26 ก.ย. 2020 เวลา 02:09 • นิยาย เรื่องสั้น
.. เรื่องสั้น (จริงๆนะ 😅😅)..
เด็กสาวผมยาวที่ผ่านการทำสีผมเป็นสีทองกับท่าทีมุ่งมั่นกำลังก้าวเดินฝ่าแนวกลุ่มผู้สื่อข่าวที่รุมล้อมอยู่ เข้าไปเผชิญหน้ากับตำรวจนับร้อยที่ยืนอยู่หลังแนวรั้วที่ตั้งขวางแนวขบวนผู้ชุมนุม
หัวอกคนเป็นแม่อย่างฉันก็เต้นระรัวสั่นระริกอยู่ภายใน
ภาพตรงหน้าจากจอโทรทัศน์ คือภาพเด็กผู้หญิงที่ยืนประจันหน้ากับแนวพร้อมปะทะของตำรวจเป็นกองร้อย  ก่อให้เกิดคำถามมากมายในใจฉัน ...
เหลือบตาดูลูกชายสองคน ที่เดินเข้ามาจ้องดูจอทีวีตรงหน้า ฉันเอื้อมมือไปบีบแขนสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ
เขาเอื้อมมือมากุมมือที่เปียกชื้นด้วยเหงื่อของฉันอย่างเข้าใจ
เขาคงรู้ถึงข้อกังวลสงสัยในใจฉัน
ถ้าภาพตรงหน้าเป็นลูกของเรา เราจะทำอย่างไร ?
ก่อนที่ฉันจะพูดอะไรออกไป เขากลับพูดขึ้นมาก่อน
"เมื่อคืนเป็นยังไงบ้างลูก?
สนามหลวงคนเยอะไหม?"
"โอ้! เยอะมากครับ"
ลูกคนโตตอบโดยที่ตายังจับจ้องอยู่ที่จอโทรทัศน์
"แต่ฝนตกนิ คนยังเยอะเหรอ?"
"โถพ่อ! ฝนแค่นี้ ไม่มีใครสนหรอกครับ"
เสียงตอบกลับโดยที่ไม่ได้หันมามอง
ฉันขยับตัวจะถามคำถามที่คับข้องในใจออกไป แต่สามีบีบแขนส่งสัญญาณว่าให้รอ
เมื่อเหตุการณ์ในจอโทรทัศน์เริ่มจะคลี่คลายลง หนุ่มน้อยทั้งสองจึงหันกลับมาและเริ่มเล่าถึงบรรยากาศที่เขาเพิ่งผ่านมาเมื่อคืน น้ำเสียงที่ทั้งคู่แย่งกันเล่า มันช่างดูตื่นเต้นท้าทายราวกับพวกเขาเพิ่งกลับมาจากงานเทศกาลรื่นเริง
เมื่อภาพรวมของเหตุการณ์ได้รับการบอกเล่า อารมณ์พลุ่งพล่านของวัยหนุ่มได้รับการรับฟัง
ผู้เป็นพ่อที่รอจังหวะอยู่จึงค่อยๆเอ่ยถามออกมาอย่างช้าๆ
"พ่อกับแม่ตามข่าวแล้วกังวล เพื่อนของพ่อหลายคนไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เขาโทรมาต่อว่าพ่อที่ปล่อยให้ลูกไปเมื่อคืน"
เอ่อ.... ถ้าพ่อจะขอถามเราสองคน ช่วยอธิบายให้พ่อกับแม่ฟังทีได้ไหม ว่ามันเป็นยังไง ?
"ถามว่า?"
เสียงแหบห้าวที่เพิ่งแตกวัยหนุ่มของลูกคนเล็กถามกลับ
"เอาตรงๆเลยนะ อยากรู้สามข้อ"
"1.จำเป็นต้องไปชุมนุม ?
2.ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ ?
3.ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ?"
"แล้วยังมีเรื่องเหตุร้ายต่างๆอีกนะลูก ถ้าเกิดอะไรขึ้น จะทำกันยังไง?"
ฉันพูดแทรกขึ้นทันทีที่มีโอกาส
เด็กหนุ่มทั้งสองเหลือบตามองกัน ก่อนจะเริ่มต้นเลคเชอร์สถานการณ์ทางการเมืองให้แก่มนุษย์พ่อมนุษย์แม่ที่ทั้งวันทำงานงกๆเงิ่นๆอยู่ในโรงงานเพียงเพื่อหาทางส่งเสียให้ลูกชายทั้งสองได้เล่าเรียน
พี่คนโตอธิบายย้อนไปว่า
เหตุที่เขาออกไปชุมนุม เพราะเขารู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมในสังคม พวกเขาไม่สามารถมองเห็นอนาคตที่พวกเขามีส่วนร่วมได้
สิ่งที่พวกเขาเห็นและจับต้องได้ มีเพียงการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของผู้มีอำนาจ  ทั้งการเขียนรัฐธรรมนูญปี60  การต่อรองตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงปัญหาทางโครงสร้างอำนาจต่างๆที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้
เจ้าคนเล็กเสริมขึ้นว่า
"ก่อนหน้านี้ พวกพี่ๆเขาก็พยายามจะถาม พยายามจะร้องขอแล้วนะ  แต่ก็ถูกคำสั่งคณะปฏิวัติบอกให้เงียบให้หยุด ใครไม่หยุดก็ถูกจับ พ่อกับแม่น่าจะเคยเห็นข่าว"
"และเมื่อพูดหรือแสดงความคิดเห็นกันดีๆไม่ได้ มันก็จำเป็นต้องออกมาตะโกนสิ"
ขณะที่พี่คนโตอธิบายต่อว่า
"จะสามข้อเรียกร้องหรือสิบข้อเรียกร้อง มันก็คือข้อเรียกร้องนะ มันต้องมีกระบวนการทำ  มิใช่ปุ๊บปั๊บจะมาพลิกฟ้าโค่นแผ่นดิน เสียเมื่อไหร่"
"แล้วมันจำเป็นต้องก้าวล่วงไปอย่างนั้นหรือ?"
ฉันถามลูกชายถึงสิ่งที่กังวลใจ
"อะไรคือการก้าวล่วง ?"
ลูกทั้งสองถามกลับเกือบพร้อมกัน
ฉันพยายามอธิบายสิ่งที่ฉันคิด ส่วนลูกทั้งสองก็บอกเล่าในมุมของเขาให้ฟัง และเมื่อเราคุยไปถึงที่สุด สิ่งหนึ่งที่ฉันพบและรู้สึกคือ
สิ่งที่เด็กๆเรียกร้องนั้น มีพื้นฐานอยู่บนความมีเหตุมีผลและปรารถนาดีต่อประเทศชาติ
ผู้ใหญ่อย่างเราเสียอีก ที่วางหลักคิดอยู่บน'ความเชื่อ'
ลูกๆบอกว่า ไม่มีใครปฏิเสธถึงคุณูปการที่สถาบันฯทำให้แก่สังคมไทย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือทักท้วงอะไรได้ ถ้าเขารู้สึกไม่เห็นด้วย
เขาอธิบายถึงสัดส่วนของงบประมาณที่ทุกฝ่ายใส่ลงไปในแต่ละปี  มันไม่สอดคล้องกับประเทศที่ต้องการการพัฒนาอย่างประเทศเรา
เขาเน้นย้ำว่า หนุ่มสาวที่ออกมาเหล่านี้ซึ่งรวมถึงพวกเขาทั้งสองคนด้วย ไม่ได้คิดจะล้มล้าง พวกเขาเพียงแค่ต้องการ 'ความพอเหมาะพอดี' ตามที่ผู้ใหญ่สั่งสอนเขามา
ฉันเหลือบตามองหน้าสามี ท่าทางเขาคล้ายจะผ่อนคลายขึ้น กรามที่ขบกันจนนูนเป็นสันเพราะความเครียดดูลดน้อยลง แต่แววกังวลในตายังปรากฎอยู่
ฉันรับรู้ในข้อเรียกร้องทั้งหลายของพวกเขา เพราะถ้าตัดน้ำเสียงและอารมณ์กราดเกรี้ยวออกไป โดยเนื้อหาแล้วมันก็คือการร้องขอ
พวกเขาร้องขอ 'ความชอบธรรม การมีส่วนร่วม และ ความโปร่งใสในสังคม'
ซึ่งทุกคนไม่ว่าวัยไหน ต่างก็ต้องการสิ่งนี้
ส่วนคำถามถึงเรื่องความปลอดภัย
ลูกคนเล็กตอบกลับมาอย่างช้าๆและชัดถ้อยชัดคำว่า
 
เขาพร้อมและทำใจอยู่แล้วว่า ตัวเขาอาจจะต้องบาดเจ็บหรือล้มตาย
ฉันทั้งอึ้งและทึ่งในคำบอกกล่าว ขณะที่ได้ยินเสียงถอนหายใจจากสามีที่นั่งข้างๆ เขาคงไม่เห็นด้วยและอาจจะคิดว่า นั่นเป็นคำพูดของเด็กหนุ่มที่ไม่รู้เดียงสาในชีวิต
 
แต่ฉันคิดผิด เพราะเขาลุกขึ้นยืนแล้วเข้าไปสวมกอดลูกทั้งสองคน
ฉันลุกขึ้นตามและโผเข้ากอดสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตที่อยู่ตรงหน้า เราทั้งสี่คนกอดกัน มองหน้ากัน ยิ้มให้กัน
ดวงตาฉันพร่าพรายจากน้ำตาที่เอ่อล้นอาบแก้มแต่กระนั้นก็ยังมองเห็นแววตามุ่งมั่นจากลูกทั้งสอง
"เอาน่า ! คงไม่เป็นไรน่ะ"
ฉันบอกตัวเองอย่างนั้น
มันอาจจะเป็นความเชื่อที่ดูเลื่อนลอย เหมือนหนึ่งในความเชื่อที่มากมายหลายเรื่องของฉัน
แววตามุ่งมั่นของพวกเขา แม้จะทำให้ฉันเป็นห่วง แต่มันก็เป็นแววตาคู่เดียวกันที่ทำให้ฉันภูมิใจ
ฉันนึกถึงวลีหนึ่งของสามี ที่มักบอกกับลูกๆว่า
'คิดอย่างรอบคอบ และทำอย่างบ้าคลั่ง'
ใช่สิ เราสอนให้เขากล้าแสดงออก เชื่อมั่น ไตร่ตรองและไม่ท้อถอย
ก็เพราะเราไม่ใช่หรือ?
ที่สอนและอยากให้พวกเขาเป็นเช่นนี้
ลูกทั้งสองขอตัวกลับขึ้นไปนอนต่อหลังจากอดนอนเพราะเฝ้าตามข่าวการชุมนุมมาแทบทั้งคืน
พวกเขาจึงไม่ทันเห็นภาพในจอโทรทัศน์ที่กำลังเสนอภาพการแถลงข่าวของกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า จะแจ้งจับผู้ชุมนุมในข้อหาอะไรบ้าง
สามีที่จ้องดูจอหันกลับมามองหน้าฉัน พลางทำหน้าเอือมระอากับข่าว
ฉันเหยียดยิ้มกลับไปแทนคำตอบ ก่อนจะเอียงศีรษะหนุนไหล่กว้างของเขา
ในใจฉันได้รับคำตอบแล้ว
คำตอบที่ถามตัวเองกลับไปกลับมาตั้งแต่เมื่อคืนจนกระทั่งถึงเมื่อครู่นี้
คำตอบที่คนเป็นพ่อเป็นแม่มักเฝ้าถามตนเองว่า
'เราควรจะห้ามปรามหรือจะยืนเคียงข้างเด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ ? '
. . . . . . . . . . . . . . . .
#khanaad_photo
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา