12 มิ.ย. 2020 เวลา 13:11
นิวาสสถานเดิมจวนหลวงของรัชกาลที่ 1 ในยุคกรุงธนบุรี ตั้งอยู่บริเวณใดในปัจจุบัน
โดยข้อมูลจากแผนที่ของสายลับพม่าที่เข้ามาสืบหาข่าวในกรุงธนบุรี
ภาพจาก:http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=18689.0
ในสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระนครขึ้นโดยการขุดคูเมืองและสร้างกำแพงล้อมรอบขนาบสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในกาลต่อมาจึงให้ขุนนางเข้ามาตั้งนิวาสสถานให้ใกล้กับพระราชวังหลวงเพื่อความสะดวกต่องานราชการ โดยมีหลักฐานจากโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรที่กล่าวไว้แสดงถึงสถานที่สำคัญใน เขตพระราชฐาน ดั่งเช่น ตําหนักแพหรือฉนวนน้ำ สําหรับการเสด็จลงเรือและขึ้นเรือ โรงทอผ้า โรงเย็บผ้า โรงสรรพาวุธ โรงม้า โรงช้าง ศาลและโรงหมอ
พื้นที่ของเขตพระราชฐานในสมัยกรุงธนบุรีจึงเต็มไปด้วยหน่วยงานหลากหลายเพื่อสนองให้การปกครองกรุงธนบุรีดําเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นระเบียบ
รวมทั้งหลักฐานจากแผนที่ซึ่งถูกวาดขึ้นโดยสายลับพม่าที่แฝงตัวเข้ามาสำรวจและหาข่าวในกรุงธนบุรี เนื้อหาภายในได้ชี้แจงข้อมูลหลายส่วนไว้อย่างน่าสนใจซึ่งตรงกับหลักฐานทางพงศาวดารและเอกสารอื่นๆ
1
แผนที่กรุงธนบุรีของสายลับพม่า: มติชน
แผนที่ได้บอกถึงบริเวณพื่นที่ตั้งนิวาสสถานของเหล่าขุนนางสมัยกรุงธนบุรีที่สำคัญหลายท่าน จะอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ในเขตกำแพงเมือง
พระยาจักรีหรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งต่อมาได้ปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หนึ่งในเหล่าขุนนางสำคัญยุคกรุงธนบุรี
พระองค์ทรงเป็นขุนนางที่ทำศึกสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง นิวาสสถานของพระองค์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2311 ตั้งแต่ครั้งยังทรงรับราชการในตำแหน่งพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวาในสมัยกรุงธนบุรี
โดยนิวาสของพระองค์จะตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองธนบุรีระหว่างคลองมอญกับคลองบางหว้าใหญ่หรือคลองวัดระฆัง พื้นที่ปัจจุบันของนิวาสสถานนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของกรมอู่ทหารเรือเยื้องวัดเครือวัลย์วรวิหาร
กรมอู่ทหารเรือภาพเก่า: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9580000104705
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครองราชย์และทำการย้ายพระนครไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ จึงรับสั่งให้รื้อนิวาสสถานแห่งนี้ออก (ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระราชนิเวศน์เดิม)
และทรงโปรดให้พระโอรส คือ กรมหลวงอิศรสุนทร (ในกาลต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทรงควบคุมการรื้อพระนิเวศน์นี้ไปปลูกสร้างเป็นหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม แต่คนนิยมเรียกหอพระไตรปิฎกนี้ว่า ตำหนักจันทน์ เพราะทรงปลูกต้นจันทน์รายรอบไว้ 8 ต้น แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ต้นเท่านั้น
ตำหนักจันทน์ หรือ หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม
จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพื้นที่นี้ให้แก่กองทัพเรือ และโปรดให้สร้างกำแพงมีใบเสมาเพื่อเป็นเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นหลักฐานว่าพระนิเวศน์เดิมเคยอยู่ตรงบริเวณนี้
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิม ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เป็นอาคารเก่าแก่เพียงหลังเดียวในส่วนราชการกองทัพเรือในอาณาบริเวณพระนิเวศน์เดิมของรัชกาลที่ 1 และได้รับการอนุรักษ์เพื่อให้สาธารณชนได้ใช้เป็นที่ศึกษาหาความรู้และชื่นชมความงดงามของศิลปสถาปัตยกรรมของชาติ
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา :http://www.rtnd-museum.com/intro4.html
พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา :http://www.rtnd-museum.com/intro4.html
ยังมีนิวาสของขุนนางสำคัญอีกหลายท่านในยุคกรุงธนบุรีที่น่าสนใจ รวมทั้งร่องรอยโบราณสถานของยุคกรุงธนบุรีที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม
อย่างไรก็ตามร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่นำเสนอมักจะอยู่ในช่วงยุคกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี ยุคกรุงธนบุรีจึงคล้ายช่องว่างระหว่างสองยุค ในส่วนที่น่าสนใจบางครั้งอาจถูกมองข้ามไป แต่เมื่อได้ศึกษารายละเอียดลึกลงไปแล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากมีโอกาสจะนำมาแบ่งปันเรื่อยๆ ขอบพระคุณท่านผู้อ่านครับ
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
สติ๊กเกอร์ไลน์แบบเติมข้อความได้⏬⏬
อ้างอิง:
งานวิจัยเรื่อง: ตามรอยเสด็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี: ศึกษาจากพงศาวดาร และสถานที่จริง
โดย รศ.วัชรา คลายนาทร คณะคุรุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ/ปี2555
โฆษณา