30 มิ.ย. 2020 เวลา 11:30 • ประวัติศาสตร์
“สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of terror)” เรื่องราวความบ้าคลั่งจากการปฏิวัติฝรั่งเศส
เช้าวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 ฝูงชนนับพันได้มารวมตัวกันที่จตุรัสแห่งการปฏิวัติในกรุงปารีส...
พวกเขาต่างเฝ้ารอดูวาระสุดท้ายของชายคนหนึ่ง...
ชายคนที่กำลังลงมาจากรถม้า พร้อมถูกมัดแขน...
ชายคนนั้นได้ก้าวขึ้นไปบนแท่นที่มีใบมีดแวววาวตั้งตระหง่านอย่างน่าหวาดหวั่น...
สีหน้าของเขาแสดงความหวาดกลัวออกมาอย่างสุดขีด...
เขาพยายามตะโกนเฮือกสุดท้ายไปยังฝูงชนว่าตัวของเขานั้นบริสุทธิ์...
แต่เสียงของเขาไม่สามารถเจาะทะลุเข้าไปในใจของฝูงชนที่ตอนนี้ต่างมองเขาด้วยความโกรธแค้น เกลียดชัง และสะใจ...
สุดท้าย เขาถูกจับนอนคว่ำหน้าลงและคอถูกล็อคไว้ใต้ใบมีดเพชรฆาต...
ทันใดนั้น ใบมีดก็ตกลงแยกศีรษะกับร่างของเขาออกจากกัน...
ศีรษะของเขาถูกหยิบขึ้นมาชูท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความยินดีของฝูงชนนับพัน...
และนี่ คือการวาระสุดท้ายของหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส...
การตายของเขาถือเป็นชัยชนะของการปฏิวัติฝรั่งเศส...
แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดม่านสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวเช่นกัน...
สมัยที่ฝรั่งเศสวุ่นวายถึงขีดสุด...
สมัยที่บ้านเมืองต่างไร้ขื่อแป...
และสมัยที่ผู้คนตกเป็นเหยื่อสังเวยของเครื่องประหารที่ชื่อ “กิโยติน” เป็นว่าเล่น...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสก่อนนะครับ...
ฝรั่งเศสในสมัยก่อนการปฏิวัตินั้น อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีกษัตริย์คือหลุยส์ที่ 16 มีอำนาจสูงสุด
และคนฝรั่งเศสในสมัยนั้นก็จะมีการแบ่งฐานันดรเป็น 3 ฐานันดรด้วยกันครับ...
โดยฐานันดรที่ 1 คือ พวกพระ
ฐานันดรที่ 2 คือ พวกขุนนาง
และฐานันดรที่ 3 คือ พวกสามัญชน
ซึ่งฐานันดรที่ 1 และ 2 ถือว่าเป็นพวกชนชั้นอภิสิทธิ์ครับ คือ มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก!
1
ส่วนฐานันดรที่ 3 ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด พวกนี้ไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง แถมยังต้องเสียภาษี
1
เรื่องมันเริ่มตอนที่รัฐบาลฝรั่งเศสใกล้จะถังแตกครับ โดยสาเหตุก็มาจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาตั้งแต่สมัยหลุยส์ที่ 14 ที่เอาเงินไปสร้างวังแวร์ซายกับทำสงคราม จนเงินในคลังแทบเกลี้ยง แล้วพอมาในสมัยหลุยส์ที่ 15 ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้เงิน ยังคงทำสงครามต่อไป เวรกรรมจึงมาตกในสมัยของหลุยส์ที่ 16 ซึ่งสภาพเศรษฐกิจฝรั่งเศสเข้าขั้นวิกฤติไปแล้ว!
แต่หลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ได้สนใจ ยังคงใช้เงินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเหมือนเดิม อีกทั้งยังเอาเงินไปทุ่มกับการช่วยอเมริกาในสงครามปฏิวัติอเมริกา
1
ฐานันดรที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีก็พากันไม่พอใจในทีสุด พร้อมบอก “พวกเราเสียภาษีตั้ง 25% แต่เหมือนไม่ได้อะไรกลับมา ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ดีขึ้น ลองมองไปที่อังกฤษดูสิ เขาเสียภาษีกันแค่ 5% แต่เจริญกว่าพวกเราลิบลับ”
3
ซึ่งได้ผลครับ! ตัวของหลุยส์ที่ 16 ก็ได้มีการหันมาสนใจเสียงสามัญชนมากขึ้น โดยพยายามที่จะปฏิรูปการคลังของฝรั่งเศส
แต่ทว่า ฐานันดรที่ 2 นั้นไม่เห็นด้วยจึงทำการคัดค้าน (ในสมัยนั้นขุนนางมีอำนาจมากพอสมควร) แล้วบังคับหลุยส์ที่ 16 ให้เรียกประชุมสภาทั้ง 3 ฐานันดร เพื่อมาตกลงกันว่าจะเอายังไง
ซึ่งหลุยส์ที่ 16 ก็เชื่อขุนนางครับ จึงมีการเรียกประชุมในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1789
1
ภาพจาก Florida State University News (การประชุมสภาทั่วไปของฝรั่งเศสใน ค.ศ.1789)
แต่การประชุมก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่ครับ เมื่อสามัญชนนั้นต่างคิดว่าตัวเองเสียเปรียบ เพราะคะแนนเสียงในการลงมตินั้น ทั้ง 3 ฐานันดรมีเท่ากัน แต่ฐานันดรที่ 3 คือสามัญชนต่างโต้ว่า “พวกตูมีคนเยอะกว่าเท่าตัว แต่สามารถลงคะแนนเสียงได้เท่าพวกเอ็งเนี่ยนะ ไม่ยุติธรรมเลย!”
เมื่อการประชุมไม่ได้อะไร บวกกับสามัญชนลงคะแนนเสียงไปก็แพ้เหมือนเดิม เพราะพวกอภิสิทธิ์ชนมีคะแนนเสียงมากกว่า...
1
พวกสามัญชนจึงตัดสินใจตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่อให้สามัญชนมาตกลงกันเองและมีการจัดเก็บภาษีกันเองด้วย!
เมื่อเป็นแบบนี้ เหล่าอภิสิทธิ์ชนก็ร้อนๆหนาวๆสิครับต่างคิดว่า “แล้วใครจะจ่ายภาษีให้พวกตู” จึงมีการแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายครับ ฝ่ายหนึ่งคือ เข้าร่วมกับหลุยส์ที่ 16 ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต่างพากันไปซบอกสมัชชาแห่งชาติ
เหตุการณ์เริ่มตึงขึ้น เมื่อเกิดข่าวลือ(ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้) ว่าสมัชชาแห่งชาติมีการเตรียมบุกพระราชวังแวร์ซาย หลุยส์ที่ 16 จึงเรียกระดมพลทหาร 20,000 คนมาที่แวร์ซาย
ทางสมัชชาแห่งชาติเมื่อเห็นทหารกรูเข้ามาในปารีส ก็กลัวสิครับ จึงพากันปลุกปั่นประชาชนให้จับอาวุธ เหตุการณ์เลยเถิดไปถึงขนาดมีการจราจล ยึดศาลาว่าการและสถานที่ราชการ...
2
และสถาการณ์ก็วุ่นวายจนสายเกินแก้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ฝูงชน 800 คน ได้ทำลายประตูคุกบาสตีลย์ พร้อมจับพัสดีคุกตัดหัว ซึ่งฝูงชนบอกว่าคุกนี้เป็นคุกอัปยศที่ขังนักโทษทางการเมือง แถมยังมีการทรมานต่างๆนานา (แต่พอคุกแตกจริงๆ กลับมีนักโทษแค่ 7 คน โดยมีนักปลอมลายมือ 4 คน ขุนนางตกอับ 1 คน และคนบ้าอีก 2 คน!)
แต่เอาเถอะครับ ถึงจะผิดหวังกับเรื่องนักโทษที่อยู่ในคุก แต่ฝูงชนก็ได้ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายการปกครองแบบดั้งเดิมของฝรั่งเศส และเป็นการแสดงความรู้สึกของสามัญชนว่า “พวกเราจะไม่ทนการถูกเอาเปรียบอีกต่อไปแล้วโว้ย!”
เรื่องราวการทลายคุกที่บอกเล่ากันปากต่อปากว่าเป็นสัญลักษณ์และสัญญาณให้สามัญชนลุกขึ้นมาต่อสู้ได้โหมกระพรือไปทั่วปารีส แล้วไฟแห่งการปฏิวัติก็ได้ถูกจุดขึ้นในที่สุด...
ภาพจาก The British Library (การทลายคุกบาสตีลย์)
หลังทำลายคุกบาสตีลย์ เหล่าสามัญชนก็เหมือนได้รับการสูบฉีดครับ พากันบุกยึดที่ดินหรือปราสาทของพวกขุนนาง ซึ่งพวกขุนนางเมื่อเจอแบบนี้ก็พากันหนีอย่างหัวซุกหัวซุน
แล้วสมัชชาแห่งชาติก็ประกาศกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้ทุกคนต้องเสียภาษีเท่าเทียมกัน พร้อมกับการประกาศสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างสังคมของฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ แล้วยกเลิกชนชั้นของพวกขุนนาง ส่วนกษัตริย์ก็จัดให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ....
ด้านหลุยส์ที่ 16 และขุนนางซึ่งอ่อนแอมาก ก็ไม่สามารถหยุดเหตุการณ์ที่เลยเถิดนี้ได้ จึงต้องจำใจยอมรับกฎหมายของสมัชชาแห่งชาติ
แล้วในที่สุดก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใน ค.ศ.1791
1
แต่ใช่ว่าเรื่องจะจบครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ บ้านเมืองก็ยังอยู่ในสภาพวุ่นวายเช่นเดิม แถมพวกสามัญชนก็มีการแบ่งกันเป็นหลายก๊กหลายกลุ่มแย่งอำนาจกัน โดยกลุ่มเด่นๆที่ผมจะพูดถึงมีด้วยกัน 4 กลุ่มครับ คือ...
กลุ่มบริโซแตงส์ กลุ่มจิรองแดงส์ กลุ่มซังต์กือลอต และกลุ่มจาโคแบงส์
โดยกล่มที่มีอำนาจมากในช่วงแรก คือ บริโซแตงส์และจิรองแดงส์ที่มีการร่วมมือกัน โดยแนวคิดของทั้งสองกลุ่มตรงกัน คือ การสุมไฟการปฏิวัติของประชาชนให้รุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อเปลี่ยนฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ และบีบหลุยส์ที่ 16 ให้ประกาศสงครามกับประเทศในยุโรป
ตัวของหลุยส์ที่ 16 เห็นท่าไม่ดีและกลัวถูกใช้เป็นเครื่องมือ จึงหนีออกนอกประเทศพร้อมกับราชินีมารี อองตัวเน็ตต์! แต่ว่าก็ไปไม่รอดครับ ถูกจับได้ที่เมืองวาเรนส์ แล้วถูกส่งกลับปารีสในฐานะนักโทษ!
2
บริโซแตงส์กับจิรองแดงส์ก็ได้บังคับให้หลุยส์ที่ 16 ประกาศสงครามกับออสเตรียและปรัสเซีย ตัวของหลุยส์ที่ 16 ก็คิดว่า “เอาวะ ให้ปรัสเซียและออสเตรียมาถล่มพวกปฏิวัติ เผื่อจะได้ฟื้นอำนาจของกษัตริย์ขึ้นมาใหม่!” แล้วในที่สุด ก็มีการประกาศสงครามกับออสเตรียและปรัสเซียใน ค.ศ.1792...
1
โดยการประกาศสงครามนี้ทำให้พวกจาโคแบงส์ที่มีแนวคิดต่อต้านสงครามโกรธแค้นพวกบริโซแตงส์ จิรองแดงส์ และหลุยส์ที่ 16 อย่างมากครับ
1
โดยเฉพาะชายที่เป็นผู้นำของกลุ่มที่ชื่อว่า แมกซิมิเลียน โรเบสปิแอร์ ซึ่งจะกลายเป็นตัวละครหลักของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว...
ภาพจาก Wikipedia (การจับกุมหลุยส์ที่ 16 ที่เมืองวาเรนส์)
ฝรั่งเศสนั้นถือว่าห้าวมากครับ ที่ประกาศสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในตอนที่บ้านเมืองวุ่นวายยุ่งเหยิง กองทัพก็ไม่เป็นระเบียบและอ่อนแอ พูดได้ว่า จะเอาอะไรไปสู้เขา?
ดังนั้น จึงมีการนำพวกนักปฏิวัติหัวรุนแรงตามชนบทเข้ามามีบทบาทในสงคราม ซึ่งพวกที่ว่า คือ พวกซังต์กือลอตนั่นเองครับ...
พวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์นั้น เอาจริงๆ คือ ไม่อยากใช้พวกซังต์กือลอตเท่าไหร่ เพราะพวกนี้ไม่เชื่อในทฤษฎีอะไรทั้งนั้น พลังการขับเคลื่อนอย่างเดียวของพวกนี้ คือ ความแค้น!
แต่ในสภาพแบบนี้จึงไม่มีทางเลือกที่จะใช้พวกซังต์กือลอตเข้ามาเป็นกำลังหลักในการทำสงคราม
แต่ท้ายที่สุด ทัพของฝรั่งเศสก็แพ้อย่างราบคาบ...
1
พวกจาโคแบงส์จึงใช้โอกาสนี้โจมตีพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ ซึ่งการรบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่เคลียร์ แต่กลับเกิดการรบกันในฝรั่งเศสและเกิดการสังหารหมู่ทั่วประเทศขึ้นมาอีก!
จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น พวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์จึงเอาตัวรอดโดยโยนความผิดทั้งหมดไปให้หลุยส์ที่ 16 ซะ!
เหล่าฝูงชนที่แค้นหลุยส์ที่ 16 อยู่แล้ว ก็แค้นหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม พากันถืออาวุธบุกพระราชวังตุยเลอรีส์ซึ่งเป็นที่คุมขังหลุยส์ที่ 16
จึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านกับกองกำลังทหารสวิสที่ปกป้องพระราชวัง ผลคือทหารสวิสเสียชีวิต 800 คน ส่วนฝ่ายจราจลเสียชีวิต 373 คน
แต่หลุยส์ที่ 16 ก็หนีรอดจากความบ้าคลั่งของฝูงชนมาได้ แต่ในตอนนี้นั้นสถานะของหลุยส์ที่ 16 ก็ได้ตกต่ำสุดๆเลยล่ะครับ อำนาจที่เคยมีก็ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง
เหตุการณ์ก็ตึงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อกองทัพของออสเตรียและปรัสเซียเข้าประชิดปารีส พร้อมกับมีการปั่นข่าวลือว่าจะมีการต่อต้านการปฏิวัติจากคนในปารีส
ดังนั้น พวกซังต์กือลอตก็เกิดความกังวลและความกลัวขึ้นมาจนระเบิดความบ้าคลั่งขึ้นมาโดยการฆ่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติโดยไม่มีการสอบสวน!
1
ผู้คนหรือแม้กระทั่งนักโทษถูกสังหารหมู่ไปหลายพันคน บ้างก็ถูกทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อนโดยเรียกเหตุการณ์นี้ครั้งนี้ว่า การสังหารหมู่เดือนกันยายน...
และจากการไร้ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นของพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ ทำให้พวกจาโคแบงส์มีบทบาทและอำนาจขึ้นมาในที่สุด
แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ครับว่าโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์นี่แหละ ที่อยู่เบื้องหลังในการปั่นข่าวลือให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นมา...
ภาพจาก histoire (การสังหารหมู่เดือนกันยายน)
เมื่อพวกจาโคแบงส์ได้เข้ามามีอำนาจ จึงทำการปลดหลุยส์ที่ 16 ออกจากบัลลังก์ แล้วเปลี่ยนฝรั่งเศสไปเป็นสาธารณรัฐในที่สุด
ซึ่งพอพวกจาโคแบงส์เข้ามา ก็สามารถยันกองทัพของออสเตรียและปรัสเซียได้เฉยเลย! แถมยังเกิดโรคระบาดในกองทัพเหล่านั้นจนต้องถอยกลับเลยล่ะครับ เรียกได้ว่า พวกจาโคแบงส์เนี่ยมากับดวงจริงๆ...
เมื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว หลุยส์ที่ 16 ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป จาโคแบงส์ก็ได้พิจารณาโทษโดยการประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 ในข้อหาทรยศชาติ (มีการพบเอกสารลับในหีบ ที่บ่งบอกว่าหลุยส์ที่ 16 มีการติดต่อกับออสเตรียและปรัสเซีย)
2
พวกจาโคแบงส์คิดว่า การประหารหลุยส์ที่ 16 จะเป็นการทำลายอำนาจของพวกบริโซแตงส์และจิรองแดงส์ไปด้วย เพราะหลุยส์ที่ 16 ก็เหมือนหุ่นเชิดของพวกนี้ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว...
และแล้วเช้าวันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 ท่ามกลางสายตาของฝูงชนนับพัน หัวของหลุยส์ที่ 16 ก็หลุดออกจากบ่าด้วยเครื่องประหารที่ชื่อว่ากิโยติน
และนี่คือการเปิดม่านสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของฝรั่งเศส...
ภาพจาก Paris Review (การประหารด้วยกิโยติน)
หลังการประหารหลุยส์ที่ 16 เหล่าประเทศที่ปกครองดวยระบอบกษัตริย์ก็พากันขนหัวลุก และกลัวว่าประชาชนประเทศของตัวเองจะเอาฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง ประเทสเหล่านั้นจึงพากันรุมประณามพวกจาโคแบงส์ว่า “ไอ้พวกป่าเถื่อน!”
พวกจาโคแบงส์ก็ตอบโต้โดยการพยายามเผยแพร่แนวคิดแบบฝรั่งเศสเข้าไปยังประเทศต่างๆในยุโรป แถมยังเป็นฐานให้กับพวกที่อยากปฏิวัติในประเทศอื่นๆ
เหล่าประเทศยุโรปจึงระแวงฝรั่งเศสสุดๆเลยล่ะครับ มีการตราหน้าว่าฝรั่งเศสเป็นที่ซ่องสุมของพวกผู้ก่อการร้ายทั่วยุโรป!
แล้วประจวบเหมาะกับทัพของปรัสเซียและออสเตรียฟื้นตัว แถมอังกฤษก็เข้ามาร่วมวงด้วย ทัพเหล่านี้ต้องการโค่นล้มอำนาจของพวกจาโคแบงส์ จึงพากันยกทัพเข้าตีทัพฝรั่งเศสจนพ่ายแพ้อย่างราบคาบอีกครั้ง...
ความพ่ายแพ้จึงทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศโดยพวกซังต์กือลอตขึ้นมาอีกครั้งครับ! แต่คราวนี้ไม่ได้ถูกปลุกปั่นโดยพวกจาโคแบงส์ (อย่างที่เคยเล่าไปครับว่าพวกซังต์กือลอตขับเคลื่อนโดยความแค้นล้วนๆ!)
แต่โรเบสปิแอร์ก็ได้ใช้โอกาสความวุ่นวายที่พวกซังต์กือลอตก่อขึ้นมานี้ ทำการตั้งศาลปฏิวัติเพื่อตัดสินและกำจัดผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติให้หมดสิ้นไปจากฝรั่งเศส และเป้าหมายแรก คือ พวกบริโซแตงส์และพวกจิรองแดงส์ที่หลงเหลืออยู่
โดยพวกนี้โดนศาลปฏิวัติตัดสินให้ประหารโดยกิโยตินจนเหี้ยนเลยล่ะครับ! จึงเป็นจุดจบของพวกบริโซแตงส์และพวกจิรองแดงส์ในที่สุด
ทำให้ในตอนนี้โรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์นั้นมีอำนาจสูงสุดในประเทศ...
โรเบสปิแอร์ได้ทำการจับและประหารพวกที่เข้าข่ายว่าจะต่อต้านการปฏิวัติ (เอาจริงๆ คือพวกที่จะต่อต้านโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์มากกว่า)
ไล่ตั้งแต่อดีตราชินีมารี อองตัวเนตต์ และพวกเชื้อพระวงศ์อื่นๆก็ถูกจับขึ้นเขียงเป็นเหยื่ออันโอชะของกิโยตินกันทั้งสิ้น รวมถึงพวกแม่ทัพหรือทหารที่แพ้ในสงคราม ก็โดนจับมาตัดคอเพื่อเป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ถ้าหากรบแพ้...
นอกจากนี้พวกจาโคแบงส์ก็มีการต่อต้านศาสนาอีกด้วย โดยมีการทำลายโบสถ์ จับพวกพระไปเข้ากิโยตินและห้ามให้มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใดๆทั้งสิ้น ใครฝ่าฝืน กิโยตินเตรียมพร้อมสำหรับทุกคนเสมอ!
แต่การปกครองอันป่าเถื่อนของโรเบสปิแอร์ ก็ทำให้ทหารฝรั่งเศสเกิดฮึกเหิมขึ้นมา สามารถรบในสนามรบได้อย่างไม่กลัวตายเลยทีเดียว (แหงล่ะ เพราะถ้าแพ้ก็ต้องกลับไปโดนกิโยตินสับคอตายอยู่ดี...) ทำให้กองทัพฝรั่งเศสชนะในหลายๆสนามรบเลยล่ะครับ โดยมีนายทหารหนุ่มที่โดดเด่นขึ้นมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น จรูดอง เมอโร มาซเซนา และนโปเลียน โบนาปาร์ต...
แต่จากความโหดเหี้ยมของโรเบสปิแอร์ ที่จับคนมาบั่นคอด้วยกิโยตินเป็นว่าเล่น ซึ่งมีการประมาณการว่าเหยื่อของกิโยตินในยุคนั้นมีมากกว่า 10,000 คนเลยล่ะครับ!
และยังรวมไปถึงพวกซังต์กือลอตที่โรเบสปิแอร์เคยใช้ประโยชน์ก็ไม่รอดพ้นจากคมมีดของกิโยตินเช่นกัน เพราะโรเบสปิแอร์กลัวว่าพวกนี้จะลุกมาต่อต้านเขาในอนาคต...
เมื่อบ้านเมืองวิปริตขนาดนี้ จึงเกิดพวกที่ต่อต้านโรเบสปิแอร์ขึ้นมาในที่สุดครับ นั่นคือพวกเทอมิดอเรียนส์...
ภาพจาก Bonjour Paris (การประหารมารี อองตัวเนตต์)
พวกที่ต่อต้านโรเบสปิแอร์ก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆตามเลเวลความโหดเหี้ยมในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
จนในที่สุดวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1794 พวกเทอมิดอเรียนส์ก็ได้มีการชิงลงมือทำการรวบตัวโรเบสปิแอร์และพรรคพวกอย่างรวดเร็ว (ซึ่งถ้าช้ากว่านี้พวกเทอมิดอเรียนส์ก็จะไม่รอดซะเอง)
แสดงให้เห็นว่าโรเบสปิแอร์และจาโคแบงส์ในตอนนี้อ่อนแอลงมาก เพราะไม่มีกำลังจากพวกซังต์กือลอตที่ถูกตัดหัวไป คอยหนุนหลังเหมือนแต่ก่อน...
และแล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1794 โรเบสปิแอร์พร้อมพรรคพวกก็ถูกนำตัวเข้าสู่แท่นประหารที่จตุรัสแห่งการปฏิวัติ ที่เดียวกับที่หัวของหลุยส์ที่ 16 หลุดออกจากบ่าเมื่อ 1 ปีที่แล้ว...
เหมือนฉายภาพซ้ำเลยนะครับ โรเบสปิแอร์ถูกมัดแขนแล้วนำขึ้นไปบนแท่นประหาร...
จากนั้นคอของเขาก็ถูกล็อคเข้ากับกิโยติน พร้อมกับเสียงกรีดร้องอย่างหวาดกลัวที่ดังก้องไปทั่วจตุรัส...
แล้วเสียงนั้นก็หายไปเมื่อใบมีดเพชรฆาตได้สับลงบนคอของเขา...
1
กิโยตินที่เป็นเครื่องมือตัดคอสุดโปรดของโรเบสปิแอร์...
บัดนี้ กลายมาเป็นเครื่องมือที่จบชีวิตของตัวเขาเอง...
ทันทีที่หัวของเขาหลุดออกจากบ่า...
การปฏิวัติฝรั่งเศสก็สิ้นสุดลง...
พร้อมๆกับการปิดม่านของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว...
การปฏิวัตินี้ แม้จะทำลายฝรั่งเศสในสมัยนั้นอย่างย่อยยับ...
ทั้งยังสร้างยุคสมัยแห่งความโกลาหลและความโหดร้าย...
รวมถึงกลายเป็นตัวอย่างของการปฏิวัติอย่างรุนแรงแบบถอนรากถอนโคนให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก...
แต่ทว่าการปฏิวัตินี้ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางประชาธิปไตยของฝรั่งเศส...
ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นฝรั่งเศสในปัจจุบัน...
ทั้งยังเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของโลกที่เราควรจะจดจำเอาไว้...
ภาพจาก Beyond the Flow
อ้างอิง
Breunig, D.W. The Age of Revolution and Reaction, New York : W.W.Norton & Co, 1970.
Rude, George E. The Crowd in the French Revolution, Oxford University Press, 1972.
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา