2 ส.ค. 2020 เวลา 10:34 • ประวัติศาสตร์
“มาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทางในตำนาน” ตอนที่ 5
มาร์โคจากกุบไลข่าน
รายงานของมาร์โคสร้างความพอใจให้กุบไลข่าน
มาร์โคเขียนเรื่องราวที่น่าสนใจที่ได้พบเห็นลงในรายงานที่ส่งถึงกุบไลข่าน โดยครั้งหนึ่ง มาร์โคได้เขียนว่าเขาพบเห็นงูที่มีลำตัวยาวกว่า 15 ฟุต ขาของมันมีเล็บแหลมคม และปากมันก็กว้างขนาดที่จะกลืนคนทั้งคนลงไปได้
สิ่งที่มาร์โคพบคือ “จระเข้”
ในเวลานั้น พวกมองโกลได้ทำลายเมืองหลายแห่งที่มาร์โคได้แวะไป หลายๆ หมู่บ้านในทิเบตที่เคยสวยงาม แต่เมื่อมาร์โคไปถึง ก็ร้างผู้คนแล้ว มีเพียงสัตว์ป่าที่อยู่เต็มเมือง
มาร์โคได้เห็นเงินกระดาษที่จีนเป็นครั้งแรก โดยกระดาษได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกที่จีนในราวค.ศ.105 (พ.ศ.648)
1
แรกเริ่มเดิมที ผู้คนใช้หญ้า อวนดักปลา เศษผ้าในการทำกระดาษ ต่อมาจึงใช้เปลือกไม้
ในยุคของมาร์โค ผู้คนส่วนมากยังไม่รู้วิธีการทำกระดาษ และกว่าจะมีเงินที่ทำจากกระดาษ ก็ปาเข้าไปในยุคค.ศ.1600 (พ.ศ.2143-2242)
ที่จีนนี้เอง มาร์โคก็ได้รู้จักกับดินปืนเป็นครั้งแรก ซึ่งที่จีนนั้นได้มีการประดิษฐ์ดินปืนมาเป็นเวลานับ 100 ปีแล้ว แต่ยุโรปยังคงไม่สามารถผลิตได้
ในช่วงกลางยุคค.ศ.1200 (พ.ศ.1743-1842) “โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon)” ชาวอังกฤษ ก็ได้ทราบถึงวิธีการทำดินปืน ซึ่งเขาน่าจะศึกษาจากกรรมวิธีการทำดอกไม้ไฟของจีน
โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon)
มาร์โคมักจะเขียนบรรยายสงครามของมองโกลลงในหนังสือ บางสงครามเขาก็เห็นเอง แต่บางสงครามก็เป็นสงครามที่เขาได้ยินมา
กุบไลข่านนั้นชนะในหลายๆ ศึก แต่เขาไม่สามารถยึดครองญี่ปุ่นได้ ซึ่งทำให้ชาวยุโรปและเอเชียที่คิดว่าทัพมองโกลนั้นไร้พ่าย เริ่มจะคลางแคลงใจ
ทหารมองโกลมักจะจู่โจมอย่างรวดเร็ว ไม่ให้ศัตรูได้ตั้งตัว โดยจะบุกมาอย่างเงียบๆ และมีการส่งสัญญาณโดยใช้ธงหรือไม่ก็แสงจากตะเกียง หรืออาจจะยิงธนูส่งสัญญาณ
1
เมื่อทำการโจมตี ทหารมองโกลจะตีกลองรัวๆ
ทหารมองโกลจะใช้ดาบ หอก ทวนในการต่อสู้ แต่อาวุธหลักคือธนู
นอกจากนั้น ทหารมองโกลยังเชี่ยวชาญการขี่ม้าอย่างมาก และมักจะนำม้าไปหลายตัว สับเปลี่ยนหากม้าที่ขี่อยู่เกิดเหนื่อย กองทัพมองโกลจึงสามารถบุกยึดดินแดนที่มีผืนหญ้าเท่านั้น เนื่องจากม้าของพวกเขาจำเป็นต้องกินหญ้า
ตัวกุบไลข่านเองนั้น เมื่อมีอายุมากขึ้น ท่านข่านก็ไม่สามารถขี่ม้าด้วยตนเองได้อีกต่อไป
ค.ศ.1287 (พ.ศ.1830) หนึ่งในญาติของกุบไลข่าน ได้วางแผนจะโค่นล้มกุบไลข่าน ซึ่งท่านข่านก็ได้เตรียมจะนำทัพไปสู้กับญาติ แต่ท่านข่านก็เหนื่อยเกินกว่าจะสู้ และทำได้เพียงเฝ้ามองกองทัพมองโกลบดขยี้ทัพญาติของตน
ส่วนทางด้านมาร์โค ในเวลานี้เขาก็อายุได้ 30 ปลายๆ แล้ว และเขาก็ได้ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตอยู่ในจีน
มาร์โค นิคโคโล และมาฟฟีโอ ได้รับทรัพย์สมบัติ ทั้งทองคำและเพชรพลอยจำนวนมาก เป็นที่พอใจแล้ว
กุบไลข่านในเวลานี้ก็มีอายุเกิน 70 ปีแล้ว ในเวลานั้นคนส่วนมากมีอายุไม่ถึง 70 ปี
กุบไลข่านในเวลานี้ป่วยกระเสาะกระแสะ และครอบครัวโปโลก็เกรงว่าท่านข่านจะตาย
ชาวมองโกลหลายๆ คนนั้นอิจฉาและไม่พอใจในตัวมาร์โค เนื่องจากท่านข่านนั้นโปรดและไว้ใจมาร์โคมาก ทำให้มาร์โคกังวลว่าหากท่านข่านเป็นอะไรขึ้นมา ตนก็จะไม่มีความปลอดภัย
ในช่วงปีหลังๆ ครอบครัวมาร์โคได้ขอกุบไลข่านเดินทางกลับบ้าน ซึ่งท่านข่านก็ปฏิเสธตลอด เนื่องจากท่านข่านโปรดมาร์โค
มาร์โคนั้นเป็นกังวลหนัก อยู่ที่นี่ต่อไปก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นยังไง แต่จะเดินทางกลับอิตาลี หากไม่ได้รับความคุ้มครองจากท่านข่าน ก็เป็นอันตรายที่จะกลับไปได้อย่างปลอดภัย
แต่ในปีค.ศ.1291 (พ.ศ.1834) โชคก็เข้าข้างครอบครัวโปโล
เจ้าหญิงมองโกลวัย 17 ปีต้องเดินทางเพื่อไปเข้าพิธีเสกสมรสที่เปอร์เซีย
ในยุคนั้น สตรีจะไม่เดินทางเพียงลำพัง เจ้าหญิงจำเป็นต้องมีคนนำทางและองครักษ์จำนวนมาก
คนนำทางคิดว่าหากเดินทางทางบก การเดินทางจะยากลำบากเกินไป และคิดว่าควรจะเดินทางทางทะเล
มาร์โคเพิ่งจะเดินทางกลับจากอินเดีย เขารู้เส้นทางเป็นอย่างดี และเขานี่แหละ เหมาะที่สุดที่จะเป็นคนนำทาง
ท่านข่านนั้นคิดหนัก เจ้าหญิงก็ห่วง และก็จริงอย่างที่มาร์โคว่า ไม่มีใครเหมาะที่จะนำทางเท่ากับมาร์โคอีกแล้ว แต่อีกใจก็ไม่อยากจะให้ครอบครัวโปโลจากตนไป
แต่สุดท้าย กุบไลข่านก็ตัดสินใจให้ครอบครัวโปโลเป็นผู้นำทางเจ้าหญิง
เรื่องราวของมาร์โคจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา