19 ต.ค. 2020 เวลา 11:15 • การศึกษา
สินทรัพย์ทางการเงิน คืออะไร? มีอะไรอะไรให้น่าลงทุนบ้าง?
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางการเงินและการลงทุน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกลงทุนเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้นะคะ งั้นเรามาเริ่มกันเลยค่ะ
1
✍️ สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset) คือ สินทรัพย์สภาพคล่องที่ไม่มีตัวตน และยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสินทรัพย์อื่นๆ
โดยรูปแบบของสินทรัพย์ไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน จึงมักอยู่ในรูปของเอกสารสัญญาต่างๆ
มูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดหรือผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่จะได้รับในอนาคต และระดับความเสี่ยงของตราสารทางการเงินนั้นๆ
สินทรัพย์ทางการเงิน มีหลายชนิด แต่ที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดี คือ เงินสด เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น
4
นอกจากนี้ก็ยังมีสินทรัพย์ทางการเงินที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไรนัก ได้แก่ ตราสารอนุพันธ์ เงินตราสกุลต่างประเทศ รวมไปถึงกองทุนรวมด้วยค่ะ
⛳ เงินสด
เป็นสินทรัพย์ที่ทุกฝ่ายในระบบการเงินยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงการชำระหนี้ มีความเสี่ยงต่ำมาก เราถือเงินไว้เท่าไร เราก็จะยังมีเงินจำนวนนั้นอยู่แน่นอน ถ้าไม่ทำสูญหาย ไม่ถูกโจรปล้นหรือปลวกมวดแทะกินไปเสียก่อน แต่ความแน่นอนนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยการที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย (เนื่องจากเงินถูกเก็บไว้เฉยๆ)
แถมในระยะยาว เงินยังมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ตามค่าเงินของเวลา ซึ่งผู้เขียนเคยลงบทความไปแล้วก่อนหน้านี้แล้วค่ะ (สามารถตามอ่านบทความ ค่าเงินตามเวลาได้ ตามลิ้งข้างล่างนี้ค่ะ)
4
⛳ เงินฝากธนาคาร
หมายถึง เงินฝากธนาคารทุกประเภท มีความเสี่ยงต่ำมากเช่นกัน เพราะเงินที่เราฝากเงินไว้เท่าไร เมื่อต้องการถอนคืนจากธนาคารก็จะได้เงินจำนวนนั้นคืนค่อนข้างแน่นอน แต่ก็ยังมีโอกาสที่ธนาคารนั้นมีฐานะการเงินย่ำแย่หรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง จนไม่สามารถคืนเงินให้เราได้
ในส่วนของผลตอบแทนก็ต่ำเช่นกัน เช่นในยุคปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในระดับไม่ถึง 1% ต่อปี แต่ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ เจ้าของเงินก็ยังรู้ชัดเจนว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรและเมื่อไร
⛳ ตราสารหนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชน
📌 ตราสารหนี้ภาครัฐ
คือเอกสารที่ภาครัฐออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงิน จากนักลงทุนทั่วไป ในด้านของความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืนนั้น อยู่ในระดับต่ำ เพราะภาครัฐมีความสามารถหารายรับจากเงินภาษี และยังสามารถกู้เงินใหม่มาใช้คืนเงินกู้เดิมได้ด้วย ในด้านของความผันผวนของราคาตราสารหนี้ชนิดนี้ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็จะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
1
📌 ตราสารหนี้ภาคเอกชน
คือเอกสารที่บริษัทเอกชนออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนทั่วไป ซึ่งระดับความเสี่ยงว่าจะได้รับคืนเงินที่ให้กู้ยืมไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ
เคยมีเหตุการณ์การเบี้ยวหนี้ตราสารหนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงแตกต่างกันไปตามระดับความน่าเชื่อถือ ว่าจะสามารถใช้หนี้คืนได้ครบถ้วนหรือไม่
⛳ ตราสารทุน
สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
– หุ้นสามัญ (Common Stocks)
👉 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากชำระหนี้และค่าใช้จ่ายต่างๆ มีสิทธิในการบริหารผ่านการลงคะแนนเสียงในที่ประชุม
– หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stocks)
👉 ได้รับเงินปันผลในจำนวนคงที่หรืออัตราคงที่ตามที่กิจการกำหนดไว้ เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่หลังจากการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ และไม่มีสิทธิในการบริหารกิจการ
ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงหุ้นสามัญเป็นหลัก เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธินั้นมีไม่มากนักในตลาดหลักทรัพย์ และมีการซื้อขายกันน้อย
โดยราคาหุ้นสามัญนั้นก็สามารถขยับขึ้นลงได้รายวัน เปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามากระทบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การควบรวมธุรกิจ การประกาศผลประกอบการของบริษัท เป็นต้น
เมื่อมีปัจจัยมากมายที่รายล้อมอยู่ ความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นสามัญจึงมีสูงมาก เพียงข้ามคืนก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงหลักสิบเปอร์เซนต์ ทั้งในฝั่งได้กำไรและขาดทุน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นสามัญ ของธุรกิจที่มีการเติบโต ก็อาจสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงมาก และไม่ใช่แค่หลักสิบเปอร์เซนต์ แต่ว่ากันที่หลัก “หลายเท่าตัว” โดยที่หนึ่งเท่าตัวคือการได้ผลตอบแทน 100% นั่นเองค่ะ
2
ดังนั้น นักลงทุนจำนวนมาก สามารถเปลี่ยนชีวิตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ทั้งที่จากเคยรวยกลายเป็นหมดตัว หรือจากจนกลายเป็นรวยมหาศาล ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง ก็เพราะการลงทุนในหุ้นสามัญนี่เองค่ะ
⛳ เงินสกุลต่างประเทศ
นับเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้ลงทุนได้เช่นกันค่ะ เนื่องจากการถือเงินสกุลต่างประเทศไปสักช่วงเวลาหนึ่งนั้น สามารถสร้างผลกำไร(หรือขาดทุน) ได้ ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมีปัจจัยมากมาย ที่จะทำให้ราคาของเงินสกุลต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป เช่น ดุลการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงินของธนาคารกลาง การซื้อขายในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งทำให้การลงทุนในเงินสกุลต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นเหตุให้การคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทนี้ อาจทำได้ยาก
⛳ ตราสารอนุพันธ์ หรือสัญญาอนุพันธ์
เป็นตราสารที่จะให้สิทธิแก่ผู้ถือตราสารในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในอนาคต และเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีราคาแปรเปลี่ยนไปตามสินทรัพย์อ้างอิง และระดับการเปลี่ยนแปลงของราคาอนุพันธ์นั้น มักจะเป็นทวีคูณของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของอนุพันธ์นั้น ก็มีหลากหลาย เรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมสินทรัพย์ทุกประเภทเลยก็ว่าได้ ทั้งหุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ทองคำ น้ำมันดิบ เงินสกุลต่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้น คือ “การลงทุนโดยตรง” ในสินทรัพย์ทางการเงินแบบรายตัว หมายถึงว่า เราจะสามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ได้เป็นรายตัวอย่างชัดเจน เช่น ซื้อหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น ซื้อเงินสกุล USD จำนวน 10,000 USD เป็นต้น
แต่หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์หลายตัวพร้อม ๆ กัน เช่น หุ้น 100 ตัว หรือต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่กำหนดว่าต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินสูง ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถซื้อลงทุนได้จริงตามที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของการลงทุนในกองทุนรวมค่ะ
⛳ กองทุนรวม
คือการนำเอาสินทรัพย์ทางการเงินหลายตัวมารวมกัน แล้วแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อให้นักลงทุนเลือกซื้อได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง
ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้เอกชน ซึ่งประกอบด้วยตราสารหนี้เอกชน 10 ตัว ตัวละ 10 ล้านบาท เท่ากับว่ากองทุนรวมนี้มีมูลค่าทรัพย์สินไส้ในรวม 100 ล้านบาท แล้วก็แบ่งย่อยสินทรัพย์นี้ออกเป็นหน่วยลงทุนย่อย ๆ หน่วยละ 10 บาท จำนวน 10 ล้านหน่วย เท่ากับว่า นักลงทุนที่มีเงินเพียง 10 บาท ก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของก้อนสินทรัพย์นี้ได้แล้ว ไม่ต้องรอให้มีเงินถึง 100,000 บาท หรือ 10 ล้านบาท นั่นเองค่ะ
และเนื่องจากกองทุนรวมนั้นสามารถมีไส้ในได้หลากหลายประเภท ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังที่จะได้ ก็จะแปรไปตามสินทรัพย์ไส้ในของกองทุนรวมนั้นค่ะ
💦........หวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ทางการเงินกันมากขึ้น และมองเห็นโอกาสอันจะนำไปสู่การลงทุนที่ดีและก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีในอนาคตอันใกล้นี้นะคะ 😊😊
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา