11 มิ.ย. 2020 เวลา 20:55 • สุขภาพ
มะเร็งตับ ลุกลามมาที่กระดูกได้อย่างไร?
ช่วงนี้นะครับที่มีข่าวการเสียชีวิตของดาราดัง คุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง จากโรคมะเร็งตับแล้วแพร่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งไม่ได้แสดงอาการอะไรนอกจากกระดูกหักแล้วตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกที่ลุกลามมาจากมะเร็งตับ
วันนี้ผมอยากจะมาอธิบายให้ท่านฟังเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกว่าส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งชนิดใด ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไรบ้างนะครับ
โรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกนับว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดของรอยโรคที่มีการทำลายโครงสร้างกระดูก มะเร็งของอวัยวะที่มักมีการแพร่กระจายมาที่กระดูกได้แก่ เต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก ไต ไทรอยด์ และระบบทางเดินอาหารและตับ ผู้ป่วยหลายรายที่มีมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดที่มากขึ้น
การแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกนั้นส่วนใหญ่จะแพร่กระจายมาทางเส้นเลือด เมื่อเกิดมะเร็งของอวัยวะต่างๆเช่นมะเร็งตับ มะเร็งปอดจะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงก้อนมะเร็งมากมาย เมื่อมะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้นและมีศักยภาพในการแพร่กระจาย ตัวมะเร็งก็จะลุกลามผ่านทางเส้นเลือดและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้แก่ ปอด ตับ และกระดูก
1
เมื่อมีการกระจายแพร่แล้วตัวมะเร็งจะกระตุ้นการสร้างสารตัวหนึ่งในร่างกายที่ชื่อว่า Parathyroid hormone (PTH)-like factorsซึ่งจะเป็นตัวเร่งในการสร้างเซลล์เพื่อทำลายกระดูก และนำมาสู่การเกิดกระดูกหักได้ง่ายแม้เพียงล้มนิดเดียว หรือในบางครั้งก็เกิดกระดูกหักขึ้นมาเอง เนื่องจากมีการทำลายกระดูก
1
รวมทั้งการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากการที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกได้แก่ ภาวะระดับของแคลเซียมในกระแสเลือดสูง ภาวะการกดทับของไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยเกิดอัมพาต การเกิดกระดูกหักแบบมีพยาธิสภาพ
ตำแหน่งของกระดูกที่พบว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งมาพบบ่อยตามลำดับได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง และบริเวณส่วนต้นของกระดูกระยางค์ เมื่อมีการทำลายกระดูกมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมามีสาเหตุอันเนื่องมาจากมีการกระตุ้นการทำงาน และการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ทำลายกระดูกมากกว่าปกติ
มะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง และกดทับไขสันหลัง
มะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกสะโพก
มะเร็งแพร่กระจายมาที่เบ้าสะโพก
การประเมินผู้ป่วยต้องประเมินทั้งร่างกาย สิ่งที่สำคัญต้องประเมินดูว่าเมื่อมีการแพร่กระจายมาที่กระดูกแล้ว ลักษณะความแข็งแรงของโครงสร้างถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด มีการทำลายจนเกิดการหักของกระดูกหรือไม่
ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อนอาจจะมาพบแพทย์เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกและอวัยวะภายในเช่น ปอด ตับ ร่วมด้วย ดังนั้นในบางครั้งการทำการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกนั้นต้องทำการสุ่มตรวจเนื้อเยื่อในบริเวณที่สงสัยว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งมาตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคก่อนที่จะให้การรักษาด้วยวิธีการอื่นๆเพิ่มเติมเช่นการผ่าตัด หรือการฉายรังสีรักษา
เราจะนึกถึงภาวะมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และมีรอยโรคที่บริเวณกระดูก ที่มักมีการแพร่กระจ่ายของมะเร็งมาได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง และส่วนของกระดูกสะโพก
การตรวจ bone scan เพื่อดูการแพร่กระจายมาที่กระดูก
ในบางครั้งผู้ป่วยเกิดกระดูกหักจากการหกล้มเพียงเล็กน้อยโดยที่ไม่ได้แสดงอาการของมะเร็งที่อวัยวะอื่นมาก่อนก็เป็นไปได้ เช่นผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งตับก็อาจจะไม่มีอาการมาก แต่มาตรวจพบตอนหกล้มแล้วพบว่ามีกระดูกหัก
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการประเมินรอยโรคบริเวณกระดูกที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมานั้นต้องประเมินดูว่ากระดูกที่ถูกทำลายนั้นสามารถรับต่อน้ำหนักปกติของร่างกายได้หรือไม่ หรือว่ากระดูกถูกทำลายไปมากก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งถ้ามีแนวโน้มที่กระดูกจะหักก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหัก หรือถ้ากระดูกหักไปแล้วก็อาจจะพิจารณาให้การรักษาผ่าตัดตามความเหมาะสมของแต่ละตำแหน่งที่เกิดการหักและสภาพทั่วไปของผู้ป่วย
การผ่าตัดกระดูก
เมื่อเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูกแล้วนั้นจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งในด้านสภาพของร่างกาย และสภาพจิตใจ โดยเฉพาะในเรื่องของอาการปวดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมากที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกจะมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ การเกิดกระดูกหัก เมื่อลุกลามไปที่บริเวณกระดูกสันหลังก็จะทำให้มีอาการปวด และอาจเกิดการกดทับบริเวณไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตร่วมด้วย ร่วมกับการเกิดภาวะของระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้น
หลักในการรักษาที่สำคัญคือต้องได้ชิ้นเนื้อและประเมินก่อนว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็งชนิดใด มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด มีการลุกลามไปที่กระดูกตำแหน่งไหนบ้าง หรือมีการแพร่กระจายไปที่ตับหรือปอด ร่วมด้วยหรือไม่
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งกระดูกที่หัก และระยะของการแพร่กระจาย ได้แก่
1. การผ่าตัดรักษาตำแหน่งกระดูกหัก
2.การรักษามะเร็งจุดเริ่มต้น
3. การให้ยาเคมีบำบัด
4. การฉายแสงรังสีรักษา
5. การให้ยาที่เฉาพะเจาะจง target therapy
การพยากรณ์โรคมะเร็ง และระยะเวลาที่เหลือได้แก่
1. ชนิดของมะเร็งเริ่มต้นที่เป็น
2. ลักษณะการเจริญเติบโตและความรุนแรงของเซลล์มะเร็ง
3. การแพร่กระจายไปยังปอดและตับ
4. จำนวนกระดูกที่แพร่กระจาย ซึ่งถ้ากระจายหลายตำแหน่งก็ไม่ดี
ในท้ายนี้ผมขอแสดงความอาลัย และความเสียใจกับครอบครัวคุณตั้วด้วยนะครับ
ผมหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะครับ
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
 
Line OA https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @doctorkeng
 
Facebook ปวดหลังรักษาได้ ไม่ผ่าตัด - Home
โฆษณา