18 ก.ย. 2020 เวลา 12:09 • บันเทิง
🌸บุพเพสันนิวาส (ภาคพิเศษ) 🌸ตอนที่ 7
🎇อยู่ไฟหลังคลอด แบบแม่การะเกด🎇
ส่วนพระยาวิสูตรสาครก็เฝ้ามาดูแล คุณหญิงการะเกดแทบจะไม่ห่างไปไหน ยามเมื่อกลับมาจากราชการงานในวัง ก็รีบตรงเข้าไปชื่นชมกุมารน้อยทั้งสอง
ในยุคที่เกศสุรางค์จากมา ราชการให้สามีได้หยุดงาน หลังจากภรรยาคลอดบุตร แต่สมัยอยุธยาจะมี “สามีลาคลอด 15วัน “หรือยังก็หาหลักฐานไม่พบ
ด้านฝ่ายเสบียงก็แข็งขันไม่น้อยหน้า แม่หญิงหลังคลอดหิวบ่อยเป็นสองเท่า เพราะต้องผลิตน้ำนมเลี้ยงตัวน้อยๆถึงสองปาก
ยายปริกกุลีกุจอจัดแจงข้าวปลาอาหารบำรุงมาเสิร์ฟตามที่คุณหญิงจำปาสั่งอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
“วันนี้ปริกทำแกงเลียงด้วยหนา อย่าลืมไปเด็ดใบมะรุมอ่อนๆ ลวกให้แม่การะเกดจิ้มน้ำพริกกินด้วย ใบมะรุมอ่อนช่วยขับน้ำนมได้ดีนักแล”
ปริก แม่ครัว ทำอาหารบำรุงน้ำนม
เมนูมะรุมที่ได้ทำให้กินไปแล้วก็มี ตั้งแต่แกงส้มมะรุม ใบมะรุมผัดไข่ ต้มจืดยอดมะรุม ไข่เจียวใบมะรุม ปลูกต้นมะรุมไว้ก็เหมือนมีตู้ยาประจำบ้าน เพราะเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ ที่ใช้ทุกส่วนเป็นยาได้ตั้งแต่ รากเปลือก ดอก ใบ ฝักอ่อนและฝักแก่ เมล็ดยังเอามาทำน้ำมันบำรุงผิวได้
เย็นวันนั้นเกศสุรางค์กินใบมะรุมอ่อนจิ้มน้ำพริกเสร็จแล้วก็เปรยว่า
“เรืองเอ๊ย ฤทธิ์ เอ๊ย ดูซิว่าหน้าแม่เป็นใบมะรุมไปหรือยัง…………” เกศสุรางค์บ่นทำปากยื่นล้อเลียนกับลูกที่นอนเล่นอยู่ใกล้ๆ นางผินนางแย้มแอบยิ้มให้กัน ที่นายหญิงยังอารมณ์ดี ขี้เล่นเช่นเดิม
แกงส้มมะรุม
“แม่นายอยากกินอะไรเจ้าคะ บ่าวจะไปบอกแม่ปริกให้”
“ข้าอยากกินอะไรน่ะเหรอ ………ผัดไทไง ……อยากกินผัดไท” เกศสุรางค์นึกถึงผัดไทมันกุ้งห่อไข่ร้อนๆที่เคยกินแล้วน้ำลายสอ
“ผัดไท…ผัดอะไรนะเจ้าคะ?” นางผินนางแย้มทำหน้างง
เกศสุรางค์กัดริมฝีปาก…ลืมไปว่าสมัยอยุธยายังไม่รู้จักผัดไท ……จึงพูดกลบเกลื่อนไปว่า
“ผัดก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กกับกุ้งจ้ะ พี่ผิน ข้านึกสูตรขึ้นมาได้…อยากลองทำกินดู”
ผัดไทกุ้งสด
วันรุ่งขึ้นในครัวก็ได้รับคำสั่ง ให้ทำเมนูใหม่ “ผัดไท”ให้แม่หญิงการะเกดผู้ซึ่งได้อธิบายส่วนประกอบและวิธีทำให้ยายปริก เวลาออกไปจ่ายตลาดจึงต้องให้เรือแวะไปแถวประตูในไก่ ข้างป้อมเพชร ที่มีตลาดชุมชนชาวจีน ซื้อหาหัวไชโป๊วเต้าหู้ และก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก
มะขามเปียก มะนาว น้ำตาลโตนด มีติดครัวอยู่แล้ว ส่วนถั่วงอก กุยช่าย หัวปลี หาเอาได้ในสวนครัวหลังเรือน กุ้งก็ให้เด็กๆงมหาในแม่นำ้หน้าบ้าน
วันนั้นคุณหญิงจำปาถึงกับออกปากว่า อาหารจานใหม่นี้รสชาติอร่อยไม่ซ้ำใคร ทั้งเปรี้ยวหวานเค็มกลมกล่อมได้ที่
“หัวปลีกับกุยช่ายนี่ก็ขับน้ำนมได้ดีทีเดียวเชียว”
ทุกคนบนโต๊ะอาหารรวมทั้งบ่าวไพร่ยิ้มอย่างมีความสุข
เวลา14 วันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว หนูเรือง กับฤทธิ์ ได้น้ำนมจากเต้าแม่เพียงอย่างเดียว จากความพยายามของเกศสุรางค์ที่ทุ่มเทให้อุ้มลูกมาดูดนมทุกครั้งที่ลูกร้อง “หิวก็ตื่นดูด อิ่มก็หลับ” บางวันก็นอนหลับคาเต้ากันไปทั้งแม่ลูก
จากการดูดเต้าบ่อยๆ เอาน้ำนมออกมากเท่าไรน้ำนมก็เริ่มไหลมามากขึ้นเท่านั้น จนพอสำหรับสองคน ธรรมชาติสร้างสรรค์สองเต้านี้ไว้เผื่อสำหรับทารกสองคนอยู่แล้ว
นางผินนางแย้มคอยช่วยอุ้มเห่กล่อม เมื่อยมือหนักเข้า ก็เอาผ้ามาทำ”ตะแบงมาน”คล้องคอห่อเจ้าตัวน้อยไว้ติดอก นอนหลับอุ่นสบายกว่าในกระด้ง มือก็ยังว่างหยิบจับทำงานได้
“ไอ้จ้อย เอ็งยกสุ่มไก่ขึ้นมาบนเรือนทำไม” ?
“ไอ้จ้อย เอ็งยกสุ่มไก่ขึ้นมาบนเรือนทำไม” คุณหญิงจำปาลุกขึ้นยืนโวยวายเมื่อเห็นจ้อยกับบ่าวอีกสองคน ช่วยกันยกสุ่มไก่ที่ดูสูงกว่าปกติขึ้นมาบนเรือน
“คุณหญิงสั่งมาขอรับ” จ้อยตอบ ทำหน้าเจื่อนๆ
“ก็ข้านี่แหละ คุณหญิงยืนอยู่โทนโท่ ข้าไม่ได้สั่งให้เอ็งเอาขึ้นมา “
คุณหญิงหน้าเริ่มตึง ความร้อนขึ้น เรียกว่า ชักจะยัวะแล้วนะ
“คุณหญิงการะเกดขอรับ ท่านให้บ่าวไปสั่งทำสุ่มไก่ใหม่ ให้เอาขึ้นมาบนเรือนขอรับ” จ้อยก้มหน้างุด ตอบพึมพัมในคอแทบจะไม่ได้ยินเสียง
คุณหญิงจำปาส่ายหน้า เพิ่งคลอดลูกแท้ๆ ยังไม่หายวิปลาศหรือกระไร …จะแผลงทำอะไรอีก…สุ่มไก่บนเรือน …คิดพลางเดินพลางไปหาลูกสะใภ้ ด้วยความสงสัย
“ใจเย็นๆค่ะคุณแม่ “ เกศสุรางค์อุ้มหนูเรืองออกมารับหน้า คุณหญิงจำปาเห็นหลานก็ผ่อนกิริยาเขม็งตึงลงบ้าง
“ออเจ้าให้ไอ้จ้อยเอาสุ่มไก่ขึ้นมาฤา”
“อ๋อ……ก็จะเอามาอยู่ไฟ ตามที่สัญญาไว้เจ้าค่ะ ครบ 14 วันแล้ว”
เดี๋ยวแม่เกศสุรางค์จะทำอบไอน้ำ “เซาน่า”ให้ดู!😄
ตอนที่เดินผ่านหลังเรือนไปหานางจุก เกศสุรางค์สังเกตเห็นสุ่มที่ใช้ครอบไก่ชน มีรูกลมๆด้านบน ก็นึกวิธีอยู่ไฟแบบใหม่ขึ้นมาได้
ทำไมต้องใช้ฟืนเผาให้มีควันรบกวนแม่ลูกอ่อน ความร้อนก็กระจายไม่ถึงผิวสักเท่าไร เอาสุ่มไม้ไผ่สานแบบนี้ แต่ทำช่องเปิดไว้ด้านข้างให้ตรงกับหน้าคนเวลานั่ง ด้านนอกใช้ผ้าฝ้าย กับผ้าหนาๆมาคลุมอีกชั้นหนึ่ง
ต้มสมุนไพรต่างๆ เช่น ไพล ตะไคร้ ใบมะกรูด เกลือแกง ใส่หม้อดินให้เดือด แล้วยกเข้ามาในสุ่มนี้ นั่งอบชั่วครู่จนไอน้ำระเหยหมด ก็พักออกมาให้นมลูกต่อได้ เรียกว่า มีแต่ได้กับได้
ประเพณีโบราณก็ไม่ขัด ลูกดูดเต้านมแม่ก็ยังได้ แม่นมก็ไม่ต้องใช้ แม่ผัวลูกสะใภ้สุขใจถ้วนหน้า
สมุนไพรที่ใช้ในการอยู่ไฟ
ผู้ที่มีความสุขที่สุดไม่ใช่ใครไหนอื่น พระยาวิสูตรสาครนี่เอง นั่งหน้าบานเป็นจานเชิง ยิ้มกว้างแก้มแทบปริ ขนาบข้างด้วยคุณหญิงแม่อุ้มเจ้าเรือง อีกข้างคุณหญิงเมียอุ้มเจ้าฤทธิ์ นางผินกับนางแย้มคอยนั่งพัดวีให้ตัวน้อย ยายปริกคอยเฝ้าอยู่ไม่ห่าง
ส่วนไอ้จ้อยอยู่โน่น …นั่งยิ้มเห็นฟันดำอยู่หน้าสุ่มไก่ที่มาตั้งอยู่บนเรือนด้วยฝีมือเขาล่ะ
❤️ข้อคิดขอเขียนแนบท้าย❤️
แม้เกศสุรางค์จะไม่ได้เลือกที่จะกลับสู่อดีต แต่เธอก็ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ไหวพริบ และประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้ นำมาปรับใช้ เมื่อต้องเผชิญกับการตั้งครรภ์และการคลอดในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกสบาย
เมื่อไม่มีหนังสือให้อ่าน เธอก็หาข้อมูลจากคนที่เคยตั้งครรภ์ และคลอดมาแล้ว โดยไม่ถือตัวว่าผู้นั้นจะเป็นเพียงบ่าวในบ้าน ตลอดจนถามจากแม่หมอตำแย กับแม่นม
❣️เธอใช้ “ สุ จิ ปุ ลิ ” คือ การ ฟัง คิด ถาม เขียน เพื่อหาทางแก้ปัญหาแต่ละอย่าง
❣️เธอเชื่อในความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็น บ่าว หรือ เจ้านาย ก็ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เหมือนกัน
❣️เธอเชื่อมั่น ใน อิสระ เสรีภาพ และมีความมั่นใจในตนเอง ที่จะเลือกทำให้สิ่งที่ตนพิจารณาเห็นสมควร ถึงแม้จะไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนโดยทั่วไปเขาทำกัน
❤️ขอให้ผู้ที่จะเป็นแม่ทุกท่าน ได้ใช้สติปัญญาไหวพริบ หาข้อมูลความรู้ โดย “ 💕ฟัง คิด ถาม เขียน ” 💕
แล้วนำมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละครอบครัวซึ่งแตกต่างกัน เพื่อ ความเป็นอิสระในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างมั่นใจค่ะ ❤️
🌸ยังมีอีกตอนหนึ่งแถมเป็นพิเศษ ของภาคพิเศษอีกทีหนึ่งค่ะ 😀...จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกศสุรางค์ให้พระยาวิสูตรสาครฝึกอุ้มลูกค่ะ....จะให้ผู้หญิงอุ้มอยู่ฝ่ายเดียวได้อย่างไร..จริงไหมคะ?😀
❣️ติดตามอ่านวันอังคารที่ 22 กย 63 19.09 น.นะคะ❣️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา