30 ก.ย. 2020 เวลา 11:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ จัดฉากแหกตาชาวโลกจริงหรือ
1
ผ่านมากว่า 50 ปีแล้วที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก โดยประเมินว่ามีผู้ชมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ถึง 530 ล้านคน แต่ยังมีคนจำนวนมากเชื่อว่าโครงการอะพอลโลและการไปเยือนดวงจันทร์ของมนุษย์เป็นเรื่องแหกตาชาวโลก และความเชื่อนั้นยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
“หนึ่งก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ หนึ่งก้าวอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” คือวาจาอมตะของนีล อาร์มสตรองที่นักทฤษฎีสมคบคิดเชื่อเหลือเกินว่า เขากล่าวประโยคนี้ในสตูดิโอที่ไหนสักแห่งในฮอลลีวูด และเป็นการจัดฉากโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อ “เอาชนะ” สหภาพโซเวียต คู่อริสงครามเย็นในยุคนั้น มี “หลักฐาน” มากมายที่ระบุว่าการไปเยือนดวงจันทร์ของมนุษย์เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ และ “หลักฐาน” เหล่านั้นมักจะเป็นหลักฐานเดิมๆ ที่ถูกหักล้างไปแล้ว แต่ก็ถูกปลุกขึ้นมาใหม่เหมือนซอมบี้ที่เดินไปข้างหน้าอย่างไร้วิญญาณ เราจะมาดูกันว่า “หลักฐาน” เหล่านั้นมีอะไรบ้าง
2
รอยเท้าแรกบนดวงจันทร์ของมนุษยชาติที่จะคงอยู่ไปอีกนับล้านปีเนื่องจากไม่มีลมมาพัดให้มันหายไป - ที่มา NASA
1. ธงชาติสหรัฐฯ โบกสะบัดราวกับโดนลมพัด บนดวงจันทร์ที่ไม่มีลม
ภาพถ่ายของนักบินอวกาศยืนอยู่ข้างๆ ธงชาติสหรัฐฯ ที่กำลัง “โบกสะบัด” บนดวงจันทร์ เป็นภาพที่ชาวโลกล้วนเคยผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย ภาพนี้เป็นไปได้อย่างไรในเมื่อบนดวงจันทร์ไม่มีลม คำตอบนั้นแสนเรียบง่าย เพราะธงชาติผืนนี้ไม่ได้มีแค่เสาธงไว้ปักพื้น แต่ยังมีแกนธงแนวนอนสอดไว้ในผืนธงด้านบน เพื่อขึงให้ธงกางออกเต็มผืนและดูสวยงามสำหรับการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งนี้
1
บัซ อัลดริน นักบินอวกาศอะพอลโล 11 ทำวันทยาหัตถ์ธงชาติอเมริกา ด้านบนของธงมีแกนสำหรับขึงธง - NASA
นาซ่าออกแบบเช่นนี้เพราะเข้าใจดีว่า หากไม่มีอะไรยึดธงให้กางออก พวกเขาก็จะได้ภาพถ่ายผืนธงเหี่ยวๆ ที่แทบมองไม่ออกว่าเป็นธงอะไรห้อยอยู่บนเสา ดังนั้นจึงต้องทำแกนแนวนอนเพื่อยึดธงให้กางออก แต่นักบินอวกาศอะพอลโล 11 มีปัญหาในการยืดแกนธงออกจนสุด ทำให้ธงดูย่นเหมือนกำลังโบกสะบัด หากคุณเพ่งมองให้ชัด จะเห็นแกนอยู่บนผืนธงอย่างชัดเจน
2. ภาพถ่ายบนดวงจันทร์ ไม่มีดาวสักดวง
ถ้าใครคุ้นเคยกับหลักการถ่ายภาพ คงยิ้มมุมปากเมื่ออ่านเหตุผลข้อนี้ แม้ภาพถ่ายจากดวงจันทร์จะมีท้องฟ้ามืดมิด แต่แสงที่ส่องต้องวัตถุในภาพล้วนเป็นแสงแดดจ้าเสมือนเวลากลางวันบนโลก และชุดที่นักบินอวกาศสวมใส่ก็เป็นสีขาวที่สะท้อนแสงเต็มที่ การถ่ายภาพต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูง เพื่อบันทึกภาพให้มีความสว่างพอดี กล้องจึงไม่สามารถบันทึกแสงจากดาวในอวกาศที่มีแสงสลัวเมื่อเทียบกับชุดนักบินอวกาศและพื้นผิวดวงจันทร์ไว้ได้
2
ภาพถ่ายบนดวงจันทร์ที่ไร้ดาวบนท้องฟ้า - ที่มา NASA
เพราะกล้องถ่ายภาพไม่มีความสามารถชดเชยค่าแสงที่แตกต่างกันมากขนาดนั้นได้เหมือนตามนุษย์ หากเปรียบเทียบคงคล้ายกับการถ่ายภาพบุคคลย้อนแสงที่ดวงตาของเราสามารถมองเห็นนายแบบ/นางแบบและฉากหลังได้ในระดับที่สว่างใกล้เคียงกัน แต่เมื่อถ่ายภาพออกมา ภาพของแบบจะมืด หรือไม่ฉากหลังก็จะสว่างจ้าจนมองไม่เห็นรายละเอียด เพราะค่าแสงของแบบและฉากหลังต่างกันมากเกินไปนั่นเอง
1
ภาพถ่ายซิลลูเอทย้อนแสง ตาของมนุษย์จะเห็นท้องฟ้าและคนด้วยระดับแสงที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อถ่ายภาพ แบบจะกลายเป็นโครงสีดำเพราะมืดกว่าท้องฟ้ามาก ค่าความต่างของแสงนี้ คือเหตุผลที่ภาพถ่ายบนดวงจันทร์ไม่มีดาวติดอยู่ในภาพเลย - cc0 Public Domain
3. แสงและเงาบนดวงจันทร์ดูไม่สมจริง
หากสังเกตภาพถ่ายการไปเยือนดวงจันทร์ คุณจะพบว่าวัตถุบางอย่างสามารถมองเห็นได้แม้อยู่ในเงามืด นี่เป็นหนึ่งใน “หลักฐาน” ที่ผู้ไม่เชื่อในการไปเยือนดวงจันทร์นิยมยกมาโต้แย้ง โดยอ้างว่ามีแหล่งกำเนิดแสงเพียงที่เดียวคือดวงอาทิตย์ ดังนั้น การที่คุณมองเห็นวัตถุในเงามืดก็แปลว่าถ่ายด้วยแสงไฟจากสตูดิโอในฮอลลีวูด
2
นักบินอวกาศ บัซ อัลดริน กำลังปีนลงจากยานลงจอด แม้จะอยู่ใต้เงาของยาน แต่ก็ได้รับแสงสะท้อนจากพื้นผิวดวงจันทร์ส่องให้เห็นชุดอย่างชัดเจน - ที่มา NASA
ในความเป็นจริง แม้ดวงอาทิตย์จะเป็นเพียงแหล่งกำเนิดแสงเดียว แต่พื้นดินบนดวงจันทร์มีคุณสมบัติสะท้อนแสงแดดได้ แม้จะไม่สว่างเท่าแสงแดด แต่ก็เพียงพอที่จะส่องให้วัตถุในเงาแดดสว่างขึ้นได้ รายการ Mythbusters รายการวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ชอบพิสูจน์และหักล้างความเชื่อผิดๆ เคยสร้างแบบจำลองการลงจอดบนดวงจันทร์ และสร้างผืนพิวดวงจันทร์ที่มีค่าการสะท้อนแสงเท่าพื้นผิวจริงและทำการบันทึกภาพ ผลที่ได้คือ สามารถเห็นนักบินอวกาศที่อยู่ใต้เงาของยานลงจอดขณะกำลังปีนบันไดอย่างชัดเจน
1
4.แถบกัมมันตรังสีนอกโลก อันตรายเกินกว่าจะเดินทางผ่านไปได้โดยปลอดภัย
โลกของเรามีวงแหวนอนุภาคที่รู้จักกันในชื่อ Van Allen Radiation Belt หรือเข็มขัดกัมมันตรังสีแวนอัลเลนล้อมรอบ อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์บางส่วนถูกกักอยู่ในบริเวณนี้ และเป็นเขตที่มีค่ากัมมันตรังสีสูงมาก หากเป็นเช่นนั้น นักบินอวกาศที่เดินทางออกนอกวงโคจรโลกที่ต้องผ่านแถบกัมมันตรังสีต้องได้รับอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิต นั่นแปลว่าการไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ
2
ภาพจำลองแถบรังสี Van Allen Belts ส่วนหนึ่งของสนามแม่เหล็กที่คอยปกป้องโลก - ที่มา NASA
แต่ในความเป็นจริง นาซ่าคำนวณค่ารังสีที่มนุษย์จะได้รับหากเดินทางผ่านแถบรังสีแวนอัลเลน ด้วยความเร็ว 25,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยานอวกาศต้องใช้เวลา 52.8 นาทีในการบินผ่านแถบรังสี และค่ารังสีที่ได้รับจะเท่ากับ 11.4 RADS ในขณะท่าค่ารังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เท่ากับ 300 RADS ต่อชั่วโมง ยิ่งกว่านั้น นี่ยังเป็นการคำนวณนอกยานอวกาศที่ไม่มีเกราะป้องกันรังสี ดังนั้นนักบินอวกาศจะได้รับรังสีน้อยกว่านั้นมาก ซึ่งจากการวัดค่ารังสีบนผิวหนังของนักบินอวกาศในโครงการอะพอลโล มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.38 RADS ซึ่งเทียบเท่ากับการทำ CT Scan ที่ศีรษะเพียงสองครั้งเท่านั้น
4
5.ถ้ามนุษย์เคยไปเยือนดวงจันทร์ ทำไมจึงไม่เคยกลับไปอีกเลย
โครงการอะพอลโลจบลงในปี 1972 โดยมีภารกิจอะพอลโล 17 เป็นภารกิจสุดท้าย และมนุษย์ก็ไม่เคยไปเยือนดวงจันทร์อีกเลยเป็นเวลาหลายสิบปี แน่นอนว่านี่เป็นเหตุผลยอดนิยมที่ถูกยกขึ้นมาอ้าง เพื่อบอกว่าทุกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นจริง นาซ่าเป็นเพียงองค์กรสิบแปดมงกุฎที่อ้างว่าเทคโนโลยีที่เคยใช้ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ถูกทำลายไปหมดแล้ว
ตราสัญญลักษณ์โครงการอะพอลโล 18, 19, 20 ที่ถูกยกเลิก - ที่มา Orwell Astronomical Society
ในความเป็นจริง มันเป็นเพียงการจัดลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไป แรงจูงใจหลักของโครงการอะพอลโลคือการชิงตำแหน่งผู้นำด้านการสำรวจอวกาศระหว่างอเมริกาและสหภาพโซเวียต เป็นเรื่องของการเมือง และเมื่ออเมริกาได้รับชัยชนะ ความสำคัญของการไปเยือนดวงจันทร์ในขณะนั้นจึงค่อยๆ ลดลงจนโครงการอะพอลโลที่ใช้งบประมาณมหาศาลถูกยกเลิกในที่สุด
2
แม้จะเคยมีแนวคิดในการสร้างฐานบนดวงจันทร์ แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น แต่กระนั้นนาซ่าก็ส่งยานอวกาศที่ไร้มนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกหลายครั้ง และโครงการอาร์เทมิสที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ก็มีแผนจะส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 และคราวนี้จะเป็นการไปสร้างฐานบนดวงจันทร์เพื่อศึกษาและซักซ้อมการเดินทางไปยังดาวอังคารที่ห่างไกลกว่าอีกด้วย
ภาพจำลองยานหุ่นยนต์ LRO ที่โคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน - ที่มา NASA
นี่เป็นเพียงเหตุผลยอดนิยมที่มักถูกพูดถึงเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีเหตุผลแปลกประหลาดอีกมากมายนับไม่ถ้วน ทุกวันนี้ ร่องรอยการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ยังอยู่แทบครบถ้วน เคยมีการถ่ายภาพด้วยกล้องจากยาน Lunar Reconnaissance Orbiter หรือ LRO ที่โคจรรอบดวงจันทร์ โดยเป็นภาพถ่ายจากความสูง 50 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว สามารถมองเห็นภาพบริเวณลงจอดของภารกิจอะพอลโลได้
2
ภาพถ่ายจุดลงจอดของภารกิจอะพอลโล 17 จากยาน LRO - ที่มา NASA
นอกจากนั้นยังมีการทิ้งกระจกสะท้อนแสงไว้บนดวงจันทร์ตั้งแต่ยุคอะพอลโล เพื่อช่วยคำนวณระยะทางที่แน่นอนระหว่างโลกและดวงจันทร์โดยการวัดแสงเลเซอร์ที่สะท้อนไปและกลับจากกระจก แต่เชื่อว่าแม้จะมีหลักฐานมากมายแค่ไหน ก็ยังมีคนพร้อมเชื่อว่าการไปเยือนดวงจันทร์เป็นเพียงเรื่องแหกตามนุษยชาติครั้งยิ่งใหญ่เสมอ
2
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา