22 ธ.ค. 2020 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
เมืองที่ชื่อว่า “มหาชัย” ในสมุทรสาคร เกิดจากพระเจ้าเสือเสด็จทรงเบ็ด(ตกปลา) โดยมีเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์มาเกี่ยวข้อง
5
คุยเฟื่องเรื่องประวัติศาสตร์ของ “สมุทรสาคร" ในช่วงนี้หลายท่านคงทราบดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดสดเมืองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีการตรวจพบแรงงานชาวพม่าติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนหลายร้อยคน และอาจจะมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก
3
จนเป็นที่หวาดหวั่นไปทั่วประเทศเพราะการระบาดระลอกสองครั้งนี้อาจส่งผลกระทบในหลายด้าน ทำให้ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ต้องเงียบเหงา และรัฐบาลกลับมาคุมเข้มเรื่องมาตรการรับมืออีกครั้ง
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ผมหายหน้าหายตาไปพักใหญ่ เนื่องจากติดภารกิจเรื่องการทำพิพิธภัณฑ์เอกสารและภาพพิมพ์โบราณ พร้อมทั้งมีงานเสวนาสัญจรเกี่ยวกับ ร.ศ.112 เข้ามาเสริม
1
ซึ่งผมต้องลงพื้นที่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกเสริมกับข้อมูลเก่า เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่วิทยากรเต็มตัวให้แก่บุคคลากรจากหลายจากภาคส่วนครับ จึงจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาไปตรงนั้น ในส่วนของงานเขียนเลยห่างหายไปหลายวัน ต้องประทานโทษในส่วนนี้ครับผม
เมืองมหาชัย
อย่างที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้นเกี่ยวกับเมืองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เกี่ยวเนื่องอะไรกับพระเจ้าเสือทรงเบ็ดในอดีต มีประวัติศาสตร์และตำนานที่น่าสนใจ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
ย้อนไปในช่วงกรุงศรีอยุธยาบริเวณแถบจังหวัดสมุทรสาครนี้ มีชื่อเรียกที่หลากหลายครับ รวมทั้งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมุทรสาครเดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยมีชาวจีนนำเรือสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและได้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากทางการจึงได้มีการเรียกชุมชนคนจีนแถบนี้ว่า “บ้านท่าจีน” และกลายมาเป็นชื่อแม่น้ำท่าจีนไปในที่สุดครับ
บ้านท่าจีน สมุทรสาคร
สมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2099) ได้โปรดให้ยกฐานะ “บ้านท่าจีน” ขึ้นเป็น “เมืองสาครบุรี” ทำหน้าที่หัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงคราม และเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามารุกรานบุกรุกทางทะเล
จากชุมชนบ้านท่าจีนเปลี่ยนมาเป็นเมืองสาครบุรี และล่าสุดคือในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองสาครบุรี" เป็น "เมืองสมุทรสาคร" ซึ่งมีความหมายว่า "เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ"
1
บ้านท่าจีน สมุทรสาคร
ต่อมาในปีพ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้ทางราชการ เปลี่ยนคำว่า "เมือง"เป็น "จังหวัด" ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร "เมืองสมุทรสาคร" จึงได้เปลี่ยน เป็น "จังหวัดสมุทรสาคร"ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
3
คำขวัญประจำจังหวัดสมุทรสาคร คือ "เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” คำว่าเขตประวัติศาสตร์นี่แหละครับที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าเสือ
หากพูดถึงพระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรามักจะทราบถึงพระอุปนิสัยที่ดุร้ายดั่งเสือ ทั้งมีพระปรีชาด้านมวยไทย หรือในพระนามเดิมหลวงสรศักดิ์ (พ่อเดื่อ) จากละครบุพเพสันนิวาส แต่เรื่องราวที่ให้กำเนิดชื่อเมือง”มหาชัย” มีที่มาจากตำนานของพันท้ายนรสิงห์ครับ
พันท้ายนรสิงห์ เดิมชื่อ สิน คนบ้านป่าโมกหรือวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง สินได้รู้จักกับพระเจ้าเสือจากการแข่งขันชกมวยไทย เมื่อครั้งพระเจ้าเสือปลอมองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอของสิน
3
จนต่อมานายสินได้กลายมาเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของพระเจ้าเสือครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ณ เมืองสาครบุรี เพื่อทรงเบ็ด
ภาพจากละคร"พันท้ายนรสิงห์" workpoint
แต่เมื่อเรือพระที่นั่งถึง "ตำบลโคกขาม” ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งไม่สามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระราชกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน
1
ครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน
3
แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ ในเวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2247 แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นศาลไม้ในสมัยปัจจุบัน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางมน พื้นศาลเป็นไม้ยกชั้น 2 ชั้น มีเสารองรับ 6 เสา พร้อมกับศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกชัยขึ้นตั้งไว้บูชาพร้อมกัน
3
ภาพจากละคร"พันท้ายนรสิงห์" workpoint
ภายหลังเสด็จกลับจากการทรงเบ็ด ทรงหวนคะนึงถึงพันท้ายคู่พระทัยที่มั่นคงต่อความซื่อตรง จึงทรงให้พระยาราชสงคราม คุมไพร่พลจำนวน 3,000 คน ทำการขุดคลองลัดแทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว
คลองใหม่นี้เชื่อมระหว่างเมืองธนบุรีและสาครบุรี ที่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรี เพื่อใช้แทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว
แต่ขุดคลองยังไม่ทันแล้วเสร็จพระเจ้าเสือทรงสวรรคตเสียก่อน จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 (ขุนหลวงท้ายสระ) โปรดให้ขุดคลองต่อจนแล้วเสร็จ และได้พระราชทานนามว่า”คลองมหาชัย"
1
ซึ่งต่อมา บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองได้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น และเรียกชื่อชุมชนใหญ่ตามชื่อคลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ"เมืองมหาชัย"ในปัจจุบันครับ
เรื่องราวการประพาสเพื่อทรงเบ็ดของพระเจ้าเสือ ณ เมืองสาครบุรีนี้ เป็นที่มาให้พันท้ายคู่พระทัยสิ้นชีพ และการสร้างคลองลัดที่ชื่อ”มหาชัย” เพื่อเชื่อมเมืองสาครบุรี กับเมืองธนบุรี เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ทางจังหวัดถึงกับยกให้เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจกับอนุชนรุ่นหลัง
1
และ"พันท้ายนรสิงห์” ยังถูกนำมาแต่งสรรค์เพิ่มเติมเป็นทั้งวรรณกรรมและละครอีกหลายเวอร์ชั่น ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในแวดวงนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ว่าจริงๆแล้ว "พันท้ายนรสิงห์" มีจริงไหม?
อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ไม่ได้สำคัญตรงที่ว่าเป็นเรื่องจริงและมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน
พันท้ายนรสิงห์ ภาพจากละคร"พันท้ายนรสิงห์" workpoint
แต่ที่ผู้คนในอดีตพยายามยกวีรกรรมของพันท้ายขึ้นมาพูดบ่อยๆ คือเรื่องเกี่ยวกับ ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรงของพันท้ายนรสิงห์มากกว่า จนเป็นที่มาของการขุดคลองลัดมหาชัยขึ้น และประวัติศาสตร์กับตำนานเหล่านี้เสมือนฉากหนึ่งของเมืองสมุทรสาคร จากอดีตที่ส่งต่อมาครับ
สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านดูแลสุขอนามัยตามมาตรการที่รัฐบาลบังคับใช้ เราจะร่วมก้าวฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ และขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านด้วยครับ
3
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- การมองพันท้ายนรสิงห์ในบริบททางประวัติศาสตร์ไทย. วารสารไทยคดีศึกษา , ธนพงศ์ จิตต์สง่า
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา