30 มิ.ย. 2020 เวลา 00:41 • สุขภาพ
ปวดข้อเท้า ข้อเท้าพลิก ในนักกีฬา
ในกีฬาฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือกีฬาที่มีการปะทะกันของผู้เล่น ข้อเท้าเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ได้รับการบาดเจ็บค่อนข้างบ่อย
การบาดเจ็บของเส้นเอ็นรอบๆข้อเท้าเกิดเมื่อมีแรงกระทำต่อเส้นเอ็นรอบๆข้อเท้ามากกว่าแรงยืดที่เส้นเอ็นจะรับได้จึงทำให้เกิดการขาด การบาดเจ็บของเส้นเอ็น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวมที่บริเวณข้อเท้า ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เป็นปกติ ปวดเวลาเดิน ถ้าท่านมีอาการปวดมากควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน ถ้าท่านได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวเช่น มีการอักเสบของข้อเท้าเรื้อรัง เส้นเอ็นยืด และเกิดความไม่มั่นคงของข้อเท้า
สาเหตุของข้อเท้าพลิกเกิดได้หลายสาเหตุเช่น
1. อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
2. เดินสะดุดหลุม หรือเดินลงบันไดแล้วเกิดข้อเท้าพลิก
3. อุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์แล้วเอาเท้าเหยียดลงพื้น
การตรวจร่างกาย
ปวด บวมในตำแหน่งที่มีการบาดเจ็บของเส้นเอ็น ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่ อาการมากน้อยขึ้นกับลักษณะการฉีกขาดของเส้นเอ็นว่า มีการฉีกขาดบางส่วนของเส้นเอ็น หรือการฉีกขาดทั้งหมด จำนวนของเส้นเอ็นที่ฉีกขาด หรือการอักเสบของเส้นเอ็น
ปวดบวม ข้อเท้า
เวลาคลำจะมีจุดกดเจ็บตรงตำแหน่งของเส้นเอ็น
มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อเท้า เวลาขยับจะมีอาการปวด
ในบางครั้งแพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์เพื่อประเมินดูว่ามีกระดูกหักร่วมด้วยหรือไม่
การตรวจด้วย ultrasound จะช่วยประเมินการอักเสบของเส้นเอ็น การฉีกขาดของเส้นเอ็น
การตรวจด้วย ultrasound
การอักเสบของเส้นเอ็น
ระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นเอ็น มี 3 ระดับ
1. การยืดออกของเส้นเอ็น
2. การฉีกขาดบางส่วน
3. การฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด
แนวทางการรักษา
1. ในช่วงแรกที่เกิดการบาดเจ็บ ให้ใช้ความเย็นประคบในตำแหน่งที่บาดเจ็บ หลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนัก ยกขาสูงใน 48 ชั่วโมงแรก
2. รับการตรวจประเมินด้วยแพทย์กระดูกและข้อ
3. ถ้ามีการขาดบางส่วนอาจจะต้องใส่เฝือกหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็น ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วใช้ไม้พยุงในการช่วยเดิน
4. ถ้ามีการฉีกขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด และเป็นหลายเส้นอาจจะต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด เย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น
5. การให้ยาลดปวด ลดอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ
6. การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูเส้นเอ็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อเท้า ลดการบวม ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกความสมดุลของข้อเท้า
สอบถามปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อได้ที่
Line OA https://lin.ee/swOi91Q หรือ Line ID search @doctorkeng
โฆษณา