8 ก.ย. 2020 เวลา 05:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จีนยุค New Normal หนุนไลฟ์ขายของออนไลน์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผลกระทบได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น กระจายวงกว้างไปทั่วโลก แม้แต่จีนเองก็ได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานในปีนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้เศรษฐกิจของจีนจะส่งสัญญาณฟื้นตัวก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนจีนอยู่รอด รัฐบาลจีนได้ฉวยโอกาสตามกระแสที่มาแรงสนับสนุนให้ประชาชนชาวจีนไลฟ์สด
อย่างเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้สนับสนุนแพลทฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ หลายแห่งเพื่อช่วยให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ได้ขายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยวิธีการไลฟ์สตรีม
แม้กระทั่ง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีนเองยังรับทราบเรื่องนี้ โดยสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลจีนได้เปิดเผยว่าเมื่อเดือนมี.ค. ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ไปเยือนหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้ายที่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรผ่านการไลฟ์สตรีม และยังได้ยกย่องพลังของอี-คอมเมิร์ซ โดยกล่าวว่ามีศักยภาพอันยิ่งใหญ่เพื่อช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากความยากจน
เมื่อเดือนพ.ค. กระทรวงความมั่นคงทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ของจีน ได้เพิ่ม “ผู้ดำเนินรายการไลฟ์สตรีม” เข้าเป็นหนึ่งรายชื่ออาชีพ หลังจำนวนงานผ่านอินเทอร์เน็ตและอี-คอมเมิร์ซในปี 2563 มีทั้งสิ้น 129,917 ตำแหน่ง มากกว่าในปี 2562
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากการสำรวจของสำนักวิจัยอีกหลายแห่งเปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 15 มิ.ย. ปีนี้ ความต้องการจ้างงานในอุตสาหกรรมการไลฟ์สตรีมนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 134.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นการเพิ่มรายชื่ออาชีพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็จะเริ่มรวมผู้ที่ดำเนินการเหล่านั้นว่าได้รับการจ้างงานอย่างเป็นทางการ สำนัก People’s Daily Online ได้ระบุว่า วิธีการนี้จะช่วยให้ประเทศได้สร้างแหล่งงานใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุลและทดแทนงานภาคการผลิตที่หายไปอย่างสิ้นเชิงจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส
รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงเมืองของตนเองให้เป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีม อย่างที่เมืองกวางโจว เจ้าหน้าที่มุ่งหวังที่จะให้เมืองนี้กลางเป็น “เมืองหลวงแห่งการไลฟ์สตรีมมิ่ง” ของจีน และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นดังกล่าว เมื่อเดือนมิ.ย. เมืองกวางโจวได้ไลฟ์สดเทศกาลช้อปปิ้ง ถึงสามวัน ทำให้ธุรกิจต่างๆมีการถ่ายทอดสดไลฟ์สตรีมทั้งหมด 200,000 ครั้ง
โฆษกจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนกล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้น ตลาดแรงงานก็เกิดการขยายตัว และรัฐบาลมองว่า นี่คือเทรนด์ที่มีชีวิตชีวาที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด และสามารถช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตต่อไปได้ และยังช่วยในเรื่องของการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลเห็นโอกาสนี้ และหากมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ได้รับการสนับสนุน จะยิ่งช่วยยกระดับเศรษฐกิจได้แน่นอน
การช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีมนี้ เป็นการค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ได้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าราวๆ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ากระแสนี้จะอยู่กับวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตของจีนมาหลายปี นักวิเคราะห์ต่างกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสได้ทำให้เทรนด์นี้กลายเป็นกระแสหลักที่มาแรง
แม้กระทั่งรัฐบาลจีนยังได้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้โดยเรียกว่าเป็น “เครื่องมือใหม่” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังได้สนับสนุนการไลฟ์สตรีมมิ่งนี้ว่าเป็นทางออกสำหรับการว่างงาน ซึ่งพุ่งขึ้นสูงมากในจีนจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรค
การช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีมนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างความบันเทิงและอี-คอมเมิร์ซ โดยผู้ชมจะซื้อของผ่านออนไลน์จากผู้ที่โชว์ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาเพิ่งค้นพบล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นลิปสติค หรือน้ำยาซักผ้า ด้วยการไลฟ์สด คล้ายๆกับทีวีช้อปปิ้ง แต่ผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่สามารถตอบโต้พูดคุยได้สดๆ โดยผู้ดำเนินรายการสามารถให้ส่วนลดคูปองต่างๆแก่บรรดาแฟนๆ หรือแม้กระทั่งดีลดีๆแบบกระทันหันได้ทันที ในขณะที่ผู้ชมสามารถกดส่งของขวัญเสมือนจริงให้กับดาราคนโปรดของพวกเขาได้
รัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีการไลฟ์สตรีมมิ่งขายของออนไลน์ราวๆ10 ล้านครั้ง รายงานจาก China Internet Network Information Center ระบุว่าในเดือนมี.ค. มีผู้ชม 560 ล้านคนรับชมการช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งในจีน เพิ่มขึ้น 126 ล้านคนจากเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว โดยครึ่งหนึ่งรับชมการไลฟ์สดเพื่อช้อปปิ้ง ทางด้านผู้อำนวยการ Digital Commerce จาก Gartner กล่าวว่า การช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งอาจจะต้องใช้เวลาราวๆสองถึงสามปีกว่าจะกลายเป็นกระแสหลักในจีนก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดกลับใช้เวลาเพียงสองถึงสามเดือนเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าอุตสาหกรรมนี้ยังช่องว่างในการเติบโตอีกมาก iResearch บริษัทวิจัยด้านการตลาดในเซี่ยงไฮ้ระบุว่าในปี 2562 ตลาดการช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งของจีนมีมูลค่า 451.3 พันล้านหยวน หรือ 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทวิจัยดังกล่าวได้คาดการณ์เมื่อเดือนก.ค.ว่า จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัวไปแตะเกือบ 1.2 ล้านล้านหยวน หรือราวๆ170 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ นอกจากนี้นักวิเคราะห์หลายคนยังได้คาดว่า เทรนด์นี้จะแฟ่วงกว้างไปยังต่างประเทศด้วย อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้า ของ Alibaba ได้ให้ผู้ที่ดำเนินรายการไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือ ไลฟ์สตรีมเมอร์ สามารถโฆษณาขายสินค้าได้ และ Amazon ก็มีศูนย์ไลฟ์สตรีมมิ่งแบบโฮมช้อปปิ้ง สำหรับผู้ใช้ชาติตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอจากเอเจนซี่จัดหางานในจีนแห่งหนึ่งกล่าวว่า ผู้ที่จะมาทำอาชีพนี้ต้องขยันอย่างมาก งานนี้เป็นงานที่มีความกดดันสูง และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่หลายคนสำหรับงานนี้ แต่หลายคนก็ไม่สามารถทำงานนี้ได้สำเร็จ
ยกตัวอย่าง ไลฟ์สตีมเมอร์รายหนึ่ง เขาตกงานหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส และตัดสินใจที่จะลองอาชีพใหม่นี้ เขาเพิ่งเริ่มทำคลิปสั้นๆในแอพลิเคชั่นชื่อ Douyin เป็น TikTok เวอร์ชั่นของจีน และพบว่าไม่ง่ายเลย เขาได้ตระหนักว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ยากกว่าที่เห็น โดยแอพ Douyin มีข้อกำหนดว่าหากต้องการจะขายของบนแพลทฟอร์มนี้ จะต้องมีผู้ตามอย่างน้อย 1,000 ราย และเขาก็พบว่า 1,000 รายนี้ ไม่ได้มาง่ายๆ เพื่อที่จะให้ได้ผู้ชม เขาเริ่มดำเนินรายการพูดไลฟ์สตรีม 2 ชม.ในแต่ละวัน และเขาก็บอกบอกว่าประสบการณ์นี้น่าอึดอัดมากๆ มีผู้ชมมาแวะชมช่องของเขา และวีดิโอของเขาแทบจะไม่ได้ “Like” เลย 8 เดือนผ่านไป เขาพบว่าระบบไม่ง่ายอย่างที่คิด ความสำเร็จไม่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน
ไลฟ์สตรีมเมอร์อีกรายเปิดเผยว่า การผลิตไลฟ์แต่ละครั้งเรียกว่าใช้คนทั้งหมู่บ้านกันเลยทีเดียว มีผู้อยู่เบื้องหลังมากกว่า 20 คน ซึ่งรวมถึงทีมที่จะช่วยเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อมานำเสนอ ช่วยคิดส่วนลดแก่แฟนๆ และแผนการถ่ายทำ
ในแง่ช่องทางหารายได้นั้นมีประมาณสองสามทาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เป็นผู้จ่ายให้แก่ไลฟ์สตรีมเมอร์ หรือได้จากค่าคอมมิชชั่นจากการขาย และยังได้จากแพลทฟอร์ม
นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า แม้อุตสาหกรรมนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะสัดส่วนของการไลฟ์สตรีมช้อปปิ้งนี้ยังน้อย ราวๆ 5% ของตลาดอี-คอมเมิร์ซของประเทศเท่านั้น และยังมีส่วนแบ่งน้อยมากในภาคค้าปลีกทั้งหมด
หากมาดูจำนวนผู้ที่ดำเนินรายการไลฟ์สตรีมช้อปปิ้ง 400,000 คนในช่วงครึ่งปีแรกของปี2563 ที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้เปิดเผยนั้น เป็นไปได้ว่ามีแค่ 5% ถึง 10% เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จและทำเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในเศรษฐกิจของจีน เพราะว่าผู้ที่ทำไลฟ์สตรีมช้อปปิ้งนี้ ไม่ได้ทำเป็นงานประจำ
เพราะฉะนั้น การคาดหวังที่จะให้อุตสาหกรรมการไลฟ์สตรีมมิ่งมาช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนี้ อาจจะต้องลุ้นกันต่อไป เพราะสัดส่วนผู้ดำเนินรายการยังน้อย อีกทั้งสัดส่วนผู้ที่ประสบความสำเร็จก็ยังน้อย แต่ช่องว่างที่จะให้เติบโตก็ยังมีอีกมากค่ะ
ที่มา:
ภาพ:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา