9 มิ.ย. 2020 เวลา 12:31
"ตำรานรลักษณ์ศาสตร์" (โหงวเฮ้ง) ของจีน เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ถึงขั้นให้แปลเป็นภาษาไทยไว้ใช้ในราชสำนัก
เรื่องของโหราศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ กิจการต่างๆ ในราชสำนักมักจะให้ความสำคัญกับโหราศาสตร์เป็นอย่างมาก ดั่งเช่น โหร เป็นข้าในราชสำนักมีหน้าที่ทำนายดวงชะตาของบ้านเมือง ของกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ หรือหาฤกษ์ยามในพระราชพิธีและพิธีมงคล โดยอาศัยวิชาโหราศาสตร์ซึ่งต้องใช้วิธีคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาว ปัจจุบันมักเรียกว่า โหรหลวง สังกัดฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
แต่อีกฝั่งทางราชสำนักจีนวิชาฮวงจุ้ยและโหงวเฮ้งเป็นหนึ่งศาสตร์มหัศจรรย์ที่ราชสำนักจีนให้ความสำคัญ เดิมศาสตร์วิชา โหงวเฮ้ง เกิดขึ้นเมื่อประมาณ "สี่พันปี" ก่อนพุทธกาลในยุคของ"ขงจื้อ" ถูกขุดค้นพบโดยคนร้ายที่เข้าไปขโมยสมบัติในสุสานหลุมฝังศพของเจ้าเมืองเหว่ย ชื่อ "เหว่ยซางหวาง"
การค้นพบหนังสือที่ทำจากไม้ไผ่ ด้วยวิธีแกะสลัก การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขององค์พระมหากษัตริย์จนถึงยุคของพระเจ้าจิ้วบุ้นอ๋องในราชวงศ์จิ้ว ตำราสำคัญสมัยก่อนมีน้อยและเป็นที่หวงกันมาก โดยถูกครอบครองเฉพาะกลุ่มผู้ทรงภูมิปัญญาและถูกปกปิดเป็นความลับ
ในช่วงแรกเมื่อถูกนำมาเผยสู่สาธารณะ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่า”โหงวเฮ้ง" เป็นวิชาที่ไม่มีความน่าเชื่อถือเท่าใดนัก
โหงวเฮ้งจึงเป็นหลักสถิติ ที่มีความสำคัญในด้านการปกครองประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อย้อนไปในยุคสมัยสามก๊ก "ขงเบ้ง" ได้นำศาสตร์นี้ มาใช้ร่วมกับหลายศาสตร์ประกอบกัน เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคล คัดเลือกแม่ทัพ ตลอดจนผู้มีวาสนา เพื่อนำกองทัพสู่สมรภูมิรบกอบกู้แผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น
ภาพเก่าซินแสจีน
ศาสตร์ "โหงวเฮ้ง" ได้เดินทางมาถึงแผ่นดินสุวรรณภูมิเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รับสั่งให้ทำการแปลตำราภาษาจีนจากซินแสผู้หนึ่ง และใช้ชื่อว่า "ตำรานรลักษณ์ศาสตร์"
1
สาเหตุที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้แปลตำราจีนศาสตร์นี้ กระทั่งพระองค์ยังยอมรับและนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดสรรบุคคลเข้ารับราชการ เนื่องจากมีมูลเหตุบางอย่าง จนเป็นที่มาของตำนานเรื่องเล่าน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย
ย้อนไปในยุคที่พระองค์ท่านยังมิได้ทรงครองราชสมบัติ ยังทรงพระผนวชเป็นภิกษุที่มีชื่อว่า "ทองด้วง" ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งใกล้กับวัดโกษาวาสน์ (ปัจจุบัน คือ วัดเชิงท่า) โดยในวัดโกษาวาสน์นี้เองก็มีพระภิกษุหนุ่มอีกรูปหนึ่ง ชื่อว่า "สิน"
วัดโกษาวาสน์ หรือ วัดเชิงท่า : https://go.ayutthaya.go.th/แนะนำที่เที่ยว/วัดเชิงท่า-อยุธยา/
ครั้งหนึ่งภิกษุทั้งสอง "สิน" และ "ทองด้วง" ได้ออกบิณฑบาตร ระหว่างทางได้พบกันโดยบังเอิญจึงได้แวะสนทนาตามวิถีทางแห่งสงฆ์ ขณะนั้นเองมีซินแสวัยชราชาวจีนผู้หนึ่งเดินผ่านมาพอดี แต่กลับมาหยุดเดินตรงพระภิกษุทั้งสอง ทำการเพ่งมองพินิจพิเคราะห์อยู่ช่วงหนึ่งและหัวเราะออกมา
ซินแสทำแบบนี้อยู่สองสามครั้ง จนภิกษุทั้งสองรูปสอบถาม ก็ได้ความว่าชายชราผู้นี้เป็นซินแสหมอดูตำราศาสตร์จีน ภิกษุสินจึงให้ลองทำนายกาลในภายภาคหน้าของตนว่าจะเป็นอย่างไร ซินแสไม่รอช้าจับมือของภิกษุสินเพ่งดูพร้อมทั้งถามวันเดือนปีเกิดและนิ่งไปชั่วครู่
ซินแสกล่าวกับภิกษุสินว่าในอนาคตข้างหน้าท่านจะเป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ผู้คนจะเล่าลือชื่อเสียงไปอีกหลายร้อยปี ภิกษุสินยิ้มและหัวเราะเบาๆ เพราะไม่คิดว่าการทำนายนี้จะเป็นความจริงแต่อย่างใด
ภาพเก่าซินแส
จากนั้นภิกษุทองด้วงก็ลองตรวจดวงชะตาของตนเองบ้าง โดยยื่นมือไปให้ซินแสจับดูพร้อมทั้งบอกวันเดือนปีเกิดและอายุของตนเอง
ซินแสชราก็นิ่งไปครู่หนึ่งเหมือนครั้งแรกจากนั้นก็กล่าวว่า ท่านก็จะได้เป็นมหากษัตริย์เหมือนกัน เป็นอีกผู้หนึ่งที่จะถูกเล่าขานไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
ภิกษุทั้งสองเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็กลั้นหัวเราะไม่ไหว ต่างหัวเราะออกมาแทบพร้อมกัน ทั้งตอบกลับแก่ซินแสว่า ภิกษุทองด้วงนั้นมีอายุอ่อน
กว่าภิกษุสิน 2-3 ปีแล้วจะเป็นมหากษัตริย์พร้อมกันได้อย่างไร จากนั้นภิกษุทั้งสองก็ไม่ได้สนใจซินแสเฒ่าอีกต่อไป ต่างคนก็ต่างเดินบิณฑบาตรตามกิจของสงฆ์ต่อไป
1
ในกาลต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ "ภิกษุสิน" และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หรือ "ภิกษุทองด้วง" ได้ครองราชสมบัติปกครองแผ่นดินกันทั้งสองพระองค์
ช่วงต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ทรงเห็นถึงอานุภาพแห่งคำทำนายของซินแสผู้นั้น จนเป็นที่มาและทรงมีพระราชโองการรับสั่งให้พระมหามณเฑียรแปลตำราจีนศาสตร์นี้เป็นภาษาไทย โดยเนื้อหาในหนังสือนั้นระบุถึงการทำนายทายทักตามลักษณะบุคคล ซึ่งให้ชื่อตำราเล่มนี้ว่า “ตำรานรลักษณ์ศาสตร์”
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
หนังสือ: โหงวเฮ้ง ศาตร์อ่านใจคน จากใบหน้า โดย อ.รุ่งนภา อังคะศิริกุล
หนังสือ: ตำนานนอกพงศาวดารและปาฏิหาริย์แห่งพระเจ้าตาก โดย ธีระวุฒิ ปัญญา
โฆษณา