4 ก.ย. 2020 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
The Toxic people detox. | บำบัดตัวเองจากคนเป็นพิษ
ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสไปฟัง Andrew Grant นักพูด TEDx Talk ชาวอังกฤษ และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Who killed creativity?... and how can we get it back?” ที่เล่าถึง 7 พฤติกรรมหรือนิสัยของคนที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของคนรอบตัวและองค์กรในแบบนี้เจ้าตัวอาจทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ภาพถ่ายคู่กับผู้เขียนหนังสือคุณ Andrew Grant
เขาใช้เทคนิคการเล่าเรื่องราวในรูปแบบใหม่ที่ชาญฉลาดและสร้างสรรค์มากๆ โดยจำลองการเล่นบอร์ดเกมส์สุดคลาสสิคอย่าง “เกมส์นักสืบ” ที่เราคุ้นเคย โดยจะให้เราช่วยกันตามหาตัวฆาตกร ว่าใครเป็นคนฆ่า “ความคิดสร้างสรรค์”? ด้วยอาวุธอะไร? และเกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นที่ไหน? ซึ่งผมจะขออนุญาตปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เพราะเกรงว่าหากแปลกันตรงๆ คงจะงงกันทั้งคนอ่านคนแปล ผมจึงขอย่อยและปรับเรื่องราว รวมถึงขอตั้งชื่อตัวละครใหม่ในแบบที่น่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจง่ายขึ้น เรามาเริ่มเล่นเกมส์นี้กันเลยครับ...
7 รายชื่อผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุฆาตกรรม “ความคิดสร้างสรรค์” มีดังนี้
Image from www.blueglovejobs.com
1. ท่านประธาน Blue จอมควบคุม เขาเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัท มีตำแหน่งและอำนาจสูงสุดในการบริหาร เป็นคนเก่งและมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ทุ่มเททำงานหนัก สร้างบริษัทแห่งนี้จากศูนย์จนประสบความสำเร็จ เป็นเหมือนเจ้าสำนักคอยควบคุมกฏระเบียบ วินัย จรรยาบรรณ รักความสมบูรณ์แบบ ขี้หงุดหงิดเพราะต้องคอยเข้มงวดกับเด็กใหม่ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร บ่อยครั้งที่พนักงานใหม่มักถูกแก bully เวลาทำงานผิดพลาดแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือทำเรื่องผิดกาลเทศะ
Image from www.tanveernaseer.com
2. ผู้อำนวยการ White นักจัดการความเสี่ยง ยึดคติพจน์โฆษณาปากกา Big ยุค 80 “จำไว้... ปลอดภัยไว้ก่อน!” ทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบแบบ “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” ถ้าไม่ทำ... เราย่อมไม่ผิด กลัวความไม่แน่นอน กลัวความผิดพลาด กลัวความเสี่ยง มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเจ็ดย่านน้ำ จึงเดาผลได้ก่อนจะลงมือทำแล้วว่าอะไรจะสำเร็จจะไม่สำเร็จ โปรเจ็คใหม่ๆ ที่ต้องผ่านด่านแก จึงมักถูกปัดตก ไม่มีโอกาสเกิด คำพูดที่ได้ยินทุกครั้งจากปากแกคือ “ไอเดียดีนะแต่เราเคยทำมาแล้วเมื่อ xx ปีก่อน แล้วล้มไม่เป็นท่า...”
Image from www.spin.atomicobject.com
3. รองผู้อำนวยการ Gray ผู้ที่จริงจังกับทุกเรื่อง เครียดกับทุกสิ่ง เป็นคนขี้หงุดหงิด เพราะรับความกดดันโดยตรงจากผู้บริหาร ตั้งใจทำงานหนักแบบไม่สนใจ Work-Life balance จัดการเวลาและลำดับความสำคัญของงานไม่ค่อยได้ เพราะเป็นคนมีความสามารถที่หลากหลาย มักทำงานหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียว มีระบบระเบียบวัดผลงานทุกอย่างด้วย KPIs มีเป้าสูงสุดเอื้อม เพื่อกดดันตนเองและทีมงาน ทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลาจึงไม่ค่อยมีเวลาสุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน ชอบความสันโดษ มีความเป็นส่วนตัวสูง รักตัวเอง มักมองว่าคนรอบข้างว่าไม่ขยันทุ่มเทและไม่เก่งเท่าตนเอง
Image from www.biospace.com
4. หัวหน้าฝ่าย Red มือมืดประจำบริษัท นักแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจคนรอบข้าง ยึดคติพจน์หนังจีนกำลังภายใน แบบ “ใครคล้อยตามข้าอยู่ ใครขวางข้าตาย” ชอบอยู่กับกลุ่มคนที่คิดคล้ายกันหรือยอมทำตามความคิดของตน แบบ “ถูกครับพี่! ดีครับผม! เหมาะสมครับท่าน!” เขาเป็นเจ้าแม่/เจ้าพ่อของแก็งค์เมาท์มอย และยังถือตำแหน่ง หัวหน้าสมาคม “ใต้เตียงดารา” ประจำบริษัท เขาชอบให้คนเข้าหา ชอบให้คนเลียแข้งเลียขา ไม่ชอบคนคิดต่าง เป็นคนที่มีจิตวิทยาในการพูด สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือหยิบยกข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวให้ความคิดตนถูกและน่าเชื่อถือเสมอ มักหยิบยกจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดของฝ่ายตรงข้ามมาขยายให้เกิดดราม่า เป็นคนรับแต่ชอบ ไม่รับผิด
Image from www.predictiveindex.com
5. รองหัวหน้าฝ่าย Yellow a.k.a. “ตาอยู่(เป็น)” ประจำบริษัท ผู้ไม่แยแสกับสิ่งแวดล้อม ฝนจะตก แดดจะออก โควิดจะระบาด ไม่มีผลกับชีวิตเขา ไม่เคยเดือดร้อนกับเรื่องใดๆ อยู่แบบ “สายลมแสงแดด” เกียร์ว่างกับทุกสิ่งแบบ “Wait & See", “Low profile, high profile", หรือ “หงิมๆหยิบชิ้นปลามัน” เขาอยู่ในองค์กรมายาวนานแต่ไม่ค่อยก้าวหน้าในการงานอย่างที่หวัง น้องรุ่นใหม่มาก็เติบโตข้ามหน้าข้ามตา จึงเกิดอาการหมดไฟ ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่กระหายที่จะเติบโตก้าวหน้า ทั้งที่เป็นคนฉลาดมีความสามารถ แต่กลับไม่เคยยืนมือเข้าช่วยเหลือใครก่อนโดยเฉพาะทีมอื่นๆที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เขาจะไม่เสนอไอเดียใหม่ๆ หรือหากลองทำโปรเจ็คใหม่ไปนิดเดียวแล้วเห็นแววไม่ดี ก็รีบยอมแพ้ล้มเลิกอยู่เสมอ จึงมักทำงานแค่ตามหน้าที่ไปแบบ “เช้าชามเย็นชาม” ยกเว้นเจ้านายจะสั่งและต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนในบริษัทเท่านั้น
Image from www.socialmettle.com
6. ผู้จัดการ Green ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นชื่อเรื่องใจคอคับแคบ เป็นกูรูแบบน้ำเต็มแก้ว ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อยู่แต่ในกรอบเดิมๆ แบบอนุรักษนิยมเหมือน “กบในกะลา” มักรายล้อมไปด้วยลูกน้องที่มีความคิดแบบเดียวกัน คิดว่าตนเองถูกตลอดและคนอื่นผิดเสมอ เรามักเห็นเขาโจมตีผู้ที่เห็นต่างในห้องประชุมอยู่บ่อยครั้ง
Image from www.paychex.com
7. ผู้ช่วยผู้จัดการ Black ผู้มองโลกในแง่ร้าย ขาดความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ไร้ซึ่งความหวังและความพยายามในการทำงาน คิดว่าโลกนี้มีเพียงสีขาวกับสีดำ และส่วนใหญ่เป็นสีดำ มักปฏิเสธและไม่ยอมรับความคิดใหม่ๆ เป็นคนขี้กลัวขี้กังวล ตัดสินคนแค่จากภายนอกที่เห็น ไม่ไว้ใจใครจึงมักแยกตัวอยู่คนเดียว มักใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินมากกว่าใช้เหตุและผล คำพูดที่เรามักได้ยินจากเขาในทุกการประชุมคือ “เราทำเรื่องนี้ไม่ได้เพราะ...”
สถานที่ต้องสงสัยในการก่อเหตุฆาตกรรม “ความคิดสร้างสรรค์”:
- ห้องทำงานของผู้บริหาร
- ห้องประชุมบอร์ดบริหาร
- ฝ่ายการเงินและการบัญชี
- ฝ่ายขายและการตลาด
- โรงอาหาร Canteen ของพนักงาน
- มุมกาแฟตรง Pantry
- ร้านเบียร์โต๊ะประจำทุกวันศุกร์
มาถึงตรงนี้ ผมอยากให้เรามาลองใช้เวลาหยุดคิดดูว่า...
1. ในชีวิตจริงของเรา ในองค์กรของเรา มีคนที่มีพฤติกรรมเหมือน 7 ผู้ต้องสงสัยอยู่หรือไม่?
2. ใครเป็นฆาตกรผู้ฆ่า “ความคิดสร้างสรรค์” ในองค์กรของเรา? ใช้อุปกรณ์ (พฤติกรรม) อะไร? และ ก่อเหตุที่ใด?
3. ตัวเราเองเป็น หรือเคยเป็น “ฆาตกร” คนนั้นด้วยหรือไม่?
ในหนังสือยังบอกถึงวิธีช่วยชีวิต “ความคิดสร้างสรรค์” ให้กลับมาในองค์กรของเรา แต่ผมจะขอสรุปง่ายๆด้วยคำๆเดียวว่า "Growth Mindset” สิ่งที่จะมาช่วยปลดปล่อย...
- อิสระทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
- กระตุ้นและจูงใจให้คนอยากรู้อยากเห็น
- เปิดใจรับความคิดที่แตกต่างและความไม่แน่นอน
- นำไปสู่ความกล้าที่จะเผชิญกับการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- ด้วยการมองโลกในแง่ดี เห็นโอกาสในทุกวิกฤติ
Image from https://medium.com/@teacher_finn/growth-mindset-mindfulness-and-self-love-4ef6a4d1210d
ผมเชื่อเสมอว่า เกิดเป็น “มนุษย์” เราสามารถพัฒนาปรับปรุงตนเองได้เสมอ ทุกครั้งเมื่อผ่านประสบการณ์และบทเรียนสำคัญๆ ความผิดพลาดล้มเหลวในชีวิต จะช่วยล้างพิษ (Toxic) ออกจากตัวเราทีละเล็กทีละน้อย เปิดใจที่เคยเป็น "Fixed Mindset” ให้เป็น “Growth Mindset” โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน เมื่อทำได้แล้วเราค่อยสอน ค่อยโค้ช คนรอบข้างที่เรารัก และทีมงานของเราต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ!
Rule of Thumb ที่อ้างอิงถึงในบทความนี้
Growth Mindset

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา