5 ต.ค. 2020 เวลา 12:10 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ผมได้อ่านจดหมายเหตุลาลูแบร์รอบที่สองจนจบ กลับพบว่ามีความคลาดเคลื่อนในหลายส่วน รวมถึงการใช้ความรู้สึกของตนมาผสมมากเกินไปครับ
ผมว่าใครหลายๆคนคงรู้จักลาลูแบร์ จากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งได้พรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างกว้างขวาง
ภาพจากละคร บุพเพสันนิวาส
จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับนี้ ซึ่งประพันธุขึ้นราวปี พ.ศ. 2231 นั้น ตัวมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์เองมีเวลาจดบันทึกโดยใช้เวลาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาแค่เพียง 3 เดือนกับอีก 6 วันเท่านั้นเอง งานประพันธ์จึงไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมดครับ
ผมรับรู้ได้จากการอ่านรอบที่ 2 ข้อมูลบางส่วนนั้น ลาลูแบร์ใช้วิธีการสอบถามจากคนที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้าน บ้างก็ฟังจากคำบอกเล่า อีกทั้งบางเรื่องยังใช้การคาดเดาจากนิสัยและความรู้สึกส่วนตัว ตามภูมินิสัยเดิมของชาวตะวันตกในยุคนั้น ซึ่งมักจะพยายามยกตนเองวิเศษกว่าผู้คนในแถบภูมิภาคอื่นๆ
ภาพจากจดหมายเหตุลาลูแบร์
อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุของลาลูแบร์ฉบับนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการใช้อ้างอิง ในหลายประเด็น แต่ในบางส่วนนั้นยังต้องใช้เอกสารอื่น มาร่วมพิจารณาประกอบอีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น
"คำให้การชาวกรุงเก่า" "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยนิโกลาส์ แชรแวส" "จดหมายเหตุวันวลิต" และ "พงศาวดารอยุธยา"
การสืบค้นข้อมูลจากหลักฐานเพียงแหล่งเดียวในประเด็นที่คลุมเครือนั้น ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ครับ
ผมจึงขออนุญาต ยกตัวอย่างในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์มาบางส่วน เพื่อง่ายต่อการอธิบายความคุลมเครือและใช้ความรู้สึกของตนมาผสมมากเกินไปครับ
ตัวอย่างในบทหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับ "ว่าด้วยการปลงศพของชาวจีนและการปลงศพของชาวสยาม" ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลาลูแบร์อธิบายผิดเกี่ยวกับคำว่า"เจดีย์" เข้าใจเป็นคำว่า "ใจดี" ในบันทึกมีความว่า
"เมื่อศพของชาวสยามได้รับการเผา ดังที่ข้าพเจ้าได้ดล่าวมานี้แล้ว งานมหรศพทั้งปวงก็เป็นอันยุติ เจ้าของศพเก็บส่วนหนึ่งที่เหลือของร่างกายคืออัฐิกับอังคารเข้าไว้ในโลงโดยไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งนั้น
และนำสิ่งเหล่านี้ไปฝังไว้ใต้พีรามิดองค์หนึ่ง ซึ่งมีอยู่รายรอบพระอุโบสถ......ชาวสยามและชาวพะโคจึงใช้วิธีฝังพระบรมอัฐิแห่งพระมหากษัตริย์ของตนไว้ภายใต้พีรามิด พีรามิดเหล่านี้เรียกว่า พระใจดี (PráTchiái - di) พระเป็นคำภาษาบาลีที่ข้าพเจ้าได้พูดถึงอยู่บ่อยๆ แล้วใจดี หมายความว่าดีใจ (Coeur-Bon) คือความพอใจ (contentement)"
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้คือการอธิบายภาษาไทยจากลาลูแบร์ที่ผิดพลาดครับ รวมถึงการใช้ความรู้ของตนโยงเองโดยไม่ได้มีการสอบถามจากผู้ที่มีความรู้อย่างแท้จริง
รวมทั้งในอีกหลายส่วนที่มีการวิจารณ์ชาวโปรตุเกสว่าเป็นคนเกียจคร้าน วิจารณ์แขกมัวร์ว่าเป็นคนหัวรุนแรง วิจารณ์ชาวสยามว่าขี้เกียจอ่อนต่อการศึก รวมทั้งยกให้ฝรั่งเศสมีความสามารถในด้านต่างๆเหนือกว่าทุกชนชาติในกรุงศรีอยุธยา
แต่อย่างไรก็ยังดีครับที่มีพระวิจารณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงตรวจสอบ แย้งเนื้อหา รวมทั้งขยายความในหลายๆส่วนของจดหมายเหตุลาลูแบร์เพิ่มเติมเสริมไว้
ภาพชาวกรุงศรีอยุธยา จากจดหมายเหตุลาลูแบร์
หากท่านผู้อ่านผู้สนใจประวัติศาสตร์ จะหาจดหมายเหตุจากชาวต่างชาติซึ่งมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าและลดการใช้ความรู้สึกของตนเอง
ผมคงจะกล่าวได้ว่าข้อมูลจากหนังสือ "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยนิโกลาส์ แชรแวส" ชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่งซึ่งเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เช่นเดียวกับลาลูแบร์นั้น
1
มีความผิดพลาดน้อยกว่า ลดการใช้ความคิดของตนเองน้อยกว่า เหตุผลอาจเป็นเพราะว่า นิโกลาส์ แชรแวสใช้เวลาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเรียนรู้วัฒนธรรมได้นานกว่าถึงหลายปีครับ
สุดท้ายนี้จดหมายเหตุของลาลูแบร์ แม้จะมีบางส่วนที่คลาดเคลื่อนไป แต่ก็ยังทรงคุณค่าถือเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งแสดงถึงสังคมและวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครับ
สำหรับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ควรหาอ่านจากหลักฐานจากหลายๆส่วนเพื่อนำมาประกอบกันครับ จะทำให้ทราบถึงข้อคลาดเคลื่อน ข้อผิดพลาดในบางจุด และนำมาประกอบเป็นต้นทุนความรู้ที่สามารถจะต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
อ้างอิง
- ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม โดย นิโกลาส์ แชรแวส
- จดหมายเหตุลาลูแบร์ พงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์, ผู้แปล
- จดหมายเหตุลาลูแบร์ราชอาณาจักรสยาม โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ แปลโดย: สันต์ ท. โกมลบุตร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา