายตั้งแต่ หนึ่งทุ่มถึงตี 2 เคยมาแล้ว
ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ตั้งวงกินเหล้า ถึงตี 2 ครับเมาหลับ ไม่ได้อ่าน 555
มาดูภาษากฏหมาย สักคำหนึ่ง คำว่า " ส่วนควบ" ครับ ส่วนควบมีความหมายอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งพานิชย์มาตรา 144 บัญญัติว่า " ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง "👨🏫
📢 ถามต่อว่า แล้วใครเป็นเจ้าของส่วนควบ คำตอบอยู่ใน มาตรา 144 วรรคสอง ครับ " เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบแห่งทรัพย์นั้น "
ถ้าอธิบายองค์ประกอบก็จะเล่ายาว ท่าน ๆ จะไม่อยากอ่าน ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เช่น ล้อรถยนต์เป็นส่วนควบของรถยนต์ เพราะล้อเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์คือ รถยนต์ ไม่มีล้อรถยนตก็ไม่สามารถวิ่งได้โดยปกติ หรือ แว่นตา เลนส์กับกรอบ รวมกันเป็นแว่นตาเป็นส่วนควบซึ่งกันและกันอย่างนี้ไม่มีทรัพย์ประธาน อันนี้คือตัวอย่างสังหาริมทรัพย์ นะครับ 🌿
🧖 ถ้าอสังหาริมทรัพย์เช่นพวกที่ดิน ไม้ยืนต้น บ้าน สิ่งปลูกสร้างที่ยึดติดกับที่ดิน ก็เป็นส่วนควบได้เหมือนกัน เช่นบ้านก็เป็นส่วนควบของที่ดิน ฉะนั้น ทรัพย์ที่เป็นส่วนควบจะมีเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่างหากไม่ได้
ในส่วนของไม้ยืนต้นนั้น มาตรา 145 วรรคแรกจะเขียนไว้ช้ดเลยว่า " ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่ " หากเราปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินเรา ต้นไม้นั้นก็จะเป็นส่วนควบกับที่ดิน นั้นหมายความว่า ถ้าเราไปปลูกบ้าน หรือไม้ยืนต้นในที่ดินคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ นั้น ทั้งบ้านและ ไม้ยืนต้นจะเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินก็จะเป็นเจ้าของบ้าน กับไม้ยืนต้นนั้น ตามมาตรา 144 วรรคสอง เชียวนะครับ
แต่ถ้าเป็นพืชล้มลุกต่าง ๆ ก็ต้องไปดูกฎหมายเช่นเดียวกัน (ซึ่งจะเล่าในภาคต่อไป ) แต่บอกไว้ก่อนนะครับ ส่วนควบเป็นเรื่องของทรัพย์ ฉะนั้น คนไม่ใช่ทรัพย์ สามีภริยา จึงไม่ใช่ส่วนควบซึ่งกันและกัน แยกกันได้ครับ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ภริยาจะบอกว่า " ถ้าแยกมึงตายยยย " ครับผม
ส่วนควบจะมีข้อยกเว้นนะครับ โพส หน้าผมจะมาว่ากันในข้อยกเว้น ผมมีตัวอย่างหนึ่งที่ส่วนควบเข้ามามีผลในทางกฎหมายในเรื่องของการซื้อขายที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง 🏟
😛 นายจำปา ประกาศขายที่ดิน 1 ไร่ ราคา 2 ล้านบาท ที่ดินแกติดถนนถึงสองด้าน แล้วมีบ้านไม้สักทั้งหลังแกสร้างไว้ ราคา 1 ล้านบาท แต่แกขายเฉพาะที่ดินครับ วันดีคืนดี ตาเฮง ก็มาขอซื้อ นายจำปาก็ดีใจมากมาย จูงจมูก เอ้ย.. จูงมือกันไปที่สำนักงานที่ดิน ตาเฮงจ่ายเงิน 2 ล้าน ค่าที่ดิน ทำสัญญาซื้อขาย
จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องเรียบร้อย ครับ เรียบร้อยโรงเรียนจีน...
เพราะดันไประบุซื้อขายที่ดินอย่างเดียว แต่ไม่ได้พูดถึงสิ่งปลูกสร้างในสัญญา
ภาพจากpixabay
อีก 2 วัน นายจำปาจะมารื้อบ้านไม้สัก งานเข้าซิครับ ตาเฮงไม่ให้รื้อ " เอ็งรื้อไม่ได้ที่ดินเป็นของข้า บ้านก็เป็นของข้า " ตาเฮงเสียงดังพร้อมถืออาวุธออกมาขู่เป็นไม้ตียุงอันสีแดง ( เอามาทำไมฟะ ) 🧚
👨 นายจำปาและลูกน้องที่เป็นนักมวย 3 คน กลัวครับไม่กล้ารื้อ ยกพวกกลับ
" เฮ้ย.. ถอยก่อน มันมีอาวุธ " แล้วก็วิ่งขึ้นรถขับออกไปโดยเร็วอย่างไม่คิดชีวิต
หมดหนทางนายจำปาก็จ้างทนายฟ้องเรียกเอาบ้านไม้สัก คืน ตาเฮงก็จ้างาทนายสู้คดี เหมือนกัน มาดูครับว่าศาลฎีกาวางหลักไว้ว่าอย่างไร คำพิพากษาฎีกาที่ 802/2544 , 1457/2548 วางหลักไว้ว่า 🌞🌞
" บ้านที่ปลูกบนที่ดินในลักษณะตรึงตราถาวร นับได้ว่าเป็นส่วนควบซึ่งโดยสภาพเป็นสาระสำคัญ ในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่แยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นแปลงเเปลงรูปทรงหรือสภาพไป บ้านจึงเป็นส่วนควบ ของที่ดิน เมื่อขายที่ดินโดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าไม่รวมสิ่งปลูกสร้างด้วย ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งพานิชย์ มาตรา 144 "
👍นั้นแหละครับ ซื้อขายที่ดินสิ่งปลูกสร้างต้องระวัง ถ้าไม่ขายบ้านก็ต้องระบุให้ชัดว่าไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง เพราะมันเป็นผลของกฎหมาย นะครับ มิฉะนั้นจะเป็นแบบนายจำปา ...😱😱
บุญรักษา ทุก ๆ ท่านครับ
ฝากกดไลค์,กดแชร์,กดติดตามนะครับ 🙏🙏🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา