31 ส.ค. 2020 เวลา 06:01 • ประวัติศาสตร์
*** ความอดอยากที่ไม่มีอยู่จริง ***
ระหว่างปี 1994-1998 เกาหลีเหนือเกิดภัยอดอยากครั้งใหญ่ คร่าชีวิตประชาชนไปราว 6 แสน - 3.5 ล้านคน (จากประชากรตอนนั้นราว 22 ล้านคน) ขณะที่พวกเขาปฏิเสธที่จะเรียกสิ่งนี้ว่า "ภัยอดอยาก" มันกลับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์เกาหลีเหนือไปตลอดกาล เรื่องราวนี้มีเงื่อนงำอย่างไร โปรดติดตามกันครับ
1. หากคุณเป็นชาวเกาหลีเหนือในช่วงปี 1994-1998 การพูดคำว่า "หิว" หรือ "ภัยอดอยาก" หรือบอกว่า "คนๆ นี้หิวตาย" อาจทำให้คุณถูกตำรวจจับได้ เพราะมันแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล แต่ภัยอดอยากในช่วงเวลาดังกล่าวกลับเป็น "แผลเป็น" ที่ยังคงทิ้งร่องรอยอันกว้างลึกอยู่ในสังคมเกาหลีเหนือจนปัจจุบัน
2. เรื่องเริ่มต้นในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ผู้นำรัสเซียคนใหม่คือนายบอริส เยลซินมีใจรักระบบทุนนิยม จึงหันไปเจริญไมตรีกัับเกาหลีใต้ และปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนืออย่างที่เคยทำมาก่อน เกาหลีเหนือจึงเปลี่ยนมาขอความช่วยเหลือจากจีน แต่ปี 1993 จีนก็เกิดวิกฤตอาหารเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถส่งเสบียงบำรุงได้เต็มที่
3. ประเทศเกาหลีเหนือนั้นมีสัณฐานเป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ใช้เพาะปลูกได้มีเพียง 20% และพื้นที่ส่วนใหญ่หนาวเย็นมาก ทำนาได้เพียงปีละครั้ง นี่ทำให้เกาหลีเหนือไม่เคยและจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารได้ การที่รัสเซียกับจีนลดการส่งออกอาหารและน้ำมันทำให้พวกเขาต้องอดอยากในทันที
4. เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่ ทำลายพื้นที่เกษตร และสาธารณูปโภคพื้นฐานไปมากมาย และเนื่องจากรัฐบาลมักเก็บ "เสบียงสำรองยามฉุกเฉิน" ไว้ใต้ดิน น้ำท่วมใหญ่นี้ก็ทำลายคลังเสบียงไปมาก
5. เกาหลีเหนือพึ่งพลังไฟฟ้าจากถ่านหิน พอน้ำท่วมทำลายเหมืองถ่านหิน เกาหลีเหนือก็ขาดไฟฟ้าด้วย เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้อุปกรณ์การเกษตรหลายชนิดที่ต้องใช้ไฟฟ้าทำงานไม่ได้ ยิ่งเพิ่มภัยอดอยากขึ้นไปอีก
6. และในปี 1994 นี้เองคิมอิลซุงก็แก่ตาย บุตรชายคิมจองอิลสืบทอดอำนาจท่ามกลางวิกฤตนานาประการ มีคนเสนอให้เขาเปิดการค้ากับประเทศต่างๆ เพื่อบรรเทาภัยอดอยาก
7. ภาคเกษตรของเกาหลีเหนือนั้นถูกระบบคอมมิวนิสต์ผลักดันให้เร่งผลิตถึงขีดสุดมาตั้งนานแล้ว จะไปผลักดันอีกก็ทำได้ไม่มาก แต่ตามอุดมการณ์จูเชของคิมอิลซุงนั้น ชาวเกาหลีเป็นผู้เข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ 100% การรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศศัตรูจึงเป็นสิ่งท้ายๆ ที่รัฐบาลอยากทำ เพราะมันจะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลเอง
8. ...ดังนั้นภัยอดอยากจากการพึ่งพาตนเองไม่ได้ในครั้งนี้จึงไม่มีอยู่จริง...
9. รัฐบาลให้เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การเดินทัพอันยากลำบาก" โดยเปรียบเทียบมันกับการศึกของคิมอิลซุงในปี 1937 ที่เคยต้องสู้กับทหารญี่ปุ่นนับพันท่ามกลางหิมะที่หนาวเหน็บ อุณหภูมิติดลบถึง 20 องศา ...โอ ...ท่านผู้นำยังเคยผ่าความลำบากเช่นนั้นได้ พวกเราเองก็ต้องทำได้เช่นกัน
10. ขอให้เชื่อใจท่านผู้นำคิมจองอิลผู้บุตรจะนำทุกคนฝ่าวิกฤตนี้เอง เรามาเริ่มจากอะไรง่ายๆ แล้วกันนะ ก่อนอื่นให้ทุกคนต้องเลิกพูดคำว่า "หิว"
11. และให้พวกเรามาร่วมต่อสู้โดยยึดสโลแกน "กินวันละสองมื้อ" (ผมไม่ได้ล้อเล่นนะ สโลแกนนี้ฮิตมาก)
12. ขอให้ไว้ใจ รัฐบาลจะเป็นคนปันส่วนทุกอย่างให้ แต่จะปันให้ตามคะแนนวรรณะ คือคนที่เป็นทหาร และคนที่มีชาติตระกูลดีมีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลมาก ก็จะได้รับปันส่วนอาหารก่อน
13. รัฐบาลจะปันธัญพืชให้ตามส่วนดังนี้:
ชนชั้นกรรมาชีพชั้นสูง ได้ธัญพืช 900 กรัมต่อวัน
ชนชั้นกรรมาชีพธรรมดา ได้ธัญพืช 700 กรัมต่อวัน
คนเกษียณอายุ ได้ธัญพืช 300 กรัมต่อวัน
เด็ก ได้ธัญพืช 200 กรัมต่อวัน
(World Food Program บอกว่าขั้นต่ำของธัญพืชที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งรอดชีวิตได้คือ 600 กรัมต่อวัน)
14. เมื่อเกิดความอดอยาก พวกชาวนาก็เริ่มคอรัปชัน โดยแอบกักตุนพืชผลบางส่วนไว้กินเองกับครอบครัว มีรายงานว่าพวกเขาหิวโหยจนต้องกินต้นอ่อนของพืชตั้งแต่มันยังไม่โตเต็มที่ ทำให้ปริมาณผลผลิตการเกษตรที่น้อยอยู่แล้วกลับเหลือน้อยลงอีกอย่างฮวบฮาบ
15. สถานการณ์แย่ลงจนรัฐบาลต้องลดการปันส่วนของผู้ใหญ่ธรรมดาลงกว่าเดิม โดยปี 1992 ลดไป 10%, ปี 1994 ลดเหลือ 470 กรัมต่อวัน, ปี 1997 ลดเหลือ 128 กรัมต่อวัน ...อย่าว่าแต่อาหารสองมื้อประชากรหลายส่วนไม่ได้รับการปันผลเลย
16. ...สิ่งนี้ทำให้คนอดตาย...
17. พ่อแม่อดอยากไม่อาจเลี้ยงลูกได้ เกิดกลุ่มเด็กที่เรียกว่า "คตเจบิ" (แปลว่านกกระจอก) หรือพวกเด็กเร่ร่อนที่จับกลุ่มกันเดินทางไปเรื่อยๆ เที่ยวขอหรือขโมยอาหารเพื่อประทังชีวิต แต่เนื่องจากที่นี่คือเกาเหลีเหนือ พวกคตเจบิจึงไม่มีอยู่จริง
18. ท่านผู้นำคิมจองอิลนั้นมีน้ำใจรักใครราษฎร ยอมอดอาหารรับประทานเพียงวันละมื้อ และอาหารของท่านก็เป็นเพียงข้าวสวยถ้วยเดียวเท่านั้น เห็นไหมว่าท่านต้องอดทนขนาดไหน! (แต่เห็นยังอ้วนอยู่นะ)
19. ในยุคนั้นไม่เพียงแต่ขาดแคลนอาหาร พวกยาหรืออุปกรณ์การแพทย์ก็ขาดแคลน เพราะระบบพื้นฐานถูกทำลายหมด มีบันทึกว่าหมอต้องเอาขวดเบียร์มาทำที่ให้น้ำเกลืออย่างน่าอนาถ ยาสามัญที่สุดอย่างยาแก้ปวดยาลดไข้ก็หาไม่ได้ การขาดความหลากหลายของอาหารทำให้คนเจ็บป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร ยิ่งเพิ่มภาระให้หน่วยงานการแพทย์
20. ปี 1997 รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยจับรัฐมนตรีเกษตรชื่อนายโซควานฮุยยิงเป้า เนื่องจากเป็นสายลับของอเมริกาที่ถูกส่งมาบ่อนทำลายผลิตผลการเกษตรในประเทศ
21. ในที่สุดประชาชนก็พยายามหาทางเอาตัวรอดกันเอง ...ณ ชายแดนจีนที่ปกติปิดตายนั้นเกิดธุรกิจค้าของเถื่อนเฟื่องฟูคีกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกตำรวจทหารก็ไม่ใคร่เข้มงวดในการตรวจจับ
22. ประชาชนบางกลุ่มออกเรือหาปลา เกิดธุรกิจเถื่อนที่ชาวประมงจับกลุ่มตั้งบริษัททำการเหมือนเอกชน และติดสินบนเจ้าหน้าที่ให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่
23. อาชีพคนทรงหมอดูที่ปกติถูกกวาดล้างเพราะ "ศาสนาคือยาเสพติด" ก็กลับมารุ่งเรือง ผู้คนขาดที่พึ่งทางใจ หันมาใช้บริการแม่มดหมอผีกันมาก
24. เกิดตลาดมืดผู้คนแข่งขันกันทำการค้าเพื่อเอาตัวรอดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดระบบ "ทุนนิยม" ขึ้นมาโทนโท่ใจกลางประเทศคอมมิวนิสต์ เกิดชนชั้นกลางที่ร่ำรวยแม้จะมาจากวรรณะต่ำ เกิดการใช้ "เงิน" มากขึ้นมากจากที่ก่อนนี้ใช้แต่คูปองแลกของปันส่วน
ภาพแนบ: ตลาดมืดในเกาหลีเหนือที่มีการแอบถ่ายมา
25. สิ่งเหล่านี้ไม่อาจช่วยให้ประเทศเกาหลีผ่านภัยอดอยาก แต่ก็ช่วยให้คนรอดตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลแกล้งไม่เห็นเรื่องพวกนี้เพราะไม่มีปัญญาและกำลังในการจัดการ
26. และแล้วเมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตในที่สุดรัฐบาลก็ยอม "แก้ปัญหาอย่างถูกจุด" โดยลืมหลักพึ่งพาตนเอง แล้วร้องขอความช่วยเหลือทางอาหารจากนานาชาติ
27. ชาติแรกที่เอาอาหารมาช่วยเกาหลีเหนือก็คือเกาหลีใต้ เพราะอย่างไรไม่อาจทนเห็นคนเกาหลีเหมือนกันต้องล้มตายราวใบไม้ร่วง หลังจากนั้นความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆ ก็ค่อยๆ ตามมา
28. หนึ่งในชาติที่ช่วยเกาหลีเหนือมากที่สุดกลับเป็นประเทศที่เกาหลีเกลียดชังเคียดแค้นที่สุด นั่นคือ "อเมริกา"
29. แต่หลังๆ อเมริกาก็ลดความช่วยเหลือลง เพราะกล่าวหาว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจัดการเอาของบริจาคไปปันส่วนแก่พวกวรรณะสูงอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นยังแอบพัฒนานิวเคลียร์ และเอาการพัฒนานิวเคลียร์มาเป็นข้อต่อรองในการขออาหาร ชาติที่ช่วยเกาหลีเหนือมากที่สุดจึงเป็นเกาหลีใต้กับจีน
30. ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000s ในที่สุดระบบพื้นฐานก็ค่อยๆ ได้รับการซ่อมแซม เศรษฐกิจและสังคมเริ่มฟื้นตัว ภัยอดอยากของเกาหลีเหนือผ่านพ้นไปแล้ว
31. บาดแผลที่เหลืออยู่คือคนรุ่นหนึ่งเติบโตมาแคระแกร็นกว่าที่ควร จนถึงปัจจุบันพวกเขาก็ยังเรียกเหตุการณ์ตอนเด็กว่า "การเดินทัพอันยากลำบาก" ไม่เรียก "ภัยอดอยาก"
32. ช่วงภัยอดอยากของเกาหลีเหนือยังทำให้เกิดอาหารชนิดใหม่เรียกว่า "อินโจบับ" แปลตรงตัวว่า "ข้าวห่อเนื้อปลอม" ทำโดยเอาฟองเต้าหู้มาห่อข้าวเหนียว แล้วราดซอสเผ็ดหวาน ใช้รับประทานต่างเนื้อสัตว์ กลายเป็นของกินขึ้นชื่อจนปัจจุบัน หาได้เฉพาะในเกาหลีเหนือ ไม่มีในเกาหลีใต้
33. อีกสิ่งที่เหลืออยู่คือตลาดมืดและทุนนิยมแบบ organic ที่รัฐบาลยอมปิดตาข้างหนึ่งเพราะมันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในยุคคิมจองอึนรัฐบาลยอมผ่อนปรนเปิดเสรีมากขึ้น อนุญาตให้มีตลาดและห้างร้านของรัฐบาลขึ้นมาหลายแห่ง (ปัจจุบันนี้มีสี่ร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศ)
34. สุดท้าย "การเดินทัพอันยากลำบาก" กลับมีผลพวงทำให้เกาหลีเหนือต้องปฏิรูปตัวเองจนเจริญขึ้นทันสมัยขึ้น แม้จะยังล้าหลังประเทศเสรี แต่พวกเขาก็ค่อยๆ เปิดกว้างรับรู้เรื่องราวจากโลกภายนอก
35. ถามว่าคนเกาหลีเหนือปัจจุบันลืมเลือนบาดแผลในช่วงเวลา "การเดินทัพอันยากลำบาก" ไปหมดแล้วหรือไม่?
...นั่นเป็นสิ่งที่ยากจะรู้ได้ เพราะปัจจุบันเมื่อพวกเขามีมือถือใช้กันแพร่หลาย มันก็ยากที่รัฐบาลจะไล่ตามจับว่าพวกเขาแอบพูดอะไรกันบ้าง...
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา