22 ก.ย. 2020 เวลา 10:28 • การศึกษา
การยอมรับความเหนื่อยล้า
“ความเหนื่อยล้า” ความรู้สึกอันซื่อสัตย์ ที่ส่งตรงมาจากร่างกายและจิตใจ
ผมมีประสบการณ์หนึ่งที่อยากจะแบ่งปันครับ
เป็นเหตุการณ์ที่ผมจำได้อย่างแม่นยำ
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นตอนที่ผมเปิดให้บริการปรึกษาอย่างเต็มตัวครบ 1 ปี
มีสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผม
นั่นคือ “ความรู้สึกเหนื่อยโคตร ๆ”
เหนื่อยจนบ่นออกมา เหนื่อยจนคนอื่นทัก
เหนื่อยจนบางทีอยากจะหยุดแล้วนั่งอยู่เฉยๆ (แบบที่เรียกว่า นั่งโง่ ๆ นั่นล่ะครับ)
เหนื่อยแล้วก็มาโมโหที่ตัวเองไม่อึด (เอากับมันสิครับ555)
จนได้เริ่มมาสังเกตตัวเอง ว่า
ทั้งสีหน้า แววตา ร่างกาย และจิตใจ “สมควรพักอย่างยิ่ง555”
เป็นประสบการณ์ตรงครั้งแรกเลยครับที่เหนื่อยขนาดนี้
หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมา
เลยทำให้ผมมีภารกิจใหม่
“ในการหมั่นสังเกตความเหนื่อยของตัวเอง”
เพื่อรู้เท่าทัน และดูแลตัวเองอย่างทันท่วงที
ก่อนที่จะเอาความเหนื่อยล้า
“ไปฟาดงวงฟาดงาใส่ตัวเองหรือคนอื่น”
เกริ่นนำมาซะยาวเหยียดก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ 555
ผมขอใช้ชื่อบทความในชุดใหม่นี้ว่า “นักจิตฯในวงเล่า”
(ชื่อเดียวกับรายการวิทยุของผมซึ่งไม่ได้ทำมาหลายเดือนแล้ว 555)
คล้ายกับวงสนทนาที่มี “นักจิตวิทยาการปรึกษา” นั่งร่วมวงพูดคุยอยู่ด้วย
ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิต
แบ่งปันบทเรียนและความเข้าใจชีวิต
รวมทั้งแง่มุมทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ
เพื่อบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวอันกว้างใหญ่ไพศาลของชีวิต
“วงสนทนา…ที่เราสามารถเรียนรู้ชีวิตร่วมกันได้ ^^”
ซึ่งผมจะ(พยายาม)เขียนให้เข้าใจง่าย ย่อยง่ายกว่าบทความชุดอื่น ๆ ครับ ฮ่าาา
ในวันนี้ผมจึงขอเริ่มบทความชุดใหม่นี้
ด้วยเรื่องของ “ความเหนื่อยล้า”
เป็นธรรมดาของชีวิต
เมื่อเราใช้ชีวิต ทำงาน ผ่านอุปสรรคมากมาย
และเดินทางชีวิตผ่านเส้นทางอันยาวนานและยาวไกลมาถึงจุดหนึ่ง
ร่างกายของเราอาจแสดงความเหนื่อยล้า ความง่วง ความหมดแรง
แสดงการถอนหายใจ เริ่มเจ็บป่วย เรียกร้องหาการเยียวยา และพักผ่อน
“จนเรารู้สึกถึงความไร้พลัง”
ซึ่งจะสัมพันธ์กับจิตใจที่บางครั้งก็อยากปิดสวิตช์
เพื่อหยุดการทำงานอันหนักหน่วง
และกลับมาเติมพลังให้ตัวเอง
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราละเลยสัญญาณเหล่านี้
แล้วขัดขืน ไม่สนใจใยดี รวมทั้งอาจจะบ่นที่ตัวเองไม่สู้ต่อ
และซ้ำเติมด้วยการมุ่งหน้าต่อไป
“ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับฟังความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น”
หากเรามัวแต่ฝืนตัวเองเช่นนี้บ่อย ๆ
อาจนำมาซึ่งการไปถึงจุดหมายปลายทาง
อาจได้ความโล่งใจเป็นรางวัลตอบแทน
“แล้วหากพิจารณาในสิ่งที่เสียไปล่ะ ?”
เราจะพบว่า
เราช่างทารุณโหดร้ายกับตัวเองเหลือเกิน
เราละเลยร่างกายที่ไม่เคยเรียกร้องความดีความชอบ
เราซ้ำเติมความเหนื่อยล้าด้วยการขัดขืนเพื่อก้าวต่อไป
“ซึ่งกลับเป็นการสะสมความทุกข์ในระยะยาว”
ทั้งความเจ็บป่วยทางร่างกาย
รวมทั้งความเหนื่อยล้าทางใจ ที่อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน
บางครั้งปัจจัยในชีวิตอาจเรียกร้องให้เราก้าวไม่หยุด
“วิ่งเต็มสปีดโดยไม่หยุดพัก”
เราจึงมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง
นั่นคือ คอยสังเกตความเหนื่อยล้า
ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องของกายใจ
เป็นเสียงขอความเห็นใจจากชีวิตของเรา
“ย้ำเตือนให้เรา…กลับมาพักผ่อนและเติมรักให้ตนเอง”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา