3 พ.ย. 2020 เวลา 08:18 • การศึกษา
“ความทุกข์มาจาก…การอยากให้ความจริง…เป็นเหมือนความคิด”
หากเรามัวแต่หมกมุ่นกับความคิด แล้วยังผูกติดกับภาพฝันในใจโดยไม่ยอมปล่อยมือ “ความปั่นป่วนในใจย่อมก่อตัวขึ้นมา”
วันหนึ่งในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนแผนทำ Workshop เกี่ยวกับการปรึกษา
อยู่ ๆ ก็มีประโยคผุดขึ้นมาในใจว่า
“ความทุกข์มาจาก…การอยากให้ความจริง…เป็นเหมือนความคิด”
จนต้องรีบจดเอาไว้กันลืม
เมื่อมานั่งทบทวนดูผมก็พบว่า
การพยายามบีบคั้น บิดเบือน
และคาดหวังให้ความจริงเป็นไปดั่งใจเสมอ
“จะสร้างความกดดันขึ้นในใจของเราทันที”
ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจอย่างหนึ่ง
ที่มนุษย์เราสามารถเผลอตกหลุมพรางเอาได้ง่าย ๆ
หลุมพรางที่ว่านี้ เราอาจนึกถึงความเคยชิน
เคยชินกับการสมหวัง
เคยชินกับการพบเจอสิ่งที่ชอบ
“คุ้นชินกับสิ่งที่เป็นไปดั่งใจ”
ผมจึงขอนำเรื่องราวเหล่านี้
มาเขียนเป็นบทความครับ ^^
ในชีวิตของเราตลอดทั้งวัน
หากเราสังเกตด้วยสายตาอันละเอียดอ่อน
เราจะพบว่า
“ไม่มีสิ่งใดสอดคล้องกับความนึกคิดไปตลอด”
เช่น
-การยืนรอคิว…บางครั้งก็รวดเร็วหรือยาวนานกว่าที่คิด
-การเดินทาง…บางทีก็ไปถึงก่อนหรือช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
-การพูด…เตรียมตัวมาอย่างดีแต่พอถึงเวลาก็ดันลืมซะงั้น
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งสามารถสร้างความผิดหวังมากมายให้เราได้
ทั้งความหงุดหงิด ไม่พอใจ เศร้า เจ็บใจ เซ็ง และเบื่อหน่าย
จุดที่สำคัญก็คือ
“ภายในใจเรามีกระบวนการบางอย่าง…ที่ชักนำความปั่นป่วนเข้ามา”
กระบวนการที่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา
รวมทั้งยังฟาดฟันหัวใจของเรา
จนเกิดเป็นความโกรธ เศร้า เหงา เซ็ง
เราอาจเรียกกระบวนการนี้ว่า
“การผูกมัดกับความคิด”
ลองนึกภาพของนักฟุตบอล
ที่อยู่ในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ
แล้วต้องมายิงจุดโทษตัดสิน
“ถ้าเข้าก็ชนะ…ถ้าไม่เข้าก็แพ้”
ซึ่งที่ผ่านมานักฟุตบอลคนนี้ยิงไม่เคยพลาด
หากในใจของเค้าสร้างความเคยชินว่า
-ที่ผ่านมาฉันยิงเข้าทุกครั้ง…วันนี้ฉันจะยิงเข้าเหมือนเดิมแน่นอน
-ฉันชนะมาตลอด…คราวนี้ฉันชนะอยู่แล้ว
-ชนะคือเก่ง…แพ้คือกระจอก
-ฉันเก่งเสมอ…ฉันไม่มีวันกระจอก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หลุมพรางทางความคิดก็เกิดขึ้น
หากเขายิงเข้าและทีมชนะ เขาก็อาจดีใจอย่างที่สุด
แต่หากเขายิงพลาดและทีมแพ้ เขาก็อาจปวดใจอย่างที่สุด
“ผิดหวังที่ความคิด…ไม่ได้เป็นเหมือนความจริง”
ความสมหวัง กับ ความผิดหวัง
เป็นกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับชีวิต
เป็นการเคลื่อนไหวของจิตใจอย่างหนึ่ง
ดังนั้น
“หากอยากผิดหวังมาก ๆ….ก็ให้แบกความคิดมาก ๆ”
โดยเริ่มจากการขุดค้นภาพจำในอดีต
หาความสมหวังที่คุ้นเคย
เลือกความคิดที่เชื่อว่าดีที่สุด
“แบกและยึดสิ่งที่ดีเหล่านั้นเอาไว้”
แล้วเมื่อจังหวะชีวิตลงตัว
เช่น เหตุการณ์เกิดสวนทางกับความคิดที่พยายามยื้อไว้
“ความผิดหวังก็จะถาโถมใส่เราทันที”
“แล้วถ้าไม่คาดหวัง…จะสัมผัสกับความสมหวังได้ยังไง”
ความเข้าใจเช่นนี้
เป็นผลมาจากการไม่ได้มองชีวิตอย่างรอบด้าน
“เพ่งเล็งเพียงแต่ความสุขสมหวังที่รออยู่ปลายทาง”
ซึ่งจุดนี้เป็นอิสระของเราที่จะแบกรับความเสี่ยงเอง
ถ้าพอใจเช่นนี้ จะทำเช่นนี้ก็ได้
ถ้าพอใจกับสุขที่อยู่ปลายทาง จะมีความสุขแบบสุดเหวี่ยงเช่นนี้ก็ได้
“สมหวัง ผิดหวัง ปะปนกันไป”
หรือ
เราอาจจะลองใช้ชีวิตโดยอยู่เหนือกว่าความคาดหวัง
“ลดพลังของความผิดหวังลงทีละน้อย”
ผ่านการลงมือทำบางสิ่งโดยไม่หวังผลตอบแทน
ผ่านการเคียงข้างใครสักคนโดยไม่ครอบงำ
ผ่านการเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยไม่เรียกร้อง
ด้วยภาวะเหล่านี้จะทำให้เกิดความสุขใจที่ได้ทำ
“การกระทำซึ่งสร้างความสุขอยู่ในตัว”
เราจึงไม่ต้องคอยจดจ่อ เรียกร้อง
และกดดันตัวเองให้ไปถึงความสุขที่รออยู่ปลายทาง
ซึ่งช่วยให้เราเปิดรับทุกความเป็นไปในชีวิต
อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มใจ
“แค่ไหนแค่นั้น…ไม่บิดเบือนหรือต่อต้านความจริง”
หากเราเจอปัญหา
เราก็สามารถอยู่กับปัญหาอย่างเป็นสุขได้
“ผ่านการลงมือแก้ปัญหาอย่างเปิดใจ”
-ไม่จำเป็นต้องแบกความคิดว่าจะต้องแก้ได้จนเหนื่อย
-ไม่จำเป็นต้องแอบกังวลว่าสิ่งที่วางแผนไว้จะผิดแผน
-ไม่ต้องคอยมาตั้งคำถามว่าทำไมถึงผิดหวังแบบนี้
“เมื่อเราไม่ตั้งเงื่อนไขกับความจริง…ใจเราย่อมเป็นสุข”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา