ครั้งหนึ่ง
เมื่อตอนที่ผมยังเรียนปริญญาโท
(ช่วงใกล้จบ…มัวแต่ปั่นตัวจบจนโดนอาการปวดหลังเล่นงาน ฮ่าา)
ได้มีโอกาสสัมผัสกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน
“เรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ”
อาจารย์ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสอนจิตวิทยา
ซึ่งเป็นการพูดคุยกับลูกศิษย์เชิงหยอกล้อ
(และมีความท้าทายไปในตัว5555)
โดยอาจารย์ได้ตั้งปริศนาไว้ว่า
“ถ้าเอ็งตอบได้ว่าต้นกล้วย กับ คน เหมือนกันยังไง….
อาจารย์จะเซ็นใบอนุมัติจบให้เอ็งเลย”
เมื่อจบสิ้นปริศนาที่อาจารย์หยิบมาเล่า
เล่นเอาพวกเรา “งง”
เพราะต้นกล้วย กับ คน มันจะไปเหมือนกันได้ยังไงล่ะจารย์!!!
(เหมือนพวกเราและตัวผมคงคิดดังไป 5555)
อาจารย์จึงเฉลยปริศนาเรื่องนี้ว่า
“ต้นกล้วย กับ คน”
มีจุดที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ
“ไม่มีสิ่งไหนดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง”
เมื่อมีลูกศิษย์ ก็มีอาจารย์
เมื่อมีผู้ฟัง ก็มีผู้พูด
“ถ้าพูดอยู่คนเดียว และไม่มีพวกเอ็งมานั่งฟังแบบนี้ อาจารย์ก็บ้าไปแล้วสิโว้ยยย”
ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ คน สัตว์ สิ่งของ หรือ สิ่งก่อสร้างใด ๆ
ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นจึงจะดำรงอยู่ได้
เช่น
-ต้นไม้ต้องพึ่งพาอากาศ น้ำ แสงแดด สายลม ผืนดิน แร่ธาตุ
-คนต้องพึ่งพาอาหาร ธรรมชาติ คนดูแลเลี้ยงดู สังคม โลกรอบตัว
“ทุกสิ่งที่เอื้อเฟื้อให้มีชีวิตอยู่”
กระบวนการพึ่งพาอาศัย และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเช่นนี้
จะพบกับความติดขัดทันที
“หากเราเผลอเข้าไปบีบคั้นและทำตัวเป็นเจ้าของ”
เหตุการณ์ในชีวิตช่วงนี้
ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่อาจารย์พูดถึงการพึ่งพาอาศัยกัน
เมื่อใดก็ตามที่เราเผลอไปบีบคั้นครอบงำคนอื่น
“ไม่ช้าก็เร็ว…เราก็จะทะเลาะและแตกหักกับผู้อื่น”
หรือแม้กระทั่งเราเผลอหักโหมและกดดันตัวเอง
“ไม่ช้าก็เร็ว…ร่างกายและจิตใจของเราก็จะป่วยเอา”
ผมจึงขอนำเรื่องราวของความทุกข์
ซึ่งเกิดขึ้นในกายใจของเรา
มาเขียนเป็นบทความในครั้งนี้ครับ ^^