15 มิ.ย. 2020 เวลา 04:11
วิธีรับมือกับคำวิจารณ์
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านล้วนต้องเคยถูกวิจารณ์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครในโลกที่สามารถหลีกหนีคำวิจารณ์ได้ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็มิได้รับการยกเว้น
1
บางคำวิจารณ์อาจจะทำให้เราสูญเสียความมั่นใจ บางคำวิจารณ์ก็อาจจะทำให้เราพัฒนาตนเองได้ แต่อยู่ที่ทัศนคติของเราว่าจะดึงสิ่งดี ๆ ออกมาจากคำวิจารณ์นั้นได้หรือเปล่า
บทความนี้ประสงค์จะช่วยให้ทุกท่านมีทัศนคติที่ดีในการรับฟังคำวิจารณ์ เพื่อให้สามารถรับมือกับคำวิจารณ์ได้อย่างผู้มีปัญญา เพราะบางคำวิจารณ์ที่รุนแรงก็อาจจะมีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่ก็ได้
คำวิจารณ์สะท้อนตัวตนของคนที่วิจารณ์มากว่าตัวตนของคนที่ถูกวิจารณ์
อธิบายง่าย ๆ คือ หากเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวกหรือคนที่ประสบความสำเร็จมาวิจารณ์เรา เขาก็มักจะใช้คำวิจารณ์ในทางที่สร้างสรรค์ หรือมักใช้คำพูดตักเตือนดี ๆ
แต่ในทางตรงกันข้ามคนที่มีทัศนคติที่แย่และประสบความสำเร็จน้อย เขาก็มักจะใช้คำที่รุนแรงและไม่มีสาระมาวิจารณ์เรา บางทีก็อาจจะพูดจาทำลายความมั่นใจในสิ่งที่เราทำด้วย
แต่ให้เข้าใจไว้ว่าการที่เขามาตัดสินว่าเราทำไม่ได้ นั่นกำลังบ่งบอกถึงตัวตนของเขาว่าเขานั่นแหละที่ทำไม่ได้ เราต้องเข้าใจคนทั้ง 2 แบบนี้ก่อนเราถึงจะเลือกวิธีรับมือถูก
คำวิจารณ์นั้น “ฉุดรั้ง” หรือ “ผลักดัน”
คำวิจารณ์มีอยู่ 2 ประเภทคือ
1. คำวิจารณ์ที่ฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวหน้า มักเป็นคำวิจารณ์ที่บั่นทอนกำลังใจจนทำให้เราขาดความมั่นใจในตนเอง คำวิจารณ์จำพวกนี้เราไม่จำเป็นต้องสนใจ
2. คำวิจารณ์ที่ผลักดันให้ก้าวหน้า มักเป็นคำวิจารณ์ที่มาจากคนที่หวังดีกับเราแต่เห็นข้อบกพร่องจากสิ่งที่เราทำ คำวิจารณ์แบบนี้จะช่วยสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จได้ เราควรรับฟังและนำมาปรับปรุงตัวเอง
ทั้งสองอย่างนี้ต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก เพราะเราไม่จำเป็นต้องรับฟังและนำกลับมาคิดทุกคำวิจารณ์
คำวิจารณ์นั้นเป็นจริงหรือไม่
เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าในคำวิจารณ์นั้นมีความจริงซ่อนอยู่หรือเปล่า หรือมีเพียงคำพูดที่ไร้สาระ
ตัวอย่างเช่น หากมีคนมาบอกว่าเราอ้วนแบบนี้ไม่มีที่จะเอามาเป็นแฟนหรอก สิ่งที่เราควรทำคือคิดก่อนว่าในคำวิจารณ์นั้นมีความจริงอยู่หรือเปล่า หากเราอ้วนจริงเราก็ยอมรับและก็ไม่ควรไปโกรธเขา ส่วนที่บอกว่าไม่มีใครจะมาเอาเป็นแฟน อันนั้นถือว่าไร้สาระ ไม่ต้องไปสนใจ
ไม่มีใครสามารถหลีกหนีจากคำวิจารณ์หรือคำด่าได้อยู่แล้ว นี่เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก แต่หากเราเข้าใจทั้ง 3 ข้อนี้ เราก็จะมีสติในการรับฟังคำวิจารณ์มากขึ้นและไม่เกิดอารมณ์โมโหขณะถูกวิจารณ์
เราต้องใช้ปัญญาในการคัดกรองเนื้อหาที่เป็นความจริงเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ชีวิตเราพัฒนาได้ดีขึ้น หากทำเช่นนี้ได้คำวิจารณ์เหล่านั้นก็เปรียบเสมือนกระจกที่ส่องให้เห็นความบกพร่องของตัวเอง
"จงรับฟังคำวิจารณ์อย่างผู้มีปัญญาและหากต้องเป็นผู้วิจารณ์ก็จงวิจารณ์คนอื่นด้วยปัญญาเช่นกัน"
บทความเพื่อชีวิต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา