12 มิ.ย. 2020 เวลา 11:00
HomoDeus ตอนที่ 2/11
"มนุษย์ กับ Algorithm"
( เนื้อหาเดียวกับ podcast ep.98 )
ในตอนที่แล้ว เราได้พูดกันถึงปัญหาใหญ่ของมนุษย์ที่ถูกแก้ไขได้แล้ว ก็คือ
1. โรคระบาด
2. ความอดอยาก
3. สงคราม
และเมื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มนุษย์จึงพยายามหาความท้าทายใหม่ๆ อันได้แก่
1. ความเป็นอมตะ
2. ความสุข
3. ความสามารถของพระเจ้า
ในตอนนี้เราจะมาคุยกันต่อในบทที่ 2 ที่มีชื่อว่า แอนโทรโปรซีน (ยุคสมัยของมนุษย์)
ในช่วง 70,000 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคของ Homo Sapiens ที่ได้เข้ายึดครองโลกโดยเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธ์เดียวที่มีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
และหลังจากยุคปฏิวัติเกษตรกรรม ที่ทำให้เกิดการเลี้ยงสัตว์ขึ้น ในปัจจุบันสัตว์กว่า 90% บนโลก เป็นสัตว์ที่ถูกมนุษย์เลี้ยงไว้ เช่น หมู ไก่ วัว
ถึงแม้ว่าการมีชีวิตรอดของสัตว์เหล่านี้ หรืออาจเรียกได้ว่าการขยายเผ่าพันธุ์ของพวกมัน "ง่าย" กว่าสมัยก่อนมากๆ เพราะมีมนุษย์คอยจัดหาอาหารและที่อยู่ให้ แต่ก็เป็นมนุษย์ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้พวกมันอย่างมากเช่นกัน
มนุษย์ เห็นสัตว์พวกนี้เป็น species ที่ด้อยกว่า พวกมันจึงถูกขังในที่แคบๆ ไม่ได้เดินไปไหนต่อไหนได้ แบบสมัยโบราณ
คำถามคือ นี่เราคิดกันไปเองหรือเปล่าว่า เหล่าสัตว์เลี้ยงพวกนี้มันมีความทุกข์ทรมานจริงๆ
เรารู้ได้อย่างไรว่ามันมีความรู้สึก อารมณ์ เหมือนมนุษย์
ผู้เขียน ได้นำเสนอว่า emotion นั้น จริงๆแล้วก็คือ Algorithm ในรูปแบบหนึ่ง โดยที่ Algorithm มีอยู่ในสัตว์ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ในตัวมนุษย์เอง
แล้ว Algorithm คืออะไร ?
Algorithm คือ ขั้นตอน กระบวนการต่างๆที่ใช้ในการคำนวณ การตัดสินใจ และแก้ปัญหา
เรารู้จัก Algorithm ส่วนมากจาก computer
computer เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในการใช้ Algorithm โดยมันสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้โดยใช้ชุดคำสั่งที่ถูกเขียนเข้าไป เช่น การคำนวณโจทย์ทางคณิตศาสตร์
โดยที่เราใส่ input เข้าไป ก็จะได้ output ออกมา
ถ้ามองในมุมนี้ มนุษย์ก็ถือได้ว่ามี Algorithm เหมือนกัน
โดย Algorithm ของคนก็คือ การทำอะไรก็ได้เพื่อให้มีชีวิตรอด และสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งชุดคำสั่งเหล่านั้นถูกบรรจุอยู่ใน "ยีน(Gene)" ของเรานั่นเอง
Algorithm ของมนุษย์นั้นทำงานในรูปแบบของ อารมณ์ รวมไปถึงความรู้สึก
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น ลิงตัวหนึ่งเห็น กล้วย และสิงโต อยู่ตรงด้านหน้าของมัน ในสมองของลิงตัวนั้นจะมี Algorithm ที่จะส่งผลต่อการกระทำของมัน พวกนี้คือ input
ไม่ว่าจะเป็นการที่ลิงเห็นว่า มีกล้วยกี่ลูก อยู่ไกลไหม แล้วถ้าสิงโตวิ่งมาหามัน จะหนีทันไหม
แล้วตัวของลิงเอง หิวหรืออิ่มอยู่ ถ้ามันหิวมาก คุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยงวิ่งไปเอากล้วย แต่ถ้าอิ่มอยู่ก็ไม่จำเป็นที่จะไปเสี่ยงชีวิตกับสิงโต
เมื่อลิง คำนวณ Algorithm ในสมองของมัน จนได้ output ออกมา ถ้ามันคำนวณได้ดี มันก็จะรอดชีวิต และสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ โดยยีนพวกนี้ก็จะสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ เสมือนกับการ copy Algorithm แล้วส่งต่อๆกันไปจากรุ่น สู่รุ่น
แล้วถ้าเป็นมนุษย์หละ ทำไมมนุษย์ผู้ชาย ถึงได้ชอบมองผู้หญิงที่สวย และมีหน้าอกใหญ่ นั่นก็เพราะว่า การที่มีหน้าอกใหญ่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่มนุษย์ผู้หญิงคนนั้นจะมีน้ำนมให้ลูกกินมากกว่า โอกาสมีชีวิตรอดก็จะมากกว่า ส่วนผู้หญิงที่สะโพกใหญ่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้การคลอดดลูกนั้นง่าย สิ่งเหล่านี้จึงไปกระตุ้นความอยากสืบพันธุ์ของมนุษย์ผู้ชาย
และตกทอดมาจากรุ่น สู่รุ่น
ดังนั้นแล้ว ในความเป็นจริง การตัดสินใจส่วนใหญ่ของเรานั้น ล้วนใช้ Algorithm ทั้งสิ้น
ขอวกกลับมาที่เรื่องของความรู้สึก ว่ามันไปเกี่ยวอะไรกับ Algorithm
ถ้าเราเชื่อว่า Algorithm เป็นตัวควบคุมโอกาสในการอยู่รอดของทั้งคนและสัตว์ เราก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า สัตว์เองก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับคน
แต่ความรู้สึกในสัตว์อาจจะไม่เหมือนในคนเสียทีเดียว
ความรุ้สึกในมนุษย์นั้น อาจมีรายละเอียดที่มากกว่า ลึกกว่า
ผู้เขียนได้พูดถึง กรณีของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อ นม อุตสหกรรมเหล่านี้ต้องทำให้สัตว์นับพันล้านตัว ต้องทนทุกข์ทรมาน
คำถามคือ แล้วบรรดาคนที่เลี้ยงสัตว์เหล่านั้นหละ พวกเขาได้รับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่พวกเขาเลี้ยงบ้างไหม ..... อาจจะ
คำถามถัดมาคือ แล้วคนเหล่านั้นจัดการกับความรู้สึกผิดได้อย่างไรกัน
คำตอบนั้นคือ "ศาสนา"
ศาสนา ได้ยกให้พระเจ้าอยู่เหนือมนุษย์ แต่ในทำนองเดียวกัน มันก็เป็นการยกมนุษย์ขึ้นไปด้วย
อย่างเช่นในเรื่องเล่าของเรือโนอาร์ พระเจ้าตั้งใจจะทำลายสิ่งมีชีวิต "ทุกชนิด" บนโลก เพื่อลงโทษจากความผิดบาปของ "มนุษย์"
หรือ ในกรณีของ ในสมัยก่อนถ้าอยากจะให้ฝนตก ก็ต้องมีการบูชายัญด้วย "สัตว์" แต่จริงๆแล้ว เป็นมนุษย์ต่างหากที่ได้ประโยชน์จากการที่ฝนตก
เห็นอะไรไหมครับ..... ว่ามนุษย์นั้นมีอำนาจเหนือสัตว์อื่นๆในเรื่องราวของแต่ละศาสนา ต่างกันไป
และท้ายที่สุด สัตว์จึงกลายเป็นสมบัติของมนุษย์
ไม่เพียงเท่านั้น สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็กลับมาทำร้ายกันเองด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการค้าทาส ค้ามนุษย์ การแบ่งวรรณะ การเหยียดสีผิว
หลังจากที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องขอพระเจ้าให้ปีนี้วัวของพวกเขามีน้ำนมมากๆอีกต่อไป แต่มนุษย์ได้ใช้นักวิทยาศาสตร์ไปศึกษายีน และทำการเปลี่ยนแปลงแทน
ในทางกลับกัน ปัจจุบันก็มีมนุษย์บางกลุ่มที่หันกลับมาให้ความสำคัญกับชะตากรรมอันโหดร้ายที่สัตว์ต้องเผชิญกับความทรมาน
ทำไมกัน ? หรือเพราะว่าคนเหล่านั้นเริ่มคิดได้และกังวลว่า ตัวเองก็อาจจะโดนลดชั้นแบบสัตว์เหล่านั้นเพราะปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังฉลาดและมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ อะไรทำให้มนุษย์มีคุณค่ามากกว่าสัตว์อื่นๆ
หรือเพราะเราฉลาดกว่าพวกมัน
ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ในอนาคตอันใกล้ เมื่อ computer พัฒนาขึ้นจนกลายเป็น Super AI ที่สามารถเลียนแบบสมองมนุษย์ได้ด้วย Algorithm และเก่งกว่าเรา พวกมันจะมีคุณค่าเหนือพวกเราไหม
มันจะมาฆ่าพวกเราแบบในหนัง sci-fi ไหม เพราะว่าคนนั้นไร้ประโยชน์ในมุมมองของพวกมัน
กลับมาที่ มนุษย์เรามีความชอบธรรมอะไรกัน ที่จะเที่ยวไปทรมานสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่ไปฆ่าพวกมันกัน
แล้วโลกในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะเกิดมนุษย์ version upgrade จาก Homo Sapiens บางกลุ่มที่กลายเป็น HomoDeus
แล้ว HomoDeus เหล่านั้นจะกระทำกับ Homo Sapiens ที่เหลืออยู่เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทำกับสัตว์อื่นๆ หรือไม่ ?
โฆษณา